วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันอังคารที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค1 สมัย66 เล่ม2

                       เนื่องด้วยหม่อมเฉลิมชัย เกษมสันต์ กรรมการเนติบัณฑิตยสภา เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคหัวใจล้มเหลวเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2556 นับเป็นการสูญเสียบุคลากรอันมีคุณค่ายิ่งแก่วงการกฎหมายไป  ท่านอาจารย์หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์ เป็นผู้บรรยายกฎหมายแพ่งลักษณะมรดก ภาคปกติ ที่สำนักอบรมฯ มาตั้งแต่สมัยที่ 51 ปีการศึกษา 2541 และได้เรียบเรียงตำราคำอธิบายกฎหมายแพ่ง ลักษณะมรดกให้สำนักอบรมฯ จัดพิมพ์หนังสือของท่านได้รับความนิยมในแวดวงนักกฎหมาย จนจำหน่ายหมดไปอย่างรวดเร็วและได้จัดพิมพ์ขึ้นใหม่หลายครั้ง
                      สำนักอบรมฯ ขอไว้อาลัยแก่การจากไปของท่านอาจารย์มา ณ โอกาสนี้
                      คำถาม  ทนายความทำหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแก่ผู้จำนองโดยผู้รับจำนองไม่ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ทนายความบอกกล่าวบังคับจำนอง แต่ต่อมาผู้รับจำนองได้มอบหมายให้ทนายความดำเนินคดีแก่ผู้จำนอง  ดังนี้ การบอกกล่าวบังคับจำนองชอบหรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  4015/2555  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 728 มิได้บัญญัติว่า การบอกกล่าวบังคับจำนองต้องทำเป็นหนังสือ จึงไม่ตกอยู่ในบังคับมาตรา 798 วรรคหนึ่ง ที่กำหนดให้การตั้งตัวแทนเพื่อกิจการนั้นต้องทำเป็นหนังสือแต่อย่างใด แม้โจทก์จะไม่ได้ทำหนังสือมอบอำนาจให้ทนายความบอกกล่าวบังคับจำนองก็ตาม แต่การที่ทนายโจทก์ทำหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยเป็นการกระทำในนามของโจทก์ ทั้งต่อมาโจทก์ได้มอบหมายให้ทนายความดำเนินคดีแก่จำเลย แสดงให้เห็นว่าโจทก์ยอมรับเอาการบอกกล่าวบังคับจำนองของทนายโจทก์เป็นการบอกกล่าวในนามของโจทก์  ถือได้ว่าโจทก์ซึ่งเป็นตัวการซึ่งให้สัตยาบันแก่การกระทำของทนายโจทก์ ซึ่งเป็นตัวแทนที่บอกกล่าวบังคับจำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 823 วรรคหนึ่งแล้ว จึงถือว่าโจทก์ในฐานะผู้รับจำนองมีหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังจำเลยผู้จำนองตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา728โดยชอบแล้ว
                      
                     คำถาม  ซื้อบ้านจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริต และรื้อถอนบ้านไปแล้ว หากบ้านพิพาทจำนองแก่ผู้รับจำนองไว้ก่อน สิทธิของผู้รับจำนองบ้านพิพาทจะระงับสิ้นไปหรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  1587/2555 โจทก์รับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้าง คือบ้าน ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าวตาม ป.พ.พ. มาตรา 718 จำนองย่อมครอบไปถึงทรัพย์ทั้งปวงอันติดพันอยู่กับทรัพย์สินซึ่งจำนอง และเมื่อบ้านพิพาทเป็นโรงเรืองซึ่งมีอยู่ในขณะที่จดทะเบียนจำนอง การจำนองย่อมครอบคลุมไปถึงบ้านพิพาทด้วย แม้จำเลยจะซื้อบ้านพิพาทได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริต แต่สิทธิของจำเลยได้มาภายหลังจากที่โจทก์รับจำนองบ้านพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเหตุที่จะทำให้การจำนองระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อมีเหตุตาม ป.พ.พ. มาตรา 744  เท่านั้น การที่จำเลยรื้อถอนบ้านพิพาทไปไม่ทำให้สิทธิของโจทก์ที่มีอยู่ในทรัพย์จำนองระงับสิ้นไปได้ โจทก์จึงคงมีสิทธิบังคับจำนองเอาแก่บ้านพิพาทที่จำเลยซื้อได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 744 และมาตรา 702 วรรคสอง  การที่จำเลยได้กรรมสิทธิ์ในบ้านพิพาทภายหลังจากที่โจทก์รับจำนองไว้แล้ว แม้จะได้มาโดยสุจริตและได้รับความคุ้มครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 ก็หาทำให้สิทธิของโจทก์ที่มีอยู่เดิมเสียไป  จำเลยไม่มีสิทธิในบ้านพิพาทดีกว่าโจทก์
                    จำเลยเป็นแต่เพียงผู้ซื้อบ้านพิพาทได้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลมิใช่เป็นผู้จำนองหรือคู่สัญญากับโจทก์ผู้รับจำนอง จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในฐานเป็นผู้จำนองต่อโจทก์ การที่จำเลยรื้อถอนบ้านพิพาทขายให้แก่โจทก์ และเมื่อเป็นหนี้เงินที่จำเลยต้องคืนให้แก่โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 224 ในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่รื้อถอนบ้านพิพาทเป็นต้นไป
                   
                   คำถาม  ผู้รับโอนสิทธิการเช่าจากผู้เช่า (สัญญาเช่ามีข้อตกลงให้เช่าช่วงได้) จะมีสิทธิฟ้องเรียกค่าเช่าช่วงที่ผู้เช่าช่วงค้างชำระผู้เช่าเดิมอยู่ก่อนที่จะได้รับโอนสิทธิการเช่าจากผู้เช่าเดิมหรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่ 12753/2555  หนังสือสัญญาโอนสิทธิการเช่าระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. กับโจทก์ระบุว่าผู้รับโอนสิทธิตกลงรับไปซึ่งสิทธิและหน้าที่ของผู้ให้เช่า ผู้เช่า ผู้เช่าช่วง ไปทันทีนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป  ย่อมหมายถึงสิทธิทั้งหลายที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ผู้โอนมีอยู่ทั้งก่อนและหลังวันดังกล่าว ให้ตกเป็นของโจทก์ผู้รับโอนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป แม้จะไม่ได้ระบุไว้ว่าหมายถึงค่าเช่าช่วงที่จำเลยค้างชำระก่อนวันโอนแต่ก็เป็นหนึ่งในสิทธิและหน้าที่ทั้งหลายที่มีอยู่ เมื่อข้อสัญญาไม่ได้ระบุยกเว้นไว้ย่อมไม่แยกต่างหากจากสิทธิทั้งหลายที่จะตกได้แก่โจทก์ผู้รับโอน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าเช่าที่ค้างชำระอยู่ก่อนการรับโอนสิทธิการเช่าและภายหลังการรับโอนสิทธิการเช่าจากจำเลยตามฟ้อง
                    โจทก์มีสิทธิเรียกค่าเช่าช่วงที่จำเลยค้างชำระแก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ. ผู้โอนก่อนวันที่โจทก์รับโอนสิทธิและภายหลังที่โจทก์รับโอนสิทธิซึ่งจำเลยค้างชำระ เมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยชำระค่าเช่าช่วงทั้งหมดภายใน 7 วัน มิฉะนั้นถือเอาหนังสือบอกกล่าวเป็นการบอกเลิกสัญญา และสัญญาเช่าเป็นอันระงับ จำเลยได้รับหนังสือบอกกล่าวแต่ไม่ชำระตามที่กำหนด และนับถึงวันที่โจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า 15 วัน นับแต่วันครบกำหนดการบอกกล่าว ถือว่าการเช่าช่วงรายเดือนมีการบอกกล่าวเกิน 15 วันตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 560 วรรคสอง ถือเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าช่วงโดยชอบแล้ว สัญญาเช่าช่วงจึงเลิกกันเพราะจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา  จำเลยไม่มีสิทธิอยู่ในที่ดินพิพาทต่อไป การที่จำเลยยังคงอยู่ย่อมเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยพร้อมบริวารและให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของตนออกไปจากที่ดินที่เช่า ทั้งมีสิทธิเรียกค่าเช่าช่วงค้างชำระทั้งหมดและค่าเสียหาย
                     
                    คำถาม  การนับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ จะนับระยะเวลาการครอบครองในระหว่าง ที่เป็นที่ดินมือเปล่ารวมเข้ากับระยะเวลาภายหลังที่ดินมีโฉนดแล้วหรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 2270/2554  การได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินของผู้อื่นโดยการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382 จะต้องเป็นการครอบครองที่ดินที่ผู้อื่นมีกรรมสิทธิ์และครอบครองโดยสงบเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกนเป็นเวลา 10 ปี ผู้ร้องจะนับระยะเวลาการครอบครองในระหว่างเป็นที่ดินมือเปล่าก่อนที่ดินพิพาทออกโฉนดรวมเข้ากับระยะเวลาการครอบครองปรปักษ์ภายหลังที่ดินมีโฉนดแล้วหาได้ไม่ ขณะที่มีการออกโฉนดที่ดินในที่ดินพิพาทปี 2529 ผู้ร้องไม่ได้คัดค้านอย่างใด ต่อมาปี 2533 ผู้ร้องเข้าไปตักดินในที่ดินพิพาท ผู้คัดค้านห้ามแล้วไม่หยุด ผู้คัดค้านจึงนำโฉนดที่ดินไปแจ้งความที่สถานีตำรวจว่าผู้ร้องบุกรุก ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าผู้ร้องเข้าครอบครองที่ดินพิพาทและแสดงออกว่ามีเจตนาเป็นเจ้าของเมื่อปี 2533 เมื่อนับระยะเวลาจนถึงผู้ร้องยื่นคำร้องขอคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2541 ยังไม่ครบ 10 ปี ผู้ร้องจึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอง
                      
                     คำถาม  การตรวจค้น การจับ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายผู้ถูกกระทำมีสิทธิป้องกันสิทธิของตนหรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 8722/2555 บริเวณที่เกิดเหตุอยู่บนถนนสุทธาวาสไม่ใช่หลังซอยโรงถ่านที่มีอาชญากรรมประเภทความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ และความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เป็นประจำ และจำเลยไม่มีท่าทางเป็นพิรุธคงเพียงแต่นั่งโทรศัพท์อยู่ การที่สิบตำรวจโท ก. และสิบตำรวจตรี พ. อ้างว่าเกิดความสงสัยในตัวจำเลยจึงขอตรวจค้น โดยไม่มีเหตุผลสนันสนุนว่าเพราะเหตุใด จึงเกิดความสงสัยในตัวจำเลย จึงเป็นข้อสงสัยที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกเพียงอย่างเดียว ถือไม่ได้ว่ามีเหตุอันควรสงสัยตามกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 93 ที่จะทำการตรวจค้นได้ การตรวจค้นตัวจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  จำเลยซึ่งถูกกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายย่อมมีสิทธิโต้แย้งและตอบโต้เพื่อป้องกันสิทธิของตนตลอดจนเพิกเฉยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งใด ๆ อันสืบเนื่องจากการปฏิบัติที่ไม่ชอบได้  จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 ,มาตรา 138 วรรคสอง และมาตรา 367
                      
                   คำถาม  ผู้ร่วมวางแผนในการกระทำความผิด หากขณะกระทำความผิดไม่ได้รออยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุที่จะมีเวลาเพียงพอที่จะช่วยเหลือพวกในขณะกระทำความผิดได้ จะถือเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดหรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้ 
                    คำพิพากษาฎีกาที่ 74/2555  แม้จำเลยที่ 2 จะร่วมวางแผนกับจำเลยที่ 1 และ ส. มาก่อนเกิดเหตุเพื่อที่จะมากระทำความผิดก็ตาม แต่ขณะที่จำเลยที่ 1 และ ส. กระทำความผิดเอาทรัพย์ของผู้ตายไป จำเลยที่ 2 ขับรถจักรยานยนต์แยกทางออกไปก่อน ไม่ได้รออยู่ใกล้กับที่เกิดเหตุที่จะมีเวลาเพียงพอที่จะช่วยเหลือจำเลยที่ 1 และ ส. ในขณะกระทำความผิดได้  จึงไม่ใช่เป็นการแบ่งหน้าที่กันทำอันจะเป็นตัวการในการกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 และ ส. ได้ จำเลยที่ 2 คงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการ กระทำความผิดของจำเลยที่ 1 และ ส. เท่านั้น หาใช่ร่วมกันเป็นตัวการกระทำความผิดชิงทรัพย์ด้วยกันตั้งแต่สามคนขึ้นไป อันจะเป็นความผิดฐานปล้นทรัพย์ด้วยไม่


                                                                                   นายประเสริฐ  เสียงสุทธิวงศ์
                                                                                              บรรณาธิการ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น