คำถาม การยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลอ้างว่า
ผู้ร้องมิใช่บริวารของจำเลย ศาลจะต้องส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์คัดค้านก่อนหรือไม่
และผู้พิพากษาคนเดียวจะสั่งยกคำร้องได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 4419/2555 ในชั้นบังคับคดี
เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องแสดงอำนาจพิเศษต่อศาลอ้างว่า ผู้ร้องมีสิทธิอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทเพราะไม่ใช่บริวารของจำเลยทั้งสอง
ศาลชั้นต้นต้องรับคำร้องพร้อมส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์ผู้ซื้อที่ดินและบ้านพิพาทจากการขายทอดตลาดว่าโจทก์จะคัดค้านหรือไม่
หากคัดค้านก็ต้องทำการไต่สวนเพื่อเปิดโอกาสให้คู่กรณีนำพยานหลักฐานเข้าสืบสนับสนุนข้ออ้างและข้อคัดค้าน
แล้วจึงวินิจฉัยชี้ขาดไปตามประเด็นข้อพิพาท
การที่ศาลชั้นต้นสั่งให้ผู้ร้องส่งสำเนาทะเบียนบ้านแล้วมีคำสั่งว่า “
ตรวจคำร้องพร้อมสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ร้องแล้วเป็นบุตรจำเลยทั้งสองและสำเนาทะเบียนบ้านก็ระบุเป็นผู้อาศัย
ถือว่าเป็นบริวารของจำเลยทั้งสอง จึงมีคำสั่งยกคำร้อง ” โดยไม่ส่งสำเนาคำร้องให้โจทก์ทั้งที่ปรากฏว่าสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ร้องระบุบ้านอื่นมิใช่บ้านพิพาท
ดังนี้ ข้อเท็จจริงจึงยังไม่พอให้วินิจฉัยว่า ผู้ร้องเป็นบริวารของจำเลยทั้งสอง
แม้กรณีดังกล่าวถือได้ว่าศาลชั้นต้นได้ดำเนินการไต่สวนคำร้องของผู่ร้องแล้วก็ตาม
การที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องแสดงอำนาจพิเศษของผู้ร้องโดยผู้พิพากษาคนเดียวเป็นผู้ลงนามในคำสั่งนั้น
เป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 เนื่องจากคำสั่งดังกล่าวมีลักษณะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของผู้พิพากษาคนเดียวที่จะออกคำสั่งได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
มาตรา 25 (1) อันเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมาย
คำถาม
โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลต้องฟังจำเลยก่อนมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 6412/2556 จำเลยที่
1 ขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่
1 กรณีไม่อยู่ในบังคับของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 175 วรรคสอง
ที่ศาลต้องฟังจำเลยที่ 1 ก่อนมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง
ศาลชอบที่จะมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้โดยไม่จำต้องฟังจำเลยที่ 1 ก่อน
แม้โจทก์อาจนำคดีมาฟ้องใหม่ได้
แต่ต้องฟ้องภายในกำหนดอายุความ จำเลยที่ 1 ซึ่งขาดนัดยื่นคำให้การยังมีสิทธิยื่นคำให้การต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่
ไม่มีข้อที่ต้องเสียเปรียบ
การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไม่ทำให้จำเลยที่
1 ต้องเสียหายหรือเสียเปรียบ
กรณีไม่มีเหตุต้องเพิกถอนคำสั่งที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องสำหรับจำเลยที่ 1
คำถาม คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีชั่วคราวเพื่อรอฟังคดีอาญาดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 3250/2556 บทบัญญัติเรื่องห้างมมิให้อุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณา
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226
(1) เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
แม้ปัญหานี้ไม่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์
ศาลฎีกาชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142
(5)
คดีนี้จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีชั้วคราวเนื่องจากคดีนี้เป็นเหตุการณ์และข้อเท็จจริงเดียวกับคดีอาญาหมายเลขดำที่
1083/2553 ของศาลชั้นต้น ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี
โจทก์รับสำเนาแล้วคัดค้านและศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีนี้เป็นคดีส่วนแพ่ง การฟังข้อเท็จจริงจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคดีอาญา
เมื่อคดีส่วนอาญายังพิจารณาไม่แล้วเสร็จคดีส่วนแพ่งจึงต้องรอฟังการพิจารณาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา
46 จึงมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีจากสารบบความชั่วคราว
เมื่อคดีอาญาเสร็จสิ้นแล้วให้ยกคดีส่วนแพ่งขึ้นพิจารณาต่อไปนั้น คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นคำสั่งระหว่างพิจารณา
ต้องห้ามอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 226 (1)
แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ
คำถาม ถ้อยคำของจำเลยในบันทึกการจับกุมว่า
จำเลยรู้จักและมีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับ ส.
จำเลยในคดีอาญาอีกเรื่องหนึ่งและจำเลยขับรถไปรับ ส. ในวันเกิดเหตุนั้น
ศาลจะนำมารับฟังเป็นพยาน หลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1152/2556 ถ้อยคำของจำเลยในบันทึกการขับกุมจำเลยที่ว่า
จำเลยรู้จักและมีความสัมพันธ์ลึกซื้งกับ
ส. จำเลยในคดีอาญาอีกเรื่องหนึ่งมาประมาณ 2 เดือน และจำเลยขับรถไปรับ ส.
มิใช่เป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าต้นได้กระทำความผิด
เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับได้แจ้งสิทธิให้แก่จำเลยทราบแล้วว่าจำเลยมีสิทธิที่จะให้การหรือไม่ก็ได้
และถ้อยคำของจำเลยอาจใช้เป็นพยาน หลักฐานในการพิจารณาคดีได้
จึงรับฟังเป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย
คำถาม ผู้เสียหายเป็นบุคคลที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
จะร้องทุกข์หรือดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิด
จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้พิทักษ์ก่อนหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 6079/2555
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4) ประกอบมาตรา 2 (7) กำหนดให้ผู้เสียหายเท่านั้นที่จะมีอำนาจร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีแก่ผู้กระทำความผิดได้
คดีความผิดตามที่โจทก์ฟ้องเป็นความผิดอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัว
พนักงานสอบสวนจะมีอำนาจสอบสวนก็ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบตามมาตรา 121
วรรคสอง และโจทก์จะมีอำนาจฟ้องก็ต่อเมื่อมีการสอบสวนในความผิดนั้นก่อนเช่นกันตามมาตรา
120
คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า
ระหว่างวันที่ 9 มิถุนายน 2540 ถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547
เวลาใดไม่ปรากฏชัดต่อเนื่องกัน
จำเลยทั้งสี่ร่วมกันครอบครองเงินที่ได้จากการขายที่ดินและขายสิทธิการเช่าที่ราชพัสดุของ
ฮ. และเบียดบังยักยอกเอาเงินจำนวนดังกล่าวไป เมื่อ ฮ. ถึงแก่ความตายวันที่ 20 มีนาคม 2546 การกระทำที่โจทก์กล่าวหาในขณะที่ ฮ.
ยังมีชีวิตอยู่ จึงเป็นการกระทำความผิดต่อ ฮ. ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ ฮ.
จึงเป็นผู้เสียหายตามมาตรา 2 (4) และมีอำนาจร้องทุกข์ได้ตามมาตรา 3 (1)
ประกอบมาตรา 2 (7) แม้ ฮ. จะพิการเดินไม่ได้เพราะเป็นอัมพาตและศาลเยาวชนและครอบครัวกลางมีคำสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
แต่ ฮ. ก็ยังสามารถดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เหมือนเช่นบุคคลทั่วไปได้
โดยมิต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ผู้พิทักษ์ก่อนดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา
34 แห่ง ป.พ.พ. ประกอบกับ ฮ. มิได้ถูกจำเลยทั้งสี่ทำร้ายถึงตายหรือบาดเจ็บจนไม่สามารถจัดการเองได้อันจะทำให้โจทก์ร่วมในฐานะผู้จัดการมรดกของ
ฮ. มีอำนาจจัดการแทน ฮ. ได้ตามมาตรา 5 (2)
เมื่อโจทก์ร่วมซึ่งไม่ได้เป็นผู้เสียหายเป็นผู้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยทั้งสี่ในความผิดฐานยักยอกตาม
ป.อ. มาตรา 352 แบะ 354
ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้หรือความผิดต่อส่วนตัวตามมาตรา 356
จึงถือไม่ได้ว่าคดีนี้มีคำร้องทุกข์ตามระเบียนที่จะทำให้พนักงานสวนสวนมีอำนาจสอบสวนในความผิดต่อส่วนตัวได้
และถือเท่ากับว่ายังไม่ได้มีการสอบสวนในความผิดนั้นมาก่อนย่อมส่งผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา
120
จำเลยที่ 2
นำเงินส่วนหนึ่งไปซื้อสลากออมสินจำนวน 1,000,000 บาทเศษในนามของจำเลยที่ 2
คนเดียวโดยมีการเบิกเงินออกจากบัญชีเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2541 จำนวน 1,200,000
บาท ย่อมเป็นความผิดสำเร็จก่อน ฮ. ถึงแก่ความตายถึง 4 ปีเศษ การที่โจทก์ร่วมเป็นผู้จัดการมรดกของ
ฮ. เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2546
โจทก์ร่วมอ้างว่าเพิ่งทราบและมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนวันที่ 12
กุมภาพันธ์ 2547 ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 2
เป็นการกระทำต่อเนื่องกันจนถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2547 โจทก์ร่วมจึงไม่เป็นผู้เสียหาย
ถือไม่ได้ว่าคดีนี้มีคำร้องทุกข์ตามระเบียบที่จะทำให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจสอบสวนในความผิดต่อส่วนตัวได้
ถือเท่ากับว่ายังไม่ได้มีการสอบสวน ย่อมส่งผลให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามมาตรา 120
เช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์
และศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมมาจึงเป็นการไม่ชอบ
ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย
ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 198 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา
225
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น