หนังสือรวมคำบรรยาย ภาคหนึ่ง
สมัยที่ 65
เล่มนี้เป็นเล่มที่ 1
ของภาคการศึกษานี้
ในนามของสำนักอบรมฯ
ขอต้อนรับนักศึกษาทุกคนที่ได้เข้ามาเป็นสมาชิกของสถาบันแห่งนี้
บทบรรณาธิการ มีวัตถุประสงค์ที่จะแจ้งข่าวสารในเรื่องต่างๆให้แก่นักศึกษาเกี่ยวกับการเรียนการสอน
การสอบ รวมตลอดถึงกรณีที่กฎหมายมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ทั้งจะได้นำคำพิพากษาฎีกาใหม่ คำพิพากษาฎีกาที่กลับหลักแนวคำวินิจฉัยเดิม หรือที่วินิจฉัยขัดแย้งกัน มานำเสนอเพื่อประโยชน์แก่การศึกษา
นักศึกษาจะสอบได้เป็นเนติบัณฑิตควรศึกษาจากเนื้อหาคำบรรยายเป็นหลักเท่านั้น
สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ได้ทำการสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคสอง
สมัยที่ 64 ปีการศีกษา 2554
และประกาศผลเรียบร้อยแล้วปรากฎผล
ดังนี้
1. กลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มีผู้เข้าสอบจำนวน 8,919 คน มีผู้สอบได้จำนวน 815
คน (คิดเป็นร้อยละ 9.14)
ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด ชื่อ
นางสาววัฒนาพร เอื้อกิตติโรจน์ จบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอบได้
78 คะแนน
2.กลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีผู้เข้าสอบจำนวน 10,513 คน
มีผู้สอบได้จำนวน 2,259 คน (คิดเป็นร้อยละ 21.49)
ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด ชื่อ
นายพัสสพล วุฑฒกนก จบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอบได้
77คะแนน
ซึ่งได้ทำการสอบกลุ่มนี้เป็นครั้งแรก
3.ผู้สอบได้กลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและกลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำนวน 349 คน ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด จำนวน 3 คน
1. นางสาวพรรณวดี มณีวัต
จบนิติศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ได้คะแนนกลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 69 คะแนน
กลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
74 คะแนน สอบได้คะแนนรวม 143
คะแนน
2. นายภาณุภาส
ลิขิตธนสมบัติ
จบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ได้คะแนนกลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 74 คะแนน
กลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
69 คะแนน
สอบได้คะแนนรวม 143 คะแนน
3. นางสาวเบญญาภา
เวนัย
จบนิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ได้คะแนนกลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 71 คะแนน
กลุ่มวิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
72 คะแนน
สอบได้คะแนนรวม 143 คะแนน
เนติบัณฑิต สมัยที่
64
ที่ได้คะแนนสูงสุด 3 ลำดับ ได้แก่
ลำดับ 1
นายไกรพล อรัญรัตน์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 287 คะแนน
ลำดับ 2 นางสาวอิสราภรณ์ ธีระวัฒน์สกุล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 281 คะแนน
นางสาววิภา ฉันทพันธุ์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ 281 คะแนน
นางสาวฐิตินันท์ เต็งอำนวย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 281 คะแนน
ลำดับ 3 นายณัฐกร
สุดใจใหม่
มหาวิทยาลัยรามคำแหง 278 คะแนน
คำถาม ลงลายมือชื่อเป็นพยานในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม
ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมได้สอบถามผู้ทำพินัยกรรมจึงทราบว่าได้ทำพินัยกรรมไว้จริง จะถือว่าเป็นพยานในพินัยกรรมโดยชอบตาม
ป.พ.พ. มาตรา 1656 หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
บทบัญญัติของ ป.พ.พ.
มาตรา 1656 วรรคแรก หมายความว่า
ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคน และพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นสำคัญ
ทั้งบทบัญญัติกฎหมายที่ว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานทั้งสองคน และพยานทั้งสองจะต้องลงลายมือชื่อรับรองในขณะนั้น
เป็นบทบัญญัติที่มีความหมายชัดเจนจนกระทั่งไม่อาจจะตีความหรือแปลความหมายไปเป็นอย่างอื่นได้ ดังนั้น
การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรมแต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง
ก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวและทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1705 ไปในทันที แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมจะมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริงก็ตาม
ก็ไม่มีผลทำให้การลงลายมือชื่อในพินัยกรรมที่ไม่ชอบหรือพินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลายเป็นการลงลายมือชื่อที่ชอบทำให้พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้
คำถาม หลักฐานเป็นหนังสือในการกู้ยืมมิได้ระบุชื่อผู้ให้กู้ไว้ จะถือเป็นหลักฐานในการกู้ยืมได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 4537/2553 สาระสำคัญของหลักฐานเป็นหนังสือตาม
ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคแรก อยู่ที่ว่า มีการแสดงให้เห็นว่ามีการกู้ยืมเงินกันก็เพียงพอแล้ว
ไม่ได้บังคับถึงกับจะต้องระบุชื่อของผู้ให้กู้ไว้ ดังนั้น เมื่อเอกสารมีสาระสำคัญแสดงให้เห็นว่า
จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้
แม้จะไม่ได้ระบุชื่อผู้ให้กู้ไว้ให้ถูกต้อง
แต่ระบุจำนวนเงินและจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้กู้ครบถ้วน จึงถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมได้แล้ว
คำถาม ผู้ตายใช้ขวดสุราตีศรีษะจำเลยแต่ยังคงนั่งรับประทานอาหารด้วยกัน จำเลยกลับบ้านนั่งคิดแค้นอยู่ที่บ้าน อีก 2 ชั่วโมงต่อมา จำเลยกลับไปฆ่าผู้ตาย จะอ้างบันดาลโทสะได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 81/2554 หลังจากผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลย ผู้ตายกับจำเลยยังได้รับประทานอาหารด้วยกัน และจำเลยกลับไปบ้านแล้ว ต่อมานานถึง 2 ชั่วโมงเศษ จำเลยจึงมาที่บ้านเกิดเหตุและใช้มีดโต้ฟันผู้ตายขณะที่ผู้ตายกับ
ข. นอนหลับกันแล้ว เหตุการณ์ที่ผู้ตายใช้ขวดสุราตีศีรษะจำเลยได้ขาดตอนตั้งแต่นั่งรับประทานอาหารด้วยกัน
จำเลยจึงมิได้กระทำความผิดในขณะที่บันดาลโทสะอยู่ แต่กระทำความผิดในภายหลังเป็นเวลานานถือได้ว่าเหตุบันดาลโทสะขาดตอนแล้ว
และการที่จำเลยกลับบ้านนั่งคิดแค้นอยู่ที่บ้านตั้ง
2 ชั่วโมง จึงไปทำร้ายตายในขณะกำลังนอนหลับในยามวิกาลและเวลาดึกสงัดโดยใช้มีดโต้ขนาดใหญ่เลือกฟันผู้ตายที่ศีรษะ
ใบหน้าและลำคอหลายครั้ง ซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ หากถูกฟันอย่างแรงเพียงครั้งเดียวก็ถึงแก่ความตายแล้ว
แม้จำเลยมิได้เตรียมมีดมา แต่จำเลยก็เตรียมไฟฉายมาค้นหาอาวุธ
ซึ่งจำเลยทราบดีอยู่แล้วว่าที่บ้านเกิดเหตุมีมีดโต้ใช้เป็นอาวุธทำร้ายผู้ตายได้และใช้ไฟฉายส่องหาทำร้ายผู้ตายได้ไม่ผิดตัวพฤติการณ์ชี้ชัดว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าผู้ตายโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
คำถาม การเรียกและริบเงินจากผู้เสียหายเพื่อให้พนักงานอัยการซึ่งไม่ใช่อัยการเจ้าของสำนวนช่วยเหลือในทางคดีโดยสั่งไม่ฟ้องในคดีที่ผู้อื่นถูกดำเนินคดีอาญาและยังไม่มีการให้เงินแก่กัน ฉะนั้นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 143 หรือไม่
คำตอบ
มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 661/2554 มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่านาย ธ. ไม่ใช่อัยการเข้าของสำนวนในคดีที่นาย ร. ถูกดำเนินคดีในข้อหาฐานชิงทรัพย์ จึงไม่มีอำนาจที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าว และยังไม่ได้มีการให้เงินแก่กัน
จึงไม่ครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 นั้น
เห็นว่า การที่จำเลยเรียกและรับเงินไปจากผู้เสียหายทั้งสองเพื่อเป็นการตอบแทนในการที่จะจูงใจเจ้าพนักงานในตำแหน่งพนักงานอัยการโดยวิธีอันทุจริตผิดกฎหมายเพื่อให้กระทำการในหน้าที่โดยการช่วยเหลือในทางคดีให้สั่งไม่ฟ้องในคดีที่นาย
ร. ถูกดำเนินคดีอาญา แม้อัยการ ธ.
จะมิได้เป็นเจ้าของสำนวนในคดีนั้นและจำเลยยังมิได้ให้เงินกันก็ตาม ก็ถือว่านาย ธ. เป็นเจ้าพนักงานที่จำเลยจะจูงใจให้กระทำการในหน้าที่อันเป็นคุณแก่นาย
ร. แล้ว
การกระทำของจำเลยจึงครบองค์ประกอบแห่งความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 แล้ว
คำถาม ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ จะเป็นการพยายามกระทำความผิดได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 112/2554
การที่จำเลยโยนโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายลงไปที่ชานพักบันได จำเลยย่อมเล็งเห็นได้ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายอาจจะเกิดความเสียหายได้
เมื่อไม่ปรากฏว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้เสียหายได้รับความเสียหาย
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามทำให้เสียทรัพย์
และแม้โจทก์จะมิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานนี้
แต่ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ก็มีความผิดฐานลักทรัพย์ซึ่งเป็นความผิดเกี่ยวกับทรัพย์รวมอยู่ด้วย
จึงถือไม่ได้ว่าข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง
เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยหลงต่อสู้ ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามทำให้เสียทรัพย์ตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคสาม
คำถาม ซื้อสุราต่างประเทศในห้างสรรพสินค้า
โดยเอาสุราต่างประเทศใส่ไว้ในลังน้ำปลาใช้สกอตเทปปิดลังไว้ไม่ให้เห็นสินค้า แล้วชำระเงินตามราคาน้ำปลา เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือฉ้อโกง
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 3935/2553 จำเลยซื้อสินค้าในห้างคาร์ฟู โดยเอาสุราต่างประเทศ 12
ขวด ราคา
3.228 บาท
ของผู้เสียหายใส่ไว้ในลังน้ำปลาและใช้สกอตเทปปิดลังไว้ไม่ให้เห็นสินค้าในลัง จากนั้นจำเลยนำน้ำปลาอีก 1 ลัง วางทับแล้วนำไปชำระเงินกับพนักงานของผู้เสียหายตามราคาน้ำปลาสองลังเป็นเงิน 420 บาท
แสดงให้เห็นว่าจำเลยมีเจตนาทุจริตที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปตั้งแต่แรกแล้ว
การที่จำเลยนำลังน้ำปลาซึ่งมีสุราต่างประเทศซุกซ่อนอยู่ภายในไปชำระราคาเท่ากับราคาน้ำปลาจนพนักงานมอบลังน้ำปลาทั้งสองลังให้จำเลยไปเป็นเพียงกลอุบายเพื่อให้บรรลุผลคือ
การเอาสุราต่างประเทศของผู้เสียหายไปโดยทุจริตเท่านั้น พนักงานซึ่งเป็นตัวแทนของผู้เสียหายมิได้มีเจตนาส่งมอบการครอบครองสุราต่างประเทศให้แก่จำเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
(ให้ดูเปรียบเทียบกับคำพิพากษาฎีกาที่ 6892/2542)
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น