วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันเสาร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค1 สมัย66 เล่ม9

                     คำถาม  ทรัพย์สินที่ได้ให้แก่กันภายหลังวันทำสัญญาก็ดี เงินที่ชำระในวันจองซื้อที่ดินพร้อมบ้านก็ดี  เงินที่ชำระในวันทำสัญญาซึ่งตามสัญญาระบุว่าให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้งวดที่ 1 ก็ดี เป็นมัดจำหรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    (ก) คำพิพากษาฎีกาที่ 4917/2554  มัดจำที่ได้ให้แก่กันไว้เป็นพยานหลักฐานว่าสัญญาได้ทำกันขึ้นแล้วและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา 377 นั้น ต้องเป็นทรัพย์สินที่ได้ให้แก่กันไว้เมื่อเข้าทำสัญญาในวันทำสัญญาเท่านั้น ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ได้ให้แก่กันภายหลังวันทำสัญญา ดังนั้น เงินจำนวน 200,000 บาท ที่โจทก์ผู้จะซื้อได้ชำระให้แก่จำเลยผู้จะขายในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเท่านั้นที่เป็นมัดจำ ส่วนเงินจำนวน 800,000 บาท ที่โจทก์ชำระแก่จำเลยภายหลังทำสัญญาดังกล่าวนั้นมิใช่มัดจำแต่เป็นการชำระราคาที่ดินบางส่วน
                     เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา และจำเลยได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้วสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยมีสิทธิรับเงินมัดจำจำนวน 200,000 บาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนเงินจำนวน 800,000 บาท ที่โจทก์ชำระแก่จำเลย ซึ่งเป็นการชำระราคาที่ดินบางส่วนตามสัญญานั้น จำเลยต้องให้โจทก์คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม โดยต้องคืนให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยคิดตั้งแต่เวลาที่จำเลยได้รับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง เงินจำนวน 800,000 บาทดังกล่าวมิใช่มัดจำที่จำเลยจะมีสิทธิริบเพราะเหตุที่โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา
                      (ข) คำพิพากษาฎีกาที่  3216/2554  โจทก์ทั้งสองกับจำเลยเป็นคู่สัญญาตามสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดิน โดยโจทก์ทั้งสองผู้จะซื้อสัญญาว่าจะว่าจ้างผู้จะขายหรือบริษัทในเครือของผู้จะขายเป็นผู้ปลูกสร้างโดยจะใช้แบบของผู้จะขายเท่านั้น ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาที่คู่สัญญาจะต้องปฏิบัติตาม ต่อมาโจทก์ทั้งสองได้ทำสัญญาว่าจ้างบริษัท ท. ปลูกสร้างบ้านลงบนที่ดินที่โจทก์ทั้งสองทำสัญญาดังกล่าว จำเลยและบริษัท ท. ต่างมีกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนเช่นเดียวกัน สำนักงานที่ตั้งก็เป็นสถานที่แห่งเดียวกัน ผู้ลงลายมือชื่อเป็นพยานในสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดิน และสัญญาว่าจ้างปลูกสร้างบ้านก็เป็นพยานชุดเดียวกัน เห็นได้ว่า บริษัท ท. เป็นบริษัทในเครือของจำเลยตรงตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขต่อท้ายสัญญา จำเลยกับบริษัท ท. ต่างมีผลประโยชน์ร่วมกันในการขายที่ดินและบ้านพิพาทรายนี้ โดยแบ่งแยกกันทำหน้าที่ดำเนินการในด้านต่าง ๆ ถือว่าจำเลยและบริษัท ท. ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของจำเลย มีผลประโยชน์ร่วมกันในการจัดสรรที่ดินและบ้านที่โจทก์ทั้งสองจองซื้อจากจำเลย จึงต้องร่วมกันผูกพันตามสัญญาดังกล่าวต่อโจทก์ทั้งสองอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงมีอำนาจฟ้องจำเลยแต่ผู้เดียวให้รับผิดตามสัญญาทั้งหมดดังกล่าวแล้วได้
                      เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาแต่ฝ่ายเดียวเพราะไม่ไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งตามสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินให้ถือว่าสัญญาเป็นอันยกเลิกโดยโจทก์ทั้งสองผู้จะซื้อยินยอมให้จำเลยผู้จะขายริบเงินที่ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมดเช่นนี้ คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง การที่โจทก์ทั้งสองชำระเงินจำนวน 20,000 บาท ให้แก่จำเลยในวันจอง ถือว่าเงินจำนวนนี้เป็นเงินที่โจทก์ทั้งสองได้ส่งมอบให้แก่จำเลยเพื่อเป็นพยานหลักฐาน และเป็นการประกันในการปฏิบัติตามสัญญา จึงเป็นมัดจำ ส่วนเงินที่โจทก์ทั้งสองชำระอีกจำนวน 32,500 บาท ในวันทำสัญญาจะซื้อจะขายและพัฒนาที่ดินนั้น ตามสัญญาดังกล่าวระบุให้ถือว่าเป็นการชำระหนี้งวดที่ 1 ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของราคาที่โจทก์ทั้งสองชำระค่าที่ดินและค่าพัฒนาที่ดินตามสัญญา มิใช่เป็นการให้ไว้เพื่อเป็นประกันการปฏิบัติตามสัญญา จึงมิใช่ค่ามัดจำ ดังนั้น เมื่อโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญาและสัญญาเป็นอันยกเลิกแล้ว จำเลยจึงมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 20,000 บาทได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2)
                    โจทก์ทั้งสองชำระค่าดิน ค่าจ้างปลูกสร้างบ้าน ค่าสร้างรั้วและค่าต่อเติมบ้านหลังจากที่จำเลยมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 20,000 บาทแล้ว เป็นเงิน 606,897 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้จำเลยจะต้องให้โจทก์ทั้งสองกลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม  แต่การที่โจทก์ทั้งสองกับจำเลยตกลงกันว่าถ้าโจทก์ทั้งสองเป็นฝ่ายผิดสัญญา สัญญาเป็นอันยกเลิก โจทก์ทั้งสองยินยอมให้จำเลยริบเงินที่ได้ชำระไว้แล้วทั้งหมด ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ. มาตรา 379 และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วน  ศาลก็มีอำนาจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383
                     คำถาม   นั่งคร่อมบนรถจักรยานยนต์ พารถเคลื่อนที่ไปจากที่จอดแล้ว แต่สตาร์ทไม่ติด เป็นความผิดฐานลักทรัพย์สำเร็จหรือพยายาม
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  3463/2554  การที่จำเลยไปนั่งคร่อมบนรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหาย เป็นการลงมือกระทำความผิดฐานลักทรัพย์แล้ว แม้จำเลยจะสตาร์ทเครื่องด้วยเท้าไม่ติดและต่อสายตรงไม่สำเร็จ แต่จำเลยก็ได้พารถเคลื่อนที่ไปจากที่จอดไว้ 5 ถึง 10 เมตร เป็นการพาทรัพย์เคลื่อนที่ไปได้แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดสำเร็จฐานลักทรัพย์
                    คำถาม   การใช้กำลังประทุษร้ายโดยมิได้เจตนาเพื่อเอาทรัพย์ไป หากการประทุษร้ายขาดตอนไปแล้ว จึงมีเจตนาเอาทรัพย์ไป เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์หรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  6554/2554  โจทก์ไม่มีพยานมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยกับพวกรู้อยู่ก่อนเกิดเหตุว่าผู้เสียหายจะขับรถจักรยานยนต์ผ่านบริเวณที่เกิดเหตุ และเหตุที่ผุ้เสียหายหยุดรถจักรยานยนต์  เนื่องจากผู้เสียหายขับรถจักรยานยนต์ลุยน้ำ ทำให้เครื่องยนต์ขัดข้อง ดังนี้ จำเลยกับพวกอาจพบผู้เสียหายโดยบังเอิญก็ได้ ทั้งก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายถูกกล่าวหาว่าร่วมกับพวกทำร้ายบิดาจำเลย ประกอบกับเมื่อจำเลยกับพวกใช้มีดฟัน ผู้เสียหายวิ่งหลบหนีแล้ว จำเลยกับพวกยังวิ่งไล่ตามผู้เสียหายไปอีก เชื่อว่าจำเลยกับพวกใช้มีดฟันผู้เสียหายเพราะโกรธที่ผู้เสียหายร่วมกับพวกทำร้ายบิดาจำเลย มิใช่เป็นการฟันผู้เสียหายเพื่อความสะดวกหรือเพื่อเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป เมื่อจำเลยกับพวกไม่อาจทำร้ายผู้เสียหายได้อีก การที่จำเลยกับพวกกลับไปเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป จึงเป็นเจตนาที่เกิดขึ้นหลังจากการทำร้ายผู้เสียหายขาดตอนไปแล้ว จำเลยกับพวกจึงไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่การที่จำเลยกับพวกเอารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป ฟังได้ว่าจำเลยกับพวกเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริต อันเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
                     คำถาม  การบอกคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างว่า ขอเก็บเงินค่าวินต่อเดือนหากสมาชิกคนใดไม่ยอมจ่ายก็ให้กลับบ้านต่างจังหวัดไป จะยึดเสื้อวินคืนกับให้ระวังตัวให้ดีเป็นความผิดฐานกรรโชก หรือไม่
                    คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  3723/2554  จำเลยที่ 1 เรียกประชุมสมาชิกคนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างในวินของจำเลยที่ 1 ซึ่งผู้เสียหายบางคนไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วยโดยจำเลยทั้งสองได้บอกให้สมาชิกทราบว่าจำเลยที่ 1 ขอเก็บเงินค่าวินจากสมาชิกคนละ 950 บาท ต่อเดือน หากสมาชิกคนใดไม่ยอมจ่ายเงินให้ ก็ให้สมาชิกคนนั้นกลับบ้านต่างจังหวัดไป จำเลยทั้งสองจะยึดเสื้อวินคืนกับให้ระวังตัวให้ดี คำพูดดังกล่าวมีลักษณะเป็นการข่มขู่ขืนใจให้สมาชิกทั้งที่เข้าร่วมประชุมและไม่เข้าร่วมประชุมยอมจ่ายเงินเป็นรายเดือนเดือนละ 950 บาทให้แก่จำเลยที่ 1 และไม่ใช้สมาชิกบอกเรื่องที่ต้องจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 ให้บุคคลอื่นรวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐทราบด้วย โดยการขู่เข็ญให้สมาชิกทราบว่าหากสมาชิกคนใดไม่ยอมกระทำตามที่บอก สมาชิกก็จะได้รับผลร้ายคือจะถูกยึดเสื้อวินที่สมาชิกสวมใส่ในการขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างคืน ซึ่งหมายความว่า สมาชิกคนนั้นจะไม่สามารถมาจอดรถจักรยานยนต์ของตนที่วินของจำเลยที่ 1 เพื่อรอให้ผู้โดยสารว่าจ้างอีกต่อไป อันเป็นการขู่เข็ญสมาชิกว่าจำเลยทั้งสองจะทำอันตรายต่อเสรีภาพของบรรดาสมาชิก ส่วนคำว่าให้ระวังตัวให้ดีนั้นคนปกติทั่วไปก็สามารถเข้าใจได้ว่า เป็นลักษณะคำพูดข่มขู่ให้คนที่ได้รับฟังให้เกิดความกลัวอยู่ในตัวว่า อาจจะเกิดอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายได้ จึงเป็นกรณีจำเลยทั้งสองขู่เข็ญสมาชิกว่าจำเลยทั้งสองจะทำอันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของบรรดาสมาชิก ซึ่งผู้เสียหายหลายคนยอมจ่ายเงินให้แก่จำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงครบองค์ประกอบความผิดฐานกรรโชก
                         คำถาม  เข้าไปทำร้ายผู้อื่นในบ้านมีโต๊ะสนุกเกอร์เปิดบริการให้บุคคลทั่วไปเล่นได้และขณะเกิดเหตุยังคงเปิดบริการอยู่จะเป็นความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ.มาตรา 364 มาตรา 365 หรือไม่
                        คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                        คำพิพากษาฎีกาที่   540/2554  บ้านที่เกิดเหตุมีโต๊ะสนุกเกอร์เปิดบริการให้บุคคลทั่วไปเล่นได้และขณะเกิดเหตุยังคงเปิดบริการอยู่ การที่จำเลยทั้งสามเข้าไปทำร้ายร่างกายผู้เสียหายที่ 2 ในบริเวณที่บุคคลทั่วไปย่อมจะเข้าไปได้นั้น ย่อมไม่มีความผิดฐานบุกรุกตาม ป.อ. มาตรา 364 และมาตรา  365
                       คำถาม  นำรถบรรทุกของกลางเข้าไปในที่เกิดเหตุในยามวิกาลเพื่อจะลักทรัพย์แล้วสำรวจที่จะลักเพื่อจะขนไว้บนรถบรรทุก แต่ยังไม่ได้แตะต้องตัวทรัพย์ ถือว่าลงมือกระทำความผิดฐานลักทรัพย์แล้วหรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  4938/2554  จำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวก นำรถบรรทุกของกลางเข้าไปจอดในบริเวณโรงงานที่เกิดเหตุซึ่งล้อมรั้วสังกะสีในยามวิกาล แล้วจำเลยที่ 2 ใช้ไฟฉายส่องไปที่มอเตอร์ซึ่งติดตั้งอยู่บนโครงเหล็ก เป็นการสำรวจทรัพย์ที่จะลักและเพื่อขนทรัพย์นั้นไปไว้บนรถบรรทุกของกลางที่นำเข้ามาในบริเวณโรงงานที่เกิดเหตุ แม้จำเลยที่ 2 ยังไม่ได้แตะต้องตัวทรัพย์ แต่นับว่าใกล้ชิดพร้อมที่จะเอาทรัพย์ไปได้ในทันทีทันใด การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับพวกอยู่ในชั้นลงมือกระทำความผิดแล้วเพียงแต่กระทำไปไม่ตลอดเพราะ บ. กับพวกพบจำเลยที่ 2 กับพวกก่อนที่จำเลยที่ 2 กับพวกจะลักทรัพย์ไป การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นความผิดฐานพยายามลักทรัพย์แล้ว


                                                                                นายประเสริฐ  เสียงสุทธิวงศ์

                                                                     บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น