คำถาม ข้อสอบกฎหมายแพ่งข้อแรกในการสอบเนติบัณฑิต
สมัยที่ 1 เมื่อปี 2491 นั้น
คำถามมีว่าอย่างไร
คำตอบ คำถามข้อสอบกฎหมายแพ่งข้อแรกของสำนักอบรมฯสอบเมื่อวันที่
19 พฤษภาคม 2492 คำถามมีดังนี้
1.คำถาม มีข้อความจริงอย่างไรบ้าง ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรมแล้ว ถือเท่ากับเป็นการให้สัตยาบัน
อุทาหรณ์มีว่า ผู้เยาว์ได้ทำหนังสือสัญญาจะซื้อที่ดินไว้แปลงหนึ่ง
โดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม
ครั้นตนบรรลุนิติภาวะแล้ว
จึงได้เอาโฉนดที่ดินของตนอีกแปลงหนึ่งมาให้ผู้ขายยึดถือไว้ ดังนี้
จะถือเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันหรือไม่ ?
แนวคำตอบ ข้อความจริงซึ่งเมื่อเกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรมถือเท่ากับเป็นการให้สัตยาบันตาม
ป.พ.พ. มาตรา 142 (ปัจจุบันคือมาตรา 180) บัญญัติไว้ว่า ถ้าในภายหลังเวลาอันจะพึงให้สัตยาบันได้ ตามความใน ป.พ.พ. มาตรา 141
(ปัจจุบันคือมาตรา 179)
มีข้อความจริงอย่างใดอย่างหนึ่ง
ซึ่งจะกล่าวต่อไปนี้เกิดขึ้นเกี่ยวด้วยโมฆียะกรรม ถ้ามิได้แสดงแย้งสงวนสิทธิไว้แจ้งชัดประการใด ท่านให้ถือว่าเป็นการให้สัตยาบัน ทั้งนี้คือเช่นว่า
(1) ได้มีการชำระหนี้อันหากก่อขึ้นด้วยโมฆียะกรรมนั้นแล้วสิ้นเชิง
หรือแต่บางส่วน
(2) ได้มีการเรียกทวงให้ชำระหนี้ตามโมฆียะกรรมนั้นแล้ว
(3) ได้มีการแปลงหนี้ใหม่
(4) ได้มีการวางประกันเพื่อหนี้นั้น
(5) ได้มีการโอนซึ่งสิทธิหรือความรับผิดอันเกิดแต่โมฆียะกรรมนั้นสิ้นเชิง
หรือแต่บางส่วน
ตามอุทาหรณ์
ถึงแม้ว่าการที่ผู้เยาว์ได้เอาโฉนดที่ดินของตนอีกแปลงหนึ่งมาให้ผู้ขายยึดถือไว้ จะไม่ใช่การวางประกันตามความหมายในอนุมาตรา 4
ก็ตาม
โดยที่ ป.พ.พ. มาตรา 142(ปัจจุบันคือมาตรา 180) บัญญัติกรณีตัวอย่างไว้บางประการ ด้วยการใช้คำว่า “เช่นว่า” ข้อความจริงอย่างอื่นอันมีความมุ่งหมายเช่นเดียวกัน ดังเช่นการเอาโฉนดที่ดินมาให้ยึดถือไว้นั้นย่อมถือได้ว่าเป็นการให้สัตยาบันตามกฎหมายมาตรานี้
คำถาม
ผู้เช่าผิดนัดชำระหนี้ค่างวด ผู้ให้เช่าไม่ได้เรียกร้องให้ผู้เช่าชำระ จะถือว่าผู้ให้เช่าผ่อนเวลาให้แก่ผู้เช่าซึ่งทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 6734/2553 การผ่อนเวลาชำระหนี้แก่ลูกหนี้ซึ่งทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดนั้นจะต้องมีการตกลงผ่อนเวลากันแน่นอน
และมีผลว่าในระหว่างผ่อนเวลานั้นเจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องหรือฟ้องร้องมิได้
หากเพียงแต่หนี้ถึงกำหนดชำระ เจ้าหนี้ไม่ได้เรียกร้องให้ลูกหนี้ชำระยังไม่ถือว่าเป็นการผ่อนเวลาให้แก่ลูกหนี้เพราะเจ้าหนี้อาจใช้สิทธิเรียกร้องเมื่อใดก็ได้
ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ตั้งแต่งวดที่ 19 เป็นต้นไปเท่านั้น
โดยไม่มีการตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้กันแต่ประการใด ดังนี้ จำเลยที่ 2 จึงไม่หลุดพ้นจากหนี้ตามมาตรา 700
คำถาม ทำนิติกรรมยกที่ดินให้แก่ผู้อื่นโดยมีข้อตกลงเพิ่มเติมในสัญญาไว้ว่าผู้รับจะต้องไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินแล้วโอนให้แก่พี่น้องทุกคนในภายหลัง หากผู้รับไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงผู้ให้จะฟ้องเพิกถอนสัญญาให้โดยให้ผู้รับโอนที่ดินดังกล่าวกลับมาเป็นของผู้ให้โดยอ้างว่างนิติกรรมให้เป็นนิติกรรมอำพรางหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 11228/2553 นิติกรรมอำพรางตามป.พ.พ. มาตรา 155
วรรคสอง
เป็นเรื่องคู่กรณีแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรม
นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฎออกมาโดยไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับตามกฎหมาย ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งอำพรางปกปิดไว้โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่อำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้ ในเรื่องของนิติกรรมอำพรางจึงต้องมีสองนิติกรรม
แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้โจทก์ตกลงทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเพียงนิติกรรมเดียว
การให้ดังกล่าวมิได้เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับจำเลยเพื่อปกปิดนิติกรรมอีกนิติกรรมหนึ่งแต่อย่างใด เพียงแต่โจทก์อ้างว่ามีข้อตกลงเพิ่มเติมในสัญญาไว้ว่าจำเลยต้องไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแล้วโอนให้แก่พี่น้องทุกคนในภายหลังเท่านั้น สัญญาให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามฟ้อง
จึงไม่ใช่นิติกรรมอำพรางที่โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนได้ และหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องจริง กรณีก็เป็นเรื่องโจทก์จำเลยทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกตาม
ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคหนึ่ง
กรณีนี้โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุตรทุกคนซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์ตามสัญญา มิใช่มาฟ้องเพิกถอนสัญญาให้แล้วบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของโจทก์ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์กระทำเช่นนั้นได้ ดังนี้
แม้จะฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่ามีข้อตกลงให้จำเลยแบ่งโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนจริง
กรณีก็ไม่อาจบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนได้
เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฎในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 กรณีก็ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในข้อที่ว่ามีข้อตกลงให้จำเลยแบ่งโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนหรือไม่ เพราะไม่มีผลทำให้คดีเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น
คำถาม ผู้ขายเสนอจะขายที่ดินให้แก่ผู้ซื้อ
มีการวางเงินมัดจำไว้โดยผู้ขายออกใบรับเงินให้ไว้เป็นหลักฐาน
มีข้อตกลงว่าจะต้องทำสัญญาจะซื้อขายซึ่งจะได้จัดทำขึ้นภายหลังภายใน 30 วัน
ต่อมาผู้ซื้อกับผู้ขายไม่อาจตกลงเงื่อนไขระหว่างกันได้ ผู้ขายจะมีสิทธิรับมัดจำหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 2224/2553 ใบรับเงินมีข้อความว่า “จำเลยตกลงจะขายที่ดินให้โจทก์ โดยมีเงื่อนไขการชำระเงินเป็นเวลา 2 ปี และในวันนี้โจทก์ได้ชำระเงินมัดจำจำนวน
500,000 บาทด้วยเช็ค
ส่วนที่เหลือจะชำระตามเงื่อนไขสัญญาจะซื้อจะขายที่ทั้งสองฝ่ายจัดทำขึ้นภายใน
30 วัน” เห็นได้ว่า
ใบรับเงินเป็นเพียงหลักฐานการรับเงินมัดจำที่โจทก์ชำระแก่จำเลยเท่านั้น
หลังจากนั้นโจทก์กับจำเลยจะต้องทำสัญญาจะซื้อจะขายซึ่งจะได้จัดทำขึ้นภายหลังภายใน
30 วัน
ตามเงื่อนไขที่ตกลงกัน
แสดงให้เห็นว่า โจทก์จำเลยมีเจตนาจะทำสัญญาจะซื้อจะขายเป็นหนังสือกันอีก กรณีจึงต้องด้วยบทบัญญัติ ป.พ.พ. มาตรา 366
วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ถ้าได้ตกลงกันว่าสัญญาอันมุ่งจะทำนั้นจะต้องทำเป็นหนังสือไซร้
เมื่อกรณีเป็นที่สงสัยท่านนับว่ายังมิได้มีสัญญาต่อกันจนกว่าจะได้ทำขึ้นเป็นหนังสือ” ดังนั้น เมื่อโจทก์และจำเลยยังมิได้ทำสัญญาจะซื้อจะขายกันเป็นหนังสือ สัญญาจะซื้อจะขายระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่เกิดขึ้น
เงินมัดจำที่จำเลยรับไว้จึงเป็นการรับไว้โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้
จำเลยไม่มีสิทธิริบมัดจำจึงต้องคืนให้โจทก์ฐานลาภมิควรได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 406
คำถาม ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกหลายคน หากผู้จัดการมรดกคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย
ผู้จัดการมรดกที่เหลือจะสามารถจัดการมรดกต่อไปได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 6857/2553 แม้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1715
วรรคสองบัญญัติว่า “ เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน
แต่ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นบางคนไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียว ผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการได้โดยลำพัง
แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคนให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการมรดกเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้
” ก็มีความหมายถึงผู้จัดการมรดกที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น ไม่รวมถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม
การที่ศาลมีคำสั่งตั้งบุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกัน การกระทำตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกต้องดำเนินการตามมาตรา 1726
ที่ให้กระทำการโดยถือเอาเสียงข้างมาก
หากปรากฎว่าผู้จัดการมรดกร่วมคนใดคนหนึ่งถึงแก่ความตาย ผู้จัดการมรดกที่เหลือย่อมต้องร้องขอต่อศาลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
เมื่อการฟ้องคดีเพื่อจัดการทรัพย์มรดกเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามมาตรา 1736 วรรคสอง และมีบทบัญญัติของกฎหมายบัญญัติเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้จัดการมรดกตามคำสั่งศาลกรณีที่มีผู้จัดการมรดกหลายคนต้องดำเนินการตามมาตรา 1726 ที่กฎหมายได้กำหนดไว้โดยเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำวิธีการตามมาตรา 1715 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้เฉพาะผู้จัดการมรดกตามพินัยกรรมมาใช้บังคับได้ ดังนั้น เมื่อ ป. ผู้จัดการมรดกคนหนึ่งถึงแก่ความตาย
โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกร่วมจะจัดการมรดกต่อไปเพียงสองคนโดยยังมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกต่อไป
ย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลและไม่มีอำนาจจะจัดการได้ โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
คำพิพากษาฎีกาที่ 461/2514 ข้อความในวรรคสอง
(ของมาตรา 1715) นั้น สืบเนื่องมาจากข้อความในวรรคหนึ่ง คำว่า “ถ้ามีผู้จัดการหลายคน”
ในวรรคสองนั้น หมายถึง
ผู้จัดการซึ่งตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมเท่านั้น ไม่เกี่ยวถึงผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งขึ้นโดยไม่มีพินัยกรรม
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าการที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมระบุให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเป็นผู้จัดการมรดกของตนนั้นก็เนื่องจากเจ้ามรดกไว้วางใจบุคคลนั้น แม้จะตั้งผู้จัดการมรดกไว้หลายคนก็ดี เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งถึงแก่ความตายไปแล้ว
ทายาทจะร้องขอต่อศาลให้ตั้งบุคคลอื่นแทนผู้ที่ตายไปนั้นย่อมทำไม่ได้ เพราะขัดกับคำสั่งของผู้ทำพินัยกรรม ฉะนั้น
เมื่อมีกรณีเช่นนี้เกิดขึ้น
กฎหมายจึงบัญญัติให้อำนาจผู้จัดการมรดกที่เหลืออยู่คนเดียวดำเนินการในการจัดการมรดกได้โดยลำพัง ไม่เหมือนกับผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้งโดยไม่มีพินัยกรรม
เพราะทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลตั้งผู้ใด
จะเป็นคนเดียวหรือหลายคนให้เป็นผู้จัดการมรดกในกรณีที่ศาลตั้งให้บุคคลหลายคนเป็นผู้จัดการมรดก
ก็โดยเห็นว่าไม่เป็นการสมควรที่จะให้บุคคลเดียวเป็นผู้จัดการมรดกตามลำพัง ดังนั้น
เมื่อผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์ถึงแก่ความตาย
ทายาทของเจ้ามรดกอาจยื่นคำร้องขอให้ผู้อื่นเข้าเป็นผู้จัดการมรดกร่วมกับโจทก์ต่อไปก็ได้ โจทก์จะจัดการต่อไปตามลำพังคนเดียว
โดยมิได้ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ตนเป็นผู้จัดการมรดกตามลำพัง ย่อมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งศาลไม่มีอำนาจจะจัดการได้
เพราะไม่มีกฎหมายบัญญิติให้อำนาจไว้เหมือนการตั้งผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรม
คำถาม สามีภรรยาหย่าขาดจากกันแล้วโดยตกลงยกบ้านให้แก่บุตร ให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของภรรยา
ทั้งยังได้มีการย้ายชื่อสามีออกจากบ้านเกิดเหตุไปแล้ว หากสามีเข้าไปในบ้านยามวิกาล จะมีความผิดฐานบุกรุกหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 8207/2553 โจทก์ร่วมกับจำเลยตกลงยกบ้านที่เกิดเหตุให้แก่บุตร และให้บุตรอยู่ในอำนาจปกครองของโจทก์ร่วม
อีกทั้งยังได้มีการย้ายชื่อจำเลยออกจากบ้านเกิดเหตุไปแล้วภายหลังจากจดทะเบียนหย่า 8 วัน
ย่อมแสดงว่าบ้านที่เกิดเหตุเป็นบ้านที่โจทก์ร่วมกับบุตรพักอาศัยอยู่ด้วยกันภายหลังจากที่โจทก์ร่วมกับจำเลยหย่าขาดจากกันแล้ว
จำเลยไม่มีสิทธิใดๆที่จะมาพักอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเหตุอีก มิฉะนั้นการหย่าและข้อตกลงเรื่องจดทะเบียนหย่าระหว่างโจทก์ร่วมกับจำเลยจะไม่มีผลแต่ประการใด เมื่อจำเลยไม่มีสิทธิพักอาศัยอยู่ในบ้านเกิดเหตุ การกระทำของจำเลยที่เข้าไปในบ้านเกิดเหตุช่วงเวลาดึกประมาณเที่ยงคืนถึงหนึ่งนาฬิกาเช่นนี้
ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปในเคหสถานซึ่งอยู่ในความครอบครองของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร(ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 364 , 365(3))
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น