คำถาม สัญญาจะซื้อขายห้องชุดมีข้อตกลงว่า
ในกรณีที่ผู้ซี้อผิดสัญญาผู้ขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญา และริบเงินทั้งหมดที่ผู้ซื้อชำระไปแล้วรวมเงินมัดจำเท่ากับร้อยละ40
ของอาคารชุดนั้น หากผู้ซื้อผิดสัญญา ข้อตกลงดังกล่าวจะถือว่าเป็นเบี้ยปรับ
ซึ่งศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 11887/2554 เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยบอกเลิกสัญญาแล้ว
สัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดเป็นอันเลิกกัน จำเลยมีสิทธิริบเงินมัดจำจำนวน 250,000 บาท
ได้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) และคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม
ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนแก่กันให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วยคิดแต่เวลาที่ได้รับไว้ตามมาตรา
391 วรรคหนึ่งและวรรคสอง
ทั้งฝ่ายที่บอกเลิกสัญญายังมีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายตามมาตรา 391 วรรคสี่
การที่โจทก์และจำเลยตกลงกันตามสัญญาจะซื้อขายห้องชุดว่าในกรณีที่โจทก์ผู้ซื้อผิดสัญญา
จำเลยผู้ขายมีสิทธิบอกเลิกสัญญาและริบเงินทั้งหมดที่โจทก์ชำระไปแล้วรวมเงินมัดจำเท่ากับร้อยละ
40 ของอาคารชุดเป็นเงิน 4,812,080 บาท
จึงเป็นข้อตกลงอันมีลักษณะเป็นการกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าเป็นเบี้ยปรับ
เมื่อโจทก์ไม่ชำระหนี้หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรดังที่
ป.พ.พ.บัญญัติไว้ในมาตรา 379 ถึงมาตรา 381
และถ้าเบี้ยปรับสูงเกินส่วนศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจลดลงให้เหลือเป็นจำนวนพอสมควรได้ตามมาตรา
383 วรรคหนึ่ง
เมื่อจำเลยมิได้นำสืบให้เห็นว่าการที่โจทก์ผิดสัญญาไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือและรับโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดจากจำเลย
ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอย่างอื่นมากน้อยเพียงใด
นอกไปจากขาดผลประโยชน์ที่ควรได้รับจากเงินจำนวนเท่ากับราคาห้องชุดส่วนที่เหลือ
และมีเหตุผลให้เชื่อว่าเมื่อสัญญาเลิกกัน
จำเลยสามารถขายห้องชุดดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อรายใหม่ในราคาที่ไม่น่าจะต่ำกว่าราคาที่ขายให้แก่โจทก์
เมื่อพิเคราะห์ถึงทางได้เสียของจำเลยทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ที่ศาลอุทธรณ์ใช้ดุลพินิจลดเบี้ยปรับลงเหลือเป็นจำนวน 2,562,080 บาท
โดยไม่รวมมัดจำ 250,000 บาท จึงยังสูงเกินส่วน
ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรลดเบี้ยปรับลงเหลือเป็นเงิน 960,000 บาท จำเลยจึงต้องคืนเงินที่รับไว้แก่โจทก์จำนวน
3,602,080 บาท ส่วนปัญหาเรื่องดอกเบี้ยนั้น
การที่จำเลยริบเงินที่โจทก์ชำระไปทั้งหมดไว้เป็นการใช้สิทธิตามข้อตกลงในสัญญาโดยชอบ
เมื่อศาลพิพากษาให้ลดเบี้ยปรับลงตาม ป.พ.พ.มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
เป็นผลให้จำเลยต้องคืนเบี้ยปรับบางส่วนให้แก่โจทก์
โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากเบี้ยปรับที่ได้รับคืนเพราะเป็นฝ่ายผิดสัญญา
คำถาม เงินดาวน์ที่ชำระในวันทำสัญญา
เงินดาวน์ที่ชำระภายหลังอีก 1 งวดซึ่งตามสัญญาระบุให้ถือเป็นมัดจำ
หากผู้ซื้อเป็นผู้ผิดสัญญา ผู้ขายมีสิทธิริบโดยถือว่าเงินดังกล่าวเป็นมัดจำหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 7175/2554
โจทก์ไม่ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสองตามสัญญา โจทก์จึงเป็นผู้ผิดสัญญา
การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองและให้จำเลยทั้งสองคืนเงินที่ได้ชำระไปแล้ว
ส่วนจำเลยทั้งสองขอให้สิทธิรับเงินมัดจำตามข้อตกลงในสัญญา
ถือได้ว่าเป็นการตกลงเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว
แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจะมีข้อตกลงกัน ให้ถือเงินดาวน์เป็นเงินมัดจำ
และหากโจทก์ผิดสัญญายอมให้ริบเงินมัดจำ แต่ได้ความว่าในวันทำสัญญาโจทก์ชำระเงินดาวน์ให้จำเลยทั้งสองเพียง
340,000 บาท
เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้ให้แก่จำเลยทั้งสองในวันทำสัญญาเพื่อเป็นการชำระหนี้บางส่วนและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาถือเป็นมัดจำ
ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระในภายหลังอีก 1 งวด แม้ตามสัญญาจะระบุให้ถือเป็นมัดจำก็ไม่ใช่มัดจำตามความหมายแห่ง
ป.พ.พ.มาตรา 377 แต่เป็นเพียงการชำระค่าที่ดินบางส่วน
เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสองได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิริบมัดจำจำนวน
340,000 บาทได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 378 (2) ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระในภายหลังอีก 1
งวด ซึ่งถือเป็นการชำระราคาที่ดินบางส่วนนั้น
จำเลยทั้งสองต้องให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา 391
วรรคหนึ่ง แต่การที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันให้จำเลยทั้งสองริบเงินดาวน์ดังกล่าวได้หากโจทก์ผิดสัญญา
ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม ป.พ.พ.มาตรา 379
ซึ่งหากเบี้ยปรับสูงเกินส่วน
ศาลก็มีอำนาจปรับลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตาม ป.พ.พ.มาตรา 383 วรรคหนึ่ง
คำถาม
ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารโอนสิทธิการรับเงินตามสัญญาจ้างให้แก่ผู้รับโอน
และได้แจ้งให้ผู้ว่าจ้างทราบแล้ว
และผู้ว่าจ้างได้จ่ายเงินค่างวดตามสัญญาจ้างให้ผู้รับโอนแล้วบางส่วน ดังนี้
ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารจะขอให้ผู้ว่าจ้างระงับการจ่ายเงินแก่ผู้รับโอนได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 12616/2555 จำเลยที่ 1
เป็นลูกหนี้เงินกู้โจทก์และขอให้โจทก์ติดต่อธนาคารเพื่อให้ธนาคารออกหนังสือค้ำประกันให้แก่จำเลยที่
1 โดยเริ่มกู้ครั้งแรกเมื่อเดือน กรกฎาคม 2538 เดือนกันยายน 2538 จำเลยที่ 1
ทำสัญญารับเหมาก่อสร้างอาคารหอพักนักศึกษาพร้อมครุภัณฑ์ 2 หลัง
กับอาคารศูนย์กิจกรรมนิสิตนักศึกษาพร้อมครุภัณฑ์ 2 หลังให้แก่จำเลยที่ 4
โดยโอนสิทธิการรับเงินตามสัญญาจ้างทั้งสองฉบับดังกล่าวให้แก่โจทก์ตามสัญญาโอนสิทธิการรับเงินที่จำเลยที่
1 ทำกับโจทก์ซึ่งโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 4 ทราบแล้ว ตามหนังสือของโจทก์
หลังจากได้หนังสือแจ้งจากโจทก์แล้ว จำเลยที่ 4
จ่ายเงินค่างวดตามสัญญาจ้างให้โจทก์บางส่วน ต่อมาจำเลยที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 4
ระงับการจ่ายเงินให้แก่โจทก์ด้วยเหตุผลว่า
โจทก์ปิดกิจการโดยคำสั่งของธนาคารแห่งประเทศไทยตามสำเนาหนังสือของจำเลยที่ 1
จำเลยที่ 4 จึงไม่จ่ายเงินค่างวดที่เหลือให้โจทก์
โจทก์มีหนังสือแจ้งยืนยันไปยังจำเลยที่ 4 ว่า
แม้โจทก์จะได้รับคำสั่งให้หยุดกิจการจากองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน แต่โจทก์ก็ยังมีอำนาจรับชำระหนี้จากลูกหนี้ได้ตามสำเนาหนังสือของโจทก์
จำเลยที่ 4 ได้รับหนังสือดังกล่าวแล้วยังคงไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามขอ
แต่ได้ชำระให้แก่จำเลยที่ 1 จนครบตามสัญญาจ้าง
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่
4 ประการแรกว่าการที่จำเลยที่ 1 แจ้งให้จำเลยที่ 4
ระงับการจ่ายเงินให้แก่โจทก์นั้นมีผลให้จำเลยที่ 4
หลุดพ้นความผูกพันที่จะต้องจ่ายเงินค่างวดให้แก่โจทก์ต่อไปหรือไม่
เห็นว่า การตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4
ให้จำเลยที่ 4 จ่ายเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาจ้างทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่
1 นั้น นอกจากเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 306
วรรคหนึ่ง แล้วยังมีลักษณะเป็นการทำสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามมาตรา 374
ด้วย ซึ่งในวรรคสองของมาตราดังกล่าว บัญญัติว่า “....สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น” และมาตรา 375
บัญญัติต่อไปว่า “
เมื่อสิทธิของบุคคลภายนอกได้เกิดมีขึ้นตามบทบัญญัติแห่งมาตราก่อนแล้ว
คู่สัญญาหาอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธินั้นในภายหลังได้ไม่”
คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญาโอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างระหว่างจำเลยที่
1 กับจำเลยที่ 4 มีหนังสือถึงจำเลยที่4ให้สั่งจ่ายเช็คค่างวดงานก่อสร้างแก่โจทก์โดยตรง อันเป็นการแสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 374 วรรคสอง เมื่อสิทธิของโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เกิดขึ้นมีแล้ว จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่4 คู่สัญญาย่อมไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของโจทก์นั้นภายหลังได้
ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งระงับการโอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างโดยให้จำเลยที่
4 ส่งเงินค่าก่อสร้างให้จำเลยที่ 1
โดยตรงจึงเป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 375 ดังกล่าว ไม่มีผลผูกพันโจทก์ จำเลยที่ 4
ยังคงต้องรับผิดชำระเงินค่าก่อสร้างให้แก่โจทก์
คำถาม การซื้อขายต้นอ้อย ไม่ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขาย
แต่ในวันที่ตกลงซื้อขายกัน
ผู้ขายได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์ต้นอ้อยให้แก่ผู้ซื้อและผู้ซื้อเข้าไปตัดต้นอ้อยของผู้ขายไปขายให้แก่โรงงานน้ำตาลแล้ว
หากผู้ซื้อไม่ชำระราคา ผู้ขายจะฟ้องร้องผู้ซื้อให้ชำระราคาได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 7735/2555
ป.พ.พ.มาตรา 456 วรรคสอง และวรรคสาม
นอกจากจะบัญญัติให้การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท
หรือกว่านั้นขึ้นไป ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้แล้วยังได้บัญญัติไว้อีกว่า
“....หรือได้วางประจำไว้
หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว..”
ก็ย่อมฟ้องร้องให้บังคับคดีได้เช่นกัน คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความว่า
ในการซื้อขายต้นอ้อยกันนั้นโจทก์และจำเลยไม่ได้ทำหนังสือสัญญาซื้อขาย
หรือได้มีหลักฐานการซื้อขายเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายโจทก์หรือจำเลยผู้ต้องรับผิดไว้เป็นสำคัญ
แต่ในวันที่ตกลงซื้อขายกัน โจทก์ได้ส่งมอบกรรมสิทธิ์ต้นอ้อยให้แก่จำเลยและจำเลยเข้าไปตัดต้นอ้อยของโจทก์ไปขายให้แก่โรงงานน้ำตาล
อันถือได้ว่าโจทก์ชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายคือส่งมอบต้นอ้อยให้จำเลยแล้ว
โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องบังคับให้จำเลยชำระราคาต้นอ้อยได้ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวข้างต้น
คำถาม
สามีพาภริยาไปหน่วงเหนี่ยวกักขังโดยเข้าใจว่ามีสิทธิกระทำกับภริยาได้
มิได้มีเจตนาร้ายต่อภริยานั้น จะมีความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 735/2555 ความผิดตาม ป.อ. มาตรา 310 วรรคแรก
กฎหมายบัญญัติไว้แต่เพียงว่า ผู้ใดหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่น
หรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย ดังนั้น
การกระทำความผิดตามบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าว
ผู้กระทำเพียงแต่มีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลก็เป็นความผิดแล้ว
โดยไม่ต้องมีเจตนาพิเศษเพื่อประสงค์ร้ายต่อผู้เสียหายแต่อย่างใด
การที่จำเลยบังคับข่มขู่ฉุดกระชากพาตัวผู้เสียหายซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยขึ้นรถยนต์แล้วพาไปพักยังสถานที่ต่าง
ๆ โดยมีพฤติการณ์บังคับกักขังเพื่อไม่ให้ผู้เสียหายหลบหนี
จำเลยย่อมรู้อยู่แล้วว่าการกระทำของตนย่อมต้องทำให้ผู้เสียหายต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายไม่สามารถเดินทางไปที่ต่าง
ๆ ได้ตามความต้องการของผู้เสียหาย
การกระทำของจำเลยถือว่าเป็นการกระทำโดยเจตนาตามความหมายของบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าว
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น