บทบรรณาธิการ
คำถาม
การขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายจะใช้ถ้อยคำทำกิริยาหรือทำประการใดให้เข้าใจได้เช่นนั้น
ๆ ได้หรือไม่ หรือจะต้องเป็นการขู่ตรง ๆ เท่านั้น
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 7890/2554 ผู้เสียหายไม่รู้จักจำเลยกับพวก
การที่พวกจำเลยขับรถแซงและปาดหน้ารถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายเพื่อให้หยุดรถทันทีและตะคอกด่าพร้อมกับพูดว่ามีอะไรส่งมาให้หมด
โดยจำเลยกับพวกแสดงสีหน้าขึงขัง
แม้พวกจำเลยจะไม่ได้พูดว่าหากไม่ส่งสิ่งของให้จะทำร้ายผู้เสียหาย
แต่พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการคุกคามผู้เสียหายให้กลัวว่าจะถูกทำร้ายหากไม่ส่งทรัพย์สินให้
จึงเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายทั้งกิริยาและวาจาโดยมีความหมายว่า
ถ้าผู้เสียหายไม่ให้สิ่งของใดแล้วผู้เสียหายจะถูกทำร้าย
จนผู้เสียหายกลัวต้องรีบส่งกระเป๋าสะพายให้จำเลย หาใช่เรื่องที่ผู้เสียหายกลัวไปเองไม่
การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์อันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
มิใช่ความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ เมื่อขณะเกิดเหตุจำเลยยังคงนั่งอยู่บนรถจักรยานยนต์คันเดียวกับพวกและแม้จำเลยไม่ได้พูดกับผู้เสียหาย
แต่เมื่อผู้เสียหายยื่นทรัพย์ให้จำเลยก็รับไว้แล้วก็ขับรถจักรยานยนต์หนีไปด้วยกันทันที
ถือเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำอันเป็นการร่วมกันกระทำความผิด (คำพิพากษาฎีกาที่ 868/2554 วินิจฉัยเช่นกัน)
คำถาม ลูกจ้างมีหน้าที่ควบคุมหรือบรรทุกสินค้าของนายจ้างไปส่งให้แก่ลูกค้า หากเอาทรัพย์สินดังกล่าวไปจะเป็นความผิดฐานใด
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1307/2554 ในขณะเกิดเหตุบริษัท ว. จำกัด และจำเลยที่ 3
และที่ 4 เป็นผู้ครอบครองสินค้าปุ๋ยเคมีไว้แทนบริษัท
ท. จำกัด (มหาชน) ดังนี้ เมื่อเกิดเหตุบริษัท ท. จำกัด (มหาชน) จึงเป็นผู้เสียหายด้วย และสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4
นั้น เป็นลูกจ้างของบริษัท ว. จำกัด มีหน้าที่ควบคุมหรือบรรทุกสินค้าดังกล่าวไปส่งที่สถานีสินค้าของผู้เสียหาย
การครอบครองของจำเลยที่ 3 และที่ 4
เป็นการครอบครองแทนไว้ชั่วคราวชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น
อำนาจการครอบครองสินค้าที่แท้จริงยังอยู่กับผู้เสียหาย
เมื่อจำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกับพวกเอาทรัพย์สินดังกล่าวไปโดยทุจริตจึงเป็นการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์
คำถาม คำว่าทรัพย์ของผู้อื่นในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์มีความหมายอย่างไร
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 9270/2554
องค์ประกอบความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นั้นต้องกระทำต่อทรัพย์ของผู้อื่นหรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย คำว่า “
ทรัพย์ของผู้อื่น”
หมายความรวมถึงบุคคลที่ได้รับมอบหมายโดยตรงจากเจ้าของทรัพย์ให้เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์นั้น
เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่ารถยนต์กระบะคันดังกล่าวเป็นของบิดาผู้เสียหายที่ 1
และเป็นรถยนต์ที่ใช้ในครอบครัวของผู้เสียหายที่ 1 ดังนั้นแม้ผู้เสียหายที่ 1
ซึ่งเป็นบุตรของเจ้าของรถยนต์กระบะสามารถใช้รถยนต์คันดังกล่าวได้ทุกเวลาก็ตาม
แต่ก็เป็นเพียงสิทธิใช้รถยนต์กระบะในฐานะบุตรเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าบิดาของผู้เสียหายที่ 1
ซึ่งเป็นเจ้าของรถยนต์กระบะได้มอบหมายโดยตรงให้ผู้เสียหายที่ 1 เป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิของเจ้าของทรัพย์ผู้เสียหายที่ 1 จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย และเมื่อปรากฏว่าบิดาของผู้เสียหายที่ 1
ซึ่งเป็นผู้เสียหายที่แท้จริงไม่ได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนไว้
พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจสอบสวนในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้และพนักงานอัยการไม่มีสิทธิฟ้องในข้อหาฐานทำให้เสียทรัพย์ได้
คำถาม การได้ภาระจำยอมมาโดยทางนิติกรรมแต่ไม่มีการจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นภาระจำยอม จะมีผลผูกพันบุคคลภายนอกซึ่งรับโอนที่ดินพิพาทหรือไม่ และการได้ทางจำเป็นตาม ป.พ.พ. มาตรา 1350 ผู้มีสิทธิใช้ทางจำเป็นจะมีสิทธิเรียกร้องทางจำเป็นบนที่ดินแปลงใดและต้องเสียค่าทดแทนให้แก่เจ้าของที่ดินหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 8621/2554
การที่ ก. ท. พ. ร. และจำเลยร่วมตกลงแบ่งที่ดินมีโฉนดแปลงหนึ่งโดยแบ่งที่ดิน 2
ส่วนที่อยู่ระหว่างกลางด้านทิศตะวันออกเป็นทางเดินภาระจำยอมสำหรับที่ดินส่วนเหนือสุดและใต้สุดเพื่อออกสู่ทางสาธารณะกว้าง 4 เมตร ตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นเป็นการก่อภาระจำยอมอันเป็นทรัพย์สิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โดยทางนิติกรรม
แต่หลังจากที่มีการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว
ไม่มีการจดทะเบียนที่ดินพิพาทเป็นภาระจำยอมเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโฉนดที่ถูกแบ่งแยก
การก่อภาระจำยอมดังกล่าวจึงไม่บริบูรณ์ตาม
ป.พ.พ.มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง คู่สัญญาตามสัญญาประนีประนอมยอมความคงบังคับภาระจำยอมดังกล่าวได้ในระหว่างคู่สัญญาด้วยกันในฐานะบุคคลสิทธิเท่านั้น
เมื่อ ก. และ ส. ซึ่งเป็นคู่สัญญาขายที่ดินเฉพาะส่วนในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จึงไม่ใช่คู่สัญญาและไม่ถูกผูกพันตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
ทั้งไม่มีกำหมายบัญญัติให้จำเลยทั้งสองต้องรับโอนสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับภาระจำยอมตามสัญญาประนีประนอมยอมความจาก
ก. และ ส. โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับจำเลยทั้งสองให้รับภาระจำยอมตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้
ที่ดินพิพาทจึงไม่เป็นภาระจำยอม
ตามสัญญาประนีประนอมยอมความได้ตกลงแบ่งที่ดินมีโฉนดแปลงใหญ่โดยให้แบ่งที่ดิน 2
ส่วนที่อยู่ระหว่างกลางด้านทิศตะวันออกเป็นทางเดินภาระจำยอมสำหรับที่ดินส่วนที่อยู่เหนือสุดและใต้สุดเพื่อเป็นทางออกสู่ทางสาธารณะ
แสดงว่าที่ดินแปลงใหญ่นี้มีทางออกสู่ทางสาธารณะ แต่ภายหลังจากการแบ่งแยกที่ดินดังกล่าวแล้ว ที่ดินของโจทก์ที่ถูกแบ่งแยกมีที่ดินแปลงอื่นล้อมไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ
โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินแปลงย่อยในส่วนนั้นจึงมีสิทธิเรียกร้องทางจำเป็นบนที่ดินอีกแปลงหนึ่งซึ่งถูกแบ่งแยกจากที่ดินแปลงใหญ่ด้วยกันได้โดยไม่ต้องเสียค่าทดแทนตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1350
เมื่อที่ดินของโจทก์เป็นที่ดินถูกแบ่งแยกและการแบ่งแยกนั้นเป็นเหตุให้ที่ดินของโจทก์ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกร้องทางจำเป็นบนที่ดินที่ถูกแบ่งแยกแปลงอื่นได้ตามกฎหมาย
การใช้สิทธิฟ้องคดีของโจทก์จึงไม่เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
คำถาม เงินดาวน์งวดที่สองที่ผู้ซื้อชำระให้แก่ผู้ขายภายหลังวันทำสัญญา ถ้าสัญญาระบุว่าให้ถือเป็นมัดจำและผู้ขายมีสิทธิริบได้หากผู้ซื้อผิดสัญญา ต่อมามีการเลิกสัญญากัน ผู้ขายมีสิทธิริบเงินดาวน์งวดที่สองหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 7175/2554 โจทก์ไม่ชำระราคาที่ดินให้แก่จำเลยทั้งสองตามสัญญา โจทก์จึงเป็นผู้ผิดสัญญา การที่โจทก์บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยทั้งสองและให้จำเลยทั้งสองคืนเงินที่ได้ชำระไปแล้ว ส่วนจำเลยทั้งสองขอใช้สิทธิริบเงินมัดจำตามข้อตกลงในสัญญา ถือได้ว่าเป็นการตกลงเลิกสัญญากับโจทก์โดยปริยายแล้ว แม้ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินจะมีข้อตกลงกันให้ถือเงินดาวน์เป็นเงินมัดจำ และหากโจทก์ผิดสัญญายอมให้ริบเงินมัดจำ แต่ได้ความว่าในวันทำสัญญาโจทก์ชำระเงินดาวน์ให้จำเลยทั้งสองเพียง 340,000 บาท
เงินจำนวนดังกล่าวจึงเป็นทรัพย์สินที่โจทก์ได้ให้แก่จำเลยทั้งสองในวันทำสัญญาเพื่อเป็นการชำระหนี้บางส่วนและเป็นประกันการที่จะปฏิบัติตามสัญญาถือเป็นมัดจำ ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระในภายหลังอีก 1 งวด
แม้ตามสัญญาจะระบุให้ถือเป็นมัดจำก็ไม่ใช่มัดจำตามความหมายแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 377
แต่เป็นเพียงการชำระค่าที่ดินบางส่วนเมื่อโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาและจำเลยทั้งสองได้บอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว
สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวจึงเป็นอันเลิกกัน จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิริบมัดจำจำนวน 340,000บาท ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 378 (2) ส่วนเงินดาวน์ที่โจทก์ชำระในภายหลังอีก 1 งวด
ซึ่งถือเป็นการชำระราคาที่ดินบางส่วนนั้น จำเลยทั้งสองต้องให้โจทก์ได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม
ป.พ.พ. มาตรา 391 วรรคหนึ่ง แต่การที่โจทก์และจำเลยทั้งสองตกลงกันให้จำเลยทั้งสองริบเงินดาวน์ดังกล่าวได้หากโจทก์ผิดสัญญา
ข้อตกลงดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับที่กำหนดเป็นจำนวนเงินตาม
ป.พ.พ. มาตรา 379 ซึ่งหากเบี้ยปรับสูงเกินส่วน
ศาลก็มีอำนาจปรับลดลงให้เหลือเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 383
วรรคหนึ่ง
คำถาม ผู้สลักหลังเช็คผู้ถือ และผู้สลักหลังเช็คชนิดระบุชื่อผู้รับเงิน ชำระเงินตามเช็คแก่ผู้ทรงแล้วรับเช็คกลับคืนมา จะมีสิทธิฟ้องผู้สั่งจ่ายเช็คภายในกำหนดอายุความใด
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 3762/2554 โจทก์นำเช็คพิพาทห้าฉบับไปสลักหลังขายลดให้แก่
ส. กับ บ.
ต่อมาโจทก์นำเงินตามเช็คไปชำระให้บุคคลทั้งสองและรับเช็คพิพาทกลับคืนมา การที่โจทก์ชำระเงินตามเช็คให้แก่ ส. กับ บ. และรับเช็คพิพาทซึ่งเป็นเช็คผู้ถือสี่ฉบับกลับคืนมา โจทก์ย่อมเป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้งสี่ฉบับดังกล่าวตาม
ป.พ.พ.มาตรา 904 จึงมีสิทธิฟ้องไล่เบี้ยผู้สลักหลังและผู้สั่งจ่ายภายใน 1 ปี
นับแต่วันที่เช็คพิพาททั้งสี่ฉบับถึงกำหนดชำระตาม ป.พ.พ. มาตรา 1002 โจทก์ฟ้องคดีนี้ภายในอายุความ 1 ปี
ฟ้องโจทก์สำหรับเช็คทั้งสี่ฉบับนี้จึงไม่ขาดอายุความ
ส่วนเช็คพิพาทอีกหนึ่งฉบับซึ่งเป็นเช็คระบุชื่อย่อมโอนให้แก่กันได้โดยการสลักหลังและส่งมอบ
การที่โจทก์สลักหลังเช็คฉบับนี้ขายลดให้แก่ ส. กับ บ. ส. และ บ.
จึงเป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบ เมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน
โจทก์ได้ชำระเงินตามเช็คให้ ส. กับ บ. และรับเช็คพิพาทฉบับนี้กลับคืนมา
โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้สลักหลังหาใช้ผู้ทรงเช็คฉบับนั้นไม่ จึงต้องฟ้องไล่เบี้ยเอาแก่ผู้สลักหลังและผู้สั่งจ่ายภายในเวลาหกเดือน นับแต่วันที่โจทก์เข้าถือเอาเช็คและใช้เงินตาม ป.พ.พ.มาตรา 1003 เมื่อ พ. กรรมการของโจทก์เบิกความว่า โจทก์ผ่อนชำระเงินให้ ส.
กับ บ.โดยผ่อนชำระตั้งแต่ประมาณเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2541
โจทก์จึงได้รับเช็คทั้งห้าฉบับกลับคืนมาและโจทก์มาฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2541 จึงล่วงเลยระยะเวลาหกเดือนนับแต่วันดังกล่าว
ฟ้องโจทก์สำหรับเช็คพิพาทฉบับนี้จึงขาดอายุความ
คำถาม ใช้ทางเดินในที่ดินของผู้อื่นติดต่อกันมาจนครบสิบปีโดยสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินของตน ผู้ใช้ทางจะได้ภาระจำยอมโดยอายุความหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1203/2554 ภาระจำยอมเป็นทรัพย์สิทธิซึ่งกฎหมายบัญญัติให้บุคคลผู้เป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์อื่นได้มาโดยนิติกรรมหรือโดยอายุความ สำหรับการได้มาซึ่งภาระจำยอมโดยอายุความกฎหมายมุ่งประสงค์ให้ถือเอาการใช้ประโยชน์ของเจ้าของสามยทรัพย์เป็นสำคัญ
โดยไม่ได้คำนึงว่าภารยทรัพย์จะเป็นของผู้ใด
หรือเจ้าของสามยทรัพย์จะต้องรู้ว่าผู้ใดเป็นเจ้าของภารยทรัพย์นั้น เพราะแม้มีผู้ใช้ทางเดินในที่ดินของผู้อื่นติดต่อกันมาจนครบ 10ปี โดยสำคัญผิดว่าเป็นที่ดินของตน ผู้ใช้ทางดังกล่าวย่อมได้ไปซึ่งภาระจำยอมโดยอายุความ
ดังนั้น การที่โจทก์ทั้งสองใช้ทางพิพาทในที่ดินโฉนดเลขที่ 143629
ซึ่งแบ่งแยกออกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 12606 เป็นทางสัญจรไปสู่ทางสาธารณะจนครบ 10ปีแล้ว โจทก์ทั้งสองย่อมได้ไปซึ่งภาระจำยอมโดยอายุความตาม ป.พ.พ. มาตรา 1401
ประกอบมาตรา 1382
แม้บริษัท ว. จะทำหนังสือรับรองยินยอมให้โจทก์ทั้งสองใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะก็ตามแต่โจทก์ทั้งสองมิได้ใช้ทางพิพาทโดยอาศัยสิทธิของบริษัท ว. ตรงกันข้ามกลับได้ความว่าในขณะที่โจทก์ที่ 2ขายให้แก่บริษัท ว.ในราคาสูงถึง 2,000,000บาทเศษเนื่องจากอยู่ติดกับถนนสายใหญ่
แต่โจทก์ที่ 2 ขายให้แก่บริษัท ว.
ในราคาที่ต่ำเกินสมควรเพียง 540,000 บาท เพราะโจทก์ที่ 2 คาดหวังว่าแม้จะขายไปแล้วโจทก์ทั้งสองก็ยังมีสิทธิใช้ทางพิพาทได้ตามที่บริษัท
ว. ให้คำรับรองไว้ ฉะนั้นการที่โจทก์ทั้งสองใช้ทางพิพาทออกสู่ทางสาธารณะ จึงเป็นการใช้โดยถือว่าตนมีสิทธิในทางนั้น อันเป็นปรปักษ์ต่อเจ้าของที่ดินโดยตรง
หาใช่เป็นการใช้โดยอาศัยสิทธิของบริษัท ว. ไม่
คำถาม เจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอมปล่อยปละละเลยไม่ควบคุมดูแลการทำงานของพนักงานเป็นเหตุให้พนักงานปลอมลายมือชื่อ จะถือว่าเจ้าของลายมือชื่อที่ถูกปลอมตราอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องตัดบทมิให้ยกเรื่องลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 9483/2554 เช็คพิพาทส่วนใหญ่ จำเลยที่ 1
ซึ่งเป็นพนักงานบัญชีของโจทก์เป็นผู้ไปเบิกถอนเงินสดจากจำเลยที่ 2
ซึ่งเมื่อตรวจสอบลายมือชื่อของ พ.ในเช็คพิพาทกับตัวอย่างลายมือชื่อของ พ. แล้วจะมีลักษณะคล้ายกัน
จำนวนเงินตามเช็คแต่ละฉบับก็มิได้สูงจนผิดปกติแต่อย่างใด ทั้งตราประทับของโจทก์ที่ประทับลงในเช็คก็เป็นตราประทับที่แท้จริงของโจทก์
จึงถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ซึ่งประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ได้ใช้ความระมัดระวังตรวจสอบลายมือชื่อของ
พ. ในช่องผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาทแล้ว การที่จำเลยที่ 2
จ่ายเงินในบัญชีของโจทก์ จึงถือไม่ได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 2 การที่จำเลยที่ 1
ซึ่งเป็นพนักงานของโจทก์มิใช่เป็นบุคคลภายนอกปลอมลายมือชื่อของ พ.โดยใช้ตราประทับที่แท้จริงสั่งจ่ายเช็คพิพาทเป็นเวลานานและจำนวนหลายฉบับดังกล่าว
แสดงว่าโจทก์ปล่อยปละละเลยมิได้ควบคุมดูแลการทำงานของจำเลยที่ 1
โจทก์จะอ้างว่าได้ว่าจ้างสำนักงานบัญชีตรวจสอบบัญชีของโจทก์หาได้ไม่
โจทก์จึงอยู่ในฐานเป็นผู้ต้องถูกตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1008 จำเลยที่ 2
จึงไม่ต้องรับผิดชำระเงินตามเช็คพิพาทคืนแก่โจทก์
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น