วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันพฤหัสบดีที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บทบรรณาธิการ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 3

               คำถาม   การบังคับเอาโทรศัพย์เคลื่อนที่ของผู้อื่น  โดยทำท่าทางเหมือนจะชักอาวุธออกมาโดยล้วงเข้าไปในบริเวณเอว  ถือว่าเป็นขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายหรือไม่
               คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               คำพิพากษาฎีกาที่  868/2554   การขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายอันเป็นองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์นั้น อาจขู่ตรงๆหรือใช้ถ้อยคำ ทำกิริยา หรือทำประการใดให้เข้าใจได้เช่นนั้น  เป็นการแสดงให้ผู้ถูกขู่เข็ญเข้าใจว่าจะรับภัยจากการกระทำของผู้ขู่เข็ญ  การที่จำเลยกับพวกบังคับเอาโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหาย  โดย ม. พวกของจำเลยทำท่างเหมือนจะชักอาวุธออกมาโดยล้วงเข้าไปในเสื้อบริเวณเอว  แม้มิได้ใช้กำลังประทุษร้าย มิได้ใช้อาวุธมาขู่บังคับหรือพูดว่าจะใช้กำลังประทุษร้ายก็ตาม  แต่กิริยาท่าทีของ ม. ดังกล่าวเป็นพฤติการณ์ที่ถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  ทำให้ผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจำเลยกับพวกจะใช้กำลังประทุษร้าย  จึงต้องจำยอมให้โทรศัพท์เคลื่อนที่แก่จำเลยกับพวกไป  การกระทำของจำเลยกับพวกครบองค์ประกอบความผิดฐานปล้นทรัพย์แล้ว
                 
                คำถาม  การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน  หรือการที่ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการที่ฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาและมีคำขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายด้วย  จะถือว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้ใช้หรือจะใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ลูกหนี้ชำระหนี้แล้วในความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตาม ป.อ. มาตรา  350  หรือไม่
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  3973/2551   การร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนของโจทก์ไม่ใช่เป็นการใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ แต่เมื่อร้องทุกข์แล้ว พนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยที่ 1 และขอให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท มาด้วย  ทั้งโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีดังกล่าวและศาลชั้นต้นอนุญาต  ดังนี้  จึงมีความหมายโดยนิตินัยว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในคดีดังกล่าวและมีคำขอให้บังคับจำเลยที่ 1 คืนหรือใช้เงินจำนวน 135,008,163.92 บาท ด้วย  เท่ากับว่าโจทก์ได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แล้ว
                 ขณะจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2  จำเลยทั้งสองได้หย่ากันแล้ว ทั้งจำเลยทั้งสองได้ตกลงกันว่าให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการโอนที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 แต่เพียงผู้เดียว  หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ยังนำที่ดินไปจำนองด้วย  แสดงว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาโอนที่ดินไปเพื่อมิให้โจทก์เจ้าหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้รับชำระหนี้ประกอบกับคำว่าผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา 350 หมายถึงบุคคลอื่นนอกจากตัวลูกหนี้  การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกหนี้ของโจทก์โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้ซึ่งมิได้เป็นลูกหนี้ของโจทก์จึงเป็นการโอนทรัพย์สินไปให้แก่ผู้อื่นแล้ว  ส่วนต่อมาโจทก์สามารถสืบหาติดตามทรัพย์สินนำมาบังคับคดีได้หรือไม่  เพียงใด  เป็นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก  จำเลยทั้งสองจึงมีความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามมาตรา 350
                   
                  คำถาม  การให้เช่าตึกแถวมีกำหนด 20 ปี โดยผู้เช่าต้องออกเงินช่วยค่าก่อสร้างตึกแถวซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จให้ผู้ให้เช่า  เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าธรรมดาหรือไม่ และข้อตกลงดังกล่าวมีผลผูกพันผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ตึกแถวจากเจ้าของเดิมหรือไม่
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  7894/2553   การที่ อ. ให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี  โดยจำเลยที่ 2 ต้องออกเงินช่วยค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาท ซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จให้ อ. จำนวน 900,000 บาท  ย่อมเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งที่ซ้อนรวมอยู่ในสัญญาเช่า โดยถือเป็นข้อตกลงที่ อ. จะต้องให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี  สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทระหว่าง อ. และจำเลยที่ 2 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าตามธรรมดาซึ่งเป็นเพียงบุคคลสิทธิมีผลผูกพันเฉพาะ อ. กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น  หามีผลผูกพันไปถึงโจทก์ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ตึกแถวพิพาทจาก อ. เจ้าของเดิมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาด้วยไม่  ถึงแม้โจทก์จะรู้เห็นถึงการเช่าดังกล่าวและรับโอนตึกแถวพิพาทมา  เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ยินยอมผูกพันตนที่จะปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวแทน อ. ที่จะให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาท อันจะถือได้ว่าโจทก์ตกลงชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374  ซึ่งจะทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทที่เช่าต่อไป  ข้อตกลงระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันโจทก์
                    
                   คำถาม   เจ้าของที่ดินปลูกสร้างบ้านบนที่ดินทั้งสองแปลงของตน  ต่อมาที่ดินแปลงหนึ่งถูกเจ้าพนักงานบังคับคดียึดนำออกขาย  ผู้ซื้อที่ดินจากการขายทอดตลาดรังวัดตรวจสอบที่ดินพบว่า  เจ้าของที่ดินเดิมปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินที่ซื้อบางส่วน  ดังนี้  ผู้ซื้อจะขอให้บังคับเจ้าของที่ดินเดิมรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำออกไป  ได้หรือไม่
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  796/2552   ขณะจำเลยปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินพิพาทและบนที่ดินของจำเลยอีกแปลงหนึ่งที่อยู่ติดกันนั้น  จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง  จำเลยย่อมมีสิทธิที่จะปลูกสร้างได้ในฐานะเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์  จึงมิใช่เป็นการปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา 1312  ต่อมาที่ดินพิพาทถูกบังคับคดีนำออกขายทอดตลาด โจทก์เป็นผู้ซื้อได้จากการขายทอดตลาด  แม้โจทก์จะรู้หรือไม่รู้ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่ในที่ดินพิพาท  แต่ที่ดินพิพาทก็เป็นของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา  จึงถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต  สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไปตามมาตรา 1330  โจทก์จึงมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท  และหลังจากโจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทมาจากการขายทอดตลาดแล้ว  โจทก์ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นดินเป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านและสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินของโจทก์ต่อไป และโจทก์ในฐานะมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทย่อมมีแดนแห่งกรรมสิทธิ์และมีสิทธิตามมาตรา 1335 และมาตรา 1336  เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไป  และบอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนออกจากที่ดินพิพาทแล้ว  จำเลยเพิกเฉย  จึงเป็นการละเมิดทำให้โจทก์ไม่อาจใช้ประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้  โจทก์ย่อมมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินพิพาทของโจทก์ได้  มิใช่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต  และกรณีมิใช่ไม่มีบทกฎหมายที่จะยกขึ้นปรับแก่คดีอันจะต้องอาศัยเพียงบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งมาวินิจฉัยคดีตามมาตรา 4
                    คำพิพากษาฎีกาที่  9785/2553   ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า  เดิมจำเลยเป็นเจ้าที่ดินโฉนดเลขที่  13741  และ  13742  ตำบลตลิ่งชัน(บางโอ)  อำเภอตลิ่งชัน(บางใหญ่)  กรุงเทพมหานคร  โดยที่ดินทั้งสองแปลงนี้มีอาณาเขตติดต่อกันและมีบ้านเลขที่ 6/1  ของจำเลยปลูกอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่  13741  และบางส่วนของบ้านดังกล่าวอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่  13742  ต่อมาได้มีการขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่  13742  ตามคำสั่งของศาลแพ่งธนบุรี  คดีหมายเลขแดงที่  1497/2536  ตามประกาศของเจ้าพนักงานบังคับคดี  โจทก์เป็นผู้ซื้อที่ดินดังกล่าว
                    ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยมีว่า  โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกไปจากบ้านเลขที่ 6/1  ในส่วนที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินโฉนดเลขที่  13742  หรือไม่
                    เห็นว่า  เดิมบ้านเลขที่ 6/1 ตั้งอยู่บนที่ดินซึ่งเป็นของเจ้าของคนเดียวกันคือจำเลย  ต่อมาเมื่อมีการแบ่งแยกขายที่ดินเฉพาะโฉนดเลขที่ 13742  จึงมีโรงเรือนบางส่วนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ผู้ซื้อ การที่จำเลยปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินพิพาทและบนที่ดินของจำเลยอีกแปลงที่อยู่ติดต่อกัน  โดยจำเลยเป็นเจ้าของที่ดินทั้งสองแปลง  จำเลยมีสิทธิปลูกสร้างได้ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์  ซึ่งมิใช่การปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตตาม มาตรา 1312  เมื่อต่อมาที่ดินพิพาทถูกบังคับนำออกขายทอดตลาด  กรณีย่อมต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 1330  โจทก์ผู้ซื้อที่ดินได้จากการขายทอดตลาด  อันเป็นที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา  จึงถือว่าโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริต  ส่วนบ้านและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่บนที่ดินพิพาท  จะมีหรือไม่หรือโจทก์จะรู้หรือไม่ว่ามีบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินพิพาทก็ไม่ทำให้โจทก์มิใช่ผู้ซื้อโดยสุจริต  กรณีหาจำต้องให้ผู้เข้าประมูลซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดต้องตรวจสอบว่าที่ดินพิพาทที่ถูกนำออกขายทอดตลาดมีสภาพหรือภาระอย่างไร  ดังที่จำเลยฎีกาไม่  เมื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ที่ดินพิพาทจากการขายทอดตลาดโดยสุจริต  สิทธิของโจทก์ที่ได้ที่ดินจากการขายทอดตลาดย่อมไม่เสียไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330  โจทก์มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท  และเมื่อโจทก์ไม่แสดงให้ปรากฏว่าได้ก่อให้เกิดสิทธิเหนือพื้นที่ดินเป็นคุณแก่จำเลย โดยยอมให้จำเลยเป็นเจ้าของบ้านบนที่ดินของโจทก์ต่อไป  โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอยู่บนที่ดินโจทก์อีกต่อไป แต่จำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์  โจทก์ในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงมีสิทธิขอบังคับให้จำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ได้
                                                                                                                   นายประเสริฐ   เสียงสุทธิวงศ์
                                                                                                                                บรรณาธิการ

2 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ4 กรกฎาคม 2555 เวลา 09:17

    ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ เป็นประโยชน์กับผู้ศึกษากฎหมายที่อยู่ไกลปืนเที่ยงอย่างดิฉันมากเลยค่ะ

    ตอบลบ