วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันพฤหัสบดีที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2555

บทบรรณาธิการ ภาค2 สมัย64 เล่ม15

                คำถาม โทษจำคุกไม่เกินหกเดือนที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจลงแก่จำเลยตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๕ (๕) หมายถึงโทษที่วางก่อนลดหรือโทษสุทธิ
                คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๖๖๖/๒๕๕๐ โทษจำคุกไม่เกิน ๖ เดือน ที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจลงแก่จำเลยตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๕ (๕) นั้น หมายถึง โทษจำคุกสุทธิที่จะลงแก่จำเลย โดยไม่ต้องคำนึงว่าก่อนลดโทษจะกำหนดโทษจำคุกไว้สูงกว่า ๖ เดือน หรือไม่ คดีนี้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงโดยผู้พิพากษาคนเดียวพิพากษาลงโทษจำเลยฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส จำคุก ๘ เดือน เมื่อลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.. มาตรา ๗๘ แล้วคงจำคุก ๕ เดือน ๑๐ วัน เป็นการลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน ๖ เดือน จึงชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๕ (๕)
                คำถาม โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ต่อสาลแพ่งกรงเทพใต้ จำเลยฟ้องแย้งเป็นคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกินสามแสนบาท ศาลแพ่งกรุงเทพใต้จะสั่งรับฟ้องแย้งได้หรือไม่
                คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๕๓๐/๒๕๕๐ แม้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ แต่ฟ้องแย้งของจำเลยก็เป็นคำฟ้องนั่นเอง เมื่อจำนวนทุนทรัพย์ที่จำเลยฟ้องแย้งเป็นเงิน ๑๖๓,๔๔๕.๕๕ บาท ซึ่งไม่เกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท คดีจึงอยู่ในอำนาจศาลแขวงที่จะรับไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๗ ประกอบมาตรา ๒๕ (๔) ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๙ ทั้งไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดให้อำนาจศาลแพ่งกรุงเทพใต้ที่จะใช้ดุลพินิจรับคดีนี้ไว้พิจารณาพิพากษาต่อไปได้
                คำถาม โจทก์ฟ้องว่าจำเลยมีเจตนาฆ่า มิได้บรรยายฟ้องว่าเป็นการกระทำโดยพลาดมาด้วย ทางพิจารณาได้ความว่าเป็นการกระทำโดยพลาด ถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องหรือไม่
                คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้ (เปรียบเทียบดู)
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๑๖๖/๒๕๕๐ การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิง ส. กระสุนปืนถูก ส. และยังพลาดไปถูก อ. ด้วยนั้น การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่า ส. และฐานพยายามฆ่า อ. โดยพลาด แม้โจทก์จะมิได้บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำโดยพลาดมาด้วย ก็ไม่ถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในการพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้อง อันจะเป็นเหตุให้ศาลต้องพิพากษายกฟ้องตาม ป.วิ.. มาตรา ๑๙๒ และการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๒๔๔/๒๕๕๓ จำเลยใช้เหล้าสาดใส่หน้าของผู้เสียหาย อันเป็นการใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นการกระทำโดยเจตนาต่อผู้เสียหาย แต่เมื่อเหล้าไปถูก พ. เท่ากับผลของการกระทำเกิดแก่ พ. โดยพลาดไป จึงเป็นความผิดฐานพยายามใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายและใช้กำลังทำร้าย พ. โดยพลาดไปด้วยซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยได้ทุกบทหรือจะขอให้ลงโทษเพียงบทใดบทหนึ่งก็ได้ ดังนั้นข้อเท็จจริงที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกระทำให้บุคคลใดได้รับผลร้ายจึงเป็นข้อสำคัญ การที่โจทก์กล่าวในฟ้องว่าผลร้ายเกิดแก่ผู้เสียหายเท่านั้น แต่ทางพิจารณาปรากฏว่าผลร้ายเกิดแก่ พ. จึงเป็นข้อแตกต่างในข้อสาระสำคัญ ซึ่งศาลต้องยกฟ้องมิใช่ข้อแตกต่างที่เป็นเพียงรายละเอียดที่ศาลจะลงโทษจำเลยตามข้อเท็จจริงที่ได้ความนั้นได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง และเมื่อข้อเท็จจริงที่ว่า พ. ได้รับผลร้ายเป็นข้อเท็จจริงที่ได้ความจากทางพิจารณาซึ่งมิได้ปรากฏในคำฟ้อง จึงเป็นข้อที่โจทก์ไม่ได้กล่าวมาในฟ้อง ต้องห้ามมิให้ศาลพิพากษาตามมาตรา ๑๙๒ วรรคหนึ่ง จึงต้องยกฟ้อง
                คำถาม โจทก์ฟ้องว่า จำเลยปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยเหตุหนึ่งแต่ทางพิจารณาได้ความว่าจำเลยปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบอีกเหตุหนึ่ง ศาลจะพิพากษาลงโทษตามข้อเท็จจริงที่ได้ความได้หรือไม่
                คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๖๖/๒๕๔๘ เมื่อคำพิจารณาคำฟ้องของโจทก์เฉพาะส่วนที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ในข้อหาความผิดฐานร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว ปรากฏว่าโจทก์บรรยายฟ้องในข้อหานี้แต่เพียงว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่และละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ รู้อยู่แล้วว่าโจทก์กับพวกไม่ได้ร่วมกันกระทำความผิดฐานฉ้อโกง แต่จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ กลับร่วมกันรับคำร้องทุกข์กล่าวโทษและดำเนินคดีแก่โจทก์กับพวก เป็นเหตุให้โจทก์กับพวกถูกควบคุมตัวเป็นผู้ต้องหา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเสียหายต่อชื่อเสียง สิทธิ เสรีภาพของโจทก์กับพวกเท่านั้น โจทก์มิได้บรรยายในคำฟ้องเลยว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ได้ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยการบ่ายเบี่ยงละเลยไม่สั่งคำร้องขอประกันตัวระหว่างสอบสวนของโจทก์กับพวกแต่อย่างใด ดังนั้น แม้จะได้ความตามทางพิจารณาในชั้นไต่สวนมูลฟ้องว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ มีพฤติการณ์ในทางบ่ายเบี่ยงละเลยไม่สั่งคำร้องขอประกันตัวระหว่างสอบสวนของโจทก์กับพวกก็ตาม ศาลก็ไม่อาจพิพากษาลงโทษจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ตามข้อเท็จจริงที่ได้ความดังกล่าวนั้นได้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงนอกฟ้องต้องห้ามตาม ป.วิ.. มาตรา ๑๙๒ วรรคหนึ่ง กรณีจึงมีเหตุตามกฎหมายที่จำเลยที่ ๔ ไม่ควรต้องรับโทษและศาลต้องยกฟ้องตาม ป.วิ.. มาตรา ๑๘๕ วรรคหนึ่ง และปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยที่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้งอโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๔ มาด้วยนั้น จึงชอบแล้ว
                คำถาม โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่จำเลยกู้ยืมไปจากโจทก์ในวาระต่างๆ แยกเป็นรายสำนวนไป ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน การพิจารณาว่าคดีใดอยู่ในอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษา จะมีหลักเกณฑ์อย่างไร
                คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๕๕-๑๕๕๘/๒๕๕๓ โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๓ ทวิ
                ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงได้ความว่าคดีทั้งสี่สำนวนนี้ โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระเงินตามสัญญากู้ยืม ซึ่งแต่ละสำนวนมีจำนวนทุนทรัพย์ ๑๑๒,๔๙๙.๘๐ บาท ๘๔,๓๗๕ บาท ๗๘,๗๔๙.๘๐ บาท และ ๕๗,๕๒๓.๙๕ บาท ตามลำดับ ต่อมาศาลชั้นต้นสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสี่สำนวนดังกล่าวเข้าด้วยกัน และในระหว่างการพิจารณาศาลชั้นต้นได้จดรายงานกระบวนพิจารณาว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า คดีนี้จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรวม การพิจารณาคดีหมายเลขดำท่ ๑๘๘๗๖/๒๕๕๐, ๑๘๘๗๗
๗/๒๕๕๐ และ ๒๓๖๙๑/๒๕๕๐ เข้ากับคดีหมายเลขดำที่ ๑๘๘๗๕/๒๕๕๐ และศาลมีคำสั่งอนุญาตให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสี่สำนวนดังกล่าว เมื่อคดีทั้งหมดได้รวมการพิจารณาแล้ว ย่อมถือได้ว่าโจทก์ได้ฟ้องเรียกมูลหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินจำนวนสี่ฉบับ ในการคิดทุนทรัพย์ในคดีว่าจะอยู่ในอำนาจศาลแขวงพระนตรเหนือที่จะพิจารณาพิพากษาต่อไปหรือไม่ต้องเอาจำนวนเงินตามสัญญากู้ทุกฉบับมาคิดคำนวณรวมเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาท แม้คดีนี้จะเคยมีการแยกฟ้องกันมาก่อน แต่เมื่อมีการรวมการพิจารณาเป็นคดีเดียวกันเป็นคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินตามสัญญากู้แต่ละฉบับจึงต้องเอาทุนทรัพย์ของสัญญากู้ทุกฉบับ ซึ่งคิดทุนทรัพย์จนถึงวันฟ้องมารวมเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาท เมื่อนำทั้งสี่คดีมารวมทุนทรัพย์แล้วเป็นทุนทรัพย์จำนวน ๓๓๓
,๑๔๘.๕๕ บาท จึงเกินอำนาจศาลแขวงที่จะพิจารณาได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๕ (๔) ประกอบมาตรา ๑๗ หากศาลแขวงพระนครเหนือทำการพิจารณาพิพากษาไปย่อมเป็นการไม่ชอบ และแม้เดิมคดีจะมีการแยกฟ้องโดยโจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาแบบคดีมโนสาเร่ แต่เมื่อโจทก์ควรรู้ว่าสามารถฟ้องได้ในคราวเดียวกัน โจทก์ก็ต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีแพ่งสามัญ มิใช่ขอเสียค่าขึ้นศาลแบบคดีมโนสาเร่ จึงให้คืนคำฟ้องเพื่อให้โจทก์นำไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอนาจต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๒ วรรคสาม รายละเอียดปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑
                คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คืนคำฟ้องเพื่อให้โจทก์นำไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจ เป็นการชอบหรือไม่โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสี่สำนวนเข้าด้วยกันก็เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น แต่การรวมการพิจารณาเข้าด้วยกันก็หาทำให้เกิดผลกลายเป็นคดีเดียวกันไม่ และการที่จะพิจารณาว่าคดีใดอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลแขวงตามที่บัญญัติไว้ในพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๕ (๔) นั้น จะต้องพิจารณาทุนทรัพย์ในแต่ละคดีเป็นรายๆ ไป
                เห็นว่า คดีนี้ไม่ใช่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินมาในฟ้องเดียวกันที่จะต้องรวมทุนทรัพย์ตามสัญญากู้ยืมเงินแต่ละฉบับเข้าด้วยกัน แต่เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องเรียกเงินที่จำเลยที่ ๑ กู้ยืมไปจากโจทก์ในวาระต่างๆ แยกเป็นรายสำนวนไป การพิจารณาว่าคดีใดอยู่ในอำนาจของศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษานั้น จึงต้องพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทเป็นรายสำนวน ดังนั้น แม้ภายหลังศาลชั้นต้นจะสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสี่สำนวนเข้าด้วยกันจนเป็นเหตุทำให้จำนวนทุนทรัพย์ที่รวมเข้าด้วยกันเกิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท ก็ตามแต่ก็ต้องถือว่าคดียังอยู่ในอำนาจของศาลแขวงหรือผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๕ (๔) ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้คืนคำฟ้องเพื่อให้โจทก์ไปยื่นต่อศาลที่มีเขตอำนาจนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น”
                พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นรับคดีโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ
               
                                                                                                                          นายประเสริฐ       เสียงสุทธิวงศ์
                                                                                                                                            บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น