วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันอังคารที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค 2 สมัย 66 เล่ม 9

                     คำถาม   คดีที่จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลจะต้องพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีหรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่ 8528/2555  คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องและหมายเรียกจำเลยมาแก้คดีอย่างคดีมโนสาเร่ปรากฎว่าจำเลยได้รับหมายเรียกแล้วไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด จึงถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ เมื่อโจทก์มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดแล้ว ศาลก็ต้องดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีโดยขาดนัดไปตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 วรรคสาม ประกอบมาตรา 198 ทวิ เมื่อหนี้เงินกู้ที่โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยชำระหนี้เป็นเงินจำนวนแน่นอน และศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ส่งเอกสารแทนการสืบพยาน จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นปฏิบัติตาม ป.วิ.พ.มาตรา 198 ทวิ วรรคสาม (1) โดยชอบแล้ว เมื่อสัญญากู้เงินที่โจทก์นำมาฟ้องมีโจทก์ผู้ให้กู้และจำเลยผู้กู้ลงลายมือชื่อทั้งสองฝ่าย จึงเป้นสัญญากู้ยืมเงินเข้าลักษณะแห่งตราสารซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์ตามบัญชีอัตราอากรแสตมป์ท้าย ป.รัษฎากร และตามมาตรา 103 แห่งกฎหมายดังกล่าว ปิดแสตมป์บริบูรณ์หมายถึง ปิดแสตมป์ก่อนกระทำหรือในทันทีที่ทำตราสารเป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและได้ขีดฆ่าอากรนั้นแล้ว เมื่อหนังสือสัญญากู้เงินที่โจทก์อ้างส่งเป็นพยานหลักฐานปิดอากรแสตมป์แต่มิได้ขีดฆ่า การปิดอากรแสตมป์ของโจทก์จึงไม่บริบูรณ์ ไม่อาจใช้เป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งได้ตาม ป.รัษฎากร มาตรา 118 เป็นผลให้คดีของโจทก์ไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือที่จะฟ้องร้องให้จำเลยรับผิดในฐานะผู้กู้ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง
                    คำถาม   คดีฟ้องเรียกส่วนแบ่งทรัพย์มรดก หากทายาทเป็นโจทก์ฟ้องรวมกันมา การอุทธรณ์ฎีกาในข้อเท็จจริง จะถือทุนทรัพย์อย่างไร
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  2158/2555 โจทก์ทั้งสี่ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกของบิดาโจทก์ทั้งสี่ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาทและให้จำเลยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสี่คนละ 1 ใน 5 ส่วน หากไม่สามารถแบ่งได้ให้นำที่ดินพิพาทออกขายทอดตลาดนำเงินมาแบ่งให้โจทก์ทั้งสี่ เป็นการฟ้องเรียกส่วนแบ่งทรัพย์มรดกจากจำเลย  คดีของโจทก์ทั้งสี่จึงเป็นคดีที่มีคำขอปลอดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้  เป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามจำนวนราคาที่ดินพิพาทนั้น และเป็นหนี้อันอาจแบ่งแยกได้ แม้โจทก์ทั้งสี่ฟ้องรวมกันมา  การอุทธรณ์ฎีกาต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องโจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตน เมื่อที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งสี่ตีราคา เป็นทุนทรัพย์รวมกันมามีราคา 300,000 บาท ที่ดินแต่ละส่วนที่โจทก์แต่ละคนฟ้องขอแบ่งจึงมีราคาไม่เกิน 200,000 บาท ดังนั้น ราคาทรัพย์สินหรือทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาสำหรับโจทก์แต่ละคนจึงไม่เกิน 200,000 บาท  ซึ่งต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง 
              คำถาม   ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลจะฟ้องขอให้บังคับลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบริวารที่ไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นคดีใหม่ต่างหากได้หรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้                
                     คำพิพากษาฎีกาที่  5997/2555  ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี ให้สิทธิผู้ซื้อทรัพย์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเพียงการขอให้ออกคำบังคับ และให้เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดี เพื่อขับไล่จำเลยในฐานะลูกหนี้ตามคำพิพากษาและบริวารออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทเท่านั้น เมื่อโจทก์ประสงค์จะเรียกค่าเสียหายจากจำเลยในมูลละเมิดเพราะจำเลยไม่ยอมออกจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทก็ชอบที่โจทก์จะฟ้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นคดีใหม่ต่างหาก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายในมูลละเมิดเป็นคดีนี้ได้ จำเลยรับว่าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีเดิม โดยธนาคาร ก. เป็นผู้ซื้อทรัพย์พิพาทจากการขายทอดตลาดในคดีดังกล่าว และโจทก์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ต่อมาจากธนาคาร ก. ทั้งจำเลยก็ยังอยู่ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างพิพาทที่โจทก์ซื้อมา จึงย่อมฟังได้ว่าจำเลยกระทำละเมิดต่อโจทก์แล้ว
                       คำถาม   คดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 ใช้บังคับแก่การอุทธรณ์ถึงปัญหาเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นสาขาของคดี หรือปัญหาในชั้นบังคับคดีด้วยหรือไม่  
                         คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
                      คำพิพากษาฎีกาที่  6349/2555  โจทก์กล่าวอ้างว่า  อาจนำที่ดินพิพาทออกให้บุคคลอื่นเช่าจะได้ค่าเช่าเดือนละไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท และขอคิดค่าเสียหายจากจำเลยเดือนละ 3,000 บาท ย่อมหมายถึงที่ดินพิพาทอาจให้เช่าได้เดือนละ 3,000 บาท การฟ้องขับไล่บุคคลใด  ๆ  ออกจากอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งในขณะยื่นฟ้องอาจให้เช่าได้ไม่เกินเดือนละ 4,000 บาท จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคสอง และข้อห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัตินี้ต้องใช้บังคับแก่การอุทธรณ์ทั้งในประเด็นเนื้อหาแห่งคดีตลอดจนปัญหาเรื่องอื่น ๆ ที่เป็นสาขาของคดี ซึ่งรวมถึงปัญหาในชั้นบังคับคดีด้วยโดยเหตุที่ทำให้ต้องห้ามอุทธรณ์ต้องถือตามเหตุต้องห้ามอุทธรณ์ในคดีตามคำฟ้องและคำให้การที่พิพาทกันแต่เดิมนั้นเป็นสำคัญ ซึ่งถ้าหากมีเหตุอันต้องอุทธรณ์ดังกล่าวข้างต้นแล้ว แม้ปัญหาในชั้นสาขาคดีในส่วนการบังคับคดีจะไม่มีเหตุต้องห้ามอุทธรณ์ก็ตาม ก็ต้องถือว่า เป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ตามเหตุต้องห้ามในคดีแต่เดิมดังกล่าวแล้ว เมื่อปรากฏว่าในชั้นอุทธรณ์นั้น จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นว่าคำร้องขอเลื่อนคดีที่อ้างว่าจำเลยเจ็บป่วยไม่สามารถมาศาลได้ ถือเป็นเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงเสียได้ ซึ่งศาลควรให้โอกาสแก่จำเลย แต่ศาลชั้นต้นกลับยกคำร้องที่ขอให้งดการบังคับคดีและไม่อนุญาตให้เลื่อนคดี จึงเป็นการอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงย่อมต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้วที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวแล้วมีคำพิพากษามา จึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบและปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้คู่ความไม่ได้ฎีกาขึ้นมา เมื่อศาลฎีกาเห็นสมควร ย่อมยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องเสียได้ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 247 ประกอบมาตรา 246 และ 142 (5) และกรณีเช่นนี้จำเลยย่อมไม่มีสิทธิฎีกาต่อมาด้วย  แม้ศาลชั้นต้นจะรับอุทธรณ์ของจำเลยและศาลอุทธรณ์ภาค 2 รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย ก็ไม่ทำให้อุทธรณ์ของจำเลยเป็นอุทธรณ์ที่ชอบด้วยกฎหมายที่จำเลยจะใช้สิทธิฎีกาต่อไป

                       คำถาม     เทปบันทึกเสียงรวมทั้งบันทึกการถอดเทปที่แอบบันทึกขณะมีการสนทนาระหว่างผู้เสียหาย พยาน และจำเลย ศาลจะนำมารับฟังได้หรือไม่
                      คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่   2281/2555   เทปบันทึกเสียงที่แอบบันทึกขณะมีการสนทนาระหว่างโจทก์ร่วมกับพยานและจำเลยที่ 2 โดยโจทก์ร่วมและพยานไม่ทราบมาก่อนเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ ห้ามมิให้ศาลรับฟังเป็นพยานตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226 แม้หลักกฎหมายดังกล่าวจะใช้ตัดพยานหลักฐานของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในกรณีเจ้าพนักงานของรัฐใช้วิธีการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบ แต่ ป.วิ.อ. มาตรา 226 ไม่ได้บัญญัติห้ามไม่ให้นำไปใช้กับการแสวงพยานหลักฐานของบุคคลธรรมดา อย่างไรก็ตาม ระหว่างพิจารณามี พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ป.วิ.อ. (ฉบับที่ 28)ฯ บัญญัติเพิ่มเติมมาตรา 226/1 ใน ป.วิ.อ. กำหนดให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่ได้มาโดยมิชอบได้ถ้าพยานหลักฐานนั้นจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญา ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวเป็นคุณแก่จำเลยที่ 2 จึงต้องนำบทบัญญัติดังกล่าวมาใช้บังคับในการรับพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 ดังนั้น เทปบันทึกเสียงรวมทั้งบันทึกการถอดเทปดังกล่าวแม้จะได้มาโดยมิชอบ แต่เมื่อศาลนำมาฟังจะเป็นประโยชน์ต่อการอำนวยความยุติธรรมมากกว่าผลเสียอันเกิดจากผลกระทบต่อมาตรฐานของระบบงานยุติธรรมทางอาญาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาจึงนำพยานหลักฐานดังกล่าวมารับฟังได้ เมื่อพิจารณาเนื้อหาจากบันทึกการถอดเทปดังกล่าวได้ความว่าโจทก์ร่วมไม่สมัครใจและไม่มีความเป็นอิสระในการชี้ตัวจำเลยที่ 2 จึงมีข้อสงสัยตามสมควรว่าโจทก์ร่วมและ ก. พยานโจทก์และโจทก์ร่วมได้ชี้ภาพถ่ายจำเลยที่ 2 และตัวจำเลยที่ 2 ผิดตัวหรือไม่ พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงมีเหตุอันควรสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 ได้กระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 2 ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง
                       คำถาม   การที่เจ้าพนักงานตำรวจล่อซื้อเมทแอมเฟตามีน เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
                       คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
                       คำพิพากษาฎีกาที่ 961-962/2555  การที่เจ้าพนักงานตำรวจใช้ ผ. ไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 ซึ่งมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอยู่แล้ว และก่อนหน้านี้ ผ. ก็เคยซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลยที่ 1 จำนวน 100 เม็ด และถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมได้ การล่อซื้อดังกล่าวเป็นวิธีการแสวงหาพยานหลักฐานในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 1 ที่ได้กระทำอยู่แล้วมิได้ล่อซื้อหรือชักจูงใจให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดอาญาที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้กระทำความผิดมาก่อน การกระทำของเจ้าพนักงานตำรวจเป็นเพียงวิธีการเพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยที่ 1 และเป็นการขยายผลในการปราบปราม มิใช่เป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยมิชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาฎีกาที่ 4417/2548,8187/2543,59/2542,270/2542 วินิจฉัยเช่นกัน)


                คำถาม  บันทึกคำให้การชั้นสอบสวน ศาลจะนำมารับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้หรือไม่
                           คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
                           คำพิพากษาฎีกาที่  5718/2555  การดำเนินคดีในศาลไม่ว่าจะเป็นคดีอาญาหรือคดีแพ่ง นอกจากเนื้อหาแห่งคดี ซึ่งมีการต่อสู้คดีกันตามกฎหมายสารบัญญัติแล้วคู่ความและผู้เกี่ยวข้องกับคดียังมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายวิธีสบัญญัติ ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์ให้คู่ความและผู้เกี่ยวข้องต้องปฏิบัติตาม เพื่อคุ้มครองส่งเสริมให้การดำเนินคดีในเนื้อหาตามกฎหมายสารบัญญัติ เป็นไปโดยถูกต้องและเป็นธรรมแก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในคดีโดยเสมอภาคกันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 40 การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ แต่ไม่ว่าจะฟ้องต่อศาลไหน การพิจารณาคดีแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.
                         แม้คำให้การรับสารภาพต่อพนักงานสอบสวนจะมีลักษณะเป็นพยานบอกเล่า ซึ่ง ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 วรรคสอง วางหลักไว้ห้ามมิให้ศาลรับฟัง แต่กรณีเข้าตามหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นที่กฎหมายมาตรานี้ได้กำหนดไว้ใน (1) ว่า พยานเช่นนี้รับฟังได้ตามสภาพ ลักษณะ แหล่งที่มา และข้อเท็จจริงแวดล้อมของพยานบอกเล่านั้นน่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ เมื่อนำไปรับฟังประกอบพยานบุคคลของโจทก์แล้ว มีน้ำหนักมั่นคงฟังเชื่อได้ปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยคือคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย


                                                                                   นายประเสริฐ  เสียงสุทธิวงศ์

                                                                                              บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น