วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันพุธที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค1 สมัย67 เล่ม1

                          หนังสือรวมคำบรรยายเล่มนี้เป็นเล่มที่ 1 ของภาคหนึ่ง สมัยที่ 67 ซึ่งเป็นการเรียบเรียงคำบรรยายจากอาจารย์ผู้สอนภาคปกติ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักศึกษาที่ไม่มีโอกาสมาฟังการบรรยาย นอกจากนี้ยังเป็นสื่อกลางในการแจ้งข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ของสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ตลอดจนการนำเสนอปัญหาข้อกฎหมายจากคำพิพากษาฎีกาต่างๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการศึกษา นักศึกษา ที่มุ่งหมายจะสอบได้เป็นเนติบัณฑิต ไม่ควรจะเก็งหรือคาดเดาข้อสอบ ซึ่งมิใช่การศึกษากฎหมายที่ถูกต้องในระดับเนติบัณฑิต
                         สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ได้ทำการสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิตภาคสอง สมัยที่ 66 ปีการศึกษา 2556 ปรากฏผลการสอบ ดังนี้
                        1.กลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง สมัครสอบจำนวน 11,317 คน มีผู้เข้าสอบจริงจำนวน 7,679 คน มีผู้สอบได้จำนวน 1,163 คน (คิดเป็นร้อยละ 15.15)
                        ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด ชื่อ นายชโยทิศ ตรงจิตซื่อสกุล จบนิติศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สอบได้ 81 คะแนน 
                        2.กลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สมัครสอบจำนวน 12,697 คน มีผู้เข้าสอบจริงจำนวน 8,175 คน มีผู้สอบได้จำนวน 1,866 คน (คิดเป็นร้อยละ 22.83)
                        ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด ชื่อ นายกิตติคุณ วงศ์ทองทิว จบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอบได้ 85 คะแนน 
                         3. ผู้สอบได้กลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและกลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำนวน 419 คน ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด จำนวน 1 คน คือ นายกิตติคุณ วงศ์ทองทิว  จบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้คะแนนกลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 77 คะแนน กลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 85 คะแนน สอบได้คะแนนรวม 85 คะแนน สอบได้คะแนนรวม 162 คะแนน
                        คำถาม   บุคคลที่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์โอนขายที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อ ผู้ซื้อครอบครองต่อมา ดังนี้ ผู้ซื้อจะนับระยะเวลาที่ผู้ขายครอบครองที่ดินติดต่อกับระยะเวลาที่ผู้ซื้อครอบครองที่ดินเข้าด้วยกันอันจะทำให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ได้หรือไม่
                      การได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ ผู้ครอบครองจะต้องมีเจตนาสุจริตหรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  1981/2556  ท. ครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นบางส่วนของที่ดินที่จำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาติดต่อกันเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว  ท. ย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง เมื่อ ท. ขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ในปี 2547 และโจทก์ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันมาโดยตลอดมิได้ขาดตอนโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ แสดงว่า ท. เจตนาสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิครอบครอง และย่อมนับระยะเวลาที่ ท.ครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกับระยะเวลาที่โจทก์ครองครองที่ดินพิพาทเข้าด้วยกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1385 เมื่อนับเวลาการครอบครองที่ดินพิพาทของ ท. รวมเข้าด้วยแล้ว โจทก์จึงได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382
                       ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 ไม่ได้บัญญัติว่าการได้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์โดยการครอบครองจะต้องเป็นการครอบครองด้วยเจตนาที่สุจริต คงบังคับไว้แต่เพียงว่าให้ผู้ครอบครองโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ แม้ผู้ครอบครองจะรู้ว่าที่ดินที่ครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์ของบุคคลอื่นก็ตาม
                       คำถาม  ขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินตลอดจนขณะทำพินัยกรม ผู้ทำพินัยกรรมกับผู้รับพินัยกรรมมีข้อตกลงกันก่อนยกที่ดินให้ผู้รับพินัยกรรมว่า ให้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อประโยชน์แก่ผู้รับพินัยกรรมในที่ดินแปลงอื่น ดังนี้ ผู้รับพินัยกรรมในที่ดินแปลงอื่นจะฟ้องบังคับให้จดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินพิพาทได้หรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่   5791/2556  การแสดงเจตนาเพื่อถือเอาประโยชน์ของบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 นั้น เป็นนิติกรรมที่ไม่มีแบบ อาจเป็นการแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ได้ และหาจำต้องระบุตัวบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ว่าเป็นตัวบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง
                      ท. ผู้ทำพินัยกรรมมีเจตนาให้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกถนนสาธารณะสำหรับที่ดินอีก 3 แปลง และขณะ ท. พักรักษาตัวอยู่กับจำเลยก่อนถึงแก่ความตาย และจำเลยอยู่ด้วยในขณะรังวัดแบ่งแยกที่ดินตลอดจนในขณะทำพินัยกรรม ทั้งรับทราบเจตนาของ ท. ซึ่งต่อมาจำเลยก็ไม่เคยโต้แย้งการใช้ที่ดินพิพาทของโจทก์และบุคคลที่อาศัยอยู่ในห้องแถวมาโดยตลอด ย่อมเป็นการแสดงเจตนาโดยปริยายว่า ท. กับจำเลยมีข้อตกลงกันก่อนยกที่ดินพิพาทให้จำเลยตามพินัยกรรมว่าให้ใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินอีก 3 แปลง อันเป็นข้อตกลงที่มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก เมื่อโจทก์ได้รับโอนที่ดินแปลงหนึ่งตามพินัยกรรมและเข้าใช้ทางพิพาท อันเป็นการแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากข้อตกลงนั้นแล้ว สิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ย่อมเกิดมีขึ้นนับแต่นั้นอันเป็นเหตุให้จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทต้องยอมรับกรรมบางอย่างเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินของโจทก์ ที่ดินพิพาทจึงตกเป็นภาระจำยอม ข้อตกลงดังกล่าวเป็นการก่อตั้งภาระจำยอม แม้ไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็เป็นเพียงทำให้การได้มาซึ่งภาระจำยอมไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง แต่ไม่ทำให้เป็นโมฆะหรือเสียเปล่ายังคงบังคับกันได้เป็นบุคคลสิทธิในระหว่างจำเลยซึ่งต้องผูกพันชำระหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกกับโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ โจทก์ย่อมบังคับให้จำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้ กรณีหาใช่เป็นการได้ภาระจำยอมโดยอายุความอันเป็นการได้ทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ไม่ แม้โจทก์ใช้ที่ดินพิพาทไม่ถึงสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ โจทก์ก็ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนภาระจำยอมได้
                       คำถาม  เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินจดทะเบียนให้บุคคลอื่นเป็นผู้มีสิทธิเก็บกินในที่ดิน ผู้ทรงสิทธิเก็บกินนำที่ดินออกให้บุคคลอื่นเช่า เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินจะมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าหรือมีอำนาจฟ้องขับไล่หรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  15033/2555   ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 68160 และจดทะเบียนให้นายสวาสดิ์และนางบุญช่วยมีสิทธิเก็บกินตลอดชีวิต วันที่ 1 พฤษภาคม 2530 นางบุญช่วยให้นางชอุ่มมารดาจำเลยเช่าที่ดินพิพาทมีกำหนด 3 ปี เพื่อปลูกสร้างบ้านอยู่อาศัย นางชอุ่มก่อสร้างบ้านพิพาทเสร็จแล้วขอเลขที่บ้าน หลังจากนั้นนางชอุ่มและจำเลยย้ายชื่อเข้าไปอยู่ในทะเบียนบ้านของบ้านพิพาท นางชอุ่มทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับนางบุญช่วยต่อมาอีกหลายครั้ง ต่อมานางชอุ่มยกบ้านพิพาทให้แก่จำเลย จำเลยทำสัญญาเช่าที่ดินกับนางบุญช่วยเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2554 มีกำหนด 1 ปี ค่าเช่าเดือนละ 1,000 บาท ก่อนครบกำหนดตามสัญญานางบุญช่วยแจ้งจำเลยว่าจะให้อยู่อีก 2 เดือน แล้วให้ออกไปจากที่ดินพิพาท แต่จำเลยยังอาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาท ต่อมาวันที่ 12 กรกฎาคม 2547 โจทก์ให้ทนายความมีหนังสือแจ้งจำเลยให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาท
                       คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยได้ เพราะกฎหมายมิได้บัญญัติให้ผู้ทรงสิทธิเก็บกินมีอำนาจจัดการทรัพย์สินแต่เพียงผู้เดียวนั้น เห็นว่าข้อเท็จจริงได้ความยุติว่า โจทก์จดทะเบียนให้นายสวาสดิ์และนางบุญช่วยเป็นผู้ทรงสิทธิเก็บกินในที่ดินพิพาทตลอดชีวิต นายสวาสดิ์และนางบุญช่วยย่อมมีสิทธิครอบครองใช้และถือเอาประโยชน์แห่งที่ดินนั้นได้แต่ผู้เดียวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1417 วรรคหนึ่ง ในระหว่างที่สิทธิเก็บกินยังไม่สิ้นไป เจ้าของกรรมสิทธิ์จึงหามีสิทธิเช่นว่านี้ด้วยไม่  การบอกเลิกสัญญาเช่าหรือการฟ้องขับไล่ผู้เช่าออกจากที่ดินพิพาท จึงเป็นอำนาจในการจัดการทรัพย์สินของผู้ทรงสิทธิเก็บกิน แม้โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทก็ไม่มีอำนาจฟ้อง


                                                                          นายประเสริฐ   เสียงสุทธิวงศ์

                                                                        บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น