สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคสอง
สมัยที่ 65 ปีการศึกษา
2555
วิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม
กฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน วิชาว่าความและการถามพยาน
การจัดทำเอกสารทางกฎหมาย
วันอาทิตย์ที่
7 เมษายน
2556
ข้อ 1.พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายคงเป็นจำเลยฐานยักยอกเงินจำนวน 300,000 บาท ของนายมั่นผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352
ซึ่งเป็นความผิดอันยอมความได้
นายคงให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา
นายมั่นยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า นายคงมีความผิดตามฟ้อง จำคุก 6 เดือน นายคงยื่นอุทธรณ์ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ นายมั่นถึงแก่ความตาย
(ก)นายทองยื่นคำร้องต่อศาลว่า
ผู้ร้องเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนายมั่นขอเข้าดำเนินคดีต่างนายมั่นโจทก์ร่วมผู้ตาย กรณีหนึ่ง
(ข)นางนกภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายมั่นยื่นคำร้องต่อศาลว่า ผู้ร้องได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากนายคงแล้ว
ผู้ร้องและทายาททุกคนไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่นายคงต่อไป ขอถอนคำร้องทุกข์ อีกกรณีหนึ่ง
ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะสั่งคำร้องของนายทองตามข้อ (ก)
และคำร้องของนางนกตามข้อ (ข) กับคดีอย่างไร
ธงคำตอบ
(ก) นายมั่นผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วมแล้วตายลง
แม้นายทองผู้ร้องจะเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับนายมั่นโจทก์ร่วมก็ตาม แต่นายทองผู้ร้องมิใช่ผู้บุพการี ผู้สืบสันดาน
สามีหรือภริยาของผู้ตาย
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 29 ที่จะดำเนินคดีต่างนายมั่นโจทก์ร่วมผู้ตายต่อไปได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 2242/2533, คำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 13/2534)
ศาลชอบที่จะสั่งยกคำร้องของนายทองผู้ร้อง
(ข) การถอนคำร้องทุกข์เป็นสิทธิ ซึ่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 126 วรรคหนึ่ง
บัญญัติให้สิทธิแก่ผู้ร้องทุกข์ที่จะถอนคำร้องทุกข์เสียเมื่อใดก็ได้
สิทธิถอนคำร้องทุกข์ในความผิดฐานยักยอกถือเป็นสิทธิเกี่ยวกับทรัพย์สิน และในกรณีผู้ร้องทุกข์ตาย สิทธิดังกล่าวย่อมตกทอดแก่ทายาท เมื่อตามคำร้องขอถอนคำร้องทุกข์ของนางนก ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายมั่นผู้ตายได้ความว่า บรรดาทายาททุกคนของนายมั่นไม่ประสงค์จะดำเนินคดีแก่นายคงอีกต่อไป และขอถอนคำร้องทุกข์ ดังนั้น
นางนกผู้ร้องซึ่งเป็นทายาทในฐานะภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายมั่นผู้ตายจึงมีสิทธิถอนคำร้องทุกข์ได้ แม้คดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และเมื่อมีการถอนคำร้องทุกข์โดยถูกต้องตามกฎหมาย
สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามมาตรา 39 (2) (คำสั่งศาลฎีกาที่ 372/2549)
ศาลชอบที่จะสั่งจำหน่ายคดีนี้เสียจากสารบบความ
ข้อ 2.นายขาวร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีแก่นายดำโดยกล่าวหาว่า วันเกิดเหตุขณะที่นายขาวยืนอยู่บริเวณหน้าบ้านของนายขาว
นายดำเดินเข้ามาทำร้ายนายขาวและเอาสร้อยคอทองคำหนัก 1 บาท ของนายขาวไป
ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมนายดำได้ตามหมายจับ และแจ้งข้อหาชิงทรัพย์กับแจ้งสิทธิตามกฎหมายชั้นจับกุมให้นายดำทราบ นายดำรับสารภาพ และแจ้งว่าได้เก็บสร้อยคอทองคำของนายขาวไว้ในตู้เสื้อผ้าภายในบ้านของนายดำ
เจ้าพนักงานตำรวจบันทึกคำให้การของนายดำไว้ในบันทึกการจับกุมและยึดสร้อยคอทองคำเป็นของกลาง
ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาชิงทรัพย์และแจ้งสิทธิตามกฎหมายที่ผู้ต้องหาพึงมีในชั้นสอบสวนให้นายดำทราบ จากการสอบสวนได้ความว่า นอกจากนายดำแล้วยังมีนายเขียวและนายเหลืองร่วมกระทำความผิดด้วย แต่นายเขียวและนายเหลืองหลบหนีไปได้
เมื่อพนักงานสอบสวนทำการสอบสวนเสร็จแล้วมีความเห็นว่า ควรสั่งฟ้องนายดำฐานร่วมกันปล้นทรัพย์
ต่อมาพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายดำในความผิดฐานดังกล่าว
(ก) นายดำให้การปฏิเสธโดยต่อสู้ว่า
ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนเจ้าพนักงานมิได้แจ้งข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์ให้นายดำทราบมาก่อน เป็นเหตุให้การสอบสวนไม่ชอบ
โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนายดำในข้อหาร่วมกันปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 120 ขอให้ยกฟ้อง ให้วินิจฉัยว่า
ข้อต่อสู้ของนายดำฟังขึ้นหรือไม่
(ข) ศาลจะรับฟังคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของนายดำมาเป็นเหตุบรรเทาโทษได้หรือไม่
ธงคำตอบ
(ก) การสอบสวนเป็นเพียงการรวบรวมพยานหลักฐานและดำเนินการทั้งหลายตามที่กฎหมายกำหนดซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา
เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิดและเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ
และการแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134
เป็นขั้นตอนหนึ่งของการสอบสวนเพื่อให้ผู้ต้องหารู้ตัวก่อนว่าจะถูกสอบสวนในคดีอาญาเรื่องใด
แม้เดิมเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาหนึ่ง
แต่เมื่อการสอบสวนปรากฏว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐานอื่น ก็ถือได้ว่ามีการสอบสวนในความผิดฐานนั้นมาแล้วแต่แรก ดังนั้น
แม้ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจะแจ้งข้อหาแก่นายดำฐานชิงทรัพย์
แต่เมื่อพนักงานอัยการโจทก์เห็นว่าการกระทำความผิดของนายดำเข้าองค์ประกอบความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ตามความเห็นของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องนายดำในความผิดฐานร่วมกันปล้นทรัพย์ได้ ข้อต่อสู้ของนายดำฟังไม่ขึ้น (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 256/2553)
(ข) คำให้การในชั้นจับกุมของนายดำที่ว่า
ได้ทำร้ายร่างกายนายขาวและเอาสร้อยคอทองคำของนายขาวไปจริง
เป็นถ้อยคำที่ถือได้ว่าเป็นคำรับสารภาพของผู้ถูกจับว่าตนได้กระทำความผิดที่ให้ไว้ต่อเจ้าพนักงานผู้จับขณะที่ตนถูกจับ
แม้กฎหมายจะห้ามมิให้ศาลรับฟังคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของจำเลยเป็นพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 84 วรรคท้าย
แต่กฎหมายก็มิได้ห้ามศาลนำมาใช้เป็นเหตุบรรเทาโทษแก่จำเลย ซึ่งถือได้ว่าคำให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมดังกล่าวเป็นเหตุบรรเทาโทษโดยเหตุอื่นที่มีลักษณะทำนองเดียวกันกับเหตุบรรเทาโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 วรรคสอง
ศาลจึงรับฟังคำรับสารภาพในชั้นจับกุมของนายดำมาเป็นเหตุบรรเทาโทษได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 7245/2554)
ข้อ 3. เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลบางเขนจับกุมนายสมบัติได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน จำนวน 100 เม็ด
นำส่งพันตำรวจโทโชคชัยพนักงานสอบสวนดำเนินคดี จากการสอบสวนขยายผลนายสมบัติให้การซัดทอดว่าได้ร่วมกับนายสมชายจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน พันตำรวจโทโชคชัยแจ้งให้ร้อยตำรวจโทบุญส่งทราบ
ร้อยตำรวจโทบุญส่งจึงวางแผนให้นายสมบัติโทรศัพท์จากสถานีตำรวจนครบาลบางเขนสั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนายสมชายอีก จำนวน 100 เม็ด
โดยตกลงส่งมอบสิ่งของกันที่หน้าบ้านพักของนายสมชายในเขตท้องที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไทในวันเดียวกัน เมื่อร้อยตำรวจโทบุญส่งกับพวกเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมซึ่งแอบซุ่มดูการล่อซื้อเห็นนายสมบัติล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนได้แล้ว
จึงร่วมกันเข้าไปจับกุมนายสมชายที่หน้าบ้านพักทันที พร้อมยึดได้ธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อและเมทแอมเฟตามีนที่ได้จากการล่อซื้อเป็นของกลาง ขณะปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้นบ้านพักของจำเลย
ร้อยตำรวจโทบุญส่งได้บอกกับนายสมชายว่าหากมีเมทแอมเฟตามีนอยู่อีกให้นำมามอบให้จะได้รับโทษเบาลง นายสมชายจึงนำเมทแอมเฟตามีนที่ตนซุกซ่อนไว้ภายในบ้านมามอบให้ร้อยตำรวจโทบุญส่งยึดไว้เป็นของกลาง
หลังจากนั้นจึงนำตัวนายสมชายพร้อมของกลางทั้งหมดมาสอบสวนที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน ต่อมาพนักงานอัยการยื่นฟ้องนายสมชายเป็นจำเลยต่อศาลอาญาในความผิดฐานจำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท
1
ให้วินิจฉัยว่า
(ก) พนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องนายสมชายจำเลยหรือไม่
(ข) การที่ร้อยตำรวจโทบุญส่งพูดจูงใจให้จำเลยนำเมทแอมเฟตามีนที่ซุกซ่อนไว้ภายในบ้านมามอบให้เพื่อให้ได้มาซึ่งของกลางในขณะปฏิบัติหน้าที่ตรวจค้นเป็นการกระทำชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบ
(ก) เจ้าพนักงานตำรวจพบการกระทำผิดของนายสมบัติก่อนแล้วจึงสอบสวนขยายผล
นายสมบัติให้การซัดทอดว่าได้ร่วมกับจำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน
การที่ร้อยตำรวจโทบุญส่งวางแผนให้นายสมบัติโทรศัพท์สั่งซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยอีกจนจับกุมจำเลยได้ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท
จึงเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องเกี่ยวพันกันทั้งในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขนซึ่งเป็นท้องที่ที่นายสมบัติโทรศัพท์ล่อซื้อและสถานีตำรวจนครบาลพญาไท ซึ่งเป็นท้องที่ที่ทำการล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางและจับกุมจำเลยได้
พนักงานสอบสวนท้องที่หนึ่งท้องที่ใดที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวน ดังนั้น
พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลบางเขนย่อมมีอำนาจสอบสวนได้โดยชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 19 วรรคหนึ่ง
(3)
การสอบสวนจึงเป็นไปโดยชอบ
พนักงานอัยการโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยตามมาตรา 120 (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 4337/2554)
(ข) การที่ร้อยตำรวจโทบุญส่งเจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจค้นจับกุมจำเลย
ได้บอกจำเลยว่าหากมีเมทแอมเฟตามีนอยู่อีกให้นำมามอบให้จะได้รับโทษเบาลงนั้น เป็นการพูดในขณะที่ปฏิบัติการตรวจค้นเพื่อให้ได้มาซึ่งของผิดกฎหมายที่อยู่ในความครอบครองของจำเลย
แม้จะเป็นการพูดจูงใจในทำนองว่าจำเลยจะได้รับโทษเบาลงก็ไม่ถึงขั้นเป็นการให้คำมั่นสัญญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 135 จึงมิใช่เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาฎีกาที่ 1542/2540)
ข้อ 4.(ก)
นายอาทิตย์ขับรถยนต์ชนรถยนต์ที่นายจันทร์ขับ
เป็นเหตุให้นายอาทิตย์และนายอังคารซึ่งโดยสารมาในรถยนต์ที่นายจันทร์ขับได้รับอันตรายสาหัส พนักงานอัยการเห็นว่านายจันทร์เป็นฝ่ายประมาทฝ่ายเดียว
จึงเป็นโจทก์ฟ้องนายจันทร์ในข้อหากระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 ศาลชั้นต้นประทับฟ้อง นายจันทร์ให้การปฏิเสธ
ต่อมานายอาทิตย์เป็นโจทก์ฟ้องนายจันทร์ในข้อหาเดียวกันอีก และนายอังคารเป็นโจทก์ฟ้องนายอาทิตย์ว่า
นายอาทิตย์กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้นายอังคารได้รับอันตรายสาหัส ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 เช่นกัน ทั้งสองคดีหลังศาลชั้นต้นนัดไต่สวนมูลฟ้อง
แต่นายอาทิตย์และนายอังคารโจทก์ในสองคดีหลังต่างยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นขอให้รวมการพิจารณาคดีเข้ากับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายจันทร์ ศาลชั้นต้นอนุญาต พร้อมกับมีคำสั่งในสองคดีหลังว่า
กรณีนี้เป็นกรณีเดียวกับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายจันทร์ จึงให้งดไต่สวนมูลฟ้อง แล้วประทับฟ้องไว้พิจารณา
ให้วินิจฉัยว่า
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ประทับฟ้องสองคดีหลังชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
(ข) หากกรณีตาม
(ก) นายอาทิตย์ไม่ได้ฟ้องนายจันทร์
คงมีเพียงคดีที่นายอังคารเป็นโจทก์ฟ้องนายอาทิตย์เท่านั้น ซึ่งปรากฏว่าในวันนัดไต่สวนมูลฟ้อง โจทก์
ทนายโจทก์ และจำเลยมาศาล
ศาลชั้นต้นมิได้ให้นายอังคารโจทก์นำพยานเข้าไต่สวน เพียงแต่สอบถามข้อเท็จจริงแล้วนายอังคารโจทก์แถลงข้อเท็จจริงให้ทราบ
ศาลชั้นต้นบันทึกข้อเท็จจริงไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา
ส่วนนายอาทิตย์จำเลยให้การรับสารภาพว่าได้กระทำความผิดตามฟ้องจริงและแถลงขอให้ลงโทษสถานเบา
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาแล้วพิพากษาลงโทษนายอาทิตย์จำเลยไปทันทีในวันเดียวกัน
ให้วินิจฉัยว่า
คำสั่งและคำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบ
(ก) ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 162 วรรคหนึ่ง
(1)
ในคดีราษฎรเป็นโจทก์
ให้ไต่สวนมูลฟ้อง
แต่ถ้าคดีนั้นพนักงานอัยการได้ฟ้องจำเลยโดยข้อหาอย่างเดียวกันด้วยแล้ว ให้จัดการตามอนุมาตรา (2)
คือไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องคดีที่นายอาทิตย์เป็นโจทก์ฟ้องนายจันทร์ แม้พนักงานอัยการจะฟ้องนายจันทร์ไว้แล้ว นายอาทิตย์เป็นผู้เสียหายก็ยังมีอำนาจฟ้องนายจันทร์เป็นคดีใหม่ได้อีก
และเมื่อศาลชั้นต้นอนุญาตให้รวมการพิจารณาคดีเข้าด้วยกัน
อีกทั้งเป็นการฟ้องนายจันทร์ในข้อหาเดียวกันด้วย
ศาลชั้นต้นจึงไม่จำเป็นต้องไต่สวนมูลฟ้องอีกตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่คดีที่นายอังคารเป็นโจทก์ฟ้องนายอาทิตย์
แม้เป็นการฟ้องในข้อหาเดียวกันกับคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายจันทร์ก็ตาม แต่จำเลยทั้งสองคดีไม่ใช่จำเลยคนเดียวกัน จึงไม่ต้องด้วยมาตรา 162 วรรคหนึ่ง
(1)
ที่ศาลชั้นต้นจะจัดการตามอนุมาตรา
(2)
จึงต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อน
ดังนั้น
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ประทับฟ้องคดีที่นายอาทิตย์เป็นโจทก์ฟ้องนายจันทร์นั้นชอบด้วยกฎหมาย แต่ที่ให้งดไต่สวนมูลฟ้องแล้วประทับฟ้องคดีที่นายอังคารเป็นโจทก์ฟ้อง นายอาทิตย์นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(ข) ตามประมวลกฎหมายวิธิจารณาความอาญา มาตรา 162 วรรคสอง
ในกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้อง
ถ้าจำเลยให้การรับสารภาพ
ให้ศาลประทับฟ้องไว้พิจารณา
การที่ศาลชั้นต้นสอบถามข้อเท็จจริงจากนายอังคารโจทก์ซึ่งแถลงข้อเท็จจริงให้ทราบโดยมีการบันทึกไว้ในรายงานกระบวนพิจารณา ถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีการไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เมื่อนายอาทิตย์จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นต้องสั่งประทับฟ้องไว้พิจารณาตามบทบัญญัติดังกล่าว คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ประทับฟ้องนายอาทิตย์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งประทับฟ้องแล้ว ถ้าศาลชั้นต้นจะพิจารณาพิพากษาคดีให้เสร็จไปในวันนั้น
ศาลชั้นต้นต้องดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามมาตรา 173 วรรคสอง
และ 172 วรรคสอง
โดยสอบถามจำเลยเรื่องทนายความ
อ่านและอธิบายฟ้องให้จำเลยฟัง
และถามคำให้การจำเลย
หากจำเลยยังคงให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นจะพิพากษาคดีไปโดยไม่สืบพยานก็ได้ การที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาไปทันทีในวันเดียวกันโดยมิได้ดำเนินกระบวนการพิจารณาตามขั้นตอนดังกล่าว คำพิพากษาของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ข้อ 5.พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่
10 กุมภาพันธ์
2556
เวลากลางวัน
จำเลยลักโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายกบผู้เสียหายไปโดยทุจริต เหตุเกิดที่แขวงลาดพร้าว เขตลาดพร้าว
กรุงเทพมหานคร
ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 335 วรรคแรก
ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงห้าปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท จำเลยให้การปฏิเสธ ก่อนสืบพยาน
โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ฟ้องเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุเป็นว่า เหตุเกิดที่แขวงลาดยาว เขตจตุจักร
กรุงเทพมหานคร
โดยอ้างว่าเสมียนพิมพ์ผิดพลาด
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง ยกคำร้อง
ให้วินิจฉัยว่า
(ก)โจทก์จะอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องทันทีได้หรือไม่
(ข)หากศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์จำเลยเสร็จแล้วพิพากษาว่า
จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334 ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินหกพันบาท โดยให้ลงโทษจำคุกจำเลย 1 ปี และปรับ 6,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี
โจทก์จะอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยได้หรือไม่
ธงคำตอบ
(ก) คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้อง
เป็นคำสั่งระหว่างพิจารณาที่ไม่ทำให้คดีเสร็จสำนวน
ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำสั่งนั้นจนกว่าศาลชั้นต้นจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งในประเด็นสำคัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 196
โจทก์จึงอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้โจทก์แก้ฟ้องทันทีไม่ได้
และในกรณีเช่นนี้จะนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 227 และ 228 ว่าด้วยการอุทธรณ์คำสั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความมาบังคับใช้โดยอนุโลมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ไม่ได้
เพราะประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 2229/2533)
(ข) โจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่
10 กุมภาพันธ์
2556
เวลากลางวัน
จำเลยลักโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนายกบผู้เสียหายไปโดยทุจริต
แม้โจทก์มีคำขอท้ายฟ้องให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 วรรคแรก ก็ตาม
แต่โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า
เหตุเกิดในเวลากลางคืน
ศาลจึงลงโทษจำเลยตามมาตรา 335 ดังกล่าวไม่ได้คงลงโทษจำเลยได้ตามมาตรา 334
ซึ่งมีอัตราโทษอย่างสูงให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
จึงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 193 ทวิ เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 1
ปี และปรับ 6,000
บาท
โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้
โจทก์จะอุทธรณ์ขอให้ไม่รอการลงโทษจำคุกจำเลยซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 10589/2553)
ข้อ 6.ร้อยตำรวจโทธรรมสืบทราบว่านายแดงซึ่งศาลได้ออกหมายจับในคดีชิงทรัพย์หลบซ่อนตัวอยู่ในบ้านเลขที่ 22
ของนายดำน้องชายนายแดง
จึงยื่นคำร้องต่อศาลขอออกหมายค้นบ้านหลังดังกล่าว ศาลออกหมายค้นให้ตามคำร้องขอ
เมื่อร้อยตำรวจโทธรรมและสิบตำรวจตรีพรกับพวกไปถึงบ้านนายดำ พบว่านายแดงหลบหนีเข้าไปในบ้านเลขที่ 23 ซึ่งตามทะเบียนบ้านมีนายแดงมีเจ้าบ้าน
ร้อยตำรวจโทธรรมได้แสดงตัวแต่นายแดงได้ปิดประตูไม่ยอมให้เข้าบ้าน
ร้อยตำรวจโทธรรมและสิบตำรวจตรีพรกับพวกตามเข้าไปจับนายแดง นายแดงไม่ยอมเปิดประตูอ้างว่าจะมอบตัวในวันหลัง
ร้อยตำรวจโทธรรมและสิบตำรวจตรีพรกับพวกกระแทกประตูจนเปิดออกแล้วเข้าไปจับกุมนายแดงไว้ได้
ส่วนสิบตำรวจตรีพรเห็นนายเหลืองบุตรนายแดงกำลังเสพเมทแอมเฟตามีนอยู่ในบ้านดังกล่าว จึงเข้าจับกุมนำส่งพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
ให้วินิจฉัยว่า
การตรวจค้นและจับกุมนายแดงและนายเหลืองชอบหรือไม่
ธงคำตอบ
การจับในที่รโหฐานนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 81 บัญญัติว่า
ไม่ว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม
ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน
เว้นแต่จะได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอันนี้ว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน ส่วนการค้นในที่รโหฐานนั้นตามมาตรา 92 วรรคหนึ่ง
(5)
หากผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน
และการจับนั้นมีหมายจับเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจค้นและจับได้ การจับนายแดงย่อมกระทำได้ เนื่องจากนายแดงผู้จะต้องถูกจับเป็นเจ้าบ้าน และมีหมายจับนายแดงตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าว
ในการจับปรากฏว่านายแดงหลบหนีเข้าไปในบ้านแล้วปิดประตูไม่ยอมให้ร้อยตำรวจโทธรรมกับพวกเข้าไปจับ ร้อยตำรวจโทธรรมกับพวกย่อมมีอำนาจใช้กำลังเพื่อเข้าไปในบ้านนั้น
การที่ร้อยตำรวจโทธรรมและสิบตำรวจตรีพรกับพวกกระแทกประตูบ้านจนเปิดออกแล้วเข้าไปจับนายแดงไว้ได้
นับว่าเป็นกรณีจำเป็นที่ร้อยตำรวจโทธรรมเจ้าพนักงานตำรวจผู้ตรวจค้นมีอำนาจกระทำได้ตามมาตรา 94 วรรคสอง
เพราะเป็นการใช้กำลังอันเหมาะสมตามพฤติการณ์แห่งเรื่อง (คำพิพากษาฎีกาที่ 1035/2536, 6403/2545) การตรวจค้นบ้านและจับกุม นายแดงจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
เมื่อขณะตรวจค้นสิบตำรวจตรีพรเห็นนายเหลืองกำลังเสพเมทแอมเฟตามีนในบ้านของนายแดงซึ่งเป็นความผิดซึ่งหน้า สิบตำรวจตรีพรย่อมมีอำนาจจับกุมนายเหลืองได้ตามมาตรา 98 (2)
การตรวจค้นและจับกุมนายเหลืองจึงชอบแล้วเช่นกัน
ข้อ 7. โจทก์ฟ้องเรียกเงินค่าจ้างทำของจำนวน 500,000 บาท จากจำเลย
ตามภาพถ่ายสัญญาจ้างก่อสร้างท้ายฟ้อง
จำเลยให้การว่า
โจทก์ทำงานผิดพลาดหลายประการ
จำเลยจึงยังจ่ายค่าจ้างให้ไม่ได้
แต่เมื่อมีการเจรจาประนอมข้อพิพาท
โจทก์และจำเลยตกลงประนีประนอมยอมความกันได้
ตามภาพถ่ายหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความท้ายคำให้การ ทำให้หนี้เดิมตามคำฟ้องระงับสิ้นไปแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ให้วินิจฉัยว่า
(ก) คดีมีประเด็นข้อพิพาท และภาระการพิสูจน์อย่างไร
(ข) ถ้าโจทก์ไม่ได้คัดค้านความถูกต้องแท้จริงของหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความท้ายคำให้การไว้เลย
จำเลยจะนำสืบสำเนาหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความแทนต้นฉบับได้หรือไม่
(ค) โจทก์จะขอนำสืบพยานบุคคลว่าหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเอกสารปลอมทั้งฉบับได้หรือไม่
ธงคำตอบ
(ก) คดีมีประเด็นข้อพิพาทประเด็นเดียวว่า
โจทก์จำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันหรือไม่
จำเลยมีภาระการพิสูจน์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84/1
เพราะจำเลยเป็นฝ่ายกล่าวอ้างข้อเท็จจริงดังกล่าวส่วนข้อที่โจทก์กล่าวอ้างมาในคำฟ้องนั้น จำเลยมิได้ยกขึ้นปฏิเสธในคำให้การตามมาตรา 177 วรรคสอง
ถือว่าจำเลยยอมรับแล้ว
จึงไม่เป็นประเด็นข้อพิพาท
(ข) ภาพถ่ายหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความที่แนบไปท้ายคำให้การ มีผลเท่ากับได้ส่งสำเนาเอกสารนั้นให้โจทก์และศาลล่วงหน้าถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่ง
แล้ว
โจทก์มีหน้าที่ต้องคัดค้านการมีอยู่และความถูกต้องแท้จริงแห่งเอกสารนั้นต่อศาลก่อนการนำสืบเอกสารดังกล่าวเสร็จตามมาตรา 125 วรรคหนึ่ง เมื่อโจทก์มิได้คัดค้านไว้
จำเลยจึงนำสืบสำเนาเอกสารนั้นแทนต้นฉบับได้ตามมาตรา 93 (4)
(ค) การที่โจทก์ไม่ได้คัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของสัญญาประนีประนอมยอมความก่อนการสืบพยานเอกสารนั้นเสร็จ
จึงมีผลห้ามมิให้โจทก์คัดค้านการมีอยู่และความแท้จริงของเอกสารนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 125 วรรคสาม
โจทก์จะนำสืบพยานหลักฐานทุกชนิดรวมทั้งพยานบุคคลว่าสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นเอกสารปลอมทั้งฉบับไม่ได้
ข้อ 8.ร้อยตำรวจตรีเขียวได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ไปสืบสวนหาข่าวที่ร้านอาหารกินด่วน ซึ่งสืบทราบว่าเป็นแหล่งที่ผู้ค้ายาเสพติดชอบมาชุมนุม
ร้อยตำรวจตรีเขียวแต่งกายนอกเครื่องแบบสังเกตเห็นนายหนึ่งและนายสองมีพฤติการณ์น่าสงสัย จึงไปนั่งรับประทานอาหารที่โต๊ะใกล้กับโต๊ะของบุคคลทั้งสอง
ได้ยินนายหนึ่งพูดกับนายสองว่าจะนำเมทแอมเฟตามีนไปส่งที่บ้านนายสอง
ร้อยตำรวจตรีเขียวรายงานต่อพันตำรวจโทเหลือง
ต่อมาร้อยตำรวจตรีเขียวยื่นคำร้องขอต่อศาลให้ออกหมายค้นบ้านนายสอง แล้วพันตำรวจโทเหลืองและร้อยตำรวจตรีเขียวนำเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นบ้านนายสอง พบนายหนึ่งและนายสอง เมื่อตรวจค้นบ้านพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 10,000 เม็ด ซุกซ่อนอยู่
จึงจับกุมนายหนึ่งและนายสองพร้อมกับยึดยาเสพติดเป็นของกลางและดำเนินคดีแก่ทั้งสองคนในข้อหาร่วมกันมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ชั้นพิจารณา
พันตำรวจโทเหลืองผู้จับกุมเป็นพยานเบิกความถึงข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบร้อยตำรวจตรีเขียวเนื่องจากร้อยตำรวจตรีเขียวต้องหาคดีฆ่าผู้อื่นและหลบหนีไปต่างประเทศ
โดยโจทก์เพียงนำสืบอ้างส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของร้อยตำรวจตรีเขียวที่ให้การเรื่องที่นายหนึ่งพูดกับนายสองดังกล่าวประกอบคำเบิกความของพนักงานสอบสวน นายหนึ่งและนายสองโต้แย้งว่า
เมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นพยานหลักฐานที่ได้มาโดยอาศัยข้อมูลจากการลักลอบดักฟังซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องห้ามมิให้รับฟัง
เช่นเดียวกับคำให้การชั้นสอบสวนของร้อยตำรวจตรีเขียวซึ่งเป็นพยานบอกเล่า ต้องห้ามมิให้รับฟังเช่นกัน
ให้วินิจฉัยว่า ศาลจะอาศัยเมทแอมเฟตามีนของกลาง
และคำให้การชั้นสอบสวนของร้อยตำรวจตรีเขียวเป็นพยานหลักฐานเพื่อรับฟังลงโทษนายหนึ่งและนายสองได้หรือไม่ เพียงใด
ธงคำตอบ
เมื่อการค้นได้เมทแอมเฟตามีนของกลางเกิดจากข้อมูลที่ร้อยตำรวจตรีเขียวได้ยินจากการสนทนาของนายหนึ่งและนายสองในร้านอาหารซึ่งเป็นสถานที่ที่บุคคลทั่วไปย่อมเข้าไปได้
ประกอบกับร้อยตำรวจตรีเขียวปฏิบัติไปตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ซึ่งมีมูลกรณีให้สั่งได้โดยชอบ การที่นายหนึ่งและนายสองสนทนากันโดยไม่ระมัดระวังและร้อยตำรวจตรีเขียวได้ยิน
จึงไม่ใช่การกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของร้อยตำรวจตรีเขียว
ส่วนเมทแอมเฟตามีนของกลางได้มาจากการค้นของเจ้าพนักงานตามหมายค้นของศาล กรณีจึงไม่ใช่พยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบ ทั้งมิได้อาศัยข้อมูลที่เกิดขึ้นหรือได้มาโดยมิชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 แต่อย่างใด
ศาลย่อมรับฟังเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นพยานหลักฐานได้
ส่วนบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของร้อยตำรวจตรีเขียวนั้น
แม้ว่าจะเป็นพยานบอกเล่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 วรรคหนึ่ง
แต่เมื่อร้อยตำรวจตรีเขียวหลบหนีไปต่างประเทศไม่อาจมาเบิกความได้
จึงมีเหตุจำเป็นทำให้ไม่สามารถได้ตัวพยานสำคัญมาเบิกความต่อศาล
ทั้งมีเหตุอันสมควรเนื่องจากมีเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นพยานหลักฐานที่ได้รับฟังได้ เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม เป็นกรณีที่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 226/3 วรรคสอง (2)
ศาลย่อมรับฟังบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของร้อยตำรวจตรีเขียวได้
อย่างไรก็ตาม
ในการวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานบอกเล่าดังกล่าว แม้ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง และไม่ควรเชื่อพยานบอกเล่าโดยลำพังเพื่อลงโทษจำเลย
แต่เมื่อโจทก์ไม่ได้ตัวร้อยตำรวจตรีเขียวมาเบิกความเป็นพยานเนื่องจากหลบหนีคดี อันเป็นพฤติการณ์พิเศษ ทั้งโจทก์ยังมีเมทแอมเฟตามีนของกลางเป็นพยานหลักฐานประกอบมาสนับสนุน
ทำให้พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักรับฟังลงโทษนายหนึ่งและนายสองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1
ข้อ 9. ข้อเท็จจริงในสำนวนสอบสวนโดยย่อความว่า เมื่อคืนวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม
2556
เวลา 22 นาฬิกาเศษ
ผู้ต้องหาที่ 1 ถึงที่ 15 และที่หลบหนีไปอีก 5 คน
ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง
ได้แต่งตัวอำพรางตนเองโดยสวมชุดสีดำ
มีหมวกไหมพรมปิดหน้าร่วมปรึกษากันเพื่อที่จะเข้าปล้นทรัพย์ในโรงงานผลิตอาหารกระป๋องของบริษัทอิสระอุตสาหกรรม จำกัด
และเพื่อที่จะไปฆ่านายเกษมเจ้าของโรงงานดังกล่าวเสีย เหตุเกิดที่แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย
กรุงเทพมหานคร แต่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมผู้ต้องหาทั้ง 15 คน
ได้ในขณะที่ประชุมปรึกษาหารือกัน
ในชั้นสอบสวนผู้ต้องหาทุกคนรับสารภาพและได้รับอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว
ให้ท่านในฐานะพนักงานอัยการร่างคำฟ้องเพื่อฟ้องผู้ต้องหาทุกคนในความผิดฐานซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และมาตรา
210 (ให้ร่างเฉพาะใจความในคำฟ้องเท่านั้น)
ธงคำตอบ
ร่างคำฟ้องความผิดฐานซ่องโจร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ
มาตรา 210
ตัวอย่างคำฟ้อง
ข้อ 1.เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยที่
1
ถึงที่ 15 กับพวกอีก
5 คน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง
ได้ร่วมกันกระทำความผิดด้วยกันโดยบังอาจสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ประชุมปรึกษากันเพื่อทำการปล้นทรัพย์และฆ่าผู้อื่น
ซึ่งความผิดดังกล่าวเป็นความผิดที่บัญญัติไว้ในภาค 2 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และเป็นความผิดที่มีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป อันเป็นการกระทำความผิดฐานซ่องโจร
เหตุเกิดที่แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย
กรุงเทพมหานคร
ข้อ 2.ตามวันเวลาดังกล่าวในฟ้อง ข้อ 1. เจ้าพนักงานจับจำเลยที่ 1 ถึงที่
15 ได้ทำการสอบสวนแล้ว จำเลยทุกคนให้การรับสารภาพ ระหว่างสอบสวน
จำเลยที่ 1 ถึงที่
15
ไม่ได้ถูกควบคุมตัวโดยได้รับการปล่อยชั่วคราว ได้ส่งตัวจำเลยที่ 1 ถึงที่
15
มาศาลพร้อมฟ้องนี้แล้ว
ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 15 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210 และ 83
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ลงชื่อ_________________โจทก์
ข้อ 10.นายเก่ง กิจการดี
ในฐานะผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทกิจการดี
จำกัด ออกเงินทดรองจำนวน 10 ล้านบาท
เพื่อวางมัดจำการทำสัญญาจะซื้อที่ดินที่จังหวัดภูเก็ตที่ตกลงซื้อขายกันในราคา 100 ล้านบาท
นายเก่งต้องการให้บริษัทซึ่งอยู่ในระหว่างการก่อตั้งเพื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดสามารถรับโอนที่ดินจากผู้ขายโดยตรงไม่ต้องโอนผ่านตนเอง
ดังนี้
ให้ท่านร่างหนังสือเชิญประชุมตั้งบริษัทกิจการดี จำกัด
ที่มีวาระการประชุมครบถ้วน
โดยเฉพาะให้ครอบคลุมการซื้อขายที่ดินให้มีการโอนกรรมสิทธิ์จากผู้ขายไปยังบริษัทโดยตรงไม่ต้องโอนผ่านนายเก่ง
ธงคำตอบ
หนังสือนัดประชุมตั้งบริษัท
บริษัทกิจการดี จำกัด
วันที่______เดือน___________พ.ศ._____
เรื่อง ขอเชิญประชุมตั้งบริษัท
เรียน ท่านผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นของบริษัทกิจการดี จำกัด
ด้วยผู้เริ่มก่อการตั้งบริษัทได้ดำเนินการจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิของบริษัทเรียบร้อยแล้ว
และบัดนี้ได้มีผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นของบริษัทครบตามจำนวนที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจึงตกลงให้มีการประชุมตั้งบริษัทในวันที่_____เดือน_____________พ.ศ._____เวลา__________ณ_______________ ตามระเบียบวาระการประชุม ดังต่อไปนี้
1.
พิจารณาตั้งข้อบังคับของบริษัท
2.
พิจารณาให้สัตยาบันแก่บรรดาสัญญาที่ผู้เริ่มก่อการได้ทำไว้
และค่าใช้จ่ายซึ่งจำเป็นต้องจ่ายในการตั้งบริษัท
3.
พิจารณาเรื่องหุ้น
4.
พิจารณาเลือกตั้งกรรมการชุดแรกของบริษัท
และกำหนดอำนาจกรรมการ
5.
พิจารณาเลือกตั้งผู้สอบบัญชี
และกำหนดค่าสินจ้าง
6.
เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น