วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันอังคารที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค 2 สมัย 66 เล่ม 2

                    คำถาม  เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดำเนินการบังคับคดีโดยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของลูกหนี้ตามคำพิพากษามาโดยตลอด แต่ยังไม่ครบหนี้ตามหมายบังคับคดี เงินเดือนภายหลังจากครบกำหนด 10 ปี แห่งการบังคับคดีแล้วจะบังคับคดีต่อไปจนแล้วเสร็จได้หรือไม่ 
                          คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่ 5546/2556 คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ จำเลยทั้งสามไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีและขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งมีสิทธิได้รับจากองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย (ต่อมาเป็นบริษัท   ที  โอ   ที   จำกัด (มหาชน))  ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัด ต่อมาองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ส่งเงินตามคำสั่งอายัดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
                       จำเลยที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำร้องว่า นับแต่วันที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งการอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ดังกล่าว องค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยได้ส่งเงินตามคำสั่งอายัดตลอดมาจนถึงปัจจุบันล่วงเลยระยะเวลา10ปี แห่งการบังคับคดีแล้ว การอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ภายหลังจากครบกำหนด 10 ปี นับแต่ศาลพิพากษาจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจำเลยที่ 2 เคยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการอายัดแต่เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิเสธคำร้องดังกล่าว 
                       ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เมื่อพ้นระยะเวลา 10 ปีแห่งการบังคับคดีแล้วไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 จะบัญญัติให้เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลภายในกำหนด 10 ปี นับแต่วันที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งก็ตาม แต่หาได้กำหนดให้บังคับคดีให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 10 ปีไม่  คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่าภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหนี้ตามสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์จึงดำเนินการบังคับคดีโดยขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเงินเดือนของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งบริษั ท  ที โอ ที จำกัด (มหาชน)   ได้ส่งเงินตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีอายัดเดือนละ 2,000 บาท ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีตลอดมาแต่ยังไม่ครบหนี้ตามหมายบังคับคดี เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าโจทก์ดำเนินการบังคับคดีมาโดยตลอด ดังนี้ แม้เกิน 10 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา โจทก์ก็ยังสามารถดำเนินการบังคับคดีต่อไปได้จนกว่าจะบังคับคดีดังกล่าวจะแล้วเสร็จ   
                      คำถาม  การยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด แต่เนื้อหาเป็นเรื่องที่มุ่งหมายให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์สินที่ยึดคืนแก่ผู้ร้อง จะถือว่าเป็นการร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดหรือไม่ 
                        คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
              คำพิพากษาฎีกาที่ 3785/2556 ผู้ร้องบรรยายคำร้องว่า  ผู้ร้องและจำเลยมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดิน น.ส.3 แต่จำเลยยกที่ดินดังกล่าวให้ผู้ร้องและจำเลยได้ส่งมอบการครอบครองที่ดินส่วนของตนให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินทั้งหมดมาตลอดเป็นเวลา 30ปี แล้ว  เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโดยไม่เคยส่งหมายแจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทราบ ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ผู้ร้องไปรับเงินส่วนแบ่งที่ได้จากการขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงทราบเรื่อง ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ดังนี้ ตามคำร้องผู้ร้องอ้างว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของที่ดินที่โจทก์นำยึดจำเลยไม่ใช่เจ้าของ แม้ผู้ร้องอ้างมาด้วยว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งหมายแจ้งประกาศการขายทอดตลาดให้ผู้ร้องทราบ  ก็เป็นเรื่องที่ผู้ร้องมุ่งหมายให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์สินที่ยึดคืนแก่ผู้ร้อง เป็นกรณีที่ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 มิใช่เป็นการยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 ซึ่งการขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปล่อยทรัพย์สิน ผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องขอต่อศาลก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออกขายทอดตลาดตามมาตรา 288 วรรคหนึ่ง เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ขายทอดตลาดที่ดินไปตั้งแต่ก่อนผู้ร้องยื่นคำร้องขอ จึงล่วงเลยระยะเวลาตามที่กฎหมายกำหนด ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ได้
             คำถาม   การกล่าวอ้างว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษานั้น ลูกหนี้ตามคำพิพากษาจะยื่นคำฟ้องกรมบังคับคดี ขอให้ถอนการยึดและเรียกค่าเสียหายได้หรือไม่
                       คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  4487/2556  ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ที่ขอให้จำเลยทั้งสี่ถอนการยึดทรัพย์ห้องชุดของโจทก์ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสี่  แสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ศาลพิพากษา เพิกถอนการยึดทรัพย์ห้องชุดของโจทก์อันสืบเนื่องมาจากข้ออ้างของโจทก์ว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาเกินกว่าที่พอจะชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรรา284 ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 296 บัญญัติไว้เป็นการเฉพาะแล้วว่า ให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำร้องต่อศาลก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลงเพื่อให้ศาลสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวง โจทก์ในฐานลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่อ้างว่า  เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีโดยไม่ชอบจึงต้องดำเนินการตามบทกฎหมายนั้น แม้โจทก์จะมีคำขอให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ค่าเสียหายมาด้วยก็เป็นเพียงคำขอต่อเนื่องและเมื่อศาลยังมิได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เพิกถอนการยึดทรัพย์ก็จะฟังว่าการกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นการโต้แย้งสิทธิ์โจทก์หาได้ไม่ ฟ้องของโจทก์จึงเกี่ยวกับการบังคับคดีในคดีเดิมของศาลชั้นต้นและจำต้องมีคำวินิจฉัยของศาลก่อนที่การบังคับคดีจะได้ดำเนินไปได้โดยครบถ้วนและถูกต้อง ต้องด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 7 (2) โจทก์จึงต้องเสนอคดีโดยทำเป็นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นในคดีเดิมซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจในการบังคับคดี หาใช่ยื่นคำฟ้องต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีใหม่ไม่
                      คำถาม  คดีฟ้องให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน จำเลยยอมรับว่ากู้ยืมเงินจากโจทก์จริง  แต่ได้รับเงินกู้ไม่ครบเพราะโจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นโมฆะ ภาระการพิสูจน์ตกแก่คู่ความฝ่ายใด
                     คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่  5178/2556 จำเลยให้การรับว่า จำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์จริง  แต่กล่าวอ้างข้อเท็จจริงขึ้นใหม่ว่าจำเลยได้รับเงินกู้ไปจากโจทก์เพียง 1,500,000 บาท แต่หนังสือสัญญาจำนองระบุเงินกู้ยืมและจดทะเบียนจำนองเป็นเงิน 2,350,000 บาท เนื่องจากโจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายที่กำหนด นิติกรรม การกู้ยืมเงินตามหนังสือสัญญาจำนองจึงตกเป็นโมฆะ ภาระการพิสูจน์ตกแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 เดิม
                      แม้ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์มีภาระการพิสูจน์และมีหน้าที่นำสืบก่อน แต่ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงภาระการพิสูจน์ที่ถูกต้องตามที่กฎหมายบัญญัติได้ เมื่อจำเลยไม่สืบพยานให้ได้ความตามที่มีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงย่อมฟังไม่ได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินจากโจทก์ 1,500,000 บาท ตามที่ระบุไว้ในหนังสือสัญญาจำนอง ซึ่งให้ถือเป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินด้วย จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้พร้อมดอกเบี้ยแก่โจทก์ตามฟ้อง
                  คำถาม  อาคารที่พักสายตรวจเพื่อใช้เป็นสถานที่พักของเจ้าพนักงานตำรวจและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาแจ้งความร้องทุกข์ และห้องพักที่กั้นเป็นส่วนสัด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่พักสายตรวจซึ่งเจ้าพนักงานตำรวจทุกคนก็เข้าพักอาศัยได้ การค้นในสถานที่ดังกล่าวต้องมีหมายค้นหรือไม่
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
           คำพิพากษาฎีกาที่ 4958/2556 อาคารที่พักสายตรวจสร้างจากเงินบริจาคของประชาชน และสร้างบนที่ดินขององค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อใช้เป็นสถานที่พักของเจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มาแจ้งความร้องทุกข์แม้โจทก์จะร่วมบริจาคเงินในการก่อสร้างด้วย แต่วัตถุประสงค์การก่อสร้างที่ใช้เป็นที่พักสายตรวจและให้ประชาชนมาแจ้งความร้องทุกข์ได้ ย่อมแสดงว่าประชาชนประสงค์ให้ใช้เป็นสถานที่ราชการที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาติดต่อกับเจ้าพนักงานตำรวจได้ ทั้งอาคารดังกล่าวได้ขอบ้านเลขที่โดยระบุว่าเป็นที่ทำการสถานีตำรวจชุมชน และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เรียกเก็บค่ากระแสไฟฟ้าจากหัวหน้าสถานีตำรวจชุมชน บ่งชี้ได้ว่าประชาชนที่ร่วมกันก่อสร้างอาคารที่พักสายตรวจได้มอบอาคารให้เป็นสถานที่ราชการตำรวจโดยปริยายเมื่อประชาชนสามารถเข้ามาติดต่อใช้อาคารในการติดต่อกับเจ้าพนักงานตำรวจได้ จึงไม่ใช่ที่รโหฐานอันเป็นที่ส่วนตัวของโจทก์ที่จะมีอำนาจจัดการหวงห้ามได้ ส่วนห้องนอนของโจทก์ที่กั้นเป็นสัดส่วนเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่พักสายตรวจ และผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ใช้เป็นที่เปลี่ยนเสื้อผ้า แสดงว่านอกจากโจทก์จะใช้เป็นที่พักอาศัยแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจสายตรวจอื่นก็สามารถใช้ประโยชน์ได้ แม้โจทก์จะเก็บสิ่งของส่วนตัวไว้และใส่กุญแจก็ไม่ใช่ห้องพักส่วนตัวที่โจทก์จะมีสิทธิหวงกันไว้ผู้เดียวได้ แต่เป็นห้องพักอันเป็นสถานที่ราชการที่เจ้าพนักงานตำรวจอื่นก็เข้าพักอาศัยได้เช่นกัน  ห้องพักที่เกิดเหตุจึงไม่ใช่ที่รโหฐาน การที่จำเลยเข้าไปในห้องพักเพื่อค้นหาอาวุธปืนตามที่ผู้ใช้กระทำความผิดแจ้งว่านำมาไว้ในอาคารที่พักสายตรวจ  จึงมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่ามีสิ่งของที่ได้ใช้หรือมีไว้เป็นความผิดช่อนไว้ในห้องพักของโจทก์  จำเลยย่อมมีอำนาจค้นห้องพักของโจทก์ได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นหาใช่เป็นการกลั่นแกล้งเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่ การกระทำของจำเลยเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมาย  จึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157(ดูประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 93)
                                                                                   
                                                                                        นายประเสริฐ  เสียงสุทธิวงศ์

                                                                                                    บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น