คำถาม คำว่า
“ ตอแหล ” เป็นการดูหมิ่นหรือไม่
คำตอบ
มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๙๑๙/๒๕๕๒ การดูหมิ่นผู้อื่น หมายถึง การดูถูกเหยียดหยามสบประมาท หรือทำให้อับอาย การวินิจฉัยว่าการกล่าววาจาอย่างไร
เป็นการดูหมิ่นผู้อื่นหรือไม่
จึงต้องพิจารณาว่าถ้อยคำที่กล่าวเป็นการดูถูกเหยียดหยามสบประมาทผู้ที่ถูกกล่าว หรือเป็นการทำให้ผู้ที่ถูกกล่าวอับอายหรือไม่
หากเป็นเช่นนั้นก็ถือได้ว่าเป็นการดูหมิ่นแล้ว
เมื่อตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานให้ความหมายคำว่า “ ตอแหล ” ว่า เป็นคำด่าคนที่พูดเท็จ
ซึ่งมีความหมายในทางเสื่อมเสีย
การที่จำเลยกล่าวถ้อยคำดังกล่าวต่อผู้เสียหายจึงเป็นการพูดด่าผู้เสียหาย
เป็นการดูถูกเหยียดหยามและสบประมาทผู้เสียหายว่าเป็นคนพูดเท็จ
จึงเป็นการดูหมิ่นผู้เสียหายอันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๙๑
คำถาม ขึงลวดแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าเพื่อจะป้องกันทรัพย์สิน
มีผู้มาถูกเข้าถึงแก่ความตาย จะเป็นความผิดหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
(ก) กรณีที่ผู้ถึงแก่ความตายมิได้มีเจตนากระทำความผิดคำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่
๓๒/๒๕๑๐
ผู้ตายเรียนหนังสืออยู่ที่วัดละหาร ซึ่งจำเลยเป็นครูอยู่
ทั้งเป็นเด็กหญิงและเป็นหลานของจำเลย มีบ้านอยู่ติดกับบ้านของจำเลย
เมื่อจำเลยขึงลวดเส้นเดียวและเล็กไว้ในบริเวณบ้านและปล่อยกระแสไฟฟ้าให้แล่นไปตามลวดนั้น
เมื่อเวลาจวนสว่างผู้ตายเข้าไปในเขตรั้วบ้านจำเลย
และมาถูกสายไฟของจำเลยเข้าถึงแก่ความตาย ดังนี้ จึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยมีความผิดฐานให้คนตายโดยไม่มีเจตนา
คำพิพากษาฎีกาที่
๑๙๙๙/๒๕๑๑ โจทก์ฟ้องว่า
จำเลยกระทำโดยประมาท ได้ใช้เส้นลวดที่ไม่มีวัตถุใด ๆ
ห่อหุ้มขึงทางด้านบนรั้วไม้โรงภาพยนตร์ของจำเลยใกล้ทางเดินของบุคคลทั่วไปในระดับคนยืนพื้นเอื้อมจับถึง
แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าไปตามเส้นลวดดังกล่าวขณะที่ภาพยนตร์กำลังฉาย
เพื่อป้องกันมิให้คนข้ามรั้วเข้าไปรอบดูภาพยนตร์ทางรูฝาโรงภาพยนตร์จึงเป็นเหตุให้
นาย ป. ซึ่งเข้าไปยืนถ่ายปัสสาวะที่ริมรั้วตรงบริเวณดังกล่าวเอื้อมมือไปจับส่วนบนของรั้ว
นิ้วมือเลยไปถูกเส้นลวดนั้น กระแสไฟฟ้าจึงแล่นเข้าสู่ร่างกายถึงแก่ความตาย
ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมาย มาตรา ๒๙๑ และริบเส้นลวดของกลาง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
กรณีจำเลยใช้เส้นลวดที่ไม่มีวัตถุใด ๆ ห่อหุ้มขึงทางด้านบนของรั้วไม้โรงภาพยนตร์ของจำเลย
แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้า ๒๒๐
โวลท์ไปตามเส้นลวดนั้นเพื่อป้องกันมิให้คนข้ามรั้วเข้าไปลอบดูภาพยนตร์ทางรูฝาโรงภาพยนตร์
เป็นการกระทำที่จำเลยมิได้เจตนาฆ่า
แต่เจตนาทำร้ายผู้อื่นจนทำเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตายตาม ป.อ.มาตรา ๒๙๐ มิใช่กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
คำพิพากษาฎีกาที่
๑๔๒๙/๒๕๒๐
จำเลยตกกล้าในนาหลังบ้านจำเลยเมื่อประมาณ ๗ วันก่อนเกิดเหตุ จำเลยใช้ขึงลวด
๒ เส้นรอบที่ตกกล้า สูงจากพื้นดินประมาณ ๓ นิ้ว แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด ๒๒๐
โวลท์จากบ้านเข้าไปในเส้นลวด ๒ เส้นที่ขึงไว้
เพื่อป้องกันมิให้หนูเข้าไปกินข้าวกล้า ครั้นวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๕๑๘ เวลาประมาณ
๑๙.๐๐ นาฬิกา นาย ส.
ผู้ตายออกจากบ้านไปหากบหาปลาตามทุ่งนาแล้วไปเหยียบสายลวดที่จำเลยปล่อยกระแสไว้
เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตรงที่เกิดเหตุนั้นเอง
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า
จำเลยก็ยอมรับอยู่ว่าสายลวดที่จำเลยขึงรอบที่นาที่ตกกล้าและปล่อยกระแสไว้นั้น
หากสัตว์ไปถูกเข้าก็จะถึงแก่ความตายได้
ทั้งจำเลยยังปักป้ายห้ามเข้าในเขตที่ตกกล้าด้วย
แสดงว่าจำเลยย่อมรู้ว่า สายลวดที่มีกระแสไฟฟ้าดังกล่าวเป็นอันตรายแก่คนที่เข้าไปในเขตที่ตกกล้าเช่นเดียวกัน
การที่จำเลยขึงลวดมีกระแสไฟฟ้าดังกล่าวแล้วย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ว่า
หากมีคนหากบหาปลาตามทุ่งนาเดินมาถูกลวดที่มีกระแสไฟฟ้าดังกล่าว
และได้รับอันตรายแก่ร่างกาย จึงถือได้ว่าจำเลยมีเจตนาทำร้ายผู้อื่นแล้ว เมื่อผู้ตายผ่านไปถูกสายลวดที่มีกระแสไฟฟ้าถึงแก่ความตาย
อันเป็นผลจากการกระทำของจำเลย
จำเลยจึงต้องมีความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นถึงแก่ความตายโดยไม่มีเจตนาฆ่า ป.อ.มาตรา
๒๙๐
คำพิพากษาฎีกาที่
๔๘๘๔/๒๕๒๘ ผู้ตายเข้าไปในบริเวณบ่อปลาของนายจ้างเพื่อจะเกี่ยวหญ้า
จำเลยไม่มีสิทธิทำร้ายผู้ตายได้
เมื่อจำเลยขึงลวดไว้ภายในรั้วลวดหนามที่ล้อมรอบบริเวณบ่อเลี้ยงปลาของนายจ้าง
และปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าไปตามลวดนั้น
ผู้ตายมาถูกกระแสไฟฟ้าของจำเลยเข้าถึงแก่ความตาย
ดังนี้การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันสิทธิของผู้อื่นโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา ๒๙๐
(ข) กรณีข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ที่มาถูกกระแสไฟฟ้าเข้าจนถึงแก่ความตายนั้นมีเจตนาร้าย
เช่น มีเจตนาจะเข้ามาลักทรัพย์ กรณีเช่นนี้ศาลจะต้องพิจารณาเสมือนว่า
ถ้าผู้กระทำอยู่ในที่เกิดเหตุจะมีสิทธิกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือไม่
ในเรื่องนี้มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๒๓/๒๕๑๙
จำเลยเก็บของอยู่ในบริเวณสวนของจำเลยมีรั้วต้นพู่ระหงปลูกเป็นแนวเขต
จำเลยเก็บของอันมีค่า เช่น เครื่องยนต์สูบน้ำ และอุปกรณ์อื่น ๆ ไว้
ทรัพย์สินที่จำเลยเก็บไว้ในโรงเก็บของเคยถูกคนร้ายลักไป
ในตำบลที่เกิดเหตุมีคนร้ายชุกชุม
จำเลยจึงเอาเส้นลวดขึงที่โรงเก็บของแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าจากบ้านไว้เพื่อป้องกันคนร้าย
ผู้ตายกับพวกอีก ๓
คนบุกรุกเข้าไปที่โรงเก็บของในเวลาวิกาลโดยเจตนาจะลักทรัพย์
ในมือผู้ตายมีเหล็กไขควง ๑ อัน
แต่ผู้ตายไปถูกเส้นลวดที่ปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ถึงแก่ความตายเสียก่อน
มิฉะนั้นผู้ตายกับพวกย่อมลักทรัพย์ของจำเลยไปได้
นับได้ว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่ทรัพย์สินของจำเลยใกล้จะถึงแล้ว
ถ้าจำเลยไปพบเห็นเข้าจำเลยย่อมมีสิทธิทำร้ายผู้ตายกับพวกเพื่อป้องกันทรัพย์สินของจำเลยได้ ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย
และพอสมควรแก่เหตุ จำเลยไม่มีความผิด
ฎีกาที่ ๓๒/๒๕๑๐ ฯลฯ
ที่โจทก์อ้างมาไม่ตรงกับข้อเท็จจริงคดีนี้ (ศาลจะต้องพิจารณาเสมือนว่าถ้าจำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุ
จำเลยจะมีสิทธิกระทำร้ายเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือไม่)
มีหมายเหตุท้ายฎีกาฉบับนี้ ศ.จิตติ
ติงศภัทิย์ ความว่า โจทก์ฟ้องตาม ป.อ.มาตรา ๒๙๐
ฆ่าคนโดยไม่เจตนาฆ่าจึงเป็นแต่เจตนาทำร้ายเท่านั้น
ไม่เกินกว่าเหตุสำหรับการลักทรัพย์โดยไม่ใช่กำลังทำร้าย
คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๔๙๐/๒๕๔๘
แม้ขณะเกิดเหตุผู้ตายจะเข้าไปในบริเวณบ่อปลากัดของจำเลยเพื่อลักปลากัด
ซึ่งถ้าจำเลยพบเห็นเข้าจำเลยย่อมมีสิทธิทำร้ายผู้ตายที่พอสมควรเหตุเพื่อป้องกันทรัพย์สินของจำเลยได้
แต่กระแสไฟฟ้าที่จำเลยปล่อยผ่านเส้นลวดที่ล้อมรอบบ่อปลากัด
ย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพซึ่งสามารถทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายได้
ส่วนทรัพย์สินของจำเลยเป็นเพียงปลากัดมูลค่าไม่มาก
การปล่อยกระแสไฟฟ้าเข้าเส้นลวดกับการป้องกันทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่เป็นสัดส่วนกัน
การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนที่เกินสมควรแก่เหตุตาม ป.อ.มาตรา ๖๙
จำเลยจึงมีความผิดฐานมิได้มีเจตนาฆ่าแต่ทำร้ายผู้ตายจนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายตาม
ป.อ. มาตรา ๒๙๐ วรรคแรกประกอบมาตรา ๖๙
คำพิพากษาฎีกาที่
๑๙๑/๒๕๔๙
โจทก์บรรยายฟ้องไว้โดยชัดแจ้งว่า
เด็กชาย ค. เข้าไปลักแตงโมในไร่ของจำเลย
และจำเลยได้ต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าจากบ้านพักผ่านรั้วลวดหนาม เป็นเหตุให้เด็กชาย ค.
ซึ่งสัมผัสรั้วลวดหนามถูกกระแสไฟฟ้าดูดจนถึงแก่ความตาย และจำเลยให้การรับสารภาพ
ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติได้ตามคำฟ้องของโจทก์
ดังนี้ การที่ผู้ตายเข้าไปลักแตงโมในไร่ของจำเลยดังกล่าว
ถือได้ว่าผู้ตายได้กระทำการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายต่อทรัพย์ของจำเลย
จำเลยจึงมีสิทธิที่ป้องกันทรัพย์สินของตนได้ แต่การที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้า
ซึ่งมีแรงเคลื่อนสูงถึง ๒๐๐ โวลท์ ที่สามารถทำให้ดูดคนให้ถึงแก่ความตายได้ ทั้งที่ทรัพย์ที่จำเลยมีสิทธิกระทำการป้องกันคือแตงโมมีราคาไม่สูงมากนัก
ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำที่เกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำตาม
ป.อ. มาตรา ๖๙
ซึ่งศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ และมิได้ยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ฎีกา แต่ศาลฎีกายกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยเองได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๗๙๔/๒๕๕๒
จำเลยเป็นเจ้าของสวนผลไม้ที่เกิดเหตุซึ่งมีรั้วลวดหนามล้อมทั้งสี่ด้าน ก่อนเกิดเหตุจำเลยขึงเส้นลวด ๑
เส้น
จากทิศเหนือไปยังทิศใต้สูงจากพื้นดินประมาณ ๕๐ เซนติเมตร
ขวางกึ่งกลางสวนแล้วปล่อยกระแสไฟฟ้าขนาด ๒๒๐ โวลต์ผ่านเส้นลวดเพื่อป้องกันคนร้าย
โดยมีเจตนาให้กระแสไฟฟ้าทำร้ายร่างกาย เนื่องจากเคยมีคนร้ายเข้าไปลักผลไม้และทรัพย์สินอื่น
ต่อมาในวันเวลาเกิดเหตุผู้ตายอายุ ๑๔ ปีเศษกับ ต. อายุ ๑๕ ปี
เข้าไปในสวนของจำเลยโดยพังรั้วเข้าไปเพื่อจะลักกระท้อนในสวนแล้วผู้ตายเดินไปถูกเส้นลวดที่จำเลยปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้
เป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าขณะเกิดเหตุผู้ตายกับ ต. มีอาวุธใด
ๆ ติดตัว ประกอบกับผลไม้ที่เข้าไปเพื่อจะลักน่าจะราคาไม่มากนัก ดังนี้
หากจำเลยพบเห็นผู้ตายกับพวกในขณะเกิดเหตุ
จำเลยย่อมสามารถใช้วิธีอื่นที่รุนแรงร้อยกว่าการทำร้ายร่างกายกระทำต่อผู้ตายเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้บรรลุได้ไม่ยาก
การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
คำพิพากษาฎีกาที่
๗๖๕๐/๒๕๕๓
จำเลยขึงเส้นลวดและปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้บริเวณหน้าต่างห้องพักของจำเลยเพื่อป้องกันขโมยเข้ามาลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลย
จึงเป็นเหตุให้เด็กชาย ก.
บุตรเลี้ยงของจำเลยซึ่งลักลอบปีนหน้าต่างเพื่อเข้าไปลักทรัพย์ในห้องพักของจำเลยถูกกระแสไฟฟ้าช็อตถึงแก่ความตาย
แม้การกระทำของผู้ตายจะถือเป็นการประทุษร้ายอันเป็นละเมิดต่อกฎหมายและต่อทรัพย์สินของจำเลยมีสิทธิที่จะป้องกันทรัพย์สินของตนได้ แต่พฤติการณ์ที่จำเลยต่อและปล่อยกระแสไฟฟ้าแรงสูงถึง
๒๒๐ โวลต์ไปตามเส้นลวดที่ไม่มีฉนวนหุ้มนั้น
ย่อมเป็นอันตรายร้ายแรงโดยสภาพที่สามารถทำให้ผู้อื่นที่ไปสัมผัสถูกถึงแก่ความตายได้ ดังนั้น
แม้จะเป็นการป้องกันคนร้ายที่จะเข้ามาลักทรัพย์สินในห้องพักของจำเลยและทำร้ายจำเลยกับภรรยาได้
แต่การกระทำของจำเลยก็เป็นการเกินสมควรแก่เหตุหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๙ (จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๐
วรรคหนึ่งประกอบมาตรา ๖๙ )
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น