คำถาม การยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษในชั้นบังคับคดีว่าผู้ร้องไม่ใช่บริวารของจำเลย
ผู้ถูกฟ้องขับไล่ตาม ป.วิ.พ.มาตรา 296 จัตวา (3)
จะถือว่าผู้ร้องอยู่ในฐานะเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวด้วยหรือไม่ และหากศาลได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดอย่างไร
จะมีผลในทางกฎหมายเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่
4479/2556 โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่
27836 และบ้านเลขที่ 199/3 หมู่ที่ 6 ห้ามเกี่ยวข้องอีกต่อไป
ให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 96,000 บาท และในอัตราเดือนละ 30,000 บาท
นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยพร้อมบริวารจะออกไปจากที่ดินและบ้านโจทก์
จำเลยให้การต่อสู้คดี
ขอให้พิพากษายกฟ้อง
ก่อนสืบพยานโจทก์
คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริง
ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีพอวินิจฉัยได้จึงมีคำสั่งให้งดสืบพยาน แล้วพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา
โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายของโจทก์ว่า
ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 936/2549
หมายเลขแดงที่ 1272/2549 ของศาลชั้นต้นหรือไม่
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 บัญญัติว่า “
เมื่อศาลใดมีคำพิพากษาหรือคำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดคดีหรือในประเด็นข้อใดแห่งคดีแล้วห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลนั้นอันเกี่ยวกับคดีหรือประเด็นที่ได้วินิจฉัยชี้ขายแล้วนั้น.......” โจทก์อุทธรณ์ว่า
จำเลยคดีนี้มิได้เป็นคู่ความรายเดียวกันกับคดีหมายเลขดำที่ 936/2549 หมายเลขแดงที่
1272/2549 ของศาลชั้นต้น โดยคดีดังกล่าวโจทก์ฟ้องนางฐิตวันต์ ลักษณา ฐานผิดสัญญา
กรณีขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแล้วไม่ยอมย้ายออกไป
แต่โจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ในฐานะเป็นผู้ละเมิดสิทธิในทรัพย์สินของโจทก์ที่จำเลยเข้าไปครองครอบโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและเรียกค่าเสียหาร
กรณีจึงไม่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัย
จำเลยแก้อุทธรณ์ว่า
ในคดีที่โจทก์ฟ้องนางฐิตวันต์ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาขับไล่นางฐิตวันต์และบริวารให้ออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น
หลังศาลชั้นต้นพิพากษา
เจ้าพนักงานบังคับคดีปิดประกาศขับไล่นางฐิตวันต์และบริวารให้ออกไปจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
จำเลยไม่อยู่ในฐานบริวารของนางฐิตวันต์ แต่อยู่ในฐานะบริวารของนาวาอากาศโทนิวัตร
สวัสดิโชติ และนางสมสาย สวัสดิโชติ
ซึ่งเป็นตาและยายของจำเลยและเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้ฟ้องเรียที่ดินคืนจากนางฐิตวันต์ด้วยเหตุประพฤติเนรคุณ
จำเลยจึงร้องสอดเข้าไปในฐานะผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 296 จัตวา (3)
โดยอาศัยอำนาจของตาและยายที่มีสิทธิจะอยู่ในที่ดินและบ้านพิพาทได้
ซึ่งแม้ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งยกคำร้อง แต่จำเลยก็ได้อุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นและคดียังอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์
การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าการดเนินกระบวนพิจารณาของโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ
จึงชอบแล้วนั้น เห็นว่า ในคดีหมายเลขดำที่ 936/2549 หมายเลขแดงที่ 1272/2549
จำเลยคดีนี้ได้ยื่นคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษในชั้นบังคับคดีว่าตนเองไม่ใช่บริวารของนางฐิตวันต์
จำเลยจึงอยู่ในฐานะเป็นคู่ความในคดีดังกล่าวด้วย เมื่อศาลชั้นต้น.........................
คำถาม
การยื่นคำร้องขอกันส่วนจะต้องยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์สินออกขายทอดตลาดหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 6244/2556 ผู้ร้องบรรยายคำร้องขอว่า
ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองที่ดินที่โจทก์นำยึดซึ่งจำเลยที่ 1 และ ก.
เจ้าของรวมนำมาจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้กู้ยืมของ น. เมื่อ น. ไม่ชำระหนี้
ผู้ร้องบอกกล่าวบังคับจำนองแก่จำเลยที่ 1 และ ป. ทายาทโดยธรรมของ ก. แล้ว
ขอให้มีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้แก่ผู้ร้อง
เนื้อหาตามคำร้องขอจึงเป็นเรื่องที่ผู้ร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีกันเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์ส่วนที่เป็นของ
ก. ออกจากเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้แก่โจทก์
จึงเป็นกรณีที่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองใช้สิทธิตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 287 เพื่อขอรับชำระหนี้จำนอง ซึ่งสิทธิของผู้ร้องเช่นว่านี้
ถือได้ว่าเป็นบุริมสิทธิอื่น ๆ ที่อาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์นั้นได้ตามมาตรา
287 ไม่อยู่ในบังคับกำหนดเวลาตามมาตรา 289 วรรคสอง
ที่ผู้ร้องจะต้องยื่นคำร้องขอก่อนเอาทรัพย์จำนองนั้นออกขายทอดตลาด
ผู้ร้องจึงมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินซึ่งจำนองก่อนเจ้าหนี้รายอื่นรวมทั้งโจทก์ด้วย
คำถาม ผู้เสียหายที่แท้จริง (ผู้ตาย)
ไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย
บิดามารดาของผู้ตายจะมีอำนาจยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 2367/2556 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
290 จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นาย
ภ. และนาง ว. บิดาและมารดาของผู้ตาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์
ศาลชั้นต้นอนุญาต
และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นค่าขาดไร้อุปการะ
ค่าปลงศพและค่าใช้จ่ายในการจัดการศพผู้ตาย พร้อมดอกเบี้ย
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ คดีนี้ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า นาย
ป. ผู้ตายเป็นฝ่ายก่อเหตุทำร้ายจำเลยก่อน
การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำเพราะถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม
เป็นการกรทำความผิดโดยบันดาลโทสะ และพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 72
โจทก์ร่วมทั้งสองไม่อุทธรณ์ในปัญหาที่ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการกรทำความผิดโดยบันดาลโทสะหรือไม่
ข้อเท็จจริงจึงรับฟังเป็นยุติว่าผู้ตายเป็นก่อนให้จำเลยกระทำความผิดดังนี้
ผู้ตายจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา
290 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 2 (4) โจทก์ร่วมทั้งสองซึ่งเป็นบิดาและมารดาของผู้ตาย
ย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้ตายได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณามาตรา 5 (2)
และไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 30
และยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 44/1
กับไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่น
และขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ที่ศาลชั้นต้นอนุญาตให้นาย ภ. และนาง ว. เข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ
และศาลล่างทั้งสองพิพากษา
ให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสองจึงไม่ชอบ
ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา
ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195
วรรคสองประกอบมาตรา 225 ”
พิพากษาแก้เป็นว่า
ให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของนาย ภ. และนาง ว.
และคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของนาย ภ. และนาง ว.
ยกฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสอง
คำถาม ลูกหนี้นำโฉนดที่ดินไปมอบให้แก่เจ้าหนี้ยึดถือไว้เพื่อประกันหนี้เงินกู้แล้วไปแจ้งแก่พนักงานที่ดินว่าโฉนดที่ดินสูญหายไป
เพื่อขอออกใบแทนโฉนดที่ดินแล้วจดทะเบียนโอนขายที่ดินแก่บุคคลอื่น ดังนี้
เจ้าหนี้จะเป็นผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จตาม ป.อ. มาตรา 137 หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 8929/2556 โจทก์ฟ้องว่า
จำเลยแจ้งความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมว่าโฉนดที่ดินเลขที่
58366 ต้นฉบับสูญหายไปโดยไม่ทราบสาเหตุ จึงขอใบแทนโฉนดที่ดินอันเป็นความเท็จ
จำเลยทราบดีอยู่แล้วว่า
ความจริงจำเลยนำโฉนดที่ดินไปมอบให้แก่โจทก์ยึดถือไว้เพื่อประกันหนี้เงินกู้ที่จำเลยกู้เงินโจทก์และจำเลยยังไม่ได้ชำระหนี้คืน
ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 137
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “
ข้อเท็จจริงที่มิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังเป็นยุติว่า
จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์โดยมอบโฉนกที่ดินให้แก่โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน วันที่ 11 กันยายน 2550
จำเลยแจ้งต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมว่าโฉนดที่ดินสูญหายไป
โดยไม่ทราบสาเหตุและมีความประสงค์ขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน
เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการออกใบแทนโฉนดที่ดินให้วันที่ 21 พฤศจิกายน 2550
จากนั้นวันที่ 25 สิงหาคม 2551 จำเลยจดทะเบียนโอนขายที่ดินให้แก่บุคคลอื่น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อกฎหมายว่า
โจทก์มิใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้องหรือไม่
เห็นว่านิติสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน
โจทก์มีฐานะเป็นเพียงเจ้าหนี้สามัญของจำเลย
การที่จำเลยมอบโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์เพื่อยึดถือไว้เป็นประกันการกู้ยืมเงิน แม้ทำให้โจทก์มีสิทธิในอันที่จะยึดโฉนดที่ดินไว้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้จากจำเลยสิ้นเชิง
แต่มิได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่โจทก์ที่จะฟ้องบังคับเอาแก่ที่ดินหรือบังคับอย่างใด ๆ
ต่อโฉนดที่ดินที่จำเลยวางเป็นประกันได้เลยไม่ว่าในทางใด โจทก์คงมีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยได้ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินอย่างเจ้าหนี้สามัญเท่านั้น ดังนี้
การที่จำเลยไปแจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดนครปฐมว่าโฉนดที่ดินสูญหาย
ไปเพื่อขอออกใบแทนโฉนดที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือไม่
ย่อมมิได้กระทบต่อสิทธิอย่างใด ๆ ของโจทก์ในอันที่จะบังคับชำระหนี้เอาแก่จำเลยตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน
สิทธิของโจทก์ในฐานะเจ้าหนี้สามัญมีอยู่อย่างไรคงมีอยู่เพียงนั้น
มิได้ลดน้อยถอยลงไป ทั้งในการแจ้งแก่เจ้าพนักงานที่ดินโดยเฉพาะไม่เกี่ยวกับโจทก์
เพราะจำเลยมิได้กล่าวพาดพิงเจาะจงถึงโจทก์ในอันจะถือว่าทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลย
โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2 (4)
โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 137
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
มีปัญหาว่า นางมรกต ซื้อขายที่ดินที่เป็นโฉนดพร้อมบ้านจากนายกันต์ แต่นายกันต์ ได้ซื้อที่ดินพร้อมบ้านดังกล่าวจากนายศิริ แต่นายศิริ ยังอาศัยอยู่ในที่ดินและบ้านหลังนี้พร้อมบริวารไม่ยอมออก นางมรกต จะฟ้องขับไล่นายศิริและบริวารออกจากที่ดินและบ้านนี้ได้หรือไม่ (ปัจจุบันโฉนดพร้อมที่ดินได้นำไปจำนองธนาคารออมสิน)..........
ตอบลบ