วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันอังคารที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2555

การได้มาซึ่งสิทธิอาศัยโดยพินัยกรรมเป็นการได้สิทธิมาโดยทางนิติกรรม

การได้มาซึ่งสิทธิอาศัยโดยพินัยกรรม
เป็นการได้สิทธิมาโดยทางนิติกรรม
                                                                        อาจารย์สมจิตร์  ทองศรี
                สืบเนื่องมาจากคำพิพากษาฎีกาที่  ๑๘๔๐/๒๕๑๔  (ประชุมใหญ่)  วินิจฉัยว่า  การได้มาซึ่งสิทธิอาศัยโดยพินัยกรรมอันเป็นทรัพยสิทธิเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยพินัยกรรมเป็นการได้สิทธิมาโดยนิติกรรม  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๒๙๙  วรรคหนึ่ง  เมื่อมิได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งสิทธิอาศัยกับพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่บริบูรณ์
                มีนักกฎหมายบางคนเห็นด้วยกับคำพิพากษาฎีกาฉบับนี้  แต่ก็มีนักกฎหมายอีกไม่น้อยที่เห็นว่า  คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๘๔๐/๒๕๑๔  (ประชุมใหญ่)  ขัดแย้งกับคำพิพากษาที่  ๑๖๑๙/๒๕๐๖  ที่วินิจฉัยว่า  “ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๕๙๙  ทายาทย่อมได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกตั้งแต่เจ้ามรดกตาย  แม้ยังไม่ได้จดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๒๙๙  ก็ตาม”  และยังขัดแย้งกับคำพิพากษาฎีกาที่  ๑๘๑๒/๒๕๐๖  ที่วินิจฉัยว่า  “เมื่อผู้ทำพินัยกรรมตาย  ที่ดินที่ระบุไว้ในพินัยกรรมย่อมตกได้แก่ผู้รับพินัยกรรมทันที  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๖๗๓  โดยมิต้องทำการรับมรดกและเข้าครอบครองที่ดินนั้น  โดยเหตุนี้เจ้าของที่ดินเช่นว่านี้  จึงมีอำนาจฟ้องให้ศาลสั่งแสดงกรรมสิทธิ์และขับไล่ผู้อาศัยได้”  โดยนักกฎหมายกลุ่มนี้เห็นว่า  เมื่อมีคำพิพากษาฎีกาทั้งสองฉบับนี้วินิจฉัยว่า  การได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยการรับมรดกไม่ว่าในฐานะทายาทโดยธรรมหรือในฐานะผู้รับพินัยกรรมย่อมเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๘๔๐/๒๕๑๔  (ประชุมใหญ่)  ก็น่าจะวินิจฉัยตาม
                ขอให้สังเกตว่าตามคำพิพากษาฎีกาที่  ๑๖๑๙/๒๕๐๖  และ  ๑๘๑๒/๒๕๐๖  เป็นกรณี  “กรรมสิทธิ์”  ซึ่งศาลฎีกาถือว่า  เมื่อบุคคลใดตาย  กรรมสิทธิ์ในทรัพย์มรดกย่อมตกทอดไปยังทายาททันทีโดยยังไม่ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์  แต่คำพิพากษาฎีกาที่  ๑๘๔๐/๒๕๑๔  (ประชุมใหญ่)  เป็นกรณี  “สิทธิอาศัย”  และข้อเท็จจริงในคดีนี้  เป็นกรณีที่เจ้ามรดกเพิ่งจะกำหนดสิทธิอาศัยขึ้นตามพินัยกรรมโดยระบุให้น้องของเจ้ามรดก  (จำเลยร่วม)  อาศัยอยู่ในที่ดินและเรือนพิพาทตลอดชีวิตของจำเลยร่วม  ส่วนโจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวาร  (ซึ่งเป็นบริวารของจำเลยร่วม)  โดยโจทก์อ้างการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินและเรือนพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์
                หากพิจารณาถึงทรัพยสิทธิทั้งหลายที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  บรรพ    บัญญัติให้ก่อตั้งขึ้นได้ด้วยอาศัยอำนาจในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์เองหรือกฎหมายอื่นอันได้แก่  กรรมสิทธิ์  สิทธิครอบครอง  ภาระจำยอม  สิทธิอาศัย  สิทธิเหนือพื้นดิน  สิทธิเก็บกิน  และ  ภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์  จะเห็นได้ว่าการได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยการรับมรดกนั้น  เฉพาะกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองเท่านั้นที่บริบูรณ์อยู่ในตัวไม่จำต้องไปจดทะเบียนก่อตั้งกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองอีกเพียงแต่ว่าการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์และสิทธิครองครองในอสังหาริมทรัพย์หากยังมิได้จดทะเบียนจะมีผลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๒๙๙  วรรคสอง  คือจะเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้  และจะยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธินั้นมาโดยเสียค่าตอบแทนโดยสุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้วไม่ได้เท่านั้น  ส่วนทรัพยสิทธิประเภทสิทธิอาศัย  สิทธิเหนือพื้นดิน  สิทธิเก็บกิน  และภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์จะก่อตั้งได้ก็โดยนิติกรรมเท่านั้น  และสิทธิดังกล่าวจะมีฐานะเป็นทรัพยสิทธิก็ต่อเมื่อได้ทำเป็นหนังสือและได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๒๙๙  วรรคหนึ่ง  แล้วเท่านั้น  ถ้าแปลว่าการที่จำเลยร่วมในคำพิพากษาฎีกาที่  ๑๘๔๐/๒๕๑๔  (ประชุมใหญ่)  ซึ่งเป็นผู้รับสิทธิอาศัยตามพินัยกรรมเป็นผู้ได้มาซึ่งสิทธิอาศัยในเรือนพิพาทโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม  สิทธิที่จำเลยร่วมได้มาต้องเป็นสิทธิอาศัยที่มีฐานะเป็นทรัพยสิทธิโดยสมบูรณ์แล้ว  (ไม่ใช่ฐานะบุคคลสิทธิ)  ในคดีนี้  ผู้เขียนเห็นว่า  สิทธิที่จำเลยร่วมได้มาเป็นเพียงบุคคลสิทธิซึ่งต้องถือว่าผู้มีสิทธิได้รับมรดกในที่ดินและเรือนพิพาทเป็นคู่กรณีหรือคู่สัญญากับจำเลยร่วม  และแม้จำเลยร่วมจะฟ้องแย้งบังคับให้โจทก์ไปจดทะเบียนสิทธิอาศัยของจำเลยร่วมในที่ดินและเรือนพิพาทก็ไม่ได้  เพราะโจทก์เป็นผู้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและเรือนพิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์  โจทก์ไม่ใช่ผู้รับมรดกจึงไม่ใช่คู่สัญญาหรือคู่กรณีกับจำเลยร่วมจะฟ้องบังคับให้ไปจดทะเบียนได้  แต่ถ้าคดีนี้เปลี่ยนข้อเท็จจริงเป็นว่าโจทก์เป็นผู้รับมรดก  (ไม่ใช่ผู้ได้ที่ดินและเรือนพิพาทมาโดยการครอบครองปรปักษ์)  จำเลยร่วมย่อมฟ้องบังคับให้ผู้รับมรดกที่ดินและเรือนพิพาทจดทะเบียนสิทธิอาศัยได้  ซึ่งพอเทียบได้กับคำพิพากษาฎีกาที่  ๖๖๗/๒๕๔๒  ที่วินิจฉัยว่า  “ตามข้อกำหนดพินัยกรรมระบุให้โจทก์มีสิทธิอยู่อาศัยในที่ดินได้ชั่วชีวิตของโจทก์  สิทธิอยู่อาศัยดังกล่าวเป็นสิทธิเหนือพื้นดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๔๑๐  และเป็นทรัพยสิทธิซึ่งโจทก์ได้รับมาตามพินัยกรรมโดยชอบ  โจทก์จึงชอบที่จะใช้สิทธิให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกดำเนินการจดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินให้แก่โจทก์  เพื่อให้โจทก์มีสิทธิบริบูรณ์ตามข้อกำหนดในพินัยกรรมตามวัตถุประสงค์ของเจ้ามรดกโดยการจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  ๑๒๙๙  วรรคหนึ่ง  แม้ตามข้อกำหนดพินัยกรรมมิได้ระบุว่าให้จดทะเบียนสิทธิเหนือพื้นดินต่อเจ้าหนักงานก็ตาม”
                กล่าวโดยสรุปผู้เขียนเห็นว่า  การได้อสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยการรับมรดกไม่ว่าในฐานะทายาทโดยธรรมหรือในฐานะทายาทผู้รับพินัยกรรมจะเป็นการได้มาโดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมก็เฉพาะการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองเท่านั้น  ส่วนสิทธิอาศัย  สิทธิเหนือพื้นดิน  และสิทธิเก็บกิน  แม้เจ้ามรดกจะกำหนดไว้ในพินัยกรรมให้บุคคลใดมีสิทธิดังกล่าวในอสังหาริมทรัพย์  เมื่อเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย  ผู้รับพินัยกรรมก็ไม่ใช่ผู้ได้มาซึ่งทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรมเพราะสิทธิเหล่านี้ไม่บริบูรณ์เป็นทรัพยสิทธิอยู่ในตัวดังเช่นกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครอง  แต่ถือว่าเป็นการได้มาโดยทางนิติกรรมเพราะสิทธิดังกล่าวจะบริบูรณ์ก็ต่อเมื่อทำเป็นหนนังสือและจดทะเบียนกับพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น  ผู้เขียนจึงเห็นด้วยกับคำพิพากษาฎีกาที่  ๑๘๔๐/๒๕๑๔  (ประชุมใหญ่)

Summumius summa iniuria
ความยุติธรรมที่สุดโต่ง  ย่อมเป็นที่มาแห่งความอยุติธรรม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น