วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันจันทร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พฤติการณ์ประกอบการกระทำในความผิดอาญาบางฐาน

“พฤติการณ์ประกอบการกระทำ”
ในความผิดอาญาบางฐาน
                                                                                                ดร.  เกียรติขจร    วัจนะสวัสดิ์
                “เมื่อถ้อยคำดังกล่าวเป็น  “พฤติการณ์ประกอบการกระทำ”  มิใช่เป็น  “ข้อเท็จจริง”  มีผลในทางกฎหมายก็คือ  จะนำหลักในมาตรา  ๕๙  วรรคสาม  ที่ว่า  ไม่รู้ไม่มีเจตนา  มาปรับใช้ไม่ได้เพราะหลักในมาตรา  ๕๙  วรรคสาม  จะนำมาใช้ได้กับกรณี  องค์ประกอบภายนอก  ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเท่านั้น...”

                ความผิดอาญาบางฐาน  กฎหมายบัญญัติองค์ประกอบของความผิดโดยใช้ถ้อยคำว่า  “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”  เช่น  ความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  ๒๔๖  เป็นต้น
                ความผิดฐานนี้  แยก  “องค์ประกอบภายนอก”  และ  “องค์ประกอบภายใน”  ได้ดังนี้
องค์ประกอบภายนอก
(๑)       ผู้ใด
(๒)    (ก)  ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด
(ข)  เติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใด    ในเอกสารที่แท้จริง  หรือ
(ค)  ประทับตราปลอม  หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร
                (๓) โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น  หรือประชาชน
ข้อสังเกต
(๑)     ถ้อยคำที่ว่า  “โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”  เป็น  “องค์ประกอบภายนอก”  ประการหนึ่งของความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  ๒๖๔  แต่เป็น  “องค์ประกอบภายนอก”  ซึ่งเป็น  “พฤติการณ์ประกอบการกระทำ”
(๒)  ถ้อยคำที่ว่า  “ทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด”  หรือ  “เติมหรือตัดทอนข้อความ  หรือแก้ไขด้วยประการใด    ในเอกสารที่แท้จริง”  หรือ  “ประทับตราปลอม  หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร”  เป็น  “องค์ประกอบภายนอก”  ประการหนึ่งของความผิดบานปลอมเอกสาร  ตามมาตรา  ๒๖๔  แต่เป็น  “องค์ประกอบภายนอก”  ซึ่งเป็น  “ข้อเท็จจริง”
ดังนั้น  จึงต้องอยู่ภายใต้หลักของ  ป.อ.  มาตรา  ๕๙  วรรคสาม  ซึ่งบัญญัติว่า  “ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด  จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล  หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้”
หลักดังกล่าว  คือหลักที่ว่า  “ไม่รู้ไม่มีเจตนา”  ด้วยเหตุนี้  หากผู้กระทำไม่รู้ว่า  สิ่งที่ตนปลอมนั้นเป็น  “เอกสาร”  ก็จะถือว่า  ผู้กระทำมีเจตนาปลอมเอกสารมิได้  ดุจเดียวกับการยิงไปหลังพุ่มไม้โดยคิดว่าเป็นการยิงหมูป่า  แต่ความจริงสิ่งที่ถูกยิงคือ  “ผู้อื่น”  เช่นนี้ก็จะถือว่ามีเจตนายิง  “ผู้อื่น”  ไม่ได้  เพราะเป็นการไม่รู้  “ข้อเท็จจริง”  ซึ่งเป็น  “องค์ประกอบภายนอก”  ของความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตามมาตรา  ๒๘๘
เช่นเดียวกัน  หากผู้กระทำไม่รู้ว่า  สิ่งที่ตนปลอม  (หรือสิ่งที่ตน  “เติมหรือตัดทอนหรือแก้ไขด้วยประการใด  ๆ)  เป็น  “เอกสาร”  โดยเข้าใจผิดไปว่าเป็นสิ่งอื่นไม่ใช่  “เอกสาร”  ก็จะถือว่า  ผู้กระทำมีเจตนาปลอมเอกสารไม่ได้  เพราะมีหลักว่า  “ไม่รู้ก็ไม่มีเจตนา”  ซึ่งหมายความว่า  “ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบภายนอก”  ของความผิดฐานปลอมเอกสาร  กล่าวคือ  “ไม่รู้”  ว่าสิ่งที่ตนปลอมเป็น  “เอกสาร”  เพราะสิ่ง    นั้นเป็น  “เอกสาร”  หรือไม่เป็น  “ข้อเท็จจริง”  (fact)  ซึ่งเป็นองค์ประกอบภายนอกของความผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  ๒๖๔  ดังนั้น  จึงต้องอยู่ภายใต้หลักของมาตรา  ๕๙  วรรคสาม  ซึ่งเป็นหลักที่ว่า  “ไม่รู้ก็ไม่เจตนา”
ประเด็นต่อไปก็คือ  หากผู้กระทำรู้อยู่แล้วว่า  สิ่งที่ตนปลอมเป็น  “เอกสาร”  ก็ย่อมถือได้ว่ามี  “เจตนา”  ปลอมเอกสาร  อย่างไรก็ตาม  ผู้กระทำจะผิดฐานปลอมเอกสารตามมาตรา  ๒๖๔  การกระทำยังต้องครบองค์ประกอบภายนอกอีกประการหนึ่ง  กล่าวคือ  การปลอมเอกสารซึ่งกระทำโดยเจตนานั้น  จะต้องเป็น  “การกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”  ด้วย
(๓)   ได้กล่าวไว้ในข้อ  (๑)  ข้างต้นแล้วว่า  ถ้อยคำดังกล่าวนั้นเป็น  แม้จะเป็น  “องค์ประกอบภายนอก”  แต่ก็เป็นเพียง  “พฤติการณ์ประกอบการกระทำ”  มิใช่เป็น  “ข้อเท็จจริง”
ศาลฎีกาใช้คำว่า  “พฤติการณ์ประกอบการกระทำ”  ในฎีกาที่  ๗๖๙/๒๕๔๐  และ  ๖๖๕๔/๒๕๕๐
เมื่อถ้อยคำดังกล่าวเป็น  “พฤติการณ์ประกอบการกระทำ”  มิใช่เป็น  “ข้อเท็จจริง”  มีผลในการทางกฎหมายก็คือ  จะนำหลักในมาตรา  ๕๙  วรรคสาม  ที่ว่า  “ไม่รู้ไม่มีเจตนา”  มาปรับใช้ไม่ได้เพราะหลักในมาตรา  ๕๙  วรรคสาม  จะนำมาใช้ได้กับกรณี  “องค์ประกอบภายนอก  ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง”  เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้  ในการพิจารณาว่า  “น่าจะเกิดความเสียหาย”  หรือไม่  จึงวินิจฉัยโดยระดับความรู้ของ  “วิญญูชน”  ทั่วไป  หากวิญญูชนทั่วไปเห็นว่า  “ไม่น่าจะเกิดความเสียหาย”  การกระทำก็ไม่เป็นความผิด  เพราะขาดองค์ประกอบภายนอก  แม้ความผิดฐานพยายามก็ไม่เป็นความผิดตรงกันข้าม  หากวิญญูชนทั่วไปเห็นว่า  “น่าจะเกิดความเสียหาย”  ก็ต้องถือว่าการกระทำครบองค์ประกอบภายนอกในส่วนนี้  แม้ผู้กระทำจะ  “ไม่รู้ว่าน่าจะเกิดความเสียหาย”  ก็ตาม  ในกรณีเช่นนี้  จะนำหลักในมาตรา  ๕๙  วรรคสาม  ที่ว่า  “ไม่รู้ไม่มีเจตนา”  มาใช้ไม่ได้  เพราะหลักดังกล่าวใช้กับกรณี  “ไม่รู้ข้อเท็จจริง”  เท่านั้น  ไม่นำมาใช้กับกรณี  “พฤติการณ์ประกอบการกระทำ”
กล่าวโดยสรุปคือ  “น่าจะเกิดความเสียหาย”  หรือไม่  วินิจฉัยตามความรู้ความเข้าใจของวิญญูชนทั่วไป  ไม่ใช่พิจารณาจากความรู้ความเข้าใจของผู้กระทำ  ดังนั้น  หากวิญญูชนทั่วไปเห็นว่า  “น่าจะเกิดความเสียหาย”  ก็ถือว่าครบองค์ประกอบความผิดในส่วนนี้  ทั้งนี้  แม้ผู้กระทำจะ  “ไม่รู้”  ว่าน่าจะเกิดความเสียหายก็ตาม  ตรงกันข้าม  หากวิญญูชนทั่วไปเห็นว่า  “ไม่น่าจะเกิดความเสียหาย”  การกระทำก็ขาดองค์ประกอบภายนอกในส่วนนี้ไปเลย  การกระทำก็ไม่เป็นความผิด  (เพราะถือว่า  “ขาดองค์ประกอบภายนอก”)  แม้ความผิดฐาน  “พยายาม”  ก็ไม่เป็นความผิด  ทั้งนี้  แม้ว่าผู้กระทำจะเข้าใจไปว่า  “น่าจะเกิดความเสียหาย”  ก็ตาม
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยในประเด็นเรื่อง  “พฤติการณ์ประกอบการกระทำ”  ตามมาตรา  ๒๖๔  ไว้ดังนี้
คำพิพากษา  ฎีกาที่  ๗๖๙/๒๕๔๐  ข้อความในประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๒๖๔  ที่ว่า  โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนไม่ใช่การกระทำโดยแท้  และไม่ใช่เจตนาพิเศษ  จึงไม่เกี่ยวกับเจตนา  แต่เป็นพฤติการณ์ที่ประกอบการกระทำที่น่าจะเกิดความเสียหายได้  แม้จะไม่เกิดความเสียหายขึ้นจริงก็พิจารณาได้จากความคิดธรรมดาของบุคคลทั่วไปส่วนคำว่าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงนั้น  เป็นเจตนาพิเศษโดยมิได้เจาะจงผู้ที่ถูกกระทำให้หลงเชื่อไว้โดยเฉพาะว่าจะต้องเป็นผู้ใด  ดังนั้น  การที่จำเลยเจตนาทำหนังสือสัญญากู้ยืมเงินขึ้นเพื่อให้  ด.  หลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงก็เป็นความผิดแล้ว  แม้จำเลยยังมิได้นำเอกสารไปใช้แสดงต่อ  ด.  ก็ตาม  ทั้งบุคคลที่จะถูกทำให้หลงเชื่อนี้กฎหมายมิได้กำหนดว่าจำต้องเกี่ยวโยงเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกับบุคคลที่น่าจะเกิดความเสียหาย  จึงเป็นบุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ได้
คำพิพากษา  ฎีกาที่  ๖๖๕๔/๒๕๕๐  การกระทำโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนตาม  ป.อ.  มาตรา  ๒๖๔  วรรคแรก  และมาตรา  ๒๖๘  วรรคแรก  เป็นพฤติการณ์ประกอบการกระทำ  มิใช่ผลที่ต้องเกิดขึ้นจากการกระทำ  เพียงแต่น่าจะเกิดแม้จะไม่เกิดขึ้นก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว  และความเสียหายที่น่าจะเกิดนั้นอาจเป็นความเสียหายที่มีรูปร่าง  เช่นความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือความเสียหายต่อศีลธรรม  เช่น  เสียชื่อเสียง  หรือความเสียหายต่อประชาชน  เช่น  ความไว้เนื้อเชื่อใจในการประกอบธุรกิจด้วย  การที่จำเลยปลอมใบรับฝากเงิน  อันเป็นเอกสารสิทธิดังกล่าวนำเงินเข้าฝากในบัญชีของบุคคลทั้งสองที่ธนาคาร  ก.สาขาสี่แยกบ้านแขก  เป็นผลให้เงินของเจ้าของบัญชีทั้งสองบัญชีเพิ่มมากขึ้น  แม้จะไม่มีความเสียหายต่อทรัพย์สินแต่เป็นเปลี่ยนแปลงหลักฐานจำนวนเงินของเจ้าของบัญชีทั้งสองในระบบบัญชีของธนาคาร  ก.  ให้แตกต่างไปจากความเป็นจริง  อันจะเป็นผลให้เจ้าของบัญชีทั้งสองและธนาคาร  ก.  อาจเสียชื่อเสียงไม่ได้รับความเชื่อมั่นไว้วางใจในสังคมและในการประกอบกิจการธุรกิจอันเป็นประการที่น่าจะเกิดความเสียตามบทบัญญัติในความผิดฐานปลอมและใช้เอกสารสิทธิปลอมตาม  ป.อ.  มาตรา  ๒๖๔  วรรคแรก  ประกอบมาตรา  ๒๖๕  และมาตรา  ๒๖๘  วรรคแรก
ข้อสังเกต
(๑)     ศาลฎีกากล่าวไว้ในฎีกาที่  ๖๖๕๔/๒๕๕๐  ข้างต้นว่า  “เพียงแต่น่าจะเกิด  (ความเสียหาย)  แม้จะไม่เกิดขึ้น  ก็เป็นความผิดสำเร็จแล้ว”  ซึ่งเป็นการวินิจฉัยตามฎีกาที่  ๑๒๘๑-๑๒๘๒/๒๕๓๘  ซึ่งวินิจฉัยว่า  องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๒๓๓  ที่ว่าน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในยานพาหนะ  ไม่ใช่ผลของการกระทำ  จำเลยใช้เรือรับจ้างขนส่งคนโดยสารเมื่อเรือนั้นมีลักษณะหรือมีการบรรทุกจนน่าจะเป็นอันตรายแก่บุคคลในเรือนั้น  แม้ยังไม่มีความเสียหายก็ถือเป็นความผิดสำเร็จ
                มีข้อสังเกตว่า  แม้  “น่าจะเกิดความเสียหาย”  (กรณีมาตรา  ๒๖๔)  หรือ  “น่าจะเป็นอันตราย”  (กรณีมาตรา  ๒๓๓)  ก็ถือเป็น  “ความผิดสำเร็จ”  แล้วก็ตาม  แต่ความผิดดังกล่าวก็มี  “พยายาม”  กระทำความผิดตาม  ป.อ.  มาตรา  ๘๐  ได้  เช่น  จำเลย  “กำลังจะปลอมใบรับฝากเงิน”  เช่น  กำลังจะกรอกข้อความในใบรับฝากเงิน  กรณีเช่นนี้  คือการพยายามปลอมเอกสารตามมาตรา  ๒๖๔  ประกอบมาตรา  ๘๐  นั่นเอง  เช่นเดียวกัน  หากจำเลย  “กำลังจะให้คนจำนวนมากลงไปในเรือโดยสาร”  ก็คือ  การพยายามกระทำความผิดตามมาตรา  ๒๓๓  ประกอบมาตรา  ๘๐  นั่นเอง
                อย่างไรก็ตาม  การ  “พยายาม”  กระทำความผิดตามสองตัวอย่างดังกล่าว  เป็นการพยายามกระทำความผิดประเภท  “กระทำไปไม่ตลอด”  ความผิดในลักษณะเช่น  มาตรา  ๒๖๔  และมาตรา  ๒๓๓  นี้  ไม่น่าจะมีการพยายามกระทำความผิดประเภท  “กระทำไปตลอดแล้วแต่การกระทำไม่บรรลุผล”  ได้  เพราะเมื่อกระทำไปตลอดแล้ว  เช่น  กรอกข้อความและลงลายมือชื่อในใบรับฝากเงินแล้ว  (กรณีมาตรา  ๒๖๔)  หรือ  นำคนจำนวนมากลงไปในเรือแล้วจนเรือเพียบน่ากลัวคว่ำ  (กรณีมาตรา  ๒๓๓)  การกระทำก็เป็นความผิดสำเร็จทันที  โดยถือว่า  “น่าจะเกิดความเสียหาย”  (กรณีมาตรา  ๒๖๔)  หรือ  “น่าจะเป็นอันตราย”  (กรณีมาตรา  ๒๓๓)  แล้ว
                ดังนั้น  ความผิดตามมาตรา  ๒๖๔  และมาตรา  ๒๓๓  จึงน่าจะมีได้เฉพาะการ  “ยับยั้ง”  ตาม  ป.อ.  มาตรา  ๘๒  เท่านั้น  ไม่น่าจะมีการ  “กลับใจ”  ได้
                ตัวอย่าง  จำเลยกำลังจะกรอกข้อความลงในใบรับฝากเงิน  กรณีเช่นนี้  จำเลยกำลังกระทำความผิดฐานพยายามปลอมเอกสาร  (พยายามประเภท  “กระทำไปไม่ตลอด”)  ตามมาตรา  ๒๖๔  ประกอบมาตรา  ๘๐  หากจำเลย  “สำนึกผิด”  และหยุดการกระทำลง  เช่นนี้  คือการ  “ยับยั้ง”  ตาม  ป.อ.  มาตรา  ๘๒  นั่นเอง  อย่างไรก็ตาม  หากจำเลยกรอกข้อความลงในใบรับฝากเงินแล้ว  การกระทำก็เป็นความผิดสำเร็จ  แม้จำเลยจะสำนึกผิดหยุดการกระทำ  กรณีก็ไม่ใช่การ  “กลับใจ”  ตามมาตรา  ๘๒  เพราะการ  “กลับใจ”  ตามมาตรา  ๘๒  จะใช้กับกรณีพยายามกระทำความผิดประเภท  “กระทำไปตลอดแล้ว”  แต่ความผิดตามมาตรา  ๒๖๔  นั้น  เมื่อ  “กระทำไปตลอดแล้ว”  กล่าวคือ  กรอกข้อความลงในใบรับฝากเงิน  ก็เป็นความผิดสำเร็จทันที  จึงไม่มีกรณีที่จะ  “กลับใจ”  ตามมาตรา  ๘๒  “เพื่อไม่ให้การกระทำบรรลุผล”
(๒)  ความผิดที่กฎหมายบัญญัติ  “พฤติการณ์ประกอบการกระทำ”  ในทำนองเดียวกับมาตรา  ๒๖๔  และมาตรา  ๒๓๓  ยังมีในมาตราอื่น    อีกหลายมาตรา  เช่น
๑.      น่าจะเกิดความเสียหาย  หรืออาจเกิดความเสียหาย  ตามมาตรา  ๑๓๗,  ๑๓๒,  ๑๘๘,  ๒๒๐,  ๒๒๑,  ๒๒๕-๒๓๑,  ๒๓๔,  ๒๓๖,  ๒๓๗,  ๒๖๗-๒๖๙,  ๓๐๗,  ๓๒๒,  ๓๒๓
๒.     อันเป็นการมิชอบ  ตามมาตรา  ๒๐๐,  ๒๐๙
๓.     อันเป็นการเหยียดหยามศาสนา  ตามมาตรา  ๒๐๖
๔.     โดยประการที่ทำให้เด็กปราศจากผู้ดูแล  ตามมาตรา  ๓๐๖
๕.     โดยประการที่น่าจะทำให้เสียชื่อเสียง  ตามมาตรา  ๓๒๖
๖.      อันเป็นการรบกวนการครอบครอง  ตามมาตรา  ๓๖๒
(๓)   ความผิดตามมาตรา  ๑๘๘  ก็ใช้ถ้อยคำในทำนองเดียวกันว่า  “ในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน”  ซึ่งก็เป็น  “พฤติการณ์ประกอบการกระทำ”  เช่นเดียวกับกรณีของมาตรา  ๒๖๔  นั่นเอง
คำพิพากษา  ฎีกาที่  ๓๐๓/๒๕๑๓  วินิจฉัยว่า  การที่จำเลยได้ฉีกสัญญากู้จนขาดออกเป็นชิ้นๆ  ผู้ให้กู้ต้องเอามาต่อติดกันจึงอ่านข้อความได้  เช่นนี้เรียกได้ว่าจำเลยได้ทำให้สัญญากู้เสียหายแล้วหาจำต้องทำให้สูญสิ้นไปหมดทั้งฉบับ  จนกระทั่งไม่มีรูปเป็นเอกสารไม่  เพียงแต่ฉีกสัญญาขาดออกจากกัน  ก็เป็นการกระทำอันน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ให้กู้  เข้าเกณฑ์อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๑๘๘  แล้ว  หาใช่จะต้องฉีกทำลายจนใช้ไม่ได้ผลไม่  ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่  ๑๔๑๘/๒๕๐๖
คำพิพากษา  ฎีกาที่  ๑๔๑๘/๒๕๐๖  การที่จำเลยขอสัญญากู้ที่ทำให้ผู้ให้กู้ไว้มาดูแล้วฉีก  แต่ผู้ให้กู้และผู้อื่นช่วยกันแย่งไว้ทัน  จำเลยจึงไม่มีโอกาสทำลายสัญญากู้จนใช้ไม่ได้นั้น  เรียกได้ว่าน่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้ให้กู้แล้ว  ไม่จำเป็นต้องทำลายจนใช้ไม่ได้ผลหรือต้องเอกไปเสียจำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  ๑๘๘  และเมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดแล้ว  แม้จำเลยจะชำระเงินกู้ตามสัญญาฉบับนั้นในภายหลัง  ก็ไม่ทำให้จำเลยพ้นความผิดไปได้
ข้อสังเกต
                แม้ศาลฎีกาจะวินิจฉัยว่า  จำเลยฉีกสัญญากู้ไปส่วนหนึ่ง  การกระทำก็เป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา  ๑๘๘  ความผิดตามมาตรา  ๑๘๘  ก็มี  “พยายาม”  กระทำความผิดได้  เช่น  จำเลย  “กำลังจะฉีก”  สัญญากู้  เช่นนี้  จำเลยผิดฐานพยายามตามมาตรา  ๑๘๘  ประกอบมาตรา  ๘๐  โดยเป็นพยายามประเภท  “กระทำไปไม่ตลอด”  ซึ่งหากจำเลยสำนึกผิด  จำเลยจึงไม่ฉีก  เช่นนี้  คือการ  “ยับยั้ง”  ไม่กระทำการให้ตลอด
                อย่างไรก็ตาม  หากจำเลยฉีกสัญญากู้แล้ว  แม้ฉีกเพียงเล็กน้อย  ยังไม่ถึงขนาดฉีกจนสัญญากู้ใช้ไม่ได้  ก็ถือว่าจำเลย  “กระทำไปตลอดแล้ว”  และการกระทำเป็นความผิดสำเร็จทันที  (ตามคำวินิจฉัยในฎีกาที่  ๑๔๑๘/๒๕๐๖)  ดังนี้  แม้จำเลยจะสำนึกผิดไม่ทำการฉีกต่อไปทั้งฉบับ  ก็ไม่ใช่การ  “กลับใจ”  ตามมาตรา  ๘๒  เพราะการ  “กลับใจ”  จะใช้กับกรณีที่  “กลับใจแก้ไขการกระทำที่กระทำไปตลอดแล้วไม่บรรลุผล”  เช่นใช้กับกรณีที่จำเลยยิงผู้เสียหายในป่าลึกจนผู้เสียหายใกล้ตาย  จำเลยสงสารจึงพาออกมารักษาจนหาย  เช่นนี้  จึงเป็นกรณี  “กลับใจแก้ไขให้การกระทำที่กระทำไปตลอดแล้วไม่บรรลุผล”  ซึ่งการกลับใจในทำนองนี้จะนำมาใช้กับความผิดตามมาตรา  ๑๘๘  (รวมทั้งมาตรา  ๒๖๔  มาตรา  ๑๓๓  ฯลฯ)  ไม่ได้  เพราะความผิดเหล่านี้  เมื่อกระทำไปตลอดแล้ว  (เช่นฉีกสัญญากู้แล้วแม้ฉีกเพียงเล็กน้อย”  ก็เป็นความผิดสำเร็จทันที  จึงไม่มีกรณี  “กลับใจ”  คงมีได้เฉพาะกรณี  “ยับยั้ง”  เช่น  กำลังจะฉีกสัญญากู้  จึง  “ยับยัง”  ด้วยการไม่ฉีกสัญญากู้  เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น