แก้ไขข้อผิดพลาดในหนังสือรวมคำบรรยายเล่มที่ ๑๑
หน้าสารบัญ จากเดิม วิชา สัมมนากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หน้า ๙๓
แก้เป็น วิชา สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม หน้า ๙๓
วิชา สัมมนากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง หน้า ๑๐๓
และแก้ชื่อวิชา สัมมนากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ในหน้า ๙๓ เป็นสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม
และในเล่มที่ ๑๒ บรรณาธิการที่นำมาลงพิมพ์ซ้ำกับในหนังสือรวมคำบรรยายเล่มที่ ๕ ซึ่งบรรณาธิการจะได้ดำเนินการแก้ไขต่อไป
คำถาม คดีที่ศาลมีคำพิพากษาตามยอม คู่ความจะมายื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอม หรือมาฟ้องร้องให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
(ก) ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอม
คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๔๓๓/๒๕๔๗ โจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษาย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง หากจำเลยเห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็มีทางดำเนินคดีต่อไปได้เพียงประการเดียวคืออุทธรณ์ฎีกาให้ศาลสูงแก้ไขหากเข้ากรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๓๘ วรรคสอง เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์ คำพิพากษาตามยอมก็ถึงที่สุด ไม่อาจถูกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก การที่จำเลยยื่นคำร้องอ้างว่าคำพิพากษาตามยอมตกเป็นโมฆะเพราะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ดำเนินมาทั้งหมดแล้วยกคดีขื้นพิจารณาใหม่นั้น ความมุ่งหมายของจำเลยคือต้องการให้คำพิพากษาตามยอมเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้ ซึ่งมีผลเป็นอย่างเดียวกับการขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมซึ่งต้องกระทำโดยศาลสูง จำเลยจะยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำพิพากษาของศาลนั้นเองไม่ได้ แม้จำเลยจะเพิ่งทราบเหตุที่ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความหลังพ้นกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ไม่มีกฎหมายรับรองให้ทำได้ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลยโดยไม่ไต่สวนนั้นชอบแล้ว
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔๒๖/๒๕๓๔๘โจทก์ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับจำเลย ทั้งสอง และศาลพิพากษาตามยอมแล้ว เมื่อโจทก์เห็นว่าข้อตกลงตามสัญญายอมข้อใดไม่ชอบ ทำให้คำพิพากษาตามยอมไม่ชอบ เข้าข้อยกเว้นที่โจทก์สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๓๘ วรรคสอง โจทก์ก็ต้องอุทธรณ์คำพิพากษานั้นภายในกำหนด ๑ เดือนนับแต่ วันอ่านคำพิพากษาตามยอมให้คู่ความฟัง การที่โจทก์ไม่อุทธรณ์แต่กลับยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้น เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความโดยไม่มีบทกฎหมายใดให้อำนาจ จึงไม่ชอบที่ศาลชั้นต้น ยกคำร้องของโจทก์ เมื่อโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ไม่รับอุทธรณ์คำสั่งของโจทก์จึงชอบแล้วเพราะกรณีของโจทก์เป็นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความตามที่โจทก์ขอให้เพิกถอน หาใช่เป็นอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมข้อยกเว้นของ ป.วิ.พ. มาตรา ๑๓๘ วรรคสอง ไม่
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๕๘๑/๒๕๔๙ เมื่อโจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว คำพิพากษานั้นย่อมผูกพันคู่ความตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง ถ้าจำเลยเห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ชอบหรือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ต้องอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาเพื่อให้ศาลสูงแก้ไขหากเป็นกรณีตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๓๘ วรรคสอง (๑), (๒) และ (๓) เมื่อจำเลยไม่อุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมในคดีย่อมถึงที่สุด ไม่อาจถูกเพิกถอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้อีก การที่จำเลยยื่นคำร้องอ้างว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งของศาลจังหวัดอุบลราชธานี ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำพิพากษาตามยอมในคดีนี้นั้น จึงเป็นกรณีที่จำเลยกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาตามยอมละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน อันเป็นการขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๘ วรรคสอง (๒) ซึ่งต้องกระทำโดยศาลที่สูงกว่า จำเลยหามีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนกระบวนพิจารณาหรือมีคำสั่งเพิกถอนคำพิพากษาของศาลนั้นเองซึ่งถึงที่สุดไปแล้วได้ การที่โจทก์และจำเลยมาตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อศาลชั้นต้นในคดีนี้ โดยสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๒. มีข้อความระบุไว้ว่า “นอกจาก ข้อ ๑. โจทก์ – จำเลย ไม่ติดใจเรียกร้องใดๆ ต่อกันอีก…” ย่อมมีผลทำให้การเรียกร้องซึ่งแต่ละฝ่ายได้ยอมสละนั้นระงับสิ้นไปและทำให้แต่ละฝ่ายได้สิทธิตามที่แสดงไว้ในสัญญานั้นว่าเป็นของตนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๕๒ โดยจำเลยพอใจตามข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความข้อ ๑. และ ต้องถือว่าจำเลยไม่ติดใจที่จะเรียกร้องเอาตามสิทธิที่เกิดขึ้นจากคำพิพากษาของศาลจังหวัดอุบลราชธานีอีกต่อไปแล้ว ดังนี้ สิทธิเรียกร้องของจำเลยในอันที่จะขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาคดีแพ่งของศาลจังหวัดอุบลราชธานีจึงจะระงับสิ้นไป จำเลยไม่อาจรื้อฟื้นสิทธิเรียกร้องที่ระงับไปแล้วมาบังคับเอาแก่โจทก์ได้อีก โจทก์และจำเลยจึงต้องปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความและคำพิพากษาตามยอมในคดีนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๙๔/๒๕๕๒ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเมื่อวันที่ ๒๗ เมษายน ๒๕๔๗ หากโจทก์เห็นว่าคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องด้วยข้อยกเว้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๓๘ วรรคสอง ที่โจทก์สามารถอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมได้ โจทก์ก็ต้องอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นภายในกำหนด ๑ เดือน นับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาตามยอมให้คู่ความฟัง คือภายในวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๗ แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์ กลับยื่นคำร้องลงวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๕๔๙ ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นโมฆะ ความมุ่งหมายของโจทก์ก็คือต้องการให้คำพิพากษาตามยอมเสียเปล่าใช้บังคับไม่ได้ มีผลเป็นอย่างเดียวกับการขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอม ซึ่งไม่มีบทกฎหมายใดให้โจทก์กระทำเช่นนั้นได้ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องของโจทก์จึงชอบแล้ว ส่วนคำพิพากษาตามยอมย่อมเป็นอันถึงที่สุดตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๗ วรรคสอง โจทก์ไม่อาจอุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมได้อีก
(ข) ฟ้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอม
คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๖๒๖/๒๕๔๑ ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์อ้างว่าทนายความของโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนกระทำการนอกเหนือขอบอำนาจของการเป็นตัวแทน แต่การที่โจทก์ซึ่งเป็นตัวการได้รับความเสียหายเป็นประการใดก็ชอบที่โจทก์จะต้องไปว่ากล่าวเอาแก่ทนายความของโจทก์ตามกฎหมาย เมื่อคดีดังกล่าวโจทก์เป็นคู่ความและโจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในศาลและศาลพิพากษาตามยอมแล้ว เช่นนี้ คำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมผูกพันโจทก์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๕ หากโจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องก็อาจจะอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาดังกล่าวได้ หากเข้ากรณีตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๓๘ แห่ง ป.วิ.พ. เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์และคดีถึงที่สุดไปแล้ว โจทก์จะมาฟ้องร้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความหาได้ไม่
(ค) การร้องขอให้เพิกถอนคำพิพากษาตามยอมโดยอ้างว่าเป็นการพิจารณาที่ผิดระเบียบ
คำพิพากาฎีกาที่ ๓๕๙๓/๒๕๔๙ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยหลอกลวงโจทก์ให้ลงลายมือชื่อในใบแต่งทนายความที่ยังไม่ได้กรอกข้อความเพื่อให้จำเลยนำไปถอนฟ้อง แต่จำเลยกับ อ. กลับสมคบกันกรอกข้อความลงในใบแต่งทนายความดังกล่าวเป็นว่าโจทก์แต่งตั้ง อ. เป็นทนายความมีอำนาจประนีประนอมยอมความแทนโจทก์ แล้วจำเลยกับ อ. ตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอม เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่าศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๓๘ อันเป็นเรื่องการพิจารณาที่ผิดระเบียบตามมาตรา ๒๗ ซึ่งศาลชั้นต้นที่มีการพิจารณาที่ผิดระเบียบมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียได้ โจทก์จึงชอบที่จะยกขึ้นว่ากล่าวกันในคดีเดิมที่อ้างว่ามีการพิจารณาที่ผิดระเบียบ จะมายื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ไม่ได้ (และคำพิพากษาฎีกาที่ ๙๓๙๔-๙๓๙๕/๒๕๔๕ วินิจฉัยเช่นกัน)
คำถาม การถอนคำร้องทุกข์คดีความผิดต่อส่วนตัวเพื่อจะฟ้องคดีเอง สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปหรือไม่
การถอนคำร้องทุกข์ที่จะทำให้คดีระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๒) ต้องเป็นการถอนโดยเจตนาที่จะไม่เอาความผิดแก่จำเลยต่อไปแต่คดีนี้โจทก์ขอถอนคำร้องทุกข์อ้างว่าไม่ประสงค์ให้ดำเนินการสอบสวนดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง และได้ถอนคำร้องทุกข์หลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลเป็นคดีนี้แล้ว ๕ วัน จึงฟังได้ว่าเหตุที่โจทก์ถอนคำร้องทุกข์ก็เนื่องจากโจทก์ได้ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแล้ว ไม่ประสงค์จะให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนพยานหลักฐานของโจทก์ต่อไป จึงคงระงับแต่เฉพาะเรื่องการร้องทุกข์ ส่วนคดีที่โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแล้ว ศาลก็ย่อมดำเนินคดีไปดังเช่นคดีที่โจทก์ฟ้องโดยไม่มีการร้องทุกข์มาก่อน คดีของโจทก์ไม่ระงับไป (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๗๙๒/๒๕๒๒)
การถอนคำร้องทุกข์ที่จำทำให้คดีระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๒) นั้น เป็นเรื่องเจตนาถอนเพื่อยกเลิกไม่เอาความแก่จำเลยต่อไป แต่การถอนคำร้องทุกข์โดยเหตุที่ผู้เสียหายนำคดีมาฟ้องศาลเสียเอง หาทำให้คดีระงับไปไม่ คงระงับไปแต่เฉพาะเรื่องการร้องทุกข์ ซึ่งศาลย่อมดำเนินคดีเสมือนว่าผู้เสียหายฟ้องคดีต่อศาลโดยไม่มีการร้องทุกข์มาก่อนเท่านั้นเอง (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๖๒/๒๕๐๖)
คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๙๔/๒๕๔๓ โจทก์ขอถอนคำร้องทุกข์เพราะโจทก์ได้นำคดีไปฟ้องเองและศาลได้รับฟ้องไว้แล้ว โจทก์ไม่ได้ถอนคำร้องทุกข์โดยเจตนาที่จะไม่เอาความผิดแก่จำเลยสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๓๙ (๒)
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ขอบคุณที่แบ่งปันความรู้ให้ครับ
ตอบลบ