กับการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้
หม่อมหลวงเฉลิมชัย เกษมสันต์
การโอนสิทธิเรียกร้อง คือ
ข้อตกลงซึ่งเจ้าหนี้ยอมโอนหนี้หรือสิทธิเรียกร้องซึ่งมีอยู่เหนือลูกหนี้ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับโอนเข้ามาเป็นเจ้าหนี้แทน ส่วนการแปลงหนี้ใหม่นั้น คือการระงับหนี้โดยมีหนี้ใหม่มาแทน
โดยจะต้องมีข้อตกลงระหว่างผู้เกี่ยวข้องเพื่อเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ (มาตรา
๓๔๙ วรรคหนึ่ง)
ผู้เป็นเจ้าหนี้ในสิทธิเรียกร้องหรือหนี้ใดๆ
โดยหลักแล้วถือเป็นสาระสำคัญอย่างหนึ่งของสิทธิเรียกร้องหรือหนี้นั้น ดังนั้น
การเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าหนี้แห่งสิทธิเรียกร้อง
ย่อมเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ และถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่เช่นกัน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
๓๔๙ วรรคสาม กำหนดให้การแปลงหนี้ใหม่ โดยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้จะต้องนำบทบัญญัติในเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องมาใช้บังคับ ดังนั้น
การแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้จะทำได้เฉพาะที่สภาพแห่งสิทธิเปิดช่องให้โอนกันได้ (เทียบเคียงมาตรา ๓๐๓)
และข้อตกลงระหว่างเจ้าหนี้เดิมกับเจ้าหนี้ใหม่ต้องทำเป็นหนังสือด้วย (เทียบเคียงมาตรา ๓๐๖)
ปัญหาว่าทั้งการโอนสิทธิเรียกร้อง
และการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้นั้นมีลักษณะที่คล้ายกันมาก คือ
เปลี่ยนฝ่ายซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในหนี้หรือสิทธิเรียกร้องนั้น
และใช้หลักกฎหมายเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องเช่นเดียวกัน เหตุใดจึงต้องมีการบัญญัติทั้งสองเรื่องนี้แยกต่างหากจากกัน ในเรื่องนี้
ท่านศาสตราจารย์หม่อมราชวงศ์เสนีย์
ปราโมช ได้อธิบายไว้ว่า “เป็นเรื่องที่จะต้องแปลเจตนาของคู่กรณีกันเฉพาะเรื่องเฉพาะพฤติการณ์เป็นรายๆ ไป
การเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ซึ่งเป็นคู่กรณีในนิติกรรมนั้น โดยหลักแล้วเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ และย่อมส่งผลให้เป็นการแปลงหนี้ใหม่
แต่หากเจ้าหนี้เก่าเพียงโอนสิทธิเรียกร้องให้ใครไปโดยนิติกรรมก็ดี หรือด้วยผลแห่งกฎหมายโดยการรับมรดกตกทอดก็ดี
อันเป็นผลให้คนใหม่เข้ามาเป็นเจ้าหนี้เรียกบังคับเอาชำระหนี้ได้เพียงเท่านั้น จะว่าได้มีการแปลงหนี้โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ไม่ได้
เพราะความประสงค์ของการโอนสิทธิเรียกร้องเป็นเรื่องที่จะสงวนหนี้เก่าเอาไว้ มิใช่ระงบหนี้เก่าก่อหนี้ใหม่
มีข้อน่าคิดอยู่ว่า
ในเมื่อผลของการแปลงหนี้ใหม่เป็นเรื่องความระงับแห่งหนี้แล้ว จะสามารถนำหลักเกณฑ์ในเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องมาใช้กับการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ได้ทุกกรณีหรือไม่ เช่น
เรื่องการยกข้อต่อสู้ที่มีต่อเจ้าหนี้เดิมขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ใหม่ก็ดี การใช้วิธีบอกกล่าวการโอนแก่ลูกหนี้ก็ดี หรือการโอนไปซึ่งหลักประกันก็ดี เรื่องดังกล่าวยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลที่ชัดเจน
มีเพียงแนวความเห็นของนักกฎหมายแบ่งออกเป็น ๒
ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าจะต้องนำหลักเกณฑ์การโอนสิทธิเรียกร้องทุกเรื่องมาใช้กับการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้
โดยทั้งสองเรื่องนี้ให้ผลต่างกันแต่เพียงว่าการแปลงหนี้ใหม่เป็นความระงับแห่งหนี้เท่านั้น แต่อีกฝ่ายหนึ่งเห็นว่า การแปลงหนี้ใหม่
โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ต้องได้รับความยินยอมของทั้งสามฝ่าย คือ
เจ้าหนี้เดิม ลูกหนี้ และเจ้าหนี้ใหม่ เหตุที่เจ้าหนี้เติมต้องให้ความยินยอมด้วยก็เพราะเจ้าหนี้เดิมจะสิ้นสิทธิในหนี้ ส่วนที่ลูกหนี้ต้องยินยอมด้วยก็เพราะจะต้องรับผิดตามหนี้ใหม่
การแปลงหนี้ใหม่ทำให้หนี้ประธานระงับไปทั้งหนี้ประธานและหนี้อุปกรณ์
และการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ทำให้ลูกหนี้ไม่อาจยกข้อต่อสู้ที่มีต่อเจ้าหนี้เดิมขึ้นยันกับเจ้าหนี้ใหม่ได้ ในเรื่องนี้ขอตั้งเป็นข้อสังเกต ดังนี้
ในเรื่องการยกข้อต่อสู้ที่มีต่อเจ้าหนี้เดิมขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ใหม่ (ตามมาตรา
๓๐๘) นั้น เมื่อพิจารณาแล้วว่าการแปลงหนี้ใหม่ทำให้หนี้เดิมระงับไป ข้อต่อสู้ตามหนี้เดิมเช่น
เรื่องกำหนดอายุความหรือเรื่องการชำระหนี้แล้ว เป็นต้น
ก็น่าจะต้องระงับไปด้วยเช่นกัน
เหตุใดลูกหนี้จึงยังสามารถยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ใหม่ได้
การจะบอกว่ากฎหมายกำหนดให้นำหลักเกณฑ์เรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องมาใช้ในเรื่องนี้ด้วยก็คงจะดูไม่ถนัดนัก
เพราะการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นยังคงมีหนี้เดิมผูกพันกันอยู่ จึงไม่แปลกอะไรหากจะให้มีการหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมต่อสู้เจ้าหนี้ใหม่เมื่อใดก็ได้
เพราะถือเสมือนว่าเจ้าหนี้ใหม่เข้ามาแทนที่เจ้าหนี้เก่า
แต่การแปลงหนี้ใหม่ถือว่าหนี้เดิมระงับลงทันทีแล้วก่อให้เกิดหนี้ใหม่ขึ้นมาแทน ไม่มีหนี้เดิมต่อกันแล้ว ย่อมหมายความว่า ข้อต่อสู้ตามมูลหนี้เดิมก็ต้องสิ้นสุดลงด้วย
เว้นแต่เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความไม่สมบูรณ์ของหนี้เดิมนั้นเอง
ด้วยเหตผลดังกล่าว
จึงน่าจะส่งผลไปถึงวิธีการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ กล่าวคือ
หากเป็นเรื่องโอนสิทธิเรียกร้องแล้ว
เพียงแต่ทำเป็นหนังสือและบอกกล่าวการโอนไปยังลูกหนี้โดยไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากลูกหนี้ก็ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
๓๐๖
แต่หากยอมให้เจ้าหนี้แปลงหนี้ใหม่โดยเลือกใช้วิธีการบอกกล่าวแก่ลูกหนี้ได้แล้ว
ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ลูกหนี้ที่ไม่สามารถยกข้อต่อสู้ที่มีต่อเจ้าหนี้เดิมขึ้นมาเป็นข้อต่อสู้เจ้าหนี้ใหม่ได้ นอกจากนั้น
นิติกรรมใดก็ตามที่เป็นผลให้มูลหนี้เดิมระงับไปน่าจะต้องให้คู่กรณีทุกฝ่ายตกลงด้วย การจะนำหลักเกณฑ์ในเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องมาใช้โดยไม่คำนึงถึงเจตนาของคู่กรณีที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายย่อมไม่ถูกต้องนัก
เพราะมิเช่นนั้นย่อมไม่ต่างจากการยกเลิกสัญญาหรือความผูกพันใดๆ โดยความประสงค์ของคู่สัญญาเพียงฝ่ายเดียว นอกจากนี้
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๓๔๙ วรรคแรก
ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์เฉพาะสำหรับการแปลงหนี้ใหม่ไว้แล้วว่าจะต้องมีการทำสัญญากันระหว่างคู่กรณีที่เกี่ยวข้อง
จึงน่าจะต้องให้ลูกหนี้แห่งสิทธิเรียกร้องเข้ามาร่วมในการทำสัญญาหรือให้ความยินยอมในการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้ เป็นลักษณะสัญญา ๓
ฝ่าย
หากกฎหมายประสงค์จะยกเว้นให้สามารถใช้วิธีบอกกล่าวแก่ลูกหนี้ได้แล้ว
ก็น่าจะบัญญัติเรื่องดังกล่าวแยกต่างหากออกจากมาตรา ๓๔๙
เช่นเดียวกับกรณีการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ในมาตรา ๓๕๐
นอกจากนี้ ในเรื่องหลักประกันของหนี้ตามมาตรา ๓๐๕
แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
บัญญัติให้สิทธิจำนอง สิทธิจำนำหรือสิทธิอันเกิดแต่การค้ำประกันซึ่งเกี่ยวพันหรือให้ไว้เพื่อสิทธิเรียกร้องที่มีการโอนไปนั้นตกได้แก่ผู้รับโอนด้วย
หากจะกล่าวว่าบทบัญญัติดังกล่าวต้องนำไปใช้บังคับกับการแปลงหนี้ใหม่โดยการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้อีกก็ดูจะขัดกับเหตุผลของกฎหมาย
เพราะในเมื่อการแปลงหนี้ใหม่เป็นความระงับแห่งหนี้แล้ว
เมื่อหนี้เดิมระงับไปสัญญาหลักประกันอันเป็นอุปกรณ์ของหนี้เดิมก็น่าจะต้องระงับไปด้วยเช่นกัน และหากประสงค์จะใช้หลักประกันเดิมเป็นหลักประกันของหนี้ใหม่ก็น่าจะต้องมีการแสดงเจตนาให้ชัดแจ้งกันอีกครั้งหนึ่ง
ไม่น่าจะนำหลักเกณฑ์การโอนสิทธิเรียกร้องในเรื่องนี้มาใช้ได้ อีกทั้งการแปลงหนี้ใหม่ก็มีการบัญญัติในเรื่องนี้ไว้โดยเฉพาะในมาตรา ๓๕๒
ว่า
คู่กรณีในการแปลงหนี้ใหม่อาจโอนสิทธิจำนำ
สิทธิจำนองที่ได้ให้ไว้เป็นประกันหนี้เดิมนั้นไปเป็นประกันหนี้รายใหม่ได้เพียงเท่าที่เป็นประกันวัตถุแห่งหนี้เดิม
แต่หากบุคคลภายนอกเป็นผู้ให้หลักประกันต้องได้รับความยินยอมจากบุคคลนั้นด้วย
แสดงว่าคู่กรณีที่เกี่ยวข้องจะต้องแสดงเจตนาในการโอนหลักประกันนั้นอีกครั้งหนึ่ง มิได้โอนไปทันทีโดยผลของกฎหมาย (แต่เมื่อมีการตกลงโอนหลักประกันแล้ว แม้หลักประกันนั้นจะเป็นสิทธิจำนอง
ก็ย่อมมีผลมาเป็นประกันมูลหนี้ใหม่ทันทีโดยไม่จำเป็นต้องมีการจดทะเบียนก่อน (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๔๙/๒๕๑๖))
อย่างไรก็ดี ข้อพิจารณาดังกล่าวคงเป็นเพียงข้อถกเถียงในทางทฤษฎีเท่านั้น เพราะในทางปฏิบัติแล้ว
ปัญหาที่เป็นประเด็นขึ้นสู่ศาลฎีกามักเป็นกรณีของสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งหากมีการเปลี่ยนตัวคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งย่อมเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้ด้วย หรือถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโอนไปเพียงสิทธิเรียกร้องของตนตามสัญญาโดยยังคงผูกพันตนชำระหนี้แก่อีกฝ่ายเป็นการตอบแทนอยู่ ก็เป็นเพียงการโอนสิทธิเรียกร้องเท่านั้น
เพราะยังเห็นได้ว่าคู่สัญญาฝ่ายนั้นยังคงต้องการให้หนี้ดังกล่าวมีผลผูกพันต่อไป มิได้ต้องการให้หนี้ระงับลง อีกทั้งตนยังมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตอบแทนอยู่ด้วยและปัญหาสำคัญที่มักเป็นประเด็นให้ต้องวินิจฉัยจะเป็นเรื่องความไม่ชัดเจนว่าการโอนสิทธิเรียกร้องในสัญญาต่างตอบแทนสามารถทำได้หรือไม่
ในปัญหานี้ควรต้องทำความเข้าใจหลักการของสัญญาต่างตอบแทนก่อนว่า ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น คู่สัญญาแต่ละฝ่ายต่างมีฐานะเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้อยู่ในตัว กล่าวคือ
มีสิทธิเรียกร้องให้อีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้และมีหน้าที่ต้องชำระหนี้อีกอย่างหนึ่งเป็นการตอบแทน คู่สัญญาต่างฝ่ายต่างเป็นเจ้าหนี้ในหนี้อย่างหนึ่งและเป็นลูกหนี้ในหนี้อีกอย่างหนึ่ง หนี้ของคู่สัญญาแต่ละฝ่ายจึงเป็นเงื่อนไขของการชำระหนี้ของอีกฝ่ายหนึ่ง
ถ้าฝ่ายหนึ่งไม่ชำระหนี้อีกฝ่ายก็ไม่จำต้องชำระหนี้ตอบแทน
ตามหลักที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
๓๖๙ ดังนั้น
หากคู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการเปลี่ยนตัวบุคคลผู้เป็นคู่สัญญาหรือต้องการโอนทั้งสิทธิและหน้าที่ตามสัญญานั้น
โอนทั้งฐานะเจ้าหนี้และลูกหนี้ของตนไปให้แก่บุคคลภายนอกแล้ว
ย่อมเห็นได้ชัดว่าต้องเป็นการแปลงหนี้ใหม่เพราะมีการเปลี่ยนแปลงบุคคลที่เป็นเจ้าหนี้ในหนี้อย่างหนึ่ง และเป็นลูกหนี้ในหนี้อีกอย่างหนึ่งด้วย อีกทั้งแสดงให้เห็นเจตนาของคู่สัญญาฝ่ายที่โอนไปได้ว่าต้องการสิ้นสุดความสัมพันธ์ตามสัญญานั้น
ตัวอย่างเช่นในสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินประกอบด้วยหนี้อย่างน้อยสองรายคือ
การจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบทิดินกับการชำระราคา
หากนายแดงตกลงจะซื้อที่ดินจากนายดำตามสัญญาดังกล่าว นายแดงผู้จะซื้ออยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะเรียกร้องให้นายดำจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบที่ดินให้แก่ตน
และอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระราคาค่าที่ดินให้แก่นายดำด้วย หากต่อมามีการเปลี่ยนตัวคู่สัญญาโดยมีนายขาวเข้ามาแทนที่นายแดง
หมายความว่านายแดงโอนฐานะความเป็นเจ้าหนี้ที่จะเรียกให้นายดำโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบที่ดินนั้นให้แก่ตน
และโอนฐานะความเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระราคาให้แก่นายดำ ไปให้แก่นายขาว
เจตนาของนายแดงแสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการผูกพันตามสัญญาจะซื้อจะขายอีกต่อไป
และเป็นการเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้
เป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้
กรณีเช่นนี้เห็นได้ชัดว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ไม่ใช่เรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง เพราะมีการเปลี่ยนตัวผู้เป็นลูกหนี้ด้วย
จึงต้องมีการทำสัญญากันสามฝ่ายระหว่างนายดำ นายแดง
และนายขาว
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๓๔๙ และ
มาตรา ๓๕๐
ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปก็คือ
หากคู่สัญญาต้องการโอนเฉพาะสิทธิของตนในหนี้รายใดรายหนึ่ง เช่น
กรณีสัญญาจะซื้อจะขายตามตัวอย่างนั้น
หากนายแดงต้องการจะโอนไปเพียงสิทธิที่จะเรียกให้นายดำโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบที่ดินแก่ตนไปให้แก่นายขาว
โดยนายแดงยังประสงค์ที่จะเป็นผู้ชำระราคาค่าที่ดินให้กับนายดำเอง
เท่ากับเป็นการโอนไปเพียงฐานะความเป็นเจ้าหนี้ในสิทธิเรียกร้องให้โอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบที่ดินเท่านั้นและทำได้หรือไม่หรือจะต้องมีการโอนหน้าที่ชำระราคาของตนามสัญญาต่างตอบแทนไปด้วย
ในเรื่อนี้มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาแบ่งออกเป็น ๒
ความเห็น กล่าวคือ ความเห็นแรกตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๔๗๒-๒๔๗๔/๒๕๑๙,
๑๗๓๑/๒๕๒๑,
๓๕๓๓/๒๕๒๕,
๑๖๐๓/๒๕๒๗ และ ๑๔๙๐/๒๕๓๘
เห็นว่า
ในสัญญาต่างตอบแทนตราบใดที่ยังมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ตอบแทนให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งอยู่ตามสัญญาต่างตอบแทน
ฝ่ายนั้นก็จะโอนสิทธิเรียกร้องของตรให้บุคคลภายนอกไม่ได้ ต้องทำเป็นแปลงงหนี้ใหม่
โดยมีคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้ามาตกลงหรือยินยอมด้วย
ผู้รับโอนจึงจะมีสิทธิฟ้องบังคับอีกฝ่ายหนึ่งได้ เมื่อไม่มีการแปลงหนี้ใหม่ ผู้รับโอนก็ไม่สามารถฟ้องบังคับอีกฝ่ายหนึ่งได้
เมื่อเปรียบเทียบกับสัญญาจะซื้อจะขายตามตัวอย่างข้างต้นแล้ว ตามความเห็นนี้มองว่า
หากนายแดงผู้จะซื้อยังไม่ได้ชำระราคาให้แก่นายดำ ก็จะโอนสิทธิที่จะเรียกร้องให้นายดำโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบที่ดินไปให้แก่นายขาวไม่ได้
จะต้องทำเป็นวิธีกาแปลงหนี้ใหม่โดยมีการโอนหน้าที่ชำระราคาไปให้แก่นายขาวด้วย
สำหรับความเห็นที่สอง เป็นไปตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๐๔๖/๒๕๑๖, ๒๔๔-๒๕๒๙, ๒๙๖๔/๒๕๓๐, ๔๘๓๗/๒๕๔๐
เห็นว่า
ในสัญญาต่างตอบแทนนั้น
ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็สามารถโอนเฉพาะสิทธิเรียกร้องของตนให้แก่บุคคลภายนอกได้ เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
๓๐๓
ในเรื่องของการโอนสิทธิเรียกร้องนั้นมิได้ยกเว้นมิให้โอนสิทธิเรียกร้องในสัญญาต่างตอบแทนแต่ประการใด
เมื่อเปรียบเทียบตามความเห็นนี้กับกรณีสัญญาจะซื้อจะขายตามตัวอย่างข้างต้น
นายแดงย่อมสามารถที่จะโอนเฉพาะสิทธิเรียกร้องให้นายดำโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบที่ดินแก่ตนให้แก่นายขาวได้โดยไม่จำเป็นต้องทำเป็นแปลงหนี้ใหม่แต่อย่างใด และผลของการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าวทำให้นายแดงยังคงมีหน้าที่ต้อชำระราคาที่ดินให้แก่นายดำ
และนายดำต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และส่งมอบที่ดินให้แก่นายขาว หากนายแดงไม่ชำระราคาให้แก่นายดำ
นายขาวผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องก็อาจชำระราคาแก่นายดำแทนนายแดงผู้โอนสิทธิได้ เพราะตนมีส่วนได้เสียตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
๓๑๔
หากนายแดงและนายขาวไม่ชำระราคาที่ดิน
นายดำก็สามารถปฏิเสธไม่โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่นายขาวได้ตามหลักสัญญาต่างตอบแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
๓๖๙
และยังมีสิทธิฟ้องบังคับให้นายแดงผู้จะซื้อคนเดิมหรือนายขาวผู้รับโอนสิทธิเรียกร้อง ให้ชำระหนี้ตามสัญญาจะซื้อขายได้
จากคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวข้างต้น
จะเห็นว่าแนวทางคำวินิจฉัยของศาลยังคงมีความเห็นแตกต่างกัน โดยมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๘๓๗/๒๕๔๐
ซึ่งยึดถือตามความเห็นที่ ๒ เป็นแนวทางล่าสุดในประเด็นนี้ขอตั้งข้อสังเกตว่า ตามหลักกฎหมายทั่วไปเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ในการแสดงเจตนาของคู่สัญญาและเสรีภายในการทำสัญญา
ตราบใดที่ข้อตกลงของคู่สัญญานั้นไม่ขัดต่อกฎหมายอันเกี่ยวกับความสงบเรียนร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน คู่สัญญาย่อมมีเสรีภายที่จะทำได้ทั้งสิ้น
สุดท้ายนี้ ขอนำแนวคิดในการบังคับใช้และตีความกฎหมายของท่านศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์
มาฝากไว้ว่า “ธุรกิจในปัจจุบันนี้พัฒนากว้างขวางออกไปจนกฎหมายเมื่อกึ่งศตวรรษมาแล้วดูเหมือนว่าจะตามไม่ทัน แต่จะพัฒนาเกินกฎหมายไปก็ไม่ได้
ถึงกระนั้นกฎหมายก็มีความหมายกว้างขวางพอที่จะปรับเข้ากับเหตุการณ์ใหม่ๆ ได้
ถ้าหากนำมาใช้ได้ตามความมุ่งหมายตามมาตรา
๔
ตลอดถึงบทใกล้เคียงและหลักทั่วไปของกฎหมาย
ซึ่งศาลจะปฏิเสธไม่มีกฎหมายปรับแก่คดีหาได้ไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา
๑๓๔ และมีหลักการตีความแสดงเจตนาตามมาตรา ๑๓๒
(หมายถึง ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
๑๗๑ ปัจจุบัน-ผู้เขียน) อยู่ว่า
ให้เพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยคำสำนวนตามตัวอักษร
ให้ตีความไปตามความประสงค์ในทางทุจริตโดยพิเคราะห์ถึงปรกติประเพณีด้วย ตามมาตรา
๓๖๘
และในกรณีที่ตีความได้เป็น ๒ นัย
ให้ตีความไปในทางที่เป็นผลบังคับได้ดีกว่าในทางที่ไร้ผล ตามมาตรา
๑๐
เป็นทางที่จะแก้ปัญหากฎหมายล้าสมัยได้พอควร
ขอให้กุศลผลบุญดลบันดาลให้คุณ Mr. T สอบได้เร็วๆ และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานนะคะ ^^
ตอบลบขอบคุณมากๆเลยคร๊าบ ตอนนี้ยังไม่ค่อยมีเวลาอ่านเลยอะคร๊าบ
ลบเร็วๆนี้อย่าลืมติดตามผลงานอันใหม่ของผมในเว็บนี้ด้วยนะคร๊าบ ประมาณต้นปีหน้าครับ
เป็นหนี้สินเชื่อเงินสดของอีซี่บาย ตั้งแต่ปี 2553ตอนนีมีหนังสือแจ้งการโอนหนี้ให้กับสำนักกฏหมายแห่งหนึ่ง แจ้งให้ชำระหนี้ ประมาณ 50,000 ภายใน 20 วัน หลังจากได้รับจดหมายฉบับนี้ หริอติดต่อกลับเบอร์ที่ให้ไว้ ขอรบกวนสอบถามว่าควรจะทำอย่างไรดีค่ะ
ตอบลบ