วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันพุธที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค2 สมัยที่65 เล่ม5

                     คำถาม   คดีอาญาความผิดต่อส่วนตัวที่มีผู้เสียหายหลายคน หากผู้เสียหายคนหนึ่งรู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดแล้วไม่ร้องทุกข์ภายในกำหนด 3 เดือน ตาม ป.อ.มาตรา 96  คดีสำหรับผู้เสียหายคนอื่นจะขาดอายุความด้วยหรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  3085/2537  โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท ล. ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหายักยอกทรัพย์ของบริษัท (ความผิดอันยอมความได้) โดยโจทก์มิได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยไว้ก่อน ดังนี้ เมื่อได้ความว่าก่อนที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ ด. ผู้ถือหุ้นอีกคนหนึ่งซึ่งเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์เช่นเดียวกับโจทก์ไม่ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยภายใน 3 เดือนนับแต่วันที่  ด. รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวจำเลยผู้กระทำความผิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ.มาตรา 96 
                     คำพิพากษาฎีกาที่ 386/2551   แม้ บ. ผู้เช่าซื้อยังชำระราคาค่าเช่าซื้อไม่ครบถ้วน กรรมสิทธิ์ในรถยนต์บรรทุกดังกล่าวยังเป็นของ ว. ผู้ให้เช่าซื้อ  แต่ บ. ก็มีสิทธิครอบครองใช้ประโยชน์จากรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อนั้นและมีหน้าที่ต้องส่งคืนรถยนต์บรรทุกที่เช่าซื้อในสภาพเรียบร้อยแก่ ว. ผู้ให้เช่าซื้อหากมีกรณีต้องคืน  เมื่อจำเลยทั้งสองยักยอกชิ้นส่วนอุปกรณ์ของรถยนต์บรรทุกดังกล่าวไปจาก บ.   บ. ย่อมได้รับความเสียหายจึงเป็นผู้เสียหายและมีอำนาจร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองได้เช่นเดียวกับ ว. เจ้าของรถยนต์บรรทุกดังกล่าว  คดีนี้เป็นความผิดอันยอมความได้  เมื่อ บ. รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2541 แต่มีการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสองเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2542 ซึ่งเกินกว่าสามเดือนนับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด  คดีโจทก์จึงขาดอายุความตาม ป.อ. มาตรา 96
                     
                      คำถาม  คดีอาญาที่จำเลยให้การรับสารภาพ แต่หากคำให้การที่ยื่นต่อศาล หรือคำร้องที่ยื่นมาพร้อมคำให้การ มีข้อความทำนองว่าไม่มีเจตนา หรือเข้าใจว่าเป็นความผิด หากโจทก์ไม่สืบพยานศาลจะพิพากษาอย่างไร
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่ 13516/2553  คำให้การของจำเลยที่ยื่นต่อศาลมีใจความว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ แต่จำเลยขอแถลงข้อเท็จจริงต่อศาลเป็นเรื่องจริงของคดีนี้คือ จำเลยประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป วันเกิดเหตุจำเลยรับจ้างเฮียเหลานำแผ่นวีซีดีมาส่งที่บริเวณคลองถม โดยเฮียเหลาบอกจำเลยว่าเป็นแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ทั่วๆไป ซึ่งออกฉายในโรงภาพยนตร์มาแล้วเหมือนกับที่เคยจ้างจำเลยมาส่งในครั้งก่อน จำเลยไม่อาจทราบได้ว่าเป็นแผ่นวิซีดีลามก จำเลยถูกเฮียเหลาหลอกใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด  ส่วนข้อความต่อจากนั้นจำเลยขอให้ศาลชั้นต้นลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลย  ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาว่า จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ ปรากฏตามคำให้การจำเลยที่ยื่นต่อศาล โจทก์จำเลยแถลงไม่ติดใจสืบพยาน   คำให้การของจำเลยดังกล่าวเป็นเรื่องที่จำเลยรับว่าตนมีส่วนที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์ ซึ่งเป็นความผิดตามฟ้องเท่านั้น จำเลยถูกหลอกใช้เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดโดยไม่รู้ข้อเท็จจริงว่าแผ่นวีซีดีของกลางเป็นวัตถุหรือสิ่งของลามก เท่ากับจำเลยอ้างว่าไม่มีเจตนากระทำความผิด  จึงยังฟังไม่ได้ว่าเป็นคำให้การรับสารภาพว่า จำเลยกระทำผิดจริงตามที่โจทก์ฟ้อง เมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน จึงลงโทษจำเลยไม่ได้  ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 185
                       คำพิพากษาฎีกาที่  5597/2553  คำให้การของจำเลยทั้งห้าเมื่ออ่านรวมกับคำร้องที่ยื่นมาพร้อมกับคำให้การแล้ว จำเลยทั้งห้ายังคงโต้แย้งว่าที่ดินตามฟ้องมิใช่ที่ดินอันเป็นทรัพย์มรดกของ ช. จึงมิใช่ที่ดินของโจทก์ซึ่งฟ้องคดีในฐานะผู้จัดการมรดกของ ช.  เหตุที่จำเลยทั้งห้าให้การรับสารภาพอาจเป็นเพราะคดีอยู่ระหว่างเจรจาว่าจะมีการชดใช้ค่าขนย้ายให้แก่จำเลยทั้งห้าตามที่ทนายโจทก์แถลง และจำเลยทั้งห้าอาจเข้าใจว่าการกระทำของจำเลยทั้งห้าเป็นความผิด จึงฟังไม่ได้ว่าเป็นคำให้การรับสารภาพว่าจำเลยทั้งห้าได้กระทำความผิดจริงตามที่โจทก์ฟ้อง  เมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน คดีจึงลงโทษจำเลยทั้งห้าไม่ได้ ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจยกฟ้องโจทก์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185
                        
                       คำถาม  คดีละเมิดอำนาจศาล อยู่ในบังคับของข้อจำกัดเกี่ยวกับการอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้                
                       คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่  1926/2548   บทบัญญัติมาตรา 31 และมาตรา 33 แห่ง ป.วิ.พ. เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลลงโทษกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเพื่อให้ศาลสามารถควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งในและนอกศาลให้ดำเนินไปได้โดยราบรื่นรวดเร็วและเป็นธรรมต่อคู่ความทุกฝ่าย แม้ว่ามาตรา 33 จะกำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับซึ่งเป็นโทษทางอาญาด้วยก็ตาม แต่เนื่องจากบทบัญญัติในเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นบทบัญญัติพิเศษที่ไม่เกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญาทั่วไป จึงไม่อยู่ในบังคับของข้อจำกัดเกี่ยวกับการอุทธรณ์ฎีกาตาม ป.วิ.อ. จำเลยจึงสามารถฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต่อศาลฎีกาได้
          คำสั่งศาลฎีกาที่ 2083/2543   คำสั่งศาลที่ให้ลงโทษจำคุกจำเลยฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นคำสั่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 228 (1) ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15 ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จำเลยจึงไม่จำต้องขออนุญาตผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
                       ผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาพาอาวุธปืนติดตัวมาในบริเวณศาล เป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาล เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล
                      ในชั้นไต่สวนของศาลชั้นต้น ผู้ถูกกล่าวได้ให้การรับสารภาพโดยไม่มีข้อต่อสู้เป็นอย่างอื่น คดีต้องฟังตามคำรับสารภาพของผู้ถูกกล่าวหาตามที่ถูกกล่าวหา ผู้ถูกกล่าวหาจะฎีกาโต้เถียงข้อเท็จจริงเป็นอย่างอื่นอีกไม่ได้ เพราะไม่ใช่ข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น
                       
                       คำถาม   จำเลยจะฟ้องแย้งจำเลยด้วยกันหรือฟ้องแย้งบุคคลภายนอกได้หรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่  5578/2549   ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 1 (3) ฟ้องแย้งเป็นคำฟ้องอย่างหนึ่ง ดังนั้น การบรรยายฟ้องจะต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ.มาตรา 172 วรรคสอง กล่าวคือต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น และจะต้องบรรยายให้เห็นว่าโจทก์ได้โต้แย้งสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายของจำเลยอย่างไรตามมาตรา 55 ทั้งต้องเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ตามมาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคท้าย ฟ้องแย้งของจำเลยอ้างว่าจำเลยได้ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการรังวัดสอบเขตเพื่อแก้ไขรูปแผนที่ในโฉนดที่ดินของจำเลยให้ถูกต้องตามความจริง แต่โจทก์ไปคัดค้านมิให้เจ้าพนักงานที่ดินแก้ไขรูปแผนที่ในโฉนด จึงขอให้บังคับโจทก์ยินยอมรับการสอบเขตที่ดินของจำเลย เป็นการกล่าวอ้างว่าโจทก์กระทำละเมิดต่อจำเลย มูลคดีที่จำเลยฟ้องแย้งจึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวข้องกับข้อพิพาทตามประเด็นในคำฟ้องเดิมของโจทก์ ซึ่งเป็นเรื่องขับไล่จำเลยชอบที่จะฟ้องเป็นคดีใหม่ต่างหาก ไม่อาจขอรวมมาในคำให้การได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม  ส่วนที่จำเลยฟ้องแย้งขอให้บังคับเจ้าพนักงานที่ดินแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ดินของโจทก์และจำเลยให้ตรงกับความจิรงเป็นฟ้องแย้งที่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นบุคคลภายนอก  มิใช่ฟ้องแย้งโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดี จึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม
                         คำพิพากษาฎีกาที่  7606/2549  ฟ้องแย้งต้องเกี่ยวกับฟ้องเติมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้  ฟ้องเดิมของโจทก์คดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์รับโอนสิทธิเรียกร้องของบริษัท ว. มาตามสัญญาขายทรัพย์สินขององค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงินซึ่งรวมทั้งสิทธิเรียกร้องที่บริษัทดังกล่าวมีต่อจำเลยทั้งสามตามมูลหนี้กู้ยืมเงิน ค้ำประกันและจำนอง แล้วโจทก์ใช้สิทธิของบริษัท ว. ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยทั้งสามชำระหนี้ที่ค้างชำระ ส่วนฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 อ้างว่าบริษัท ว. ได้ตกลงร่วมลงทุนให้การสนับสนุนโครงการของจำเลยที่ 1 โดยปล่อยสินเชื่อให้แก่จำเลยที่ 1 จำนวน 275,000,000 บาท ตกลงให้จำเลยที่ 1 รับเงินสินเชื่อเป็นคราว ๆ แล้วบริษัท ว. ผิดข้อตกลงมิใช่จ่ายสินเชื่อเงินลงทุน 30,000,000 บาทแก่จำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถก่อสร้างบ้านให้แล้วเสร็จ และส่งมอบบ้านพร้อมที่ดินให้ลูกค้าได้ ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหาย จึงฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์และบริษัท ว. ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 1 กรณีตามฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 เป็นเรื่องนิติสัมพันธ์และข้อพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับบริษัท ว. ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดี ไม่ใช่สิทธิเรียกร้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์โดยตรง  เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 จะต้องไปว่ากล่าวแก่บริษัท ว. ต่างหาก ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้
                         คำพิพากษาฎีกาที่  3045/2530  โจทก์กับจำเลยทั้งสามได้ทำบันทึกข้อตกลงแบ่งส่วนที่ดินของตนที่มีอยู่ในที่ดินออกจากกัน จำนวน 3 แปลง แบ่งที่ดินทางทิศตะวันตกไปทางทิศตะวันออกแปลงที่ 1 เป็นของจำเลยที่ 2 แปลงที่  2 ถัดจากแปลงที่ 1 มาทางทิศใต้ เป็นของโจทก์ แปลงที่ 3 เป็นของจำเลยที่ 1 แปลงคงเหลือเป็นของจำเลยที่ 3 ส่วนเนื้อที่จะแจ้งในวันไปรังวัดและยังมีเอกสารซึ่งเป็นรูปจำลองแผนที่ มีรอยขีดเส้นแบ่งที่ดินออกเป็น 4 ส่วน เขียนชื่อโจทก์ในบริเวณที่ดินด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ชื่อจำเลยที่ 3 ในบริเวณที่ดินด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้  ทั้งโจทก์และจำเลยทั้งสามลงชื่อรับรองเอกสารและรูปแผนที่ดังกล่าวไว้ด้วยเมื่อโจทก์กับจำเลยทั้งสามมีกรรมสิทธิ์รวมกันในที่ดินพิพาทการกำหนดลงไปในเอกสารทั้งสองฉบับว่า ผู้ใดได้ที่ดินส่วนใดย่อมเป็นการระงับข้อพิพาทอันจะมีขึ้นให้เสร็จไปเพราะเป็นการตกลงเพื่อให้เป็นที่แน่นอนไม่โต้เถียงแย่งกันเอาที่ดินส่วนนั้นส่วนนี้ ทั้งตามข้อตกลงก็จะบุว่าจะนำช่างรังวัดทำการปักหลักเขตแสดงว่ามีการตกลงกันแน่นอนแล้วมิฉะนั้นก็ย่อมจะนำช่างรังวัดที่ดินเพื่อแบ่งแยกมิได้และหลังจากรังวัดแล้วจึงจะรู้เนื้อที่ของแต่ละคนเป็นที่แน่นอนเอกสารดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 850  จำเลยที่ 2 ที่ 3 จึงฟ้องแย้งขอให้บังคับให้เป็นไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้
                       ฟ้องแย้งเป็นเรื่องจำเลยขอให้บังคับโจทก์จะขอให้บังคับจำเลยด้วยกันมิได้ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 177  วรรคสามและมาตรา 178

                                                                          นายประเสริฐ  เสียงสุทธิวงศ์
                                                                                          บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น