วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันพุธที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค 2 สมัย 66 เล่ม 3

                คำถาม   ศาลชั้นต้นยกคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาไปแล้ว หากมายื่นคำร้องอีกโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกันกับคำร้องฉบับแรก จะต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่ 
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่ 3981/2555  เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2554 โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะ เวลาฎีกามีกำหนด 1 เดือน โดยอ้างว่า โจทก์ไม่ทราบวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 เพราะโจทก์ไม่ได้รับหมายนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ของศาลชั้นต้นและไม่ได้มีการส่งหมายนัดฟังคำพิพากษาให้ทนายโจทก์ จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการส่งหมายนัดให้คู่ความ กรณีเป็นพฤติการณ์พิเศษและมีเหตุสุดวิสัย   ศาลชั้นต้นยกคำร้อง เท่ากับศาลชั้นต้นได้มีคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องขอขยายระยะเวลาฎีกาของโจทก์ไปแล้ว การที่โจทก์ยื่นคำร้องลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2554 ขอขยายระยะเวลาฎีกา โดยอ้างเหตุอย่างเดียวกันกับคำร้องฉบับแรก จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา 15
                     คำถาม  โจทก์ขาดนัดพิจารณา ศาลมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ โจทก์มีสิทธิขอพิจารณาคดีใหม่ได้หรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
          คำพิพากษาฎีกาที่  2332/2555 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 201 เดิม บัญญัติกรณีที่โจทก์ขาดนัดพิจารณาให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเสียหายจากสารบบความและห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งเช่นว่านี้หรือมีคำขอให้พิจารณาคดีนั้นใหม่แตกต่างจากมาตรา 203 ที่บังคับใช้ในปัจจุบันที่บัญญัติห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำสั่งจำหน่ายคดีเพียงประการเดียว โดยไม่มีบทบัญญัติมาตราใดที่ห้ามมิให้โจทก์มีคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ แต่การขอพิจารณาคดีใหม่ได้จะต้องมีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวเป็นสำคัญ เมื่อโจทก์ไม่มาศาล ศาลชั้นต้นเห็นว่าโจทก์ขาดนัดพิจารณา  และมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ จึงไม่มีการพิจารณาคดีฝ่ายเดียวที่จะทำให้โจทก์มีสิทธิขอพิจารณาคดีใหม่ได้ โจทก์มีสิทธิเพียงเสนอคำฟ้องใหม่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยอายุความตามมาตรา  203
              คำถาม    ผู้ขายโทรศัพท์มาหาผู้ซื้อเพื่อเสนอขายสินค้า ผู้ซื้อตอบตกลงจะรับซื้อหากผู้ซื้อนัดผู้ขายให้ส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อในอีกสถานที่หนึ่ง จะถือว่ามูลคดีเกิดขึ้นที่ใด
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  12978/2555  จำเลยซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่อำเภอเมืองพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก โทรศัพท์มาหาโจทก์ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดชัยนาทเพื่อเสนอขายสมุดคู่มือจดทะเบียนรถตามฟ้อง และโจทก์ตอบตกลงว่าจะรับซื้อสมุดคู่มือจดทะเบียนรถจากจำเลยไว้ มูลคดีจึงเกิดที่ภูมิลำเนาของจำเลยซึ่งเป็นสถานที่ที่คำสนองรับซื้อของโจทก์ไปถึงจำเลย อันอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดพิษณุโลก โจทก์จึงต้องฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นศาลที่จำเลยมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาลและมูลคดีเกิดในเขตศาล แม้โจทก์นัดจำเลยให้ส่งมอบสมุดคู่มือจดทะเบียนรถให้แก่โจทก์ที่อำเภออินทร์บุรี จังหวัดสิงห์บุรี ก็มิใช่สถานที่ที่ต้นเหตุพิพาทอันเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิต่อโจทก์เกิดขึ้น  หาทำให้มูลคดีซึ่งเกิดขึ้นที่จังหวัดพิษณุโลกอันเป็นภูมิลำเนาของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจเสนอคำฟ้องต่อศาลจังหวัดสิงห์บุรี
                      คำถาม  ผู้พิพากษาที่ไม่ได้ร่วมนั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นด้วย จะมีอำนาจร่วมลงลายมือชื่อ ทำคำพิพากษากับผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนหรือไม่  
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  17012/2555 ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีโดยสืบพยานโจทก์รวม 5 นัด คือเมื่อวันที่ 24,25,26,30 พฤศจิกายน 2547  และวันที่ 22 มีนาคม 2548 กับสืบพยานจำเลย 1 นัด คือ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548 ในการสืบพยานโจทก์และจำเลยแต่ละนัดมี ต. ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นซึ่งเป็นเจ้าของสำนวนร่วมนั่งพิจารณาคดีทุกนัด โดยไม่ปรากฏว่า ส. ได้ร่วมนั่งพิจารณาคดีด้วย ส. จึงไม่มีอำนาจทำคำพิพากษาร่วมกับ ต. กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 29 และ 30 คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ ส. ร่วมลงลายมือชื่อทำคำพิพากษาด้วยจึงไม่ชอบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบเช่นกัน                         
                      คำถาม  คดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท อยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาหรือไม่
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  22056/2555 โจทก์ทั้งสองขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 โดยบรรยายฟ้องรวมกันมา เป็นกรณีกล่าวหาว่าจำเลยกระทำความผิดกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท แม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยหลายกรรมต่างกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 91 ด้วยก็ตาม แต่หากพิจารณาได้ความตามฟ้อง ศาลต้องลงโทษจำเลยตามมาตรา 328 อันเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท เกินอำนาจของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้
            เมื่อศาลชั้นต้นไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้ว จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 มาใช้บังคับ
                  คำถาม  คดีอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  หากศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกแต่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกอบรม ดังนี้ จำเลยจะอุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องได้หรือไม่
                         คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                         คำพิพากษาฎีกาที่   8462/2555 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 358 แยกกระทงกับความผิดฐานอื่นลดมาตราส่วนโทษแล้วระวางโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 เดือน เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นแล้ว เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 1 ไปฝึกอบรมมีกำหนด 9 เดือน ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 104 (2) ถือเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษอาญาแก่จำเลย จึงไม่เป็นการลงโทษจำเลยตาม ป.อ.มาตรา 18 อันจะเข้ากรณียกเว้นที่จะมีสิทธิอุทธรณ์ได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 193 ทวิ การที่จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ว่าไม่ได้กระทำความผิดตามฟ้องจึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตตาม ป.วิ.อ.มาตรา 193 ตรี การที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์และศาลอุทธรณ์ภาค 4 รับวินิจฉัยมานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ
                       คำถาม  คดีอาญาโจทก์และจำเลยแถลงยอมรับคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ทุกปากที่เบิกความไว้ในคดีอื่นโดยโจทก์ไม่ติดใจนำพยานดังกล่าวเข้าสืบ ศาลจะนำมารับฟังได้หรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  1563/2555 ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำสืบพยานหลักฐานให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่นั้น เมื่อพิจารณาบันทึกคำเบิกความของผู้เสียหาย ซึ่งเป็นประจักษ์พยานได้ความทำนองเดียวกันว่าเห็นเหตุการณ์ขณะที่คนร้ายใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายกับผู้ตายจดจำได้ว่าจำเลยเป็นคนรายที่ขับรถจักรยานยนต์ และได้ชี้จำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 279/2547 ของศาลชั้นต้นด้วย แต่ก็เป็นการเบิกความในคดีอื่น ไม่ได้กระทำต่อหน้าจำเลยในคดีนี้แม้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 226/5 ศาลอาจรับฟังคำเบิกความของพยานที่เบิกความไว้ในคดีอื่นประกอบพยานหลักฐานอื่นในคดีได้ แต่การที่โจทก์และจำเลยแถลงยอมรับคำเบิกความของประจักษ์พยานโจทก์ทุกปาก แล้วโจทก์ไม่ติดใจนำประจักษ์พยานดังกล่าวเข้าสืบ โดยไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าเหตุใดประจักษ์พยานโจทก์แต่ละปาก จึงไม่สามารถมาเบิกความได้ จึงไม่ใช่กรณีมีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควรที่ศาลอาจรับฟังบันทึกคำเบิกความของประจักษ์พยานทั้งหาปากในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 279/2547 ของศาลชั้นต้น ประกอบพยานหลักฐานอื่นในชั้นพิจารณาได้
             คำถาม  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานยักยอกและให้จำเลยคืนเงินแก่ผู้เสียหาย ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องขอให้จำเลยคืนเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอีกได้หรือไม่ และผู้เสียหายจะต้องเสียค่าธรรมเนียมหรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
          คำพิพากษาฎีกาที่  3664/2555  คดีนี้พนักงานอัยการมีคำขอให้จำเลยคืนเงิน 42,500 บาท แก่ผู้เสียหายตาม ป.วิ.อ.มาตรา 43 แล้ว ต่อมาโจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยคืนเงิน 42,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วมตาม ป.วิ.อ.มาตรา 44/1 อีก ซึ่งตามมาตรา 44/1 วรรคสาม บัญญัติว่า  ...ในกรณีที่พนักงานอัยการได้ดำเนินการตามความในมาตรา 43 แล้ว ผู้เสียหายจะยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่งเพื่อเรียกทรัพย์สินหรือราคาทรัพย์สินอีกไม่ได้" ดังนี้ โจทก์ร่วมจึงยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยคืนเงิน 43,500 บาท อีกไม่ได้ การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องของโจทก์ร่วมในส่วนนี้จึงไม่ชอบ อย่างไรก็ตามดอกเบี้ยของเงิน 42,500 บาท ไม่ใช่ทรัพย์สินหรือราคาที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิด แต่เป็นค่าเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลย เพราะฉะนั้นพนักงานอัยการจะมีคำขอเรียกค่าดอกเบี้ยแทนโจทก์ร่วมไม่ได้ โจทก์ร่วมจึงยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยชำระดอกเบี้ยของต้นเงิน 42,500 บาท ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 44/1 วรรคหนึ่งได้ ซึ่งตามมาตรา 253 วรรคหนึ่ง มิให้เรียกค่าธรรมเนียมจากโจทก์ร่วม เว้นแต่ในกรณีที่ศาลเห็นว่าผู้เสียหายเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนสูงเกินสมควร หรือดำเนินคดีโดยไม่สุจริต ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้เสียหายชำระค่าธรรมเนียมทั้งหมดหรือบางส่วนได้ ดังนี้ การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยใช้ดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี แก่โจทก์ร่วมด้วยนั้นจึงเป็นการใช้สิทธิตามกฎหมาย ไม่ถือเป็นการเรียกค่าสินไหมทดแทนที่สูงเกินสมควรหรือใช้สิทธิไม่สุจริต โจทก์ร่วมจึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมสำหรับการขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนดอกเบี้ยดังกล่าว

                                                                                             นายประเสริฐ  เสียงสุทธิวงศ์

                                                                                                           บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น