วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค1 สมัย66 เล่ม5

                                                              บทบรรณาธิการ เล่ม 5    
       
                   คำถาม   การใช้บุคคลอื่นเป็นเครื่องมือในการกระทำความผิด  หากผู้ถูกใช้ไม่รู้จะถือว่าร่วมกระทำความผิดด้วยหรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  1280/2555  จำเลยที่ 2 วางแผนกับพวกหลอกว่าจ้างจำเลยที่ 1 นำรถยกไปยกรถยนต์ของผู้เสียหายไปส่งให้จำเลยที่  2  เพื่อจำเลยที่ 2 จะยกรถยนต์ต่อไปยังจุดหมาย โดยจำเลยที่ 1ไม่ทราบว่าตนเองเป็นเครื่องมือของคนร้าย  จำเลยที่ 2 จึงเป็นตัวการในการลักรถยนต์โดยใช้จำเลยที่ 1 เป็นเครื่องมือในการกระทำความผิดของตน จำเลยที่  1 จึงไม่ได้ร่วมกระทำผิด
                    จำเลยที่ 1 ขับรถยกยกรถยนต์ของผู้เสียหายขยับออกไปจากที่จอดไม่ถึง 1 เมตรโดยส่วนหน้าของรถยนต์ของผู้เสียหายถูกยกขึ้นไปเกยบนคานของรถยกและมีโซ่คล้องรถยนต์ของผู้เสียหายผูกยึดติดกับรถยกของจำเลยที่ 1 พร้อมที่จะขับเคลื่อนพารถยนต์ของผู้เสียหายออกไปได้ทันที ถือว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 2 ใช้เป็นเครื่องมือได้เข้ายึดถือครอบครองรถยนต์ของผู้เสียหายโดยสมบูรณ์พร้อมที่จะเอาไปได้แล้ว จึงถือว่าจำเลยที่ 2 ได้เอาไปซึ่งรถยนต์ของผู้เสียหายอันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จ แม้จำเลยที่  1จะยังไม่ทันขับรถยกลากจูงรถยนต์ของผู้เสียหายออกไปก็ตาม หาใช่เป็นเพียงพยายามลักทรัพย์ไม่
                คำถาม  กระสุนปืนไม่ลั่น เพราะดินปืนที่บรรจุอยู่ในลำกล้องเปียกชื้นจะถือว่าเป็นการพยายามกระทำความผิดที่ไม่่สามารถบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะเหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา  81 หรือไม่
                คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้ 
          คำพิพากษาฎีกาที่  2894/2555 การพยายามกระทำความผิดที่ไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้ตาม ป.อ. มาตรา 81 นั้น ต้องเกิดจากเหตุ 2 ประการ คือ เหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำความผิดกับเหตุแห่งวัตถุที่มุ่งหมายกระทำต่อ สำหรับคดีนี้เหตุปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำความผิด คือ อาวุธปืนแก๊ปยาวแบบประจุปากของกลาง  ปัญหาว่าอาวะปืนแก๊ปยางดังกล่าวเป็นเหตุให้การพยายามกระทำความผิดนั้นไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้หรือไม่  ได้ความจากคำให้การชั้นสอบสวนของพันตำรวจโท ก. เจ้าพนักงานตำรวจประจำวิทยาการเขต  43จังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้ตรวจพิสูจน์อาวุธปืนของกลางว่าอาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนที่สามารถทำอันตรายแก่ชีวิตและวัตถุได้ การที่กระสุนปืนไม่ลั่นเมื่อสับนกปืนนั้น สามารถเกิดขึ้นกับอาวุธปืนของกลางได้หากดินปืนมีความชื้นหรือเปียกชื้นเพราะประกายไฟซึ่งเกิดจากนกปืนสับไปที่แก๊ปปืนไม่สามารถลุกลามไปติดเนื้อดินปืนในลำกล้องเพื่อส่งเม็ดตะกั่วที่บรรจุอยู่ออกไปทางปากกระบอกได้  แสดงว่าในวันเกิดเหตุหากดินปืนที่บรรจุอยู่ในลำกล้องอาวุธปืนของกลางแห้งไม่เปียกชื้นกระสุนปืนก็ต้องลั่นส่งเม็ดตะกั่วที่บรรจุอยู่ในลำกล้องออกมาใส่ใบหน้าผู้เสียหายเป็นอันตรายต่อชีวิตได้  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการลงมือกระทำความผิดไปตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล อันเป็นการพยายามกระทำความผิดตาม ป.อ.มาตรา 80 หาใช่การกระทำนั้นไม่สามารถจะบรรลุผลได้อย่างแน่แท้เพราะอาวุธปืนหรือเครื่องกระสุนปืนของกลางอันเป็นปัจจัยซึ่งใช้ในการกระทำตามมาตรา  81 แต่อย่างใดไม่
             คำถาม  การอุทิศที่ดินให้ใช้เป็นถนนสาธารณะต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการให้ต่อพนักงานงานเจ้าหน้าที่หรือไม่  และหากผู้อุทิศกลับเข้าครอบครองที่ดินจะได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองกลับมาหรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  264/2555  จำเลยอุทิศที่ดินของตนให้สร้างทางพิพาทเพื่อให้ประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกัน แม้จะเป็นการอุทิศด้วยวาจา มิได้ทำเป็นหนังสือและมิได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา  1299 ก็ตาม แต่การอุทิศที่ดินให้ใช้เป็นถนนสาธารณะ เช่นนี้ เป็นการสละที่ดินให้เป็นสาธารณะสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกันตาม ป.พ.พ. มาตรา 1304 (2) หาจำต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนการให้ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 525 ไม่ การอุทิศด้วยวาจาก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย และสภาพความเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่อาจสูญสิ้นไปเพราะการไม่ได้ใช้ แม้จำเลยได้กลับเข้าครอบครองใช้ประโยชน์ที่ดินที่เป็นถนนสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าวแล้วนานเพียงใดก็ตาม ก็ไม่ทำให้ทางพิพาทตกไปเป็นของจำเลยได้อีกเพราะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1306 บัญญัติห้ามมิให้ยกอายุความขึ้นเป็นข้อต่อสู้กับแผ่นดินในเรื่องทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน
               คำถาม  ฝูงกระบือมีจำนวน 43 ตัว มีผู้ควบคุมดูแล  2 คน กระบือวิ่งตัดหน้ารถยนต์ในระยะกระชั้นชิดจนไม่สามารถห้ามล้อได้ทันจึงชนกระบือ  ส่วนรถยนต์ได้รับความเสียหาย เจ้าของกระบือจะต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่เจ้าของรถยนต์  หรือไม่
               คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
              คำพิพากษาฎีกาที่  3451/2555  รอยห้ามล้อของรถยนต์กระบะซึ่งยาวประมาณ  20 เมตร อยู่ในช่องเดินรถของ ล. โดยเฉพาะรอยห้ามล้อรถด้านซ้ายอยู่ห่างจากไล่ถนนพอสมควร แสดงว่ากระบือของจำเลยได้วิ่งตัดหน้ารถของ ล. ในระยะกระชั้นชิดจนไม่สามารถห้ามล้อรถได้ทัน จึงชนกระบือของจำเลย แม้ก่อนถึงที่เกิดเหตุประมาณ 200 เมตร มีป้ายสีเหลืองเตือนระวังสัตว์เลี้ยงก็ตาม แต่ก็ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของจำเลยว่าขณะเกิดเหตุ ล. ขับรถด้วยความเร็วสูงและไม่ใช้ความระมัดระวังอย่างไร  การที่มีป้ายสีเหลืองเตือนให้ระวังสัตว์เลี้ยงมิได้หมายความว่าหากเหตุรถชนสัตว์เลี้ยงแล้ว  ผู้ขับรถชนสัตว์เลี้ยงจะต้องผิดเสมอไป เมื่อพิจารณาประกอบ พ.ร.บ. จราจรทางบกฯ มาตรา  111 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดขี่ จูง ไล่ต้อนหรือปล่อยสัตว์ไปบนทางในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจรและไม่มีผู้ควบคุมเพียงพอ  ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อคุ้มครองผู้ขับรถให้เกิดความปลอดภัยในการใช้ถนน  การที่ฝูงกระบือที่จำเลยเลี้ยงมีมากถึง  43 ตัว แต่มีผู้ควบคุมดูแลเพียง 2คน ถือว่ามีผู้ควบคุมดูแลไม่เพียงพอ  ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังอันสมควรในการควบคุมดูแลเลี้ยงกระบือ  เมื่อมีความเสียหายเกิดขึ้นเพราะสัตว์จำเลยจึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 433 วรรคหนึ่ง
                  คำถาม   บุคคลซึ่งเข้ามาเป็นหุ้นส่วน หรือออกจากห้างหุ้นส่วนจำกัดไปแล้วจะต้องรับผิดในหนี้ที่ห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่เข้ามาหรืออกจากหุ้นส่วนหรือไม่
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  1378/2555  จำเลยที่  1  เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด โดยขณะฟ้องมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ  จึงเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  แม้จำเลยที่ 2 เข้ามาเป็นหุ้นส่วนภายหลังก็ต้องรับผิดในหนี้ใด ๆ ซึ่งจำเลยที่ 1 ได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนเข้ามาเป็นหุ้นส่วนด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา 1052 ประกอบมาตรา 1077 (2) , 1080, 1087  ส่วนจำเลยที่ 3 แม้ออกจากหุ้นส่วนไปแล้วก็ยังคงต้องรับผิดในหนี้ซึ่งจำเลยที่  1ได้ก่อขึ้นก่อนที่ตนได้ออกจากหุ้นส่วนตามมาตรา 1051 ประกอบมาตรา 1077 (2), 1080,  1087
               คำถาม   ผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด ซึ่งมิใช่หุ้นส่วนผู้จัดการสอดเข้าไปจัดการงานของห้างอันเป็นการดำเนินการแทน โดยห้างเชิดออกแสดงเป็นตัวแทน จะมีผลผูกพันหุ้นส่วนจำกัดหรือไม่
            คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  5009/2555  บทบัญญัติลักษณะ  22 หมวด 3 ว่าด้วย ห้างหุ้นส่วนจำกัด แห่ง ป.พ.พ.                  มาตรา 1088 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า  “ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดผู้ใดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน ท่านว่าผู้นั้นจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ทั้งหลายของห้างหุ้นส่วนนั้นโดยไม่จำกัดจำนวน ” และมาตรา  1080 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิได้ยกเว้นหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงโดยบทบัญญัติแห่งห้างหุ้นส่วนจำกัด มาใช้บังคับโดยอนุโลม โดยบทบัญญัติว่าด้วยห้างหุ้นส่วนสามัญ มาตรา 1043 บัญญัติว่า  “ ถ้าผู้เป็นหุ้นส่วนอันมิได้เป็นผู้จัดการเอื้อมเข้ามาจัดการงานของห้างหุ้นส่วนก็ดี........ท่านให้บังคับด้วยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการจัดการงานนอกสั่ง" แสดงว่าผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด แม้จะมิได้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ก็อาจเอื้อมไปจัดการงานของห้าง หรือผู้เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดก็อาจสอดเข้าไปจัดการงานของห้างอันเป็นการดำเนินการแทน และผูกพันห้างหุ้นส่วนจำกัดได้  เมื่อปรากฏว่าตามทางปฏิบัติระหว่างโจทก์จำเลยต่างทำธุรกรรมต่อกันมาก่อนหลายครั้งด้วยการให้ ป. เอื้อมเข้ามาจัดการติดต่อซื้อรถสามล้อเครื่องแทนโจทก์  และจำเลยให้ ส.ติดต่อขายรถสามล้อเครื่องแทนจำเลยมาตลอด พฤติการณ์ที่ปรากฏแสดงว่าโจทก์และจำเลยได้เชิดและยอมให้ ป. กับ ส. เชิดตัวเขาเองออกแสดงเป็นตัวแทนของทั้งโจทก์และจำเลยแล้ว   การลงนามในสัญญาซื้อขายของ ป.แทนโจทก์ และ ส. แทนจำเลย จึงมีผลผูกพันโจทก์และจำเลยตาม ป.พ.พ.มาตรา 821 โจทก์จึงมีอำนาจรับเอาข้อสัญญาดังกล่าวและฟ้องจำเลยให้รับผิดตามข้อสัญญาดังกล่าวได้  เมื่อโจทก์ได้ให้ทนายความมีหนังสือบอกกล่าวทวงถามแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้ได้
               คำถาม   เจ้าของรวมในที่ดินซึ่งมีข้อตกลงตามสัญญาว่าให้ที่ดินส่วนพิพาทเป็นทางเข้าออกที่ใช้ร่วมกัน  ดังนี้  เจ้าของรวมคนหนึ่งจะมีสิทธิเรียกให้แบ่งกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทได้หรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้   ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  3414/2555  โจทก์และจำเลยเป็นเจ้าของรวมในที่ดินโดยมีข้อตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายว่าให้ที่ดินส่วนพิพาทเป็นทางเข้าออกที่ใช้ร่วมกัน เมื่อยังไม่มีการตกลงเปลี่ยนแปลงข้อตกลงดังกล่าว โจทก์ในฐานะเจ้าของรวมจึงยังไม่มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์ได้ เนื่องจากมีนิติกรรมขัดอยู่ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1363 วรรคหนึ่ง

                                                                   นายประเสริฐ   เสียงสุทธิวงศ์
                                                                                บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น