วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

บทบรรณาธิการ ภาค2 สมัย64 เล่ม13

                บทบรรณาธิการในเล่มที่ ๑๐ สองบรรทัดสุดท้าย มีการพิมพ์ข้อความเกินเลยไปว่า “รวมคำบรรยายเล่มนี้เป็นฉบับสุดท้ายฯลฯบรรณาธิการขอตัดข้อความดังกล่าวออก
                คำถาม สามีชอบด้วยกฎหมายของผู้ตายเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย ระหว่างพิจารณาโจทก์ตายลง บุตรของโจทก์กับผู้ตายจะขอเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตายได้หรือไม่ และการพิจารณาของศาลชั้นต้นก่อนโจทก์ถึงแก่ความตายจะเสื่อมเสียไปหรือไม่
                คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๕๓๗/๒๕๕๓ นาย ก. สามีชอบด้วยกฎหมายของนาง ล. ผู้ตายเป็นโจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นาง ล. ถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๑ นาง ล. จึงเป็นผู้เสียหายซึ่งถูกทำร้ายถึงตาย และโจทก์เป็นเพียงผู้จัดการแทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓ (๒) และมาตรา ๕ (๒) เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องแล้วตายลงระหว่างการพิจารณาสืบพยานโจทก์ของศาลชั้นต้น การพิจารณาของศาลชั้นต้นก่อนโจทก์ถึงแก่ความตายย่อมไม่เสื่อมเสียไปเพราะความตายของโจทก์ และถือว่าโจทก์ฟ้องนั้นเป็นกระทำการแทนรัฐด้วยส่วนหนึ่ง ดังนั้นการที่ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่จากพยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยได้สืบไว้แล้วตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๔ จึงชอบแล้ว
                โจทก์เป็นเพียงผู้จัดการแทนผู้เสียหาย มิใช่ผู้เสียหายที่แท้จริงที่ยื่นฟ้องแล้วตายลงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๙ วรรคหนึ่ง แม้ผู้ร้องจะเป็นผู้สืบสันดานของผู้เสียหายกับโจทก์ ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอเข้าดำเนินคดีต่างโจทก์ซึ่งถึงแก่ความตายตามบทบัญญัติดังกล่าว
                คำถาม ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องข้อหาร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่น โดยให้ลงโทษฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นตาม ป.. มาตรา ๒๙๕โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าได้หรือไม่ และจะถือว่าโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขื้นในข้อหาความผิดตาม ป.. มาตรา ๒๙๕ หรือไม่
                คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๘๒/๒๕๕๓ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองในข้อหาร่วมกัน พยายามฆ่าผู้อื่นตาม ป.. มาตรา ๒๘๘, ๘๐ ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาฆ่า แล้วพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายตาม ป.. มาตรา ๒๙๕ โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษฐานพยายามฆ่า ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ ฟังว่าจำเลยทั้งสองไม่มีเจตนาฆ่าเช่นกัน และเนื่องจากศาลชั้นต้นวางโทษปรับฐานพาอาวุธมีดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ ได้แก้ไขให้ถูกต้อง ย่อมมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษายกฟ้องในข้อหาความผิดฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.. มาตรา ๒๒๐ ซึ่งต้องห้ามทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองฐานพยายามฆ่าตาม ป.. มาตรา ๒๘๘, ๘๐ จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.. มาตรา ๒๒๐ คดีโจทก์ไม่อาจขึ้นมาสู่การวินิจฉัยของศาลฎีกาและถือไม่ได้ว่าโจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยให้หนักขึ้นในข้อหาฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย ตาม ป.. มาตรา ๒๙๕  ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย พิพากษายกฎีกาโจทก์
                คำถาม การบรรยายฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดภายหลังวันที่โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจะพิพากษาลงโทษจำเลยได้หรือไม่
                คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๙๗๔/๒๕๕๓ โจทก์บรรยายฟ้องว่า ตามวันเวลาและภายหลังเกิดเหตุลักทรัพย์ตามฟ้องข้อ ๑ คือวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ถึงวันเวลาในฟ้องข้อ ๒ คือวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๔๘ อันเป็นวันที่จำเลยถูกจับกุมได้พร้อมทรัพย์ของกลางที่ถูกคนร้ายลักไป จำเลยได้กระทำความผิดฐานรับของโจร เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๔๘ จึงเป็นการกล่าวหาว่าจำเลยอาจกระทำความผิดภายหลังวันที่โจทก์ฟ้อง เป็นคำฟ้องที่ไม่ชัดแจ้งเพียงพอที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาและต่อสู้คดีได้ถูกต้อง การที่จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดฐานรับของโจร จึงเป็นการรับสารภาพตามฟ้องที่ไม่ชอบ
                คำถาม ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินสองปี ศาลอุทธรณ์ยังคงลงโทษจำเลยไม่เกินกำหนดที่ว่ามา แต่ให้ลงโทษปรับอีกสถานหนึ่ง ส่วนโทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ดังนี้ โจทก์จำเลยจำฎีกาในข้อเท็จจริงได้หรือไม่
                คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๓๐๔/๒๕๕๓ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย จำคุก ๘ เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลย ๕,๐๐๐ บาท อีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษ ๒ ปี และ คุมความประพฤติของจำเลยไว้ ดังนี้ แม้ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยอันเป็นการแก้ไขมากก็ตาม แต่ไม่ได้เพิ่มเติมโทษจำเลย เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน ๒ ปี คดีจึงต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.. มาตรา ๒๑๙
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๒๔๖/๒๕๕๓ ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ ๖ เดือน ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ลงโทษปรับจำเลยทั้งสองอีกสถานหนึ่ง โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ ๒ ปี และคุมประพฤติของจำเลยทั้งสองไว้ แม้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ จะได้รอการลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองอันเป็นการแก้ไขมาก แต่เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองไม่เกิน ๒ ปี คดีจึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.. มาตรา ๒๑๙ การที่โจทก์ร่วมฎีกาขอให้ไม่รอการลงโทษนั้น เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายมาตราดังกล่าว
                มีคำพิพากษาฎีกาที่ ๗๕๐๘/๒๕๔๔, ๖๗๔๔/๒๕๔๔, ๓๒๙๙/๒๕๔๓, ๖๗๖๗/๒๕๔๑, ๔๔๑๙/๒๕๔๐, ๕๘๙๔-๕๘๙๙/๒๕๔๐ วินิจฉัยเช่นกัน
                คำถาม คดีที่มีการฟ้องแย้ง ต่อมาฟ้องเดิมตกไป คดีในส่วนฟ้องแย้งจะสามารถดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้หรือไม่หรือตกไปกับฟ้องเดิม
                คำตอบ (๑) กรณีที่โจทก์ไม่สามารถเสนอคำฟ้องต่อศาลได้เลยเพราะโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เช่น ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนหรือฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ หรือโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะฟ้องโจทก์เป็นคดีอุทลุมเป็นกรณีที่โจทก์ไม่มีสิทธิยื่นฟ้องคดีต่อศาลได้เลย ศาลจะต้องพิพากษายกฟ้อง กรณีเช่นนี้ฟ้องแย้งย่อมตกไปด้วย เพราะเมื่อฟ้องโจทก์เป็นฟ้องต้องห้าม โจทก์ย่อมไม่อาจเสนอคำฟ้องต่อศาลได้ จึงไม่มีตัวโจทก์ที่จะเป็นจำเลยในส่วนฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งจึงต้องตกไปด้วย
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๓๖/๒๕๐๓ (ประชุมใหญ่) โจทก์ซึ่งไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายฟ้องแทนผู้เยาว์ โจทก์ไม่ใช่ผู้แทนโดยชอบธรรม ไม่มีอำนาจฟ้องแทนผู้เยาว์ จึงไม่มีตัวโจทก์ที่จำเป็นจำเลยตามฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งของจำเลยย่อมตกไปด้วย
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๕๘/๒๕๔๔ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะยังไม่ได้เสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยก่อน ฟ้องแย้งของจำเลยในคดีนี้จึงต้องตกไปด้วย
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๒๖๕/๒๕๔๔ ฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องซ้อน ย่อมไม่มีตัวโจทก์ที่จะเป็นจำเลยตามฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งของจำเลยจึงตกไป
                มีคำพิพากษาฎีกาที่ ๔๗๙๙/๒๕๕๒, ๓๑๓๒/๒๕๔๙, ๒๔๐๐/๒๕๒๓ วินิจฉัยเช่นกัน จำหน่ายคดีสำหรับฟ้องเดิมจากสารบบความหรือพิพากษายกฟ้อง เช่น โจทก์ถอนฟ้อง โจทก์ทิ้งฟ้อง โจทก์ขาดนัดพิจารณา หรือโจทก์ไม่ได้ยื่นคำขอในคดีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การตามมาตรา ๑๙๘ หรือศาลยกฟ้องเพราะฟ้องโจทก์เคลือบคลุม กรณีนี้ทำให้เฉพาะคำฟ้องเดิมเสร็จไปจากการพิจารณาของศาล แต่ยังคงมีตัวโจทก์ที่จะเป็นจำเลยในส่วนฟ้องแย้งอยู่ต่อไป ถือว่ามีคู่ความครบถ้วนที่ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาในส่วนฟ้องแย้งต่อไปได้ ฟ้องแย้งจึงไม่ตกไปตามฟ้องเดิมด้วย
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๗๒/๒๕๓๕ โจทก์ขาดนัดพิจารณา ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความตามมาตรา ๒๐๒ ฟ้องแย้งไม่ตกไป เพราะยังมีตัวโจทก์เดิมที่จำเป็นจำเลยในส่วนฟ้องแย้งต่อไป คงตกไปเฉพาะคำฟ้องเดิมเท่านั้น
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๘๖๖/๒๕๓๗ ตามคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลย จำเลยมีสิทธิฟ้องโจทก์ได้อยู่แล้ว แม้โจทก์จะไม่ฟ้องจำเลย การที่จำเลยฟ้องแย้งมาในคำให้การก็เพื่อความสะดวกในการดำเนินคดีของจำเลยและการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลมิใช่เพิ่งจะเกิดมีสิทธิที่จะฟ้องโจทก์ขึ้นมาภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลย การที่โจทก์ไม่นำค่าขึ้นศาลมาเสียเพิ่มภายในกำหนดตามคำสั่งศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง การทิ้งคำฟ้องของโจทก์จะมีผลลบล้างแห่งการยื่นคำฟ้องรวมทั้งกระบวนพิจารณาอื่นๆ อันมีมาต่อภายหลังยื่นคำฟ้อง แต่ก็มีผลเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องของโจทก์เท่านั้น หามีผลไปถึงฟ้องแย้งของจำเลยไม่เพราะเป็นคนละส่วนกัน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่ตกไปด้วย
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๔๖๐/๒๕๔๑ จำเลยฟ้องแย้งโจทก์ว่าโจทก์ประพฤติชั่วขอให้ถอนอำนาจปกครองบุตรของโจทก์ โดยให้จำเลยเป็นผู้มีอำนาจปกครองบุตรแต่ผู้เดียว ให้โจทก์ชำระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร กับให้ชำระค่าเลี้ยงชีพแก่จำเลย เมื่อเป็นเรื่องเกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้แล้ว แม้ต่อมาโจทก์จะทิ้งฟ้องเดิมเป็นเหตุให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีโจทก์ ก็คงมีผลเฉพาะคดีโจทก์ว่าไม่มีฟ้องเดิมที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปเท่านั้น หากมีผลให้ฟ้องแย้งของจำเลยตกไปด้วยไม่ เพราะยังมีตัวโจทก์ซึ่งเป็นจำเลยของฟ้องแย้งอยู่พร้อมที่จะดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปได้ เมื่อจำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งว่าโจทก์ขาดนัดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้ง การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องว่าฟ้องแย้งย่อมตกไปด้วยกรณีจึงไม่ต้องพิจารณาสั่งคำร้องขอให้โจทก์ขาดยื่นคำให้การแก้ฟ้องแย้งอีกต่อไปจึงไม่ชอบด้วยกระบวนพิจารณา
                มีคำพิพากษาฎีกาที่ ๖๙๐๙/๒๕๔๓, ๔๔๙๙/๒๕๔๕ วินิจฉัยเช่นกัน
               
                                                                                                                            นายประเสริฐ       เสียงสุทธิวงศ์
                                                                                                                                             บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น