วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันจันทร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2555

บทบรรณาธิการ ภาค2 สมัย64 เล่ม8

                คำถาม คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดการบังคับคดีจะมีผลทันทีเมื่อศาลมีคำสั่ง หรือจะมีผลต่อเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ทราบคำสั่งแล้ว หากเจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่ทราบคำสั่งแล้ว ทำการขายทอดตลาดไป ศาลจะมีคำสั่งอย่างไร
                คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๓๕๑๐/๒๕๕๓ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดการบังคับคดีเป็นคำสั่งตาม ป.วิ.. มาตรา ๒๙๒ (๒) ย่อมมีผลทันทีเมื่อศาลมีคำสั่ง ถึงแม้บทบัญญัติดังกล่าวจะใช้คำว่า ให้เจ้าพนักงานบังคังคดีงดการบังคับคดีเมื่อศาลได้ส่งคำสั่งนั้นไปให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบก็ตาม แต่ก็มีความหมายเพียงว่าเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบคำสั่งดังกล่าวของศาลก็ให้งดการบังคับคดีไว้ หาได้มีความหมายเลยไปถึงว่าคำสั่งให้งดการบังคับคดีจะมีผลต่อเมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ ทราบคำสั่งแล้วเท่านั้นไม่ ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งให้งดการบังคับคดี เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ถึงแม้เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทำการขายทอดตลาดทรัพย์รายพิพาทในครั้งต่อไปเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๘ โดยไม่ทราบคำสั่งงดการบังคับคดีของศาลชั้นต้นและโจทก์เป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์รายพิพาทได้ในราคา ๑,๐๐๐,๐๐๐บาท ย่อมถือเป็นการขายทอดตลาดทรัพย์รายพิพาทไปโดยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้งดการบังคับคดี ศาลย่อมมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์รายพิพาทเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๘ ที่ไม่ถูกต้องนั้นเสียได้ตาม ป.วิ.. มาตรา ๒๗
                คำถาม กำหนดระยะเวลาในการบังคับคดีตาม ป.วิ.. มาตรา ๒๗๑ กรณีศาลมีคำพิพากษาตามยอม ระยะเวลาบังคับคดีจะเริ่มนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม หรือวันที่มีการผิดสัญญายอม
                คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๘๓๑/๒๕๕๓ คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๓๗ ให้จำเลยทั้งสามชำระหนี้แก่โจทก์โดยผ่อนชำระไม่น้อยกว่าเดือนละ ๓๐๐,๐๐๐ บาท ภายในวันที่ ๕ ของทุกเดือน เริ่มชำระงวดแรกในวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๓๗ และจะชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด ๑๒ เดือน นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ หากผิดนัดไม่ชำระหนี้งวดหนึ่งงวดใดหรือไม่ชำระให้ครบถ้วนให้ถือว่าจำเลยทั้งสามผิดนัดทั้งหมด ยอมให้โจทก์บังคับคดีในส่วนที่ค้างชำระได้ทันที แต่จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โดยไม่เคยชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์เลยเป็นการผิดไม่ชำระหนี้ตั้งแต่งวดแรก ดังนั้น ระยะเวลาการบังคับคดีของโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.. มาตรา ๒๗๑ จึงเริ่มนับตั้งแต่วันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๓๗ ซึ่งเป็นวันที่โจทก์มีสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษามิใช่วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๓๗ ซึ่งเป็นวันที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอม เมื่อนับจากวันที่โจทก์หรือผู้ร้องอาจมีบังคับคดีได้จนถึงวันที่ผู้ร้องได้ดำเนินการบังคับคดียังไม่เกิน ๑๐ ปี การดำเนินการบังคับคดีของผู้ร้องจึงชอบด้วยมาตรา ๒๗๑
                คำถาม การอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอให้พิจารณาใหม่ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลย จะต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์หรือไม่
                ศาลชั้นต้นยกคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่ เพราะไม่มีเหตุตาม ป.วิ.. มาตรา ๑๙๙ จัตวา วรรคสอง จำเลยจะยื่นคำร้องขอให้พิจารณาใหม่อีกครั้งหนึ่งโดยอ้างเหตุถูกต้องตาม ป.วิ.. มาตรา ๑๙๙ จัตวา วรรคสอง ได้หรือไม่
                คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๐๒๕/๒๕๕๓ จำเลยอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ โดยขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษากลับคำสั่งศาลชั้นต้นและมีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลย หากศาลอุทธรณ์ภาค ๒ เห็นชอบด้วยก็ชอบที่จะพิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและให้ศาลชั้นต้นรับคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยไว้พิจารณาและมีคำสั่งต่อไป คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ดังกล่าวยังไม่มีผลต่อคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจึงไม่ต้องนำเงินค่าธรรมเนียมซึ่งจะต้องใช้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นมาวางศาลพร้อมกับอุทธรณ์ตาม ป.วิ.. มาตรา ๒๒๙
                การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยในครั้งแรกว่าตามคำร้องไม่ได้อ้างเหตุตาม ป.วิ.. มาตรา ๑๙๙ จัตวา วรรคสอง แล้วจำเลยยื่นคำร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่อีกครั้งหนึ่งโดยอ้างเหตุครบถ้วนตาม ป.วิ.. มาตรา ๑๙๙ จัตวา วรรคสอง นั้น ไม่ถือเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ แต่ต้องยื่นต่อศาลภายในกำหนด ๑๕ วัน นับแต่วันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาให้จำเลย
                คำถาม โจทก์หลายคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวฟ้องเรียกค่าเสียหายฐานละเมิดจากจำเลยโดยฟ้องเรียกร้องรวมกันมา การพิจารณาว่าคดีมีทุนทรัพย์ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในข้อเท็จจริงหรือไม่ ต้องถือทุนทรัพย์รวมหรือของแต่ละคนแยกกัน
                คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๗๒๑-๑๑๗๒๒/๒๕๕๓ โจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ ต่างอ้างว่าถูกจำเลยที่ ๑ และจำเลยที่ ๒ ทำละเมิดจนได้รับความเสียหายคนละ ๑๑๘,๐๐๐บาท แต่ติดใจเรียกร้องเพียงคนละ ๑๐๕,๐๐๐ บาท โดยฟ้องเรียกร้องรวมกันมาเป็นเงิน ๒๑๐,๐๐๐ บาท แต่การฎีกาต้องถือทุนทรัพย์ของแต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นกรณีโจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ ต่างใช้สิทธิเฉพาะของตน ดังนั้น จำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับคดีในส่วนของโจทก์ที่ ๑ และโจทก์ที่ ๒ จึงไม่เกินคนละ ๒๐๐,๐๐๐ บาท ต้องห้ามคู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.. มาตรา ๒๔๘ วรรคหนึ่ง
                คำถาม การขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบในข้อที่เกี่ยวกับการบังคับคดีจะนำ ป.วิ.. มาตรา ๒๗ มาใช้บังคับหรือปรับแก่คดีหรือไม่
                คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๕๒๓/๒๕๕๓ เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินในคดีนี้ซ้ำกับที่ดินของจำเลยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๓๘๑๕/๒๕๔๐ ของศาลชั้นต้น เป็นการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.. ภาค ๔ ลักษณะ ๒ การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง มาตรา ๒๙๐ คำร้องของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงอยู่ในบังคับของมาตรา ๒๙๖ วรรคหนึ่ง แห่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวที่บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้ว จะนำมาตรา ๒๗ มาบังคับใช้แก่กรณีนี้อีกไม่ได้
                เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินดังกล่าวไปโดยมีผู้คัดค้านที่ ๑ เป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้ และได้มีหนังสือแจ้งให้เจ้าพนักงานที่ดินโอนสิทธิครอบครองที่ดินให้ผู้คัดค้านที่ ๑ และเจ้าพนักงานบังคับคดียังทำบัญชีรับจ่าย จ่ายเงินส่วนได้ให้ผู้คัดค้านที่ ๑ ซึ่งเป็นโจทก์คดีนี้ไปตั้งแต่วันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๔๗ ทั้งผู้คัดค้านที่ ๑ จดทะเบียนโอนขายที่ดินให้บุคคลภายนอกและได้โอนขายต่อมาจนถึงผู้คัดค้านที่ ๒ ถึงที่ ๔ แล้ว ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียื่นหนังสือฉบับลงวันที่ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๕๐ ขอให้ศาลเพิกถอนการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของกฎหมาย รวมทั้งเพิกถอนการทำนิติกรรมการจดทะเบียนโอนที่ดินของผู้คัดค้านที่ ๑ ทั้งหมด จึงเป็นการดำเนินการภายหลังการบังคับคดีเสร็จลง เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการบังคับคดีกล่าวได้ตามมาตรา ๒๙๖ วรรคหนึ่ง
                คำถาม จำเลยให้การรับว่า โจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดิน (น..๓) แต่อ้างว่าโจทก์มีส่วนไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ภาระการพิสูจน์ตกแก่โจทก์หรือจำเลย
                คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๓๒๔/๒๕๕๓ จำเลยให้การรับว่า โจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น..๓) เลขที่ ๒๔๑ ด้วย โจทก์จึงย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติแห่ง ป... มาตรา ๑๓๕๗ ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน จำเลยซึ่งอ้างว่าโจทก์มีส่วนในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น..๓) เลขที่ ๒๔๑ เพียง ๓ งาน จึงมีภาระการพิสูจน์ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์มีภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
                คำถาม คดีอาญา คำขอท้ายฟ้องโจทก์ บทมาตราที่ขอให้ลงโทษจำคุกเกินสามปีหรือปรับเกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่คำฟ้องของโจทก์บรรยายไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติที่กล่าวในคำฟ้อง หากแต่เข้าบทบัญญัติซึ่งมีอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ คดีจำต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.. มาตรา ๑๙๓ ทวิ หรือไม่
                คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๙๔/๒๕๕๑ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ มิได้มีเจตนาเอารถยนต์ของโจทก์ไปโดยสุจริต จำเลยที่ ๑ จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ โจทก์อุทธรณ์ว่า พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่าจำเลยที่ ๑ มีเจตนากระทำความผิดฐานลักทรัพย์เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตาม ป.. มาตรา ๓๓๕ หากโจทก์นำสืบได้ความว่าจำเลยที่ ๑ กระทำความผิด ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ ๑ ตาม ป.. มาตรา ๓๓๔ ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าได้ตาม ป.วิ.. มาตรา ๑๙๒ วรรคหนึ่ง ตามที่โจทก์ฎีกาก็ตาม แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่กำหนดเกี่ยวกับการพิพากษาของศาลซึ่งเป็นคนละกรณีกับสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงของโจทก์ซึ่งการอุทธรณ์ดังกล่าวต้องพิจารณาจากอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตามที่โจทก์ขอให้ลงโทษหรือที่กล่าวในคำฟ้อง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๑ เวลากลางวัน จำเลยที่ ๑ ลักรถยนต์ของโจทก์ไป และมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ตาม ป.. มาตรา ๓๓๕ ก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวไม่อาจลงโทษจำเลยที่ ๑ ตาม ป.. มาตรา ๓๓๕ ได้ คงลงโทษจำเลยที่ ๑ ตาม ป.. มาตรา ๓๓๔ ซึ่งมีอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาทเท่านั้น จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.. มาตรา ๑๙๓ ทวิ
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๕๘๙/๒๕๕๓ โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ที่ ๒ และที่ ๓ เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายและร่วมกันทำร้ายโจทก์ที่ ๑ เป็นเหตุให้โจทก์ที่ ๑ ศีรษะแตก หน้าผากแตก หางตาขวาแตก จมูกแตก และฟันหัก ๔ ซี่ ได้รับอันตรายแก่กาย ขอให้ลงโทษตาม ป.. มาตรา ๒๙๕, ๒๙๗ แม้ฟ้องโจทก์ทั้งสามมีคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามมาตรา ๒๙๗ แต่เมื่อฟ้องโจทก์ทั้งสามมิได้บรรยายฟ้องว่าโจทก์ที่ ๑ ได้รับอันตรายสาหัสอย่างไร จึงลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามมาตรา ๒๙๗ ไม่ได้ คงลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามมาตรา ๒๙๕ เท่านั้น เมื่อความผิดแต่ละกระทงกำหนดโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจึงต้องห้ามมิให้โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.. มาตรา ๑๙๓ ทวิ ที่โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามฟังได้ว่าจำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันทำร้ายโจทก์ทั้งสามนั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้นอันเป็นอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามและศาลอุทธรณ์ภาค ๓ รับวินิจฉัยจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕
                                                                                                        นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
                                                                                                                      บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น