วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค1 สมัย66 เล่ม14

                     คำถาม  ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตายขณะที่ลูกหนี้ยังไม่ผิดนัดผิดสัญญา  หน้าที่และความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันจะเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทหรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  1268/2555  เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2536 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินจากโจทก์จำนวน 50,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10 ต่อปี และจะผ่อนชำระคืนเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยให้เสร็จสิ้นภายใน 2 ปี โดยงวดแรกชำระภายในวันที่ 1 มีนาคม 2537 เป็นเงิน 2,854.80 บาท และจำเลยชำระงวดต่อไปภายในวันที่1ของทุกเดือน เดือนละ 2,800 บาท จนกว่าจะครบถ้วนตามสัญญารวม 20 งวด งวดสุดท้ายจะชำระวันที่ 1 ตุลาคม 2538 เป็นเงิน 3,115.52 บาท โดยมีระยะเวลาปลอดหนี้ 4 เดือนแรก หากจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใดหรือกระทำผิดระเบียบกระทรวงอุตสาหกรรม ว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการส่งเสริมอาชีพอุตสาหกรรมในครอบครัวและหัตถกรรมไทย พ.ศ. 2525 ให้โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาทันที และจำเลยที่ 1 จะต้องชำระต้นเงินทั้งหมดที่ค้างชำระพร้อมดอกเบี้ยคืนให้โจทก์ทันทีโดยมิต้องรอให้การชำระหนี้รายนี้ถึงกำหนด และต้องใช้ค่าเสียหายต่าง ๆให้แก่โจทก์ทั้งสิ้น โดยมีจำเลยที่ 2 และดาบตำรวจพีระพลทำสัญญาค้ำประกันโดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม หลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้และล่วงพ้นระยะเวลาปลอดหนี้ 4 เดือนแล้ว จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ให้โจทก์บางส่วนเพียง 14 งวด รวมเป็นเงิน 49,594 บาท อันเป็นการชำระดอกเบี้ยและต้นเงินบางส่วน โดยชำระงวดที่ 14 เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2546 ซึ่งมีจำนวนเงินไม่เพียงพอและไม่ตรงตามวันที่กำหนดในตารางกำหนดการชำระเงินท้ายสัญญากู้อันเป็นการประพฤติผิดสัญญาที่ให้ไว้แก่โจทก์ ต่อมาวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2550 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขอผ่อนผันชำระหนี้ออกไปอีกเป็นการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ ส่วนดาบตำรวจพีระพลถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2544
                     คดีมีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 3 ในฐานะทายาทของดาบตำรวจพีระพลผู้ค้ำประกันซึ่งถึงแก่ความตายไปแล้วจะต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 หรือไม่  ปัญหานี้ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยทำนองเดียวกันว่า ขณะที่ดาบตำรวจพีระพลถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดสัญญา ความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันของดาบตำรวจพีระพลจึงยังไม่เกิด  สัญญาค้ำประกันเป็นสิทธิเฉพาะของผู้ค้ำประกันไม่เป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทนั้น เห็นว่า ค้ำประกันเป็นสัญญาที่ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้ค้ำประกันหาได้มีหนี้ที่จะต้องปฏิบัติต่อเจ้าหนี้โดยอาศัยความสามารถหรือคุณสมบัติบางอย่างซึ่งต้องกระทำเป็นการเฉพาะตัวไม่ ผู้ค้ำประกันมีความผูกพันต้องชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ อันเป็นความผูกพันในทางทรัพย์สินเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เมื่อดาบตำรวจพีระพลทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้เงินกู้ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้อันสมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 681 วรรคหนึ่ง แม้ศาลล่างทั้งสองจะฟังข้อเท็จจริงว่าขณะที่ดาบตำรวจพีระพลถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 1 ผู้กู้ยังไม่ผิดสัญญาหรือผิดนัดก็ตาม สัญญาค้ำประกันก็หาได้ระงับไปเพราะความตายของดาบตำรวจพีระพลไม่  สิทธิหน้าที่และความรับผิดต่าง ๆ ตามสัญญาค้ำประกันที่ดาบตำรวจพีระพลทำกับโจทก์จึงเป็นมรดกตกทอดแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1599 วรรคหนึ่ง และมาตรา 1600 จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นทายาทย่อมต้องรับไปทั้งสิทธิและหน้าที่ของดาบตำรวจพีระพลผู้ตาย แต่ไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1601
                      หมายเหตุ  เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 6023/2538 วินิจฉัยไว้ดังนี้
                      จำเลยที่ 1 ได้รับอนุมัติจากทางราชการให้ลาไปศึกษาต่อต่างประเทศด้วยทุนของโจทก์และทำสัญญาให้ไว้แก่โจทก์ว่า จำเลยที่ 1 จะต้องกลับมารับราชการชดใช้ทุน หากผิดสัญญายอมชดใช้เงินทุนและเบี้ยปรับแก่โจทก์โดยมี ก. เป็นผู้ค้ำประกัน ดังนี้เมื่อปรากฏว่า ก. ผู้ค้ำประกันถึงแก่ความตายลงในระหว่างเวลาที่จำเลยที่ 1 ยังไม่ผิดสัญญาและยังไม่ผิดนัด จึงยังไม่มีหนี้ของ ก. ที่โจทก์จะเรียกให้รับผิดได้ สัญญาค้ำประกันของ ก. ที่ทำไว้ต่อโจทก์ก็ย่อมไม่ตกทอดไปยังทายาท จำเลยที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นทายาท ก. จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์
                     มีข้อสังเกตว่า ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1268/2555  นั้น ผู้ค้ำประกันทำสัญญาค้ำประกันโดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมด้วย
                     คำถาม   ลูกจ้างกระทำละเมิดในทางการที่จ้าง จะถือว่านายจ้างผิดนัดเมื่อใด
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  7495/2555  ป.พ.พ.มาตรา  206 บัญญัติให้หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด เมื่อจำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์และได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ลูกจ้างในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้าง จำเลยที่ 2 จึงอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้เช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 และได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดเช่นเดียวกัน จำเลยทั้งสองจึงต้องเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่จะต้องชดใช้ตั้งแต่วันทำละเมิด มิใช่นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
                      คำถาม   ผู้ซื้อ ฝากสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ซื้อให้ผู้ขายเก็บรักษาไว้ ต่อมาสลากกินแบ่งถูกรางวัลที่ 1 ผู้ขายอ้างว่าสลากกินแบ่งไม่ถูกรางวัลและทิ้งไปแล้วโดยให้บุตรผู้ขายสมอ้างเป็นผู้ซื้อสลากไป แล้วนำไปขอรับรางวัลมาจะเป็นความผิดฐานใด
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  11224/2555  สลากกินแบ่งรัฐบาลที่โจทก์ร่วมซื้อและฝากจำเลยที่ 1 ไว้ถูกรางวัลที่หนึ่ง จำเลยที่ 1 คิดจะเบียดบังเอาสลากไว้เสียเอง จึงได้อ้างต่อโจทก์ร่วมว่าสลากไม่ถูกรางวัลและทิ้งไปแล้ว จากนั้นให้จำเลยที่ 1 บุตรชายรับสมอ้างว่าเป็นผู้ซื้อสลากไป แล้วร่วมมือกันนำสลากไปขอรับรางวัลมาเป็นของจำเลยทั้งสองโดยทุจริต จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 วรรคแรก จำเลยที่ 2 มิได้ร่วมครอบครองสลากมาแต่แรก แต่การที่จำเลยที่ 2 รับสมอ้างว่าเป็นเจ้าของสลากและร่วมไปขอรับเงินรางวัลมา  ถือได้ว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่จำเลยที่ 1 ในการยักยอกสลาก จำเลยที่ 2 จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 ประกับมาตรา 86
                     คำถาม  ครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นโดยเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของตนเอง การนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์จะเริ่มนับเมื่อใด
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  17094/2555  ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการสุดท้ายว่า การครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นโดยสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินของตนเอง ถือเป็นการครอบครองที่สามารถนับระยะเวลาการครอบครองเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 หรือไม่
                    เห็นว่า การที่บุคคลใดครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นแม้จะเข้าใจผิดว่าเป็นที่ดินของตนเองก็ตาม หากบุคคลนั้นได้ยึดถือครอบครองด้วยเจตนาเป็นเจ้าของอย่างแท้จริงแล้ว ก็ถือว่าเป็นการครอบครองที่ดินของผู้อื่นด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ ซึ่งหากครอบครองย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น โดยไม่จำเป็นต้องรู้เสียก่อนว่าที่ดินนั้นเป็นของบุคคลอื่นแล้วจึงเริ่มนับระยะเวลาการครอบครองเพื่อให้ได้กรรมสิทธิ์  ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 วินิจฉัยว่า แม้จำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นโดยสำคัญผิดว่าเป็นของตนเองก็ถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นตามนัยแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1382 นั้น ชอบแล้ว
                    คำถาม  ครอบครองที่ดินของบุคคลอื่นมายังไม่ครบ 10 ปี หากเจ้าของที่ดินโอนขายที่ดินดังกล่าวให้บุคคลอื่นไป โดยผู้ซื้อสุจริต การนับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ต้องเริ่มนับใหม่หรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่   6147/2554  แม้จำเลยจะได้ครอบครองที่ดินพิพาทตั้งแต่วันที่จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3262 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2530 เป็นต้นมาก็ตาม แต่เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2533 บริษัท ค. ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 3226 จากเจ้าของเดิมโดยจดทะเบียนซื้อขายและเสียค่าตอบแทนโดยสุจริต จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิการครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทบางส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 3226 ในช่วงระยะเวลาก่อนหน้านั้นขึ้นอ้างยันต่อบริษัท ค. ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคสอง การนับระยะเวลาครอบครองปรปักษ์ของจำเลยจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2533 เป็นต้นมา เมื่อนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 31 ตุลาคม 2543 ยังไม่ครบระยะเวลา 10 ปี จำเลยจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์


                                                                                               นายประเสริฐ  เสียงสุทธิวงศ์

                                                                                   บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น