วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค 2 สมัยที่65 เล่ม 10

                   คำถาม   คดีที่มีการชี้สองสถาน จำเลยยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การจะต้องยื่นก่อนวันชี้สองสถานไม่น้อยกว่าเจ็ดวันหรือไม่
                   คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่   3642/2555  จำเลยทั้งสองยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การวันที่ 3 กันยายน 2553 ก่อนศาลชั้นต้นนัดชี้สองสถานวันที่ 6 กันยายน 2553 ถือว่าจำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การก่อนวันชี้สองสถาน ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 180 แล้ว ส่วนคำร้องขอให้หมายเรียกบุคคลภายนอกเข้าเป็นจำเลยร่วม จำเลยทั้งสองยื่นในวันที่ 3 กันยายน 2553 พร้อมกับคำร้องขอแก้ไขคำให้การ  ถือได้ว่าเป็นการยื่นพร้อมกับคำให้การชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3)
                 
                   คำถาม   ฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง หากผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้  จะถือเป็นฎีกาที่ชอบหรือไม่
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  4642/2555  ฎีกาของโจทก์มิได้ระบุให้แจ้งชัดว่าคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9  ในส่วนใดมีข้อวินิจฉัยผิดพลาดคลาดเคลื่อนอย่างไร และที่ถูกต้องควรเป็นอย่างใด จึงเป็นฎีกาที่ไม่ชัดแจ้ง แม้ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองว่ามีเหตุสมควรที่โจทก์จะฎีกา ศาลฎีกาก็ไม่อาจรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาพิพากษาได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
                
                   คำถาม   การนำพยานบุคคลมาสืบว่าไม่ได้รับเงินตามสัญญาจำนองที่ระบุว่าให้ถือว่าเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมด้วย  ต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่
                   คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  8109/2555  แม้โจทก์มีพยานเอกสารสัญญาจำนองที่ระบุให้ถือว่าเป็นหลักฐานการกู้ยืมด้วยมาแสดงต่อศาล  อันเป็นกรณีกฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ห้ามมิให้นำสืบพยานบุคคลเพื่อเพิ่มเติมตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 94 (ข)  ก็ตาม แต่การที่จำเลยนำสืบพยานบุคคลให้เห็นว่าจำเลยนำที่ดินมาทำสัญญาและจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ค่าบริการและค่าใช้จ่ายของ ส. ที่ไปทำงานต่างประเทศไว้แก่โจทก์ตามที่ตัวแทนบริษัทจัดหางานเป็นผู้แนะนำโดยจำเลยไม่ได้รับมอบเงิน 120,000 บาท เป็นการนำสืบถึงที่มาของการทำสัญญาจำนองและเป็นหนี้ที่ไม่สมบูรณ์  เนื่องจากจำเลยไม่ได้เป็นผู้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ จึงสามารถนำสืบได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94วรรคท้าย
                        
                    คำถาม จำเลยให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม  แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องเพราะเห็นว่าเป็นฟ้องซ้ำ โจทก์อุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ จำเลยแก้อุทธรณ์ว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ หากศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เป็นฟ้องซ้ำ  จำเลยจะฎีกาว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุมได้หรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  3115 -3116/2550  จำเลยที่ 2  ให้การต่อสู้ว่าฟ้องโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องเคลือบคลุม  แต่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสอเพราะเห็นว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ.มาตรา 148  จำเลยที่ 2  ซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีไม่จำต้องอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น  แต่เมื่อโจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองไม่เป็นฟ้องซ้ำ  จำเลยที่ 2  มีสิทธิที่จะยกประเด็นเรื่องฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องเคลือบคลุมขึ้นแก้อุทธรณ์เพื่อให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย แต่จำเลยที่ 2 คงแก้อุทธรณ์เฉพาะปัญหาว่า ฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องซ้ำหรือไม่เท่านั้น  จำเลยที่  2 หาได้ยกปัญหาเรื่องฟ้องของโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุมขึ้นแก้อุทธรณ์ด้วยไม่  ดังนั้น  ปัญหาว่าฟ้องของโจทก์ทั้งสองเป็นฟ้องเคลือบคลุมหรือไม่  จึงไม่ใช่ปัญหาที่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวมาแล้วโดยชอบในชั้นอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
                       คดีอาญาหมายเลขแดงที่  9201/2542 นั้น จำเลยที่ 2  ให้การปฏิเสธศาลมีคำสั่งให้โจทก์ยื่นฟ้องเป็นคดีใหม่ และมีคำพิพากษาลงโทษให้จำเลยที่ 1  ที่ให้การรับสารภาพว่ากระทำความผิดฐานลักทรัพย์ของโจทก์ทั้งสอง  โดยมีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์ทั้งสอง ส่วนคดีอาญาหมายเลขแดงที่  1447/2543 นั้น  ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2  ฐานรับของโจรทรัพย์รวม 4  รายการ และมีคำสั่งให้คืนทรัพย์ทั้ง 4 รายการแก่โจทก์ที่  2 โดยคดีอาญาทั้งสองเรื่องดังกล่าวไม่มีประเด็นว่า จำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่  ซึ่งในการฟ้องคดีนี้โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำละเมิดกับจำเลยที่ 1 ในการรับเอาทรัพย์ของโจทก์ทั้งสองไว้และโจทก์ที่ 2  ได้รับทรัพย์คืนจากจำเลยที่ 2 แล้ว 4 รายการ  คือ ทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์อันดับที่ 20, 24, 25 และ 26  รวมเป็นเงิน 8,700  บาท  ส่วนทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์อันดับที่ 18 ได้รับคืนเฉพาะองค์พระส่วนทองคำที่ลอกไปยังได้คืน  โจทก์ทั้งสองฟ้องเรียกให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวนอื่น ๆ นอกจากทรัพย์ 4 รายการพร้อมองค์พระดังกล่าว  ซึ่งศาลในคดีอาญาทั้งสองคดีดังกล่าวยังมิได้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสอง ฟ้องโจทก์ทั้งสองคดีนี้บางประเด็นจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ
                      
                    คำถาม   การร้องขอรับชำระหนี้จำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา 289 หากผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ผู้ร้องมีหน้าที่นำสืบว่า จำเลยเป็นหนี้ผู้ร้องและจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันการชำระหนี้ตามคำร้องอีกหรือไม่
                    ผู้ร้องขอรับชำระหนี้จำนอง ไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้องศาลถือว่าผู้ร้องไม่นำพยานหลักฐานมาสืบสั่งยกคำร้อง  (มิได้สั่งจำหน่ายคดี)  ชอบหรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่   583/2551  คำพิพากษาย่อมมีผลผูกพันคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลที่พิพากษาหรือมีคำสั่งเท่านั้น  ไม่ผูกพันบุคคลภายนอก  เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้นของกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 เมื่อเจ้าหนี้ผู้นำยึดคือโจทก์ในคดีนี้เป็นบุคคลภายนอกในคดีที่ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา  ผู้ร้องจึงหาอาจอ้างคำพิพากษาในคดีดังกล่าวเพื่อให้คดีนี้ต้องถือตามได้ไม่  ผู้ร้องมีหน้าที่นำสืบตามข้ออ้างในคำร้องว่า  จำเลยทั้งสองเป็นหนี้ผู้ร้องและจำนองที่ดินพิพาทเป็นประกันการชำระหนี้ตามคำร้องนั้นโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  ศาลชั้นต้นไม่อาจออกคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของผู้ร้องโดยไม่ต้องไต่สวนก่อน
                     กรณีที่จะเป็นการขาดนัดพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 200 ต้องเป็นกรณีที่โจทก์หรือจำเลยที่ได้ยื่นคำให้การไว้ไม่มาศาลในวันสืบพยาน ซึ่งวันสืบพยานดังกล่าวต้องเป็นวันสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี  การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนวนก่อนเจ้าหนี้รายอื่นและขอเฉลี่ยทรัพย์  ผู้ร้องจึงมีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อสนับสนุนข้ออ้างของตนตามคำร้องในวันนัดไต่สวน  ซึ่งมิใช่เป็นการสืบพยานในประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี  จึงไม่อาจนำบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการพิจารณาโดยขาดนัดที่ศาลจะต้องจำหน่ายคดีตามมาตรา 202 มาบังคับใช้  เมื่อผู้ร้องไม่มาศาลในวันนัดไต่สวนคำร้อง  การที่ศาลชั้นต้นฟังว่าผู้ร้องไม่นำพยานหลักฐานมาสืบ  และสั่งยกคำร้องจึงชอบแล้ว
                         
                       คำถาม   จำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องแล้ว ไม่ได้คัดค้านว่าศาลชั้นต้นไม่มีเขตอำนาจที่จะรับฟ้องไว้พิจารณา  จนศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้ว จะยกเหตุการผิดระเบียบดังกล่าวขึ้นว่าในชั้นอุทธรณ์ได้หรือไม่
                     คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                     คำพิพากษาฎีกาที่   7321/2550   คู่ความฝ่ายที่เสียหายจากการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบอาจยกกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นขึ้นว่ากล่าวได้ในเวลาใด ๆ  ก่อนศาลมีคำพิพากษาแต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น  แต่ทั้งนี้คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้วหรือมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้นตาม ป.วิ.พ. มาตรา 27  เมื่อโจทก์ยื่นคำฟ้องต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยทั้งสามแล้ว  จำเลยทั้งสามทราบถึงการฟ้องแล้วไม่ได้คัดค้านว่า  ศาลชั้นต้นไม่มีเขตอำนาจที่จะรับฟ้องไว้พิจารณากลับยินยอมให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณา โดยสืบพยานโจทก์และให้จำเลยทั้งสามอ้างตนเข้าเบิกความ จนกระทั่งทั้งสองฝ่ายแถลงหมดพยานและศาลชั้นต้นพิพากษาคดีแล้ว  เท่ากับจำเลยทั้งสามยอมปฏิบัติตามที่ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาจนเสร็จสิ้น อันเป็นการให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบแล้ว  จำเลยทั้งสามจึงยกการผิดระเบียบดังกล่าวขึ้นมาในชั้นอุทธรณ์ไม่ได้
                      
                    คำถาม   คดีก่อนอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์จะถือว่าศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้วหรือไม่
                    คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  1525/2522  โจทก์ฟ้องไม่ระบุสถานที่เกิดเหตุศาลยกฟ้องย่อมเห็นได้ในตัวว่า  การกระทำผิดของจำเลยที่โจทก์อ้างในฟ้องไม่แน่ชัดว่าจำเลยกระทำความผิดสถานที่ใด  ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว โจทก์ฟ้องใหม่ไม่ได้  แม้โจทก์ฟ้องก่อนครบกำหนดอายุอุทธรณ์ก็ไม่ก่อให้เกิดสิทธิที่จะฟ้องใหม่ได้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  3116/2525  โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสามฐานทำร้ายร่างกายและศาลชั้นต้นพิพากษาไปแล้ว  ต่อมาผู้เสียหายถึงแก่ความตาย โจทก์จะฟ้องจำเลยทั้งสามฐานฆ่าคนตายโดยไม่เจตนาอีกไม่ได้  แม้คดีแรกอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ก็ตามเพราะต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 39 (4) นอกจากนี้ยังมีฎีกาที่ 671/2483,  2019/2492,  6770/2546  วินิจฉัยเช่นกัน
                   คำพิพากษาฎีกาที่  4473/2532  ผู้เสียหายเคยเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยในการกระทำความผิดเดียวกันกับคดีนี้จนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง  แม้คดีดังกล่าวจะอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ก็ถือได้ว่าความผิดของจำเลยซึ่งได้ฟ้องนั้นได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้ว  สิทธิของพนักงานอัยการโจทก์ที่จะนำคดีอาญาฟ้องจำเลยในความผิดเกี่ยวกับเช็คพิพาทรายเดียวกับคดีก่อน จึงระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา  39 (4)
                  คำพิพากษาฎีกาที่  2152/2537  ปุ๋ยเคมีปลอมที่จำเลยผลิตในคดีก่อนกับคดีนี้จำนวนเดียวกัน วันเวลาที่จำเลยขายปุ๋ยเคมีปลอมอยู่ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน  และผู้ที่ซื้อปุ๋ยเคมีปลอมจากจำเลยก็เป็นบุคคลคนเดียวกัน คือ  ผู้เสียหายในคดีนี้  ถือได้ว่าการกระทำความผิดของจำเลยฐานขายปุ๋ยเคมีปลอมตามฟ้องในคดีก่อนตามพระราชบัญญัติปุ๋ย พ.ศ. 2518 มาตรา  30, 32, 62, 63, 71, 72 กับการกระทำความผิดของจำเลยฐานฉ้อโกงโดยการหลอกลวงขายปุ๋ยเคมีปลอมให้ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ตามฟ้องในคดีนี้ เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ดังนั้น  เมื่อศาลชั้นต้นได้พิพากษาลงโทษจำเลยฐานขายปุ๋ยเคมีปลอมตามฟ้องในคดีก่อนแล้ว  แม้คดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ก็ถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องในคดีนี้เป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39 (4)
                  คำพิพากษาฎีกาที่  2071/2553  ตามฟ้องของโจทก์ ในคดีนี้และคดีอาญาหมายเลขดำที่ 2495/2551 หมายเลขคดีแดงที่  อ. 3571/2551  เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องว่าเมื่อวันที่  14 กุมภาพันธ์ 2551  เวลากลางวัน จำเลยเสนอ จำหน่ายและมีไว้เพื่อจำหน่ายสินค้าเสื้อยี่ห้อลาคอสท์ ที่เป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้เสียหาย  เหตุเกิดที่ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา  ซึ่งทั้งสองคดีตามที่โจทก์ฟ้องเป็นการกระทำในเรื่องเดียวกัน เกิดขึ้นในเวลา สถานที่ และกระทำต่อผู้เสียหายรายเดียวกัน จึงเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเดียวกัน เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขดำที่  2495/2551 หมายเลขแดงที่ อ. 3571/2551 ก่อนคดีนี้แล้ว ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงเป็นฟ้องที่ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้ว  สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา  39 (4)


                                                                       นายประเสริฐ    เสียงสุทธิวงศ์
                                                                                  บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น