คำถาม คู่ความทำหนังสือมอบอำนาจให้บุคคลอื่นเป็นผู้แทนตนในคดี หากผู้รับมอบอำนาจมีอาชีพเป็นทนายความ ผู้รับมอบอำนาจจะแต่งตั้งตนเองเป็นทนายความได้หรือไม่ และหากเป็นฝ่ายชนะคดีจะมีสิทธิได้รับค่าทนายความหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๙๒๙/๒๕๔๙ บทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๖๐ วรรคสอง ที่ห้ามมิให้ผู้รับมอบอำนาจว่าความอย่างทนายความเพื่อป้องกันมิให้บุคคลภายนอกอันมิได้มีอาชีพเป็นทนายความมาว่าความในศาลอย่างทนายความ แต่กรณีที่ผู้รับมอบอำนาจมีอาชีพเป็นทนายความและมีสิทธิว่าความในศาลได้อยู่แล้ว หากประสงค์จะว่าความอย่างทนายความก็ชอบที่จะแต่งตั้งตนเองเป็นทนายความได้ตามมาตรา ๖๑ และ ๖๒ เมื่อ ย. ซึ่งเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์ให้ฟ้องจำเลยมีอาชีพทนายความ ย. ย่อมมีสิทธิที่จะแต่งตั้งตนเองเป็นทนายความอีกฐานะหนึ่งได้ ไม่เป็นการต้องห้ามตามมาตรา ๖๐ วรรคสอง
คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๔๔๖/๒๕๕๓ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๖๐ ประกอบตาราง ๖ ท้ายประมวลกฎหมายดังกล่าว ให้ศาลกำหนดค่าทนายความให้แก่คู่ความที่แต่งทนายความให้ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาแทนตนก็ได้ โจทก์มีอาชีพเป็นทนายความ โจทก์แต่งโจทก์เองเป็นทนายความโจทก์ มิได้แต่งทนายความที่เป็นทนายความอีกคนหนึ่งต่างหากจากโจทก์ จึงมิใช่กรณีโจทก์แต่งทนายความแทนโจทก์ แม้โจทก์ว่าความและดำเนินกระบวนพิจารณาในฐานะทนายความโจทก์ ก็ไม่มีค่าทนายความที่จำเลยควรจะใช้แทน
คำถาม คดีแพ่งที่ไม่มีวันชี้สองสถานและวันสืบพยานจำเลยมีสิทธิขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การภายในกำหนดระยะเวลาใด และเรื่องที่ขอแก้ไขจะต้องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๑๑๕/๒๕๕๒ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้งดชี้สองสถานและงดสืบพยานโจทก์แล้วนัดฟังคำพิพากษา จึงไม่มีวันชี้สองสถานและวันสืบพยาน จำเลยที่ ๓ ย่อมจะยื่นคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การก่อนศาลชั้นต้นพิพากษาได้โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การของจำเลยที่ ๓ เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรืออไม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๐
คำถาม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพราะคู่ความทั้งสองฝ่ายขาดนัดพิจารณา โจทก์ยื่นฟ้องใหม่ขณะคดีก่อนยังอยู่ในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ แต่จำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีจนคำสั่งศาลชั้นต้นถึงที่สุดแล้ว จะถือว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๘๔/๒๕๔๘ เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยฐานผิดสัญญาบัตรเครดิตเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ บ. ๑๐๕๘๑/๒๕๔๒ หมายเลขแดงที่ บ. ๓๒๗/๒๕๔๓ ของศาลชั้นต้น ในที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๔๓ ซึ่งเป็นวันนัดสืบพยานโจทก์นัดแรก โจทก์และจำเลยขาดนัดพิจารณา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความ วันที่ ๒๗ มกราคม ๒๕๔๓ โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยในเรื่องเดียวกันต่อศาลชั้นต้นเป็นคดีนี้ ต่อมาวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๔๓ จำเลยยื่นคำร้องในคดีก่อน ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีโดยอ้างว่าเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้อนกับฟ้องโจทก์ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ บ.๑๐๕๘๑/๒๕๔๒ หมายเลขแดงที่ บ. ๓๒๗/๒๕๔๓ ของศาลชั้นต้นหรือไม่ เห็นว่า คดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีจากสารบบความเนื่องจากโจทก์และจำเลยขาดนัดพิจารณา จึงไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องเป็นคดีใหม่ภายในกำหนดอายุความ แม้โจทก์จะฟ้องคดีนี้ขณะคดีก่อนยังอยู่ในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์ แต่จำเลยมิได้อุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีจนคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว จึงถือไม่ได้ว่าขณะโจทก์ฟ้องคดีนี้คดีก่อนอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ แม้ต่อมาจำเลยจะได้ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีและอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ที่ให้ยกคำร้องดังกล่าว แต่เป็นการยื่นคำร้องเมื่อคดีถึงที่สุดแล้ว และยื่นคำร้องช้ากว่า ๘ วัน นับแต่วันที่ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างว่าผิดระเบียบ คำร้องคัดค้านเรื่องผิดระเบียบที่ขอให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีจึงไม่ชอบ ไม่มีผลกระทบถึงคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้จำหน่ายคดีและถึงที่สุดไปแล้ว
คำถาม การขอแก้ไขคำพิพากษาตามยอมในส่วนที่เกี่ยวกับการคืนค่าขึ้นศาล ถือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๓ หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๓๕๗/๒๕๕๓ โจทก์จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันในชั้นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาตามยอม แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับค่าขึ้นศาลนั้น ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ สั่งว่า ค่าขื้นศาลมีเพียง ๒๐๐ บาท จึงไม่คืนให้ แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน ๗๕,๐๐๐ บาท ความผิดพลาดจึงเกิดเพราะความผิดหลงในข้อเท็จจริงของศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ซึ่งความผิดพลาดในเรื่องการคืนค่าขึ้นศาลให้แก่จำเลยนี้เป็นคนละส่วนกับข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมยอมความของคู่ความซึ่งไม่มีข้อผิดพลาด แม้สัญญาประนีประนอมยอมความระบุว่าค่าฤชาธรรมเนียมเป็นพับก็เป็นข้อตกลงระหว่างคู่ความในเรื่องความรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างกันเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ที่จะสั่งคืนค่าขึ้นศาล เมื่อคดีได้เสร็จเด็ดขาดโดยสัญญาหรือการประนีประนอมยอมความ ซึ่งเป็นเรื่องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๕๑ วรรคสอง ดังนั้น เมื่อคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค ๑ มีข้อผิดพลาดเล็กน้อย ศาลฎีกาเห็นสมควรที่จะมีคำสั่งแก้ไขข้อผิดพลาดเช่นว่านั้นให้ถูกต้องตามมาตรา ๑๔๓ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๒๔๖ และ ๒๔๗ โดยให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ ๖๕,๐๐๐ บาท แก่จำเลย
คำถาม ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้พิจารณาแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี จำเลยฎีกา ดังนี้ โจทก์จะถอนฟ้องได้หรือไม่ และจะมีผลต่อฎีกาของจำเลยหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๖๒๓/๒๕๔๘ ศาลอุทธรณ์ยกคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานจำเลยทั้งสองต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี แม้จำเลยทั้งสองจะยื่นฎีกาอยู่ก็ตาม แต่คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ย่อมผูกพันคู่ความอยู่จนกว่าคำพิพากษาศาลอุทธรณ์จะถูกเปลี่ยนแปลง แก้ไข กลับหรืองดเสีย ถ้าหากมี ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง ดังนี้ต้องถือว่า คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นที่จะต้องสืบพยานจำเลยต่อไป ดังนั้น โจทก์ย่อมขอถอนฟ้องได้ และกระทำให้คู่ความกลับคืนสู่ฐานะเดิมเสมือนหนึ่งมิได้มีการยื่นคำฟ้องเลย ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๖ ดังนั้น ฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงต้องถูกลบล้างไปด้วยผลของการถอนฟ้องไม่อาจที่จะนำฎีกาของจำเลยทั้งสองมาพิจารณาได้อีกต่อไป
คำถาม คำแถลงของจำเลยที่ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ และศาลบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา รายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวจะถือว่าเป็นคำให้การจำเลยที่ยื่นต่อศาลหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๑๑/๒๕๔๘ รายงานกระบวนพิจารณาเป็นเอกสารที่ศาลจดแจ้งข้อความเกี่ยวด้วยเรื่องที่ได้กระทำในการนั่งพิจารณาหรือในการดำเนินกระบวนพิจารณาอื่นๆ ของศาลตามที่บัญญัติไว้ใน ป.วิ.พ. มาตรา ๔๘ ส่วนคำให้การเป็นคำคู่ความซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้งใน ป.วิ.พ. มาตรา ๖๗ ว่าให้คู่ความทำเป็นหนังสือโดยใช้แบบพิมพ์ของศาลที่จัดไว้และมีรายการต่างๆ ตามที่ระบุไว้ในบทบัญญัติดังกล่าว ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นจะได้บันทึกคำแถลงของจำเลยที่ ๔ ที่ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทกามฟ้องไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ก็ถือไม่ได้ว่ารายงานกระบวนพิจารณาฉบับดังกล่าวเป็นคำให้การของจำเลยที่ ๔
เมื่อจำเลยที่ ๔ มิได้ยื่นคำให้การภายในกำหนด กรณีจึงถือว่าจำเลยที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การโจทก์ต้องมีคำขอต่อศาลภายใน ๑๕ วันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยที่ ๔ ยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลงเพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๙๘ วรรคหนึ่ง แม้จำเลยทั้งสี่จะแถลงยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง และศาลชั้นต้นสามารถพิจารณาคดีได้โดยไม่ต้องทำการสืบพยานอีกต่อไป ก็ไม่ทำให้โจทก์หมดหน้าที่ที่จำต้องมีคำขอตามบทกฎหมายดังกล่าว เมื่อโจทก์มิได้มีคำขอศาลชั้นต้นก็ชอบที่จะมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีของโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๔ ออกจากสารบบความได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๙๘ วรรคสอง
คำถาม คดีเรื่องละเมิดอำนาจศาลอยู่ในบังคับบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๒๖/๒๕๔๘ บทบัญญัติมาตรา ๓๑ และมาตรา ๓๓ แห่ง ป.วิ.พ. เป็นบทบัญญัติที่ให้อำนาจศาลลงโทษผู้กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเพื่อให้ศาลสามารถควบคุมการดำเนินกระบวนพิจารณาทั้งในและนอกศาลให้ดำเนินไปได้โดยราบรื่นรวดเร็วและเป็นธรรมต่อคู่ความทุกฝ่าย แม้ว่ามาตรา ๓๓ จะกำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับ ซึ่งเป็นโทษทางอาญาด้วยก็ตาม แต่เนื่องจากบทบัญญัติในเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นบทบัญญัติพิเศษที่ไม่เกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำความผิดทางอาญาทั่วไป จึงไม่อยู่ในบังคับของข้อจำกัดเกี่ยวกับการอุทธรณ์ฎีกาตาม ป.วิ.อ. จำเลยจึงสามารถฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค ๖ ต่อศาลฎีกาได้
คำสั่งคำร้องที่ ๖๖/๒๕๑๖ คำสั่งให้ลงโทษจำคุกฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นคำสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๘ (๑) ไม่ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น