วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันอังคารที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2555

บทบรรณาธิการ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 2

                 หนังสือรวมคำบรรยายเล่มที่  1  หน้า  219  วิชากฎหมายแพ่งลักษณะหนี้  อาจารย์ผู้สอน   ศาสตราจารย์(พิเศษ) ไพโรจน์   วายุภาพ   ตำแหน่งของท่านที่ถูกคือ  ประธานศาลฎีกา  ได้แจ้งให้ทางโรงพิมพ์แก้ไขในคราวต่อไปแล้ว
                 คำถาม   ผู้ซื้อที่ดินโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลตาม ป.พ.พ.  มาตรา  1300  หากมีผู้ซื้อที่ดินจากบุคคลดังกล่าวอีกทอดหนึ่ง  ผู้ซื้อจะได้รับความคุ้มครองตามบทกฎหมายดังกล่าวด้วยหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  13846/2553   ธนาคาร ก. เป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทโดยสุจริตในการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ย่อมได้รับความคุ้มครองสิทธิมิให้เสียไป  แม้ที่ดินพิพาทมิใช่ของจำเลยหรือลูกหนี้โดยคำพิพากษา ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1330 โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้ซื้อที่ดินพิพาทจากธนาคาร ก. อีกทอดหนึ่ง  ถือได้ว่าเป็นผู้สืบสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองสิทธิที่มีอยู่ตามมาตรา 1330 เช่นเดียวกัน  แม้มิใช่ผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยตรงก็ตาม   แม้โจทก์ทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทโดยทราบมาก่อนว่าจำเลยปลูกบ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่นในที่ดินพิพาทเป็นเวลาเกินกว่า  20 ปี แล้ว  โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งคัดค้าน และมีจำเลยหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) เป็นหลักฐาน  จำเลยก็ไม่อาจยกสิทธิดังกล่าวขึ้นใช้ยันสิทธิของโจทก์ทั้งสองที่ได้รับความคุ้มครองตามป.พ.พ. มาตรา  1330 ได้  ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าโจทก์ทั้งสองมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดีกว่าสิทธิของจำเลย  เมื่อโจทก์ทั้งสองบอกกล่าวด้วยวาจาไม่จำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือให้จำเลยรื้อถอนบ้านและสิ่งปลูกสร้างอื่นกับให้ออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว จำเลยยังคงเพิกเฉย  โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทได้
                 คำถาม   ซื้อขายรถยนต์โดยผู้ขายยังมิได้ส่งมอบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์และโอนชื่อในทะเบียนให้แก่ผู้ซื้อ  กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะโอนไปเป็นของผู้ซื้อเมื่อใด  และหากผู้ซื้อไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้าง  ผู้ขายเอารถยนต์กลับคืนมาโดยพลการจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  9603/2553 (ประชุมใหญ่)   โจทก์ร่วมตกลงซื้อรถยนต์ตู้กับจำเลยในราคา  310,000  บาท  ซึ่งในสัญญาข้อ 3 ระบุว่า  จำเลยตกลงรับชำระราคารถยนต์จำนวน 200,000 บาท ในวันที่ 27 ตุลาคม 2540  ส่วนจำนวนที่เหลือจะชำระให้จำเลยในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540  สัญญาซื้อขายดังกล่าวไม่มีเงื่อนไขเกี่ยวกับการโอนกรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้แต่ประการใด  จึงเป็นสัญญาซื้อขายเสร็จเด็ดขาด  กรรมสิทธิ์ในรถยนต์ตู้ย่อมโอนให้แก่โจทก์ร่วมตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกันตาม ป.พ.พ.  มาตรา 453 , 458
                 ใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์มิใช่เอกสารสำคัญที่แสดงถึงความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในรถยนต์  เพียงแต่เป็นพยานหลักฐานอันหนึ่งที่แสดงถึงการเสียภาษีประจำปีและแสดงว่าผู้มีชื่อในใบคู่มือจดทะเบียนรถยนต์น่าจะเป็นเจ้าของเท่านั้น  คดีจึงรับไม่ได้ว่าจำเลยยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์ตู้คันดังกล่าว  ดังนั้น  การที่จำเลยขับรถยนต์ตู้ไปจากที่จอดรถ  จึงเป็นการเอารถยนต์ตู้ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ร่วมไปโดยไม่มีอำนาจ  แม้จำเลยจะอ้างว่าสืบเนื่องมาจากโจทก์ร่วมไม่ยอมชำระหนี้ที่ค้าง  แต่ก็เป็นการใช้อำนาจบังคับให้ชำระหนี้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย  เพราะโจทก์ร่วมค้างชำระราคารถยนต์แก่จำเลยเพียงประมาณ 20,000 บาท  แต่จำเลยจะให้โจทก์ร่วมชำระเงินแก่จำเลยถึง  100,000 บาท  การที่จำเลยเอารถยนต์ตู้ไปจากโจทก์ร่วมเพื่อเรียกร้องให้โจทก์ร่วมชำระหนี้นั้น  เป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง  การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาทรัพย์ของโจทก์ร่วมไปโดยทุจริต เป็นความผิดฐานลักทรัพย์
                 คำถาม   ซื้อที่ดินและยึดถือทำประโยชน์เพื่อตนในระยะเวลาห้ามโอน  หากผู้ซื้อครอบครองที่ดินตลอดมาจนเลยเวลาห้ามโอนแล้ว  ผู้ซื้อจะได้สิทธิครอบครองหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  12473/2553 (ประชุมใหญ่)   การที่จำเลยที่ 1 ขายที่ดินให้แก่ ป. และมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โดยมิได้กลับเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินอีก  แสดงว่าจำเลยที่ 1 สละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไป ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377 วรรคหนึ่ง แล้ว แม้ ป. จะได้ซื้อที่ดินและยึดถือทำประโยชน์เพื่อตนในระยะเวลาห้ามโอน ป. ไม่ได้สิทธิครอบครองเนื่องจากถูกจำกัดสิทธิโดยบทบัญญัติแห่ง ป.ที่ดิน มาตรา 58 ทวิ  แต่เมื่อ ป. และโจทก์ซึ่งอยู่กินฉันสามีภริยาได้ร่วมกันครอบครองที่ดินตลอดมาจนเลยเวลาห้ามโอนแล้ว ก็ยังครอบครองที่ดินอยู่  จึงถือได้ว่า ป. และโจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 นับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอน  จำเลยที่ 1 จึงไม่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทและไม่อาจนำที่ดินพิพาทไปแบ่งแยกโอนให้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 9 ได้  จำเลยที่ 2 ถึงที่ 10 จึงไม่มีสิทธิเข้าไปในที่ดินของโจทก์และจำเลยที่ 9 ไม่อาจนำที่ดินพิพาทบางส่วนไปจดทะเบียนจำนอง
                  สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทตกเป็นโมฆะเพราะต้องห้ามตามกฎหมายที่มิให้โอนที่ดินพิพาท การที่ ป. ได้สิทธิครอบครองในที่ดินเป็นการได้ตามผลของกฎหมาย จึงหาอาจเรียกให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่ ป. ได้ไม่
                 คำถาม   ผู้ค้ำประกันหลายคนในหนี้รายเดียวกัน  ผู้ค้ำประกันคนหนึ่งชำระหนี้แก่เจ้าหนี้แทนลูกหนี้แล้ว  จะไล่เบี้ยเอาแก่ผู้ค้ำประกันร่วมอีกคนหนึ่งได้หรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  12168/2553  ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 กับโจทก์และจำเลยที่ 2 ร่วมกันชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  เพราะโจทก์และจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1  ซึ่งโจทก์ก็ได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้วจำนวน 17,000,000 บาท  โจทก์ย่อมรับช่วงสิทธิของเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาไล่เบี้ยเอาแก่จำเลยที่ 2 ได้ตามส่วนเท่าๆกัน จำนวน  8,500,000  บาท  ตามป.พ.พ.  มาตรา  229(3) และมาตรา  296   เนื่องจากบทบัญญัติในลักษณะค้ำประกันมิได้กำหนดความรับผิดของผู้ค้ำประกันต่อกันไว้  จึงต้องใช้หลักทั่วไปตามมาตราทั้งสองดังกล่าว (คำพิพากษาฎีกาที่  359/2509 , 4574/2536 วินิจฉัยเช่นเดียวกัน)
                  คำถาม  จำเลยตบหน้าผู้เสียหายทันทีที่เปิดประตูห้อง  ล้วงเอามีดพับออกมาจี้ที่แก้มผู้เสียหายขู่ขอเงินไปซื้อสุรา  เป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือกรรโชก
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  11052/2553   ความแตกต่างระหว่างความผิดฐานชิงทรัพย์กับความผิดฐานกรรโชกทรัพย์ตามบทบัญญัติของกฎหมายมิได้อยู่ที่จำนวนทรัพย์สินที่ผู้กระทำผิดได้ไปว่าจะเป็นทั้งหมดหรือแต่เพียงบางส่วน  เพราะไม่ว่าคนร้ายจะได้ทรัพย์สินไปเพียงใด  การกระทำความผิดก็เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน  แต่ข้อสาระสำคัญอยู่ที่ว่าความผิดฐานชิงทรัพย์ต้องมีฐานเดิมจากความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ.  มาตรา 334  โดยคนร้ายใช้กำลังประทุษร้ายเจ้าของหรือผู้ครอบครองทรัพย์นั้นหรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย  เพื่อให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้นตามความใน ป.อ. มาตรา 339(2)  โดยการลักทรัพย์กับการใช้กำลังประทุษร้ายต้องไม่ขาดตอน  หรือเป็นการลักทรัพย์ที่ต้องขู่เข็ญให้ปรากฎว่าในทันทีทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายต่อเนื่องกันไป  เมื่อข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของผู้เสียหายว่า  ถูกจำเลยตบหน้าทันทีที่เปิดประตูห้อง  เมื่อ ช. ตามเข้าไปปิดประตูห้อง  จำเลยก็ล้วงมีดพับออกมาจี้ที่แก้มผู้เสียหาย ขู่ขอเงินไปซื้อสุรา  พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนั้นบ่งชี้ไปทำนองว่าหากผู้เสียหายขัดขืนไม่ให้เงินก็จะประทุษร้ายต่อเนื่องไปในทันใดนั้น  แสดงให้เห็นว่ามุ่งหมายมาทำร้ายและขู่เข็ญผู้เสียหายโดยประสงค์ต่อทรัพย์มาแต่แรก  ไม่ใช่เป็นการข่มขืนใจให้ผู้เสียหายยอมให้เงินบางส่วนโดยใช้กำลังประทุษร้ายตามที่จำเลยฎีกา  ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา  339  วรรคสอง  ประกอบมาตรา  83 จึงชอบแล้ว
                  คำถาม  การกระทำความผิดโดยประมาท  ผู้กระทำจะอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นได้หรือไม่
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  7227/2553  คำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยได้ความว่า  ผู้ตายชอบเล่นอาวุธปืน  บางครั้งเอากระสุนปืนออกจากลูกโม่แล้วมาจ่อยิงที่ศีรษะตนเองหรือผู้อื่นเพื่อล้อเล่น  ในวันเกิดเหตุก่อนเกิดเหตุผู้ตายก็เอาอาวุธปืนมาเล่นอีก  แต่ข้อเท็จจริงไม่ปรากฏว่าขณะที่ผู้ตายเอาอาวุธปืนมาจ่อที่ศีรษะตนเองแล้วจำเลยเข้าแย่งเป็นเหตุให้ปืนลั่นนั้น  ผู้ตายจะยิงตนเองหรือผู้ตายเมาสุราจนไม่ได้สติแต่อย่างใด  ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยรู้หรือไม่ว่าอาวุธปืนดังกล่าวบรรจุกระสุนปืนหรือไม่  ดังนั้น  การที่จำเลยเข้าแย่งอาวุธปืนในสถานการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยกระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์  และจำเลยอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่  อันเป็นการกระทำโดยประมาทตาม ป.อ. มาตรา 59 วรรคสี่
                   การที่จะอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นได้นั้น  ต้องเป็นเรื่องการกระทำผิดโดยเจตนา  แต่คดีนี้จำเลยกระทำความผิดโดยประมาทจึงมิใช่เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
                  คำถาม  สัญญากู้ยืมไม่ได้ลงนามพยานในสัญญา  ต่อมา  ผู้ให้กู้จึงให้ผู้อื่นลงนามเป็นพยานในสัญญาโดยพลการ  แล้วนำมาฟ้องต่อศาลเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารหรือไม่
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  1126/2505  ศาลฎีกาเห็นว่า  การกระทำที่จะเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  264  จะต้องเป็นการกระทำที่น่าจะเกิดหรืออาจเกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน  คดีนี้  โจทก์รับอยู่ว่า  โจทก์ได้ลงชื่อในหนังสือสัญญากู้เงินจำเลยที่ 1 ไป 80,000 บาทจริง  สัญญาดังกล่าวจึงมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว  การที่จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ลงชื่อในสัญญานั้นภายหลัง  ตามกฎหมายจึงไม่น่าจะเกิดหรืออาจเกิดความเสียหายแก่โจทก์  จำเลยจึงไม่ควรมีความผิดดังที่โจทก์ฎีกา
                                                                                                                  นายประเสริฐ   เสียงสุทธิวงศ์
                                                                                                                              บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น