ข้อ 1. นายเอกเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดของนายแดงอย่างเป็นเจ้าของมาตั้งแต่เดือนเมษายน
2545 โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน
ต่อมาเมื่อต้นปี 2550 นายเอกสุขภาพไม่ดี
จึงโอนการครอบครองให้นายโทซึ่งเป็นบุตรเข้าครอบครองทำประโยชน์อย่างเป็นเจ้าของสืบต่อมาจนปัจจุบัน
โดยไม่ผู้ใดโต้แย้งคัดค้านเช่นกัน ส่วนนายแดงถึงแก่ความตาย
และนายดำซึ่งเป็นทายาทของนายแดงได้จดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทเมื่อกลางปี
2555 บัดนี้
นายดำต้องการเข้าอยู่อาศัยทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท
แต่นายโทไม่ยอมออกโดยอ้างว่า
ตนได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ นายดำจึงฟ้องขับไล่โดยอ้างว่า
นอกจากนายโทครอบครองที่ดินพิพาทยังไม่ถึง 10 ปีแล้ว เมื่อต้นปี 2554
ยังเกิดอุทกภัยเป็นเหตุให้นายโทต้องอพยพออกไปจากที่ดินพิพาทเป็นเวลากว่าครึ่งปี
และกลับเข้าครอบครองทำประโยชน์ได้เมื่อเดือนธันวาคม 2554
นายโทจึงยังไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครอบปรปักษ์
อย่างไรก็ตาม เมื่อนายโทยังไม่ได้จดทะเบียนการได้มาซึ่งที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์
นายโทย่อมไม่อาจยกการได้มาดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้นายดำซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้
ให้วินิจฉัยว่า
นายโทได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้วหรือไม่ และจะยกการได้มาดังกล่าวขึ้นเป็นข้อต่อสู้นายดำได้หรือไม่
ธงคำตอบ
แม้ขณะที่นายดำจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทเมื่อกลางปี
2555 นายโทได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเป็นเวลาประมาณ 5 ปี
แต่นายโทผู้รับโอนมีสิทธินับเวลาที่นายเอกผู้โอนการครอบครองได้ครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ก่อนรวมเข้ากับเวลาครอบครองของตนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1385 ถือได้ว่านายโทครอบครองที่ดินพิพาทติดต่อกันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว
ส่วนการเกิดอุทกภัยเมื่อต้นปี 2554
ที่เป็นเหตุให้นายโทต้องอพยพออกไปจากที่ดินพิพาทนั้น
ก็เป็นเรื่องที่นายโทผู้ครอบครองต้องขาดการยึดถือที่ดินพิพาทโดยไม่สมัคร
แต่หลังจากนั้นเพียงกว่าครึ่งปีนายโทได้กลับเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทอันเป็นการได้คืนภายในหนึ่งปีนับตั้งแต่วันขาดยึดถือ กรณีจึงอยู่ในบังคับมาตรา 1384
ที่มิให้ถือว่าการครอบครองสะดุดหยุดลง นายโทจึงได้ครอบครองปรปักษ์ที่ดินพิพาทติดต่อกันเป็นเวลา
10 ปี และได้กรรมสิทธิ์ตามมาตรา 1382 แล้ว
การที่นายดำจดทะเบียนรับโอนมรดกที่ดินพิพาทเมื่อกลางปี 2555
อันเป็นเวลาภายหลังจากที่นายโทได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์แล้ว
นายดำซึ่งได้กรรมสิทธิ์โดยการรับมรดกต้องรับไปทั้งสิทธิตลอดจนความรับผิดต่าง ๆ
ของนายแดงเจ้ามรดก ย่อมมิใช่บุคคลภายนอกตามความหมายในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1299 วรรคสอง
นายโทจึงมีสิทธิยกการได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ของตนขึ้นเป็นข้อต่อสู้นายดำได้
ข้อ 2.
นายดำซื้อเสื้อจำนวน 100 ตัว
ราคาตัวละ 2,000 บาท จากนายแดงเพื่อมาขายต่อในร้านของตน
โดยตกลงว่าให้นายแดงส่งมอบเสื้อให้ก่อน 50 ตัว อีก
50ตัวที่เหลือให้ส่งมอบภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2554 และชำระราคาทั้งหมดในวันเดียวกัน นายแดงส่งมอบเสื้อ
50 ตัวให้นายดำแล้ว ครั้นถึงวันที่ 1
สิงหาคม 2554 นายแดงนำเสื้ออีก 50ตัว ไปส่งมอบให้นายดำและขอรับชำระราคาทั้งหมด
ปรากฏว่านายดำขายเสื้อได้น้อยทำให้เหลืออยู่จำนวนมาก นายดำจึงปฏิเสธไม่รับเสื้ออีก
50 ตัว ที่นายแดงนำมาส่งและบอกสาเหตุให้นายแดงทราบ นายแดงจึงนำเสื้อ 50ตัว
ไปวางทรัพย์ไว้ที่สำนักงานวางทรัพย์ กรมบังคับคดี และเรียกให้นายดำชำระราคา
200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม2554
จนกว่าจะชำระเสร็จแก่นายแดง นายดำบอกนายแดงว่านายแดงจะต้องนำเสื้อ 50 ตัว
ที่วางทรัพย์ไว้ออกขาย โดยนายดำยอมให้ขายในราคาตัวละ 1,500 บาท จะได้เงิน 75,000
บาท นำมาหักออกเสียก่อนและยินดีชำระเงิน 125,000 บาท
โดยไม่มีดอกเบี้ยให้แก่นายแดงเท่านั้น
ให้วินิจฉัยว่า
นายแดงมีสิทธิเรียกให้นายดำชำระเงินได้จำนวนเท่าใด
ธงคำตอบ
นายแดงส่งมอบเสื้อให้นายดำครบถ้วนโดยนำไปวางทรัพย์ในวันที่
1 สิงหาคม 2554 ภายในกำหนดเวลาที่ต้องชำระหนี้
นายแดงย่อมมีสิทธิได้รับชำระราคาจากนายดำ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 486
เมื่อนายดำไม่ชำระราคาในวันดังกล่าวอันเป็นกำหนดเวลาตามวันแห่งปฏิทิน
จึงตกเป็นผู้ผิดนัดตามมาตรา 204 วรรคสอง
นายแดงในฐานะเจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกให้นายดำชำระราคา
และเรียกดอกเบี้ยเนื่องจากการผิดนัดได้ตามมาตรา 213 วรรคหนึ่ง และมาตรา 224
วรรคหนึ่ง การใช้สิทธิเรียกให้ชำระราคาเป็นการเรียกให้ชำระหนี้โดยเฉพาะเจาะจงตามมาตรา
213 วรรคหนึ่ง ส่วนการเรียกให้ชำระหนี้ดอกเบี้ยในหนี้เงินอันเกิดจากการผิดนัดตามมาตรา
224 วรรคหนึ่ง
มิใช่การเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายอันเกิดจากการไม่ชำระหนี้ตามมาตรา 213 วรรคท้าย และมาตรา 215 ที่จะบังคับตามมาตรา
223 วรรคสอง ซึ่งเป็นเรื่องความรับผิดในค่าสินไหมทดแทนที่จะให้นายแดงบรรเทาความเสียหายด้วยการนำเสื้อ 50 ตัว
ที่วางทรัพย์ไว้ออกขายแล้วนำเงินมาหักออกตามที่นายดำเสนอ
นายแดงจึงมีสิทธิเรียกให้นายดำชำระเงิน
200,000 บาท
พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จ
ข้อ 3.
นายคำลูกจ้างมีหน้าที่ขับรถยนต์รับส่งนายมุ่งมั่นนายจ้างไปทำงาน
เลิกงานก็ขับรถส่งนายมุ่งมั่นกลับบ้าน เก็บรถเสร็จก็หมดหน้าที่
ระหว่างรออยู่ที่ทำงานนายมุ่งมั่นได้สั่งเด็ดขาดห้ามนายคำขับรถไปไหนโดยพลการ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2553
นายคำได้ขับรถส่งนายมุ่งมั่นไปทำงานตามปกติ ขณะรออยู่ในที่ทำงาน
นายคำได้แอบขับรถยนต์คันดังกล่าวไปหาเพื่อนสาว
ระหว่างทางนายคำได้ขับรถด้วยความประมาทชนรถยนต์ที่นายคมชัดขับเป็นเหตุให้นายคมชัดถึงแก่ความตายทันที
หลังเกิดเหตุ 10 วัน นายถนัดอายุ 18 ปี
บุตรนอกกฎหมายที่นายคมชัดบิดาได้รับรองโดยพฤตินัยแล้ว
ได้ไปเรียกร้องต่อนายคำกับนายมุ่งมั่นให้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่ทำให้นายคมชัดตาย
แต่บุคคลทั้งสองบ่ายเบี่ยงเรื่อยมา
ต่อมาศาลพิพากษาลงโทษนายคำในความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
จำคุก 3 ปี คดีถึงที่สุดเมื่อวันที่ 1
สิงหาคม 2553
ในวันที่ 1 กรกฎาคม
2554
นายถนัดยื่นฟ้องนายคำกับนายมุ่งมั่นดังกล่าวให้ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนคือ
ค่าใช้จ่ายในการทำศพ ซึ่งนายจ้างของนายคมชัดได้ช่วยออกให้ทั้งหมดแล้ว กับเรียกค่าชาดไร้อุปการะจนกว่านายถนัดจะบรรลุนิติภาวะ
นายคำและนายมุ่งมั่นให้การว่า ไม่ต้องร่วมกันรับผิดตามฟ้อง และคดีขาดอายุความแล้ว
ให้วินิจฉัยว่า
ข้อต่อสู้ของนายคำและนายมุ่งมั่นฟังขึ้นหรือไม่
ธงคำตอบ
เหตุรถยนต์ชนกัน
ที่ทำนายคมชัดถึงแก่ความตายถือว่าเกิดจากการกระทำโดยประมาทเลินเล่อของนายคำ
จึงเป็นการกระทำละเมิดที่นายคำต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 420
นายถนัดบุตรนอกกฎหมายซึ่งนายคมชัดผู้ตายบิดาได้รับรองโดยพฤตินัยแล้ว จึงเป็นผู้สืบสันดานซึ่งมีสิทธิรับมรดกของนายคมชัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1627
นายถนัดย่อมมีอำนาจหน้าที่ในการจัดการทำศพตามมาตรา 1649 วรรคสอง
จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าทำศพตามมาตรา 443 ได้ และแม้นายจ้างของนายคมชัดจะได้ช่วยออกค่าทำศพให้ทั้งหมดแล้ว
ก็ไม่ตัดสิทธิของนายถนัดที่จะเรียกร้องจากนายคำผู้ทำละเมิดได้
ข้อต่อสู้ของคำและนายมุ่งมั่นฟังไม่ขึ้น
แม้นายถนัดจะมีสิทธิได้รับมรดกของนายคมชัดดังกล่าว แต่ไม่มีผลให้นายถนัดอยู่ในฐานะบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายคมชัด
อันจะก่อให้เกิดสิทธิในค่าขาดไร้อุปการะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564
การที่นายคมชัดถึงแก่ความตาย ถือไม่ได้ว่านายถนัดต้องขาดไร้อุปการะตามมาตรา 443 วรรคท้าย
นายถนัดจึงไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าขาดไร้อุปการะ
ข้อต่อสู้ของนายคำและนายมุ่งมั่นฟังขึ้น
ในส่วนที่เกี่ยวกับนายมุ่งมั่นนั้น
ปรากฏว่านายคำเป็นลูกจ้างมีหน้าที่ขับรถยนต์รับส่งนายมุ่งมั่นนายจ้าง การที่นายคำลอบขับรถยนต์ไปหาเพื่อนสาวแล้วเกิดเหตุนั้น
ถือได้ว่ายังอยู่ในระหว่างที่นายคำปฏิบัติหน้าที่ในทางการที่จ้างของนายมุ่งมั่น
การขัดคำสั่งของนายคำลูกจ้างไม่อาจนำมาใช้ยันบุคคลภายนอกเพื่อปฏิเสธความรับผิด
นายมุ่งมั่นจึงต้องร่วมรับผิดกับนายคำในผลแห่งละเมิดนั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 425
ข้อต่อสู้ของนายคำและนายมุ่งมั่นฟังไม่ขึ้น
สำหรับข้อต่อสู้ในเรื่องอายุความกรณีนายคำนั้น แม้ขณะยื่นฟ้องนายคำ
นายถนัดจะรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวนายคำผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเกินกว่า 1 ปี
อันเป็นกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคหนึ่ง
แต่เมื่อได้มีการฟ้องคดีอาญาแก่นายคำ กรณีกระทำละเมิด และศาลพิพากษาถึงที่สุดลงโทษนายคำแล้วก่อนนายถนัดฟ้องคดีแพ่ง
อายุความการฟ้องร้องคดีแพ่งจึงมีกำหนดสิบปี
นับแต่ที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51
วรรคสาม ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/32 คดีฟ้องนายดำจึงไม่ขาดอายุความ ข้อต่อสู้ของนายคำฟังไม่ขึ้น
แต่ในกรณีฟ้องของนายมุ่งมั่น
ขณะยื่นฟ้องเป็นเวลาเกินกว่าหนึ่งปี
นับแต่วันที่รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
คดีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 448 วรรคหนึ่ง เพราะอายุความที่ยาวกว่าตามมาตรา 448
วรรคสองนั้น ใช้เฉพาะการเรียกร้องจากตัวผู้กระทำผิดหรือร่วมในการกระทำผิดอาญาเท่านั้น
ไม่ใช้สำหรับการฟ้องนายจ้างให้รับผิดในการกระทำละเมิดของลูกจ้างอันเป็นความผิดทางอาญาด้วยอีกชั้นหนึ่ง
ข้อต่อสู้ของนายมุ่งมั่นจึงฟังขึ้น
ข้อ 4.
นายสดทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินแปลงหนึ่งจากนายรวยมีกำหนดตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม
2551 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553
แล้วนายสดปลูกบ้านหนึ่งหลังอยู่อาศัยในที่ดินนั้น
ต่อมานายสดทำหนังสือสัญญาที่บ้านของตนตกลงขายฝากบ้านหลังนี้ให้แก่นายใสเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย
กำหนดไถ่ทรัพย์คืนในหนึ่งปี
โดยนายสดยังคงพักอาศัยในบ้านที่ขายฝากตลอดมาจนครบกำหนดหนึ่งปี
นายสดไม่ไถ่คืน และสัญญาเช่าที่ดินระหว่างนายสดกับนายรวยครบกำหนดแล้วด้วย
นายใสได้ขอเช่าที่ดินดังกล่าวกับนายรวยมีการทำหนังสือสัญญาให้นายใสเช่าที่ดินมีกำหนดห้าปี จดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โดยถูกต้อง จากนั้นนายใสขอให้นายสดขนย้ายไปอยู่ที่อื่น
แต่นายสดเพิกเฉย
นายใสจึงฟ้องคดีต่อศาล อ้างว่า
(1)
นายใสเป็นเจ้าของบ้านที่รับซื้อฝากแล้ว
ขอให้ขับไล่นายสดออกไปจากบ้าน
(2)
นายใสเป็นผู้เช่าที่ดินจากนายรวยโดยชอบ
สัญญาเช่าที่ดินระหว่างนายสดกับนายรวยระงับลงแล้ว นายสดอยู่ในที่ดินโดยละเมิดสิทธิของนายใส ขอให้ขับไล่นายสดออกไปจากที่ดิน
ให้วินิจฉัยว่า
นายใสจะฟ้องขับไล่นายสดออกไปจากบ้านและที่ดินโดยอาศัยข้ออ้างทั้งสองประการได้หรือไม่
ธงคำตอบ
นายสดทำหนังสือสัญญาขายฝากบ้านให้แก่นายใสเพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัย
จีงเป็นการซื้อขายในลักษณะเป็นอสังหาริมทรัพย์
เมื่อไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 456 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา
491
นายใสผู้ซื้อจึงไม่ได้เป็นเจ้าของบ้านที่รับซื้อฝากและไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่นายสดออกจากบ้านพิพาทได้
นายใสทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินที่ปลูกสร้างบ้านกับนายรวยโดยจดทะเบียนการเช่าถูกต้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 538
แต่นายใสยังไม่เคยเข้าครอบครองที่ดินตามสัญญาเช่า
ส่วนนายสดอยู่ในที่ดินดังกล่าวมาก่อนโดยอาศัยสิทธิตามสัญญาเช่าเดิม แม้สัญญาเช่าที่ดินระหว่างนายสดกับนายรวยระงับไปเพราะสิ้นกำหนดเวลาแล้ว
และนายสดอยู่ต่อมาโดยไม่ได้รับอนุญาต
ก็ถือว่าเป็นการละเมิดต่อนายรวยเจ้าของที่ดิน
มิใช่การละเมิดต่อนายใสซึ่งเป็นผู้เช่ารายใหม่
นายใสจึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่นายสดออกจากที่ดินพิพาทเช่นกัน
ดังนั้น
นายใสจะฟ้องขับไล่นายสดออกจากบ้านและที่ดินพิพาทโดยอาศัยข้ออ้างทั้งสองประการไม่ได้
(เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 810/2546)
ข้อ 5.
นายขาวทำสัญญากู้ยืมเงิน
100,000 บาท จากนายดำ ตกลงให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี
นายดำบอกให้นายขาวลงชื่อในสัญญากู้ยืมเงินที่ยังไม่มีการกรอกข้อความใด ๆ
โดยอ้างว่ายังยุ่งอยู่ นายขาวยินยอมเนื่องจากต้องการเงิน
มีนายเขียวเป็นผู้ค้ำประกันตกลงยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม
ต่อมานายดำได้กรอกจำนวนเงินในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าว 100,000 บาท
และกรอกว่านายขาวยอมให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี เมื่อครบกำหนดนายขาวไม่มีเงินชำระ
จึงโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตีราคาตามราคาท้องตลาด
ซึ่งมีมูลค่าชำระหนี้ต้นเงินพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี พอดีให้แก่นายดำ
แต่นายดำกลับนำสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวมาฟ้องให้นายขาวผู้กู้และนายเขียวผู้ค้ำประกันรับผิดชำระทั้งต้นเงินและดอกเบี้ย
โดยอ้างว่านับแต่ทำสัญญานายไม่เคยชำระหนี้แก่นายดำเลย
นายขาวและนายเขียวให้การและฟ้องแย้งว่าสัญญากู้ยืมเงินตามฟ้องเป็นสัญญาปลอม
เพราะขณะที่นายขาวลงชื่อสัญญาดังกล่าวยังไม่มีข้อความใด ๆ และนายขาวชำระหนี้ทั้งหมดไปแล้ว
นอกจากนี้นายดำยังคิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด
แต่นายขาวเป็นเพียงชาวบ้านไม่ทราบกฎหมายและชำระให้ไป ขอให้ยกฟ้องของนายดำและขอให้นายดำคืนราคารถยนต์ส่วนที่เป็นค่าดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วทั้งหมด
เพราะข้อตกลงให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ปี เป็นโมฆะ
ให้วินิจฉัยว่า
นายขาวและนายเขียวต้องรับผิดต่อนายดำตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด
และนายขาวสามารถเรียกคืนค่าดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วทั้งหมดตามฟ้องแย้งได้หรือไม่
ธงคำตอบ
สำหรับนายขาวนั้น
แม้ขณะทำสัญญากู้ยืมเงินยังไม่มีการกรอกข้อความในสัญญา
แต่เมื่อนายขาวกู้ยืมเงินจากนายดำจริง
และนายดำก็กรอกจำนวนเงินตามที่มีการกู้ยืมเงินกันจริง
การกรอกข้อความหลังจากที่นายขาวลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินแล้วไม่ทำให้สัญญาดังกล่าวเป็นเอกสารปลอม
จึงเป็นการกู้ยืมเงินที่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อนายขายผู้ยืมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 653 วรรคหนึ่ง นายขาวจึงต้องรับผิดชำระหนี้เงินกู้จำนวนดังกล่าว
(คำพิพากษาฎีกาที่ 5685/2548) แต่การที่ในสัญญาระบุให้คิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น ดอกเบี้ยตกเป็นโมฆะตามมาตรา 654
และพระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2475 มาตรา 3
ส่วนหนี้ต้นเงินยังสมบูรณ์ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1913/2537) เมื่อนายขาวชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวด้วยการโอนรถยนต์ให้แก่นายดำอันเป็นการชำระหนี้อย่างอื่นตามมาตรา
321 มิใช่กรณีตามมาตรา 653 วรรคสอง
แม้ไม่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อผู้ให้ยืมก็รับฟังว่าชำระหนี้แล้วได้
(คำพิพากษาฎีกาที่ 1178/2510) และหนี้นั้นย่อมเป็นอันระงับ นายดำไม่มีสิทธิเรียกให้นายขาวชำระหนี้
และนายเขียวผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดเนื่องจากหนี้ที่ตนค้ำประกันระงับแล้ว
ส่วนฟ้องแย้งของนายขาวนั้น
เมื่อหนี้ค่าดอกเบี้ยที่นายขาวชำระไปแล้วทั้งหมดเป็นการคิดเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดซึ่งตกเป็นโมฆะ
จึงถือได้ว่าเป็นการชำระหนี้ตามอำเภอใจหรือชำระด้วยความสมัครใจโดยรู้อยู่แล้วว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 407 จึงไม่มีสิทธิเรียกคืน (คำพิพากษาฎีกาที่ 6223/2544, 1759/2545) นายขาวจึงไม่สามารถเรียกคืนค่าดอกเบี้ยกรณีที่ได้ชำระไปแล้วทั้งหมดตามฟ้องแย้งได้
ข้อ 6.
นายดินออกเช็คชนิดผู้ถือลงวันที่ล่วงหน้ารวม ๒ ฉบับ จำนวนเงินฉบับละ 50,000
บาท ชำระหนี้ค่าสินค้าแก่นายน้ำ ฉบับแรกลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2555
ฉบับที่สองลงวันที่ 12 มิถุนายน 2555
นายน้ำนำเช็คทั้งสองฉบับไปแลกเงินสดจากนายลมโดยลงลายมือชื่อไว้ที่ด้านหน้าเช็คทั้งสองฉบับ
เมื่อเช็คฉบับแรกถึงกำหนด นายลมนำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็ค ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอ้างว่า บัญชีปิดแล้ว
นายลมทวงถาม นายน้ำยอมใช้เงินตามเช็คเฉพาะฉบับแรก
ต่อมาเมื่อเช็คฉบับที่สองถึงกำหนด นายลมจึงฟ้องนายดินและนายน้ำให้ร่วมกันรับผิดใช้เงินตามเช็คฉบับที่สองโดยมิได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คก่อนฟ้อง
นายดินให้การต่อสู้ว่า
นายลมยังมิได้นำเช็คไปเรียกเก็บเงินจากธนาคารตามเช็คก่อนฟ้อง จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ส่วนนายน้ำให้การต่อสู้ว่า
นายน้ำลงลายมือชื่อที่ด้านหน้าเช็คโดยไม่มีข้อความระบุว่าใช้ได้เป็นอาวัล จึงไม่ต้องรับผิดตามเช็ค
ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายดินและนายน้ำฟังขึ้นหรือไม่
ธงคำตอบ
ในกรณีฟ้องเรียกเงินตามเช็ค
เมื่อบัญชีของผู้สั่งจ่ายได้ปิดไปก่อนที่จะนำเช็คฉบับแรกไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร
แม้นายลมจะนำเช็คฉบับที่สองไปเรียกเก็บเงินจากธนาคาร
ธนาคารก็จะปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะบัญชีเงินฝากของนายดินที่ธนาคารถูกปิดแล้วตั้งแต่ก่อนเช็คฉบับแรกถึงกำหนด
ย่อมแสดงได้ว่าธนาคารตามเช็คได้งดเว้นการใช้เงินตามเช็คของนายดินแล้ว นายลมจึงฟ้องบังคับให้นายดินและนายน้ำชำระเงินตามเช็คได้
โดยไม่จำต้องนำเช็คไปยื่นเพื่อให้ธนาคารเรียกเก็บเงินก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา
959 (ข) (2), 989
(เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 1865/2517,
755/2516, 3971/2526 และ 1494/2529) นายลมจึงมีอำนาจฟ้อง ข้อต่อสู้ของนายดินฟังไม่ขึ้น
การที่นายน้ำลงลายมือชื่อในด้านหน้าแห่งเช็คก็จัดว่าเป็นคำรับอาวัลแล้ว
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 939 วรรคสาม ประกอบมาตรา 989
เป็นการรับอาวัลตามผลของกฎหมาย มิใช่การรับอาวัลตามมาตรา
939 วรรคสอง จึงไม่ต้องมีการเขียนข้อความว่าใช้ได้เป็นอาวัลอีก ข้อต่อสู้ของนายน้ำฟังไม่ขึ้น
ข้อ 7.
ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสามสหาย มีนายหนึ่ง นายสอง
และนายสาม เป็นผู้เป็นหุ้นส่วน ห้างฯ ตั้งขึ้นเพื่อมีวัตถุประสงค์ค้าอาหาร
หลังจากดำเนินงานไปแล้วเป็นเวลา 1 ปี ห้างฯ เป็นหนี้นายวิชัยค่าซื้อไก่สดจำนวน
100,000 บาท และเป็นหนี้เงินกู้นายสมโชคอีกจำนวน 1,000,000 บาทในการกู้ยืมเงินนี้
นายหนึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนและนายสมโชคเจ้าหนี้ได้ตกลงกันว่า หากห้างฯ
ยังไม่ได้ชำระหนี้เงินกู้ให้นายสมโชค แม้นายหนึ่งจะได้ออกจากห้างฯ ไปแล้วก็ตาม
แต่นายหนึ่งยังต้องร่วมรับผิดในหนี้เงินกู้ดังกล่าวต่อไปอีกเป็นเวลา 5
ปีนับแต่วันที่ได้ออกจากห้างฯ
ต่อมานายหนึ่งได้ขายส่วนลงหุ้นให้แก่นายสี่โดยได้ลงนามในสัญญาขายส่วนลงหุ้นในวันที่
1 กุมภาพันธ์ 2552
ได้จดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนต่อกระทรวงพาณิชย์ในวันที่ 1
กรกฎาคม 2552
และได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเปลี่ยนแปลงชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนแล้วในวันที่ 1
มีนาคม 2553
ต่อมาห้างฯ
ผิดนัดชำระหนี้ นายวิชัยและนายสมโชคจึงนำคดีมาฟ้องในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2555
ให้นายหนึ่งรับผิดในหนี้ที่ค้างชำระ นายหนึ่งต่อสู้ว่า ไม่ต้องรับผิดต่อนายวิชัยเพราะนายหนึ่งได้ออกจากห้างฯ
ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2552 จึงไม่ต้องรับผิดในหนี้ของห้างฯ อีก
และต่อสู้นายสมโชคว่า ข้อตกลงว่าแม้นายหนึ่งได้ออกจากห้างฯ ไปแล้ว
นายหนึ่งยังคงต้องร่วมรับผิดในหนี้เงินกู้ต่อไปอีกเป็นเวลา 5 ปี เป็นข้อตกลงขยายอายุความจึงตกเป็นโมฆะ
ให้วินิจฉัยว่า
ข้อต่อสู้ของนายหนึ่งต่อนายวิชัยและนายสมโชครับฟังได้หรือไม่
ธงคำตอบ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1068 บัญญัติว่า “ ความรับผิดของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน
อันเกี่ยวแก่หนี้ซึ่งห้างหุ้นส่วนได้ก่อให้เกิดขึ้นก่อนที่ตนออกจากห้างหุ้นส่วนนั้น
ย่อมมีจำกัดเพียงสองปีนับแต่เมื่อออกจากหุ้นส่วน”
กำหนดนับสองปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1068
หมายถึงนับจากวันที่ได้จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนต่อกระทรวงพาณิชย์
ไม่ใช่วันทำสัญญาออกจากห้างหุ้นส่วน และไม่ใช่วันที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
(คำพิพากษาฎีกาที่ 5011/2547)
การที่นายหนึ่งได้ออกจากห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลสามสหาย
โดยขายส่วนลงหุ้นให้นายสี่และจดทะเบียนเปลี่ยนชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนในวันที่ 1
กรกฎาคม 2552
เมื่อนายวิชัยเจ้าหนี้มาฟ้องเรียกให้นายหนึ่งรับผิดในวันที่ 10
กุมภาพันธ์ 2555 จึงเกินกำหนดระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่จดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อผู้เป็นหุ้นส่วนต่อกระทรวงพาณิชย์
ตามมาตรา 1068 แล้ว นายหนึ่งจึงไม่ต้องรับผิดต่อนายวิชัย ข้อต่อสู้ของนายหนึ่งต่อนายวิชัยจึงรับฟังได้
บทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1068
มิใช่เป็นเรื่องอายุความและไม่ใช่บทบัญญัติเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน
คู่กรณีจึงอาจตกลงเป็นอย่างอื่นได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 2613/2523)
เมื่อมีข้อตกลงระหว่างนายหนึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนกับนายสมโชคว่า
แม้นายหนึ่งจะได้ออกจากห้างฯ ไปแล้ว นายหนึ่งยังคงรับผิดในหนี้ของห้างฯ
ต่อไปอีกห้าปี ข้อตกลงดังกล่าวจึงใช้บังคับได้ระหว่างผู้ตกลง เมื่อนายสมโชคเจ้าหนี้มาฟ้องเรียกให้นายหนึ่งรับผิดในวันที่
10 กุมภาพันธ์ 2555 ซึ่งยังอยู่ภายในกำหนดห้าปี นายหนึ่งจึงไม่อาจยกขึ้นต่อสู้นายสมโชคได้
ข้อต่อสู้ของนายหนึ่งต่อนายสมโชคจึงรับฟังไม่ได้
ข้อ 8.
นายเดือนกับนางจันทร์จดทะเบียนสมรสกันในขณะที่แต่ละคนมีอายุ 15 ปี
โดยได้รับความยินยอมจากบิดามารดาฝ่ายของตนแล้ว
เมื่อนางจันทร์มีอายุเกือบ 17 ปีก็มีครรภ์และคลอดบุตรคนแรก คือ นายดำ
แล้วมีบุตรอีก 2 คน คือ นายเหลืองและนายเขียว ต่อมานายดำมีนายสมเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย
และนายเหลืองมีนายสีเป็นบุตรบุญธรรม เมื่อนายเดือนตาย นายเดือนมีทรัพย์มรดก 300,000 บาท หากปรากฏว่านายเขียวและบิดามารดาของนายเดือนตายก่อนนายเดือน
และก่อนที่นายเดือนตาย
นายดำได้ปลอมพินัยกรรมว่านายเดือนทำพินัยกรรมยกทรัพย์มรดกให้แก่นายดำทั้งหมด
ส่วนนายเหลืองสละมรดกโดยชอบ
ให้วินิจฉัยว่า บุคคลใดบ้างมีสิทธิรับทรัพย์มรดกของนายเดือน
และรับคนละเท่าใด
ธงคำตอบ
นายเดือนกับนางจันทร์จดทะเบียนสมรสกันในขณะที่แต่ละคนมีอายุ
15 ปี แม้จะได้รับความยินยอมจากบิดามารดาฝ่ายของตนแล้วก็ตาม
ก็เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 เพราะการสมรสจะทำได้เมื่อชายและหญิงต้องมีอายุ
17 ปีบริบูรณ์แล้ว การสมรสจึงตกเป็นโมฆียะ ตามมาตรา 1503
แต่เมื่อศาลยังมิได้สั่งให้เพิกถอนการสมรส จนนางจันทร์มีครรภ์ก่อนอายุครบ 17
ปีบริบูรณ์ การสมรสจึงสมบูรณ์มาตั้งแต่เวลาสมรสตามมาตรา 1504 วรรคสอง
ทายาทโดยธรรมของนายเดือนได้แก่นายดำ นายเหลือง ผู้สืบสันดานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา
1629 (1) และนางจันทร์คู่สมรสตามมาตรา 1629 วรรคสองเท่านั้น
ส่วนนายเขียวกับบิดามารดาของนายเดือนตายก่อนนายเดือน
ย่อมไม่มีสภาพบุคคลที่จะรับมรดกได้ตามมาตรา 1604 วรรคหนึ่ง นายดำ นายเหลือง
และนางจันทร์จึงมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกคนละส่วนเท่ากันตามมาตรา 1635 (1)
นายดำปลอมพินัยกรรมของนายเดือน นายดำจึงถูกกำจัดมิให้รับมรดก
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1606 (5) ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดก่อนนายเดือนตาย
นายสมบุตรชอบด้วยกฎหมายของนายดำและเป็นผู้สืบสันดานโดยตรง จึงรับมรดกแทนที่นายดำได้ตามมาตรา 1639 และมาตรา
1643
นายเหลืองสละมรดกของนายเดือน
นายสีเป็นบุตรบุญธรรมของนายเหลืองถือว่าเป็นผู้สืบสันดานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา
1627 ย่อมสืบมรดกได้ตามสิทธิของนายเหลืองตามมาตรา 1615 วรรคสอง
ดังนั้น
ผู้ที่มีสิทธิรับทรัพย์มรดกของนายเดือนจึงได้แก่ นางจันทร์ นายสม
ตามส่วนของนายดำ และนายสีตามส่วนของนายเหลือง คนละ 100,000 บาท
ข้อ 9.
บริษัท กิฟท์ จำกัด สั่งซื้อเข็มกลัดโลหะจำนวน 100,000 ชิ้น ราคาชิ้นละ 100
บาท จากบริษัท มอนโร จำกัด ประเทศฝรั่งเศส บริษัท มอนโร จำกัด
ส่งสินค้าดังกล่าวโดยบรรจุเข็มกลัดโลหะในกล่องจำนวน 100 กล่อง และว่าจ้างให้บริษัท
ชิปเมนต์ จำกัด เป็นผู้ขนส่งจากท่าเรือต้นทางมายังท่าเรือปลายทางที่ประเทศไทย
โดยมีเงื่อนไขการขนส่งเป็นแบบซีเอฟเอส/ซีเอฟเอส
และใบตราส่งระบุเข็มกลัดโลหะบรรจุกล่องจำนวน 100 กล่อง บรรจุในตู้สินค้า มีบริษัท
กิฟท์ จำกัด เป็นผู้รับตราส่ง เมื่อเรือสินค้าของบริษัท ชิปเมนต์ จำกัด
มาถึงท่าเรือกรุงเทพ บริษัท ทำแทน จำกัด ซึ่งเป็นตัวแทนบริษัท ชิปเมนต์ จำกัด
ในประเทศไทยได้ว่าจ้างบริษัท เอ็มเอ็ม จำกัด ขนถ่ายเข็มกลัดโลหะขึ้นจากเรือ
เพื่อส่งมอบให้แก่บริษัท กิฟท์ จำกัด ผู้รับตราส่ง
ปรากฏว่ากล่องที่บรรจุสินค้าเปียกน้ำเปื่อยยุ่ย 5 กล่อง
เข็มกลัดโลหะขึ้นสนิมใช้การไม่ได้ทั้ง 5 กล่อง
สาเหตุเกิดจากตู้สินค้าที่บรรจุกล่องเข็มกลัดโลหะมีรูรั่วที่หลังคา น้ำฝนไหลเข้าตู้สินค้าผ่านทางรูรั่ว
และรูรั่วมีขนาดใหญ่มองเห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า บริษัท กิฟท์ จำกัด
ผู้รับตราส่งเรียกร้องให้บริษัท ชิปเมนต์ จำกัด บริษัท ทำแทน จำกัด และบริษัท
เอ็มเอ็ม จำกัด ร่วมกันรับผิดในความเสียหายทั้งหมดของเข็มกลัดโลหะจำนวน 5 กล่อง
เป็นเงิน 500,000 บาท
ให้วินิจฉัยว่า บริษัท ชิปเมนต์ จำกัด บริษัท ทำแทน จำกัด
และบริษัท เอ็มเอ็ม จำกัด จะต้องรับผิดต่อบริษัท กิฟท์ จำกัด หรือไม่ เพียงใด
ธงคำตอบ
การที่เข็มกลัดโลหะเสียหายเนื่องจากน้ำฝนไหลเข้าตู้สินค้าผ่านทางรูรั่วที่หลังคาตู้สินค้าทำให้เข็มกลัดโลหะขึ้นสนิมใช้การไม่ได้
เป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างที่เข็มกลัดโลหะอยู่ในความดูแลของบริษัท
ชิปเมนต์ จำกัด ผู้ขนส่ง บริษัท ชิปเมนต์
จำกัด จึงต้องรับผิดเพื่อความเสียหายของสินค้าดังกล่าวตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล
พ.ศ. 2534 มาตรา 39
การขนส่งเข็มกลัดโลหะมีเงื่อนไขการขนส่งเป็นแบบ ซีเอฟเอส/ซีเอฟเอส
ซึ่งผู้ขนส่งเป็นผู้รับสินค้าจากผู้ส่งทำการตรวจนับและบรรจุสินค้าเข้าตู้ที่ท่าเรือต้นทาง
ผู้ขนส่งต้องตรวจสอบตู้สินค้าว่าอยู่ในสภาพเรียบร้อยเหมาะสมกับสินค้าที่ใช้บรรจุแล้วและเมื่อขนสินค้าไปถึงท่าเรือปลายทาง
ผู้ขนส่งจะเป็นผู้เปิดตู้เพื่อขนถ่ายสินค้าออกจากตู้เพื่อเตรียมส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง การที่เข็มกลัดโลหะขึ้นสนิมใช้การไม่ได้เกิดจากการที่หลังคาตู้ที่ใช้บรรจุสินค้ามีรูรั่วขนาดใหญ่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า
หากได้มีการตรวจสอบสภาพตู้สินค้าก่อนนำมาบรรจุสินค้าย่อมพบรูรั่วนี้ได้โดยง่ายการที่ผู้ขนส่งไม่ได้จัดเตรียมตู้สินค้าให้ดีเหมาะสมกับสภาพสินค้าที่รับขนแต่กลับนำตู้สินค้าที่ชำรุดมีรูรั่วมาใช้บรรจุสินค้า
เป็นความบกพร่องของผู้ขนส่งที่ละเลยไม่เอาใจใส่
ทั้งที่รู้ว่าอาจเกิดความเสียหายกับสินค้าที่บรรจุภายในตู้นั้นได้ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล
พ.ศ.2534 มาตรา 60 (1) บริษัท ชิปเมนต์ จำกัด
ผู้ขนส่งจึงต้องรับผิดในความเสียหายของเข็มกลัดโลหะต่อบริษัท กิฟท์ จำกัด
ผู้รับตราส่งเต็มตามจำนวนที่เรียกร้อง
ไม่อาจอ้างข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58
มาเป็นประโยชน์แก่ตนได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1273/2554)
สำหรับบริษัท ทำแทน จำกัด ไม่ได้รับมอบหมายจากบริษัท
ชิปเมนต์ จำกัด ผู้ขนส่งให้ทำการขนส่งของตามสัญญารับขนของทางทะเล แต่เป็นเพียงตัวแทนผู้ขนส่งในการติดต่อว่าจ้างบริษัท
เอ็มเอ็มจำกัด ให้ขนถ่ายเข็มกลัดโลหะเพื่อส่งมองแก่บริษัท กิฟท์ จำกัด
ผู้รับตราส่ง เพื่อให้การรับขนของผู้ขนส่งตัวการสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี บริษัท
ทำแทน จำกัด จึงไม่ใช่ผู้ขนส่งอื่นตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ. 2534
มาตรา 3
ไม่ต้องรับผิดต่อบริษัท กิฟท์ จำกัด (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 4277/2540)
ส่วนบริษัท เอ็มเอ็ม
จำกัด เป็นเพียงผู้ขนถ่ายสินค้าขึ้นจากเรือเพื่อส่งมองให้แก่ผู้รับตราส่ง ไม่ได้รับมอบหมายให้ทำการขนส่งของตามสัญญารับขนของทางทะเล
จึงไม่ใช่ผู้ขนส่งอื่นตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา
3 ไม่ต้องรับผิดต่อบริษัท กิฟท์
จำกัด (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 3879/2525)
ข้อ 10.
นายปานผลิตแชมพูสระผมสมุนไพรที่มีส่วนผสมของดอกไม้ต่าง ๆ
รวมทั้งดอกอัญชันออกจำหน่าย
โดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “
ปานแก้ว “
ซึ่งได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับใช้กับสินค้าแชมพูสระผม นายไฝเจ้าของร้านสะดวกซื้อรับสินค้าแชมพูสระผมของนายปานมาจำหน่ายในร้าน
ปรากฏว่าสินค้าดังกล่าวขายดีและเป็นที่รู้จักของลูกค้าพอสมควร ต่อมานายไฝ
จึงผลิตน้ำสมุนไพรและขนมชั้นที่มีส่วนผสมของดอกอัญชันมาวางจำหน่ายในร้านของตน โดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “ ปานแก้ว ”
ที่มีลักษณะของเครื่องหมายเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของนายปาน
และจัดโต๊ะตั้งสินค้าของตนรวมอยู่ในพื้นที่เดียวกันและติดกันกับที่วางจำหน่ายสินค้าแชมพูสระผมของนายปาน
ปรากฏว่าลูกค้าที่มาซื้อแชมพูสระผมของนายปานก็ซื้อน้ำสมุนไพรและขนมชั้นของนายไฝไปด้วยเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ให้วินิจฉัยว่า นายปานจะฟ้องนายไฝขอบังคับให้ห้ามนายไฝกระทำละเมิด
และเรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายไฝตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ได้หรือไม่
ธงคำตอบ
ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. 2534 มาตรา
44 ผู้ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้น
สำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้เท่านั้น
ดังนี้
เมื่อนายปานจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “ ปานแก้ว “ ไว้สำหรับใช้กับสินค้าแชมพูสระผม
ย่อมมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านี้สำหรับสินค้าแชมพูสระผมเท่านั้น การที่นายไฝใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “ ปานแก้ว“ เช่นเดียวกับนายปาน แต่ใช้กับสินค้าน้ำสมุนไพรและขนมชั้น
อันเป็นสินค้าคนละจำพวกแตกต่างกับสินค้าแชมพูสระผม
ซึ่งนายปานไม่ใช่ผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “ ปานแก้ว “ สำหรับสินค้าน้ำสมุนไพรและขนมชั้น
การที่นายไฝใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวกับสินค้าน้ำสมุนไพรและขนมชั้น
ย่อมไม่เป็นการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าจดทะเบียนของนายปานตามมาตรา 44 ดังกล่าว และถือว่าสำหรับสินค้าน้ำสมุนไพรและขนมชั้นนั้น นายปานไม่อยู่ในฐานะเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วสำหรับสินค้าดังกล่าว
จึงไม่มีสิทธิฟ้องเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนหรือเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเพื่อการละเมิดสิทธินั้นได้
ตามมาตรา 46 วรรคหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า
พ.ศ.2534 มาตรา 46 วรรคสอง
บัญญัติว่า “
บทบัญญัติมาตรานี้ไม่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ไม่ได้จดทะเบียน
ในอันที่จะฟ้องคดีบุคคลอื่นซึ่งเอาสินค้าของตนไปลวงขายว่าเป็นสินค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้น
“ และการกระทำของนายไฝที่นำสินค้าสมุนไพรกับขนมชั้นซึ่งใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า
“ ปานแก้ว “ เหมือนของนายปานและวางจำหน่ายรวมอยู่ในพื้นที่เดียวกันและติดกันกับที่วางจำหน่างแชมพูสระผมสมุนไพรของนายปาน
ย่อมเป็นการทำให้ผู้มาซื้อสินค้าแชมพูสระผมของนายปานเพราะนิยมในสินค้าแชมพูสระผมที่มีส่วนผสมของสมุนไพรของนายปานคิดว่าสินค้าน้ำสมุนไพรและขนมชั้นที่มีส่วนผสมดอกอัญชันที่ใช้เครื่องหมายการค้าเดียวกันและอยู่ติดกันเป็นสินค้าของนายปาน
อันเป็นการกระทำเพื่อลวงให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในความเป็นเจ้าของของสินค้า
โดยไม่จำกัดว่าสินค้าที่ทำขึ้นจะต้องเป็นสินค้าชนิดเดียวกันหรือประเภทเดียวกันเท่านั้น
เนื่องจากการลงขายนอกจากจะเป็นการลวงในวัตถุแล้วยังรวมถึงการลวงในความเป็นเจ้าของของสินค้าด้วย
การกระทำของนายไฝจึงเป็นการละเมิดด้วยการลวงขายสินค้า
นายปานจึงมีสิทธิฟ้องห้ามนายไฝกระทำละเมิดด้วยการลวงขายดังกล่าว
และเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ ตามมาตรา 46
วรรคสอง
มีประโยชน์มากครับ ขอขอบคุณมากครับ
ตอบลบยินดีครับ^^
ลบขอบคุณค่ะ^^
ตอบลบยินดีครับ^^
ลบขอบคุณในสิ่งดีๆที่มอบให้ จนทำให้ผู้หาข้อมูลได้ความรู้มากมาย
ตอบลบยินดีครับ^^
ลบขอบคุณมากคะ
ตอบลบยินดีครับผม
ลบขอบคุณมากคะ
ตอบลบ