คำถาม สัญญาจำนองมีข้อตกลงว่า
หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบนั้น
กรณีที่หนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้ว ถ้าผู้รับจำนองฟ้องบังคับจำนอง
ได้เงินไม่พอชำระหนี้ จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นของผู้จำนองได้หรือไม่
และจะเรียกดอกเบี้ยนับจากวันฟ้องได้หรือไม่
คำตอบ
มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 3557/2554
เมื่อหนี้ตามตั๋วสัญญาใช้เงินของจำเลยที่
1 ขาดอายุความ โดยหนี้ดังกล่าวมีที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่
2 จำนองไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกัน กรณีต้องด้วย ป.พ.พ. มาตรา 193/27 และมาตรา 745 กล่าวคือ
โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองแม้หนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้
แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินกว่า5ปีขึ้นไปไม่ได้ ซึ่งเป็นบทกฎหมายที่บัญญัติให้สิทธิผู้รับจำนองบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น
ดังนั้น แม้ว่าตามสัญญาจำนองจะกำหนดว่า หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้บังคับจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบก็ตาม
โจทก์ก็จะบังคับจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 เพื่อเอาชำระหนี้ในส่วนนี้หาได้ไม่
ส่วนเรื่องดอกเบี้ยนั้นบทกฎหมายดังกล่าวเพียงแต่บัญญัติห้ามผู้รับจำนองมิให้ใช้สิทธิบังคับให้ชำระดอกเบี้ยที่ค้างย้อนหลังเกินกว่า
5 ปีขึ้นไป มิได้ห้ามผู้รับจำนองมิให้เรียกดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องขอให้บังคับจำนอง
โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 4295/2555
แม้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับจำนองจะบังคับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองได้แม้เมื่อหนี้ที่จำนองเป็นประกันนั้นขาดอายุความ
แต่คงบังคับได้แต่เฉพาะทรัพย์สินที่จำนองเท่านั้น หาอาจบังคับถึงทรัพย์สินอื่นของเจ้ามรดกได้ไม่
แม้สัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันและข้อตกลงต่อท้ายสัญญาจำนองจะกำหนดให้บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นจนกว่าจะครบหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ก็ตาม
เพราะทำให้จำเลยต้องรับผิดมากไปกว่าที่ต้องรับผิดตามกฎหมาย
ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246
และมาตรา 247
คำถาม
สัญญากู้ยืมมีข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยกันได้แต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้ในสัญญา
ผู้ให้กู้จะมีสิทธิคิดดอกเบี้ยได้หรือไม่ อัตราเท่าใด
สัญญากู้ยืมให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี
ผู้ให้กู้มีสิทธิคิดดอกเบี้ยหรือไม่ อย่างไร
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 12738/2555
เนื่องจากสัญญากู้ยืม ข้อ 2 วรรคหนึ่งปรากฏเพียงว่า
โจทก์กับจำเลยตกลงให้คิดดอกเบี้ยกันได้ แต่ไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้ในสัญญา
แม้ ป.พ.พ. มาตรา 654 จะบัญญัติห้ามมิให้คิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี
ก็มีความหมายเพียงว่าในสัญญาที่ตกลงกันกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ห้ามมิให้ตกลงคิดดอกเบี้ยกันเกินอัตราร้อยละ
15 ต่อปี แต่เมื่อคู่สัญญาไม่ได้ตกลงกันกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เช่นนี้
จึงต้องเป็นไปตามมาตรา 7 ที่บัญญัติให้ใช้อัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี
คำพิพากษาฎีกาที่ 5566/2555
โจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยอัตราร้อยละ 5 ต่อเดือน หรืออัตราร้อยละ 60 ต่อปี จึงเป็นการคิดอัตราดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด
ต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตราฯ ตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา
150 ดังนั้น
โจทก์คงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดตาม ป.พ.พ. มาตรา
224 วรรคหนึ่ง คือวันที่ครบกำหนดชำระหนี้เงินกู้
คำถาม
สัญญาค้ำประกันมีข้อความว่า
ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ไม่ว่าโดยเหตุใด ๆ ก็ตาม
หรือมีเหตุอื่นใดอันทำให้เจ้าหนี้ไม่ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนทั้งหมด ผู้ค้ำประกันยังคงต้องรับผิด
และผู้ค้ำประกันตกลงจะชำระหนี้ที่ค้างชำระอยู่ทั้งหมดให้แก่เจ้าหนี้ทันทีนั้น ผู้ค้ำประกันจะมีสิทธิยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้ได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1110/2555
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า บริษัท ต. เช่าซื้อรถยนต์กระบะไปจากบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ท.
โดยมีจำเลยเป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม บริษัท ต. ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อ
ต่อมาโจทก์ประมูลซื้อทรัพย์สินของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ ท. จาก ปรส. ได้
โจทก์บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแล้ว ขอให้บังคับจำเลยส่งมอบทรัพย์สินที่เช่าซื้อ จำเลยให้การว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความและจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันยกข้อต่อสู้ของบริษัท
ต. ผู้เช่าซื้อขึ้นต่อสู้โจทก์นั้น ป.พ.พ. มาตรา 694 บัญญัติว่า
นอกจากข้อต่อสู้ซึ่งผู้ค้ำประกันมีต่อเจ้าหนี้แล้ว ผู้ค้ำประกันยังอาจยกข้อต่อสู้ทั้งหลายซึ่งลูกหนี้มีต่อเจ้าหนี้ขึ้นต่อสู้ได้ด้วย
การที่โจทก์ฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนด 2 ปีนับแต่วันที่บริษัท ต. ผู้เช่าซื้อชำระบัญชีเสร็จ ซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา
1272 ระบุห้ามมิให้โจทก์ฟ้องเรียกหนี้สินซึ่งบริษัทเป็นลูกหนี้เมื่อพ้นกำหนด
2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ
จำเลยจึงสามารถยกข้อต่อสู้เรื่องอายุความดังกล่าวขึ้นต่อสู้โจทก์ได้
ส่วนข้อตกลงที่เป็นการจำกัดสิทธิตามกฎหมายของผู้ค้ำประกันนั้น
ข้อตกลงดังกล่าวจะต้องระบุไว้ให้ชัดแจ้งในสัญญา ที่โจทก์ฎีกาว่า
สัญญาค้ำประกันข้อ 3 มีข้อความระบุว่าในกรณีที่ผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่บริษัทไม่ว่าโดยเหตุใด
ๆ ก็ตาม หรือมีการชำระบัญชี
หรือมีเหตุอื่นใดอันทำให้บริษัทไม่ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวนหนี้ทั้งหมด
ผู้ค้ำประกันก็ยังคงต้องรับผิดและผู้ค้ำประกันตกลงจะชำระหนี้ที่ค้างชำระอยู่ทั้งหมดให้แก่บริษัททันทีนั้น ยังแปลไม่ได้ว่าผู้ค้ำประกันยอมสละสิทธิไม่ยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ขึ้นต่อสู้เจ้าหนี้
การใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์กลับคืนมา ป.พ.พ.มาตรา
1336 นั้น ต้องเป็นกรณีที่ติดตามเอาทรัพย์กลับคืนจากผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินนั้นอยู่จึงจะเป็นเรื่องที่ไม่มีกำหนดอายุความ
แต่คดีนี้ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยในฐานะผู้ค้ำประกันครอบครองรถยนต์ของโจทก์
อีกทั้งฟ้องโจทก์ก็เป็นเรื่องบังคับให้จำเลยรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน
จำเลยจึงสามารถยกข้อต่อสู้ของลูกหนี้ในเรื่องอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1272
ขึ้นต่อสู้โจทก์ได้
คำถาม
เจ้าหนี้เข้าไปในร้านเสริมสวยของลูกหนี้ขณะเปิดให้บริการเพื่อทวงถามลูกหนี้ให้ชำระหนี้โดยใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิตของลูกหนี้
แต่ลูกหนี้ไม่ยินยอมที่จะให้เงิน การกระทำของเจ้าหนี้เป็นความผิดฐานใด
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 3874/2555
จำเลยทั้งสองซื้อสลากกินรวบจากผู้เสียหายที่
1 จำเลยทั้งสองย่อมทราบว่าเป็นการกระทำซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติการพนัน
พ.ศ. 2484 มาตรา 4 วรรคสอง , 12 (1)
และไม่ก่อให้เกิดหนี้ในอันที่จะสามารถบังคับกันได้ตามกฎหมาย
แม้หากเป็นหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมายและลูกหนี้ไม่ยอมชำระหนี้
เจ้าหนี้ยังหาได้มีสิทธิที่จะทวงถามด้วยการข่มขืนใจให้ลูกหนี้ยอมชำระหนี้โดยการใช้กำลังประทุษร้ายหรือโดยขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิตของลูกหนี้ไม่
จึงไม่มีเหตุที่จะให้จำเลยที่ 1 เข้าใจหรือเชื่อโดยสุจริตได้เลยว่าจำเลยที่ 1
มีสิทธิที่จะบังคับและข่มขู่ให้ผู้เสียหายที่
1 ยอมชำระเงินค่าสลากกินรวมให้แก่จำเลยที่ 1 ด้วยการใช้กำลังประทุษร้ายและขู่เข็ญว่าจะทำอันตรายต่อชีวิตของผู้เสียหายที่
1 ได้ เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ไม่ได้ยอมที่จะให้เงินแก่จำเลยที่ 1
การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการพยายามกรรโชก
จำเลยที่ 2
รู้เห็นโดยมีเจตนาที่จะร่วมกับจำเลยที่ 1
และพวกไม่ขู่เข็ญกับใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อทวงถามเงินค่าสลากกินรวมจากผู้เสียหายที่
1 มาตั้งแต่แรก มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กระทำไปเองเพียงลำพัง ถือว่าจำเลยที่
2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการพยายามกรรโชก
และใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายทั้งสองโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย
ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 337 วรรคสอง (1) ประกอบมาตรา 83, 391
ขณะเกิดเหตุ
ร้านเสริมสวยของผู้เสียหายที่ 1
ยังเปิดให้บริการอยู่ประชาชนทั่วไปรวมทั้งจำเลยทั้งสองมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้
ไม่ถือว่าเป็นเคหสถาน
การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานบุกรุกเคหสถานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 364
คำถาม
เจ้าพนักงานผู้ไม่มีหน้าที่จัดการหรือรักษาเงิน
การกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานเบียดบังเอาเงินที่จะต้องจ่ายแก่ราษฎรไป
เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 147 หรือไม่
คำตอบ
มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 7441/2555
จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ย.
จึงมีอำนาจเพียงอนุมัติฎีกาตามที่ ส. หัวหน้าส่วนการคลังเสนอเท่านั้น ส่วนการจ่ายเงินเป็นหน้าที่ของหน่วยงานเป็นผู้ดำเนินการ
การที่จำเลยที่ 1 ศ. และ ส. ซึ่งเป็นกรรมการรับส่งเงินไปเบิกถอนและรับเงินจากธนาคารมาเพื่อเบิกจ่ายเงินให้แก่ราษฎรผู้รับจ้างก่อสร้างถนนแล้ว
จำเลยที่ 1 ยืนยันขอรับเงินไปจ่ายให้แก่ราษฎรผู้รับจ้างเอง
จึงเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1
รับเงินไปแล้วเบียดบังเอาไปโดยทุจริต
ถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำความผิดในฐานะเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการหรือรักษาเงินตาม ป.อ. มาตรา 147
คงเป็นความผิดฐานยักยอกตาม ป.อ. มาตรา 352
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น