คำถาม ฟ้องขอให้ลงโทษฐานเป็นตัวการร่วม
แต่ข้อเท็จจริงเท่าที่ปรากฎในการพิจารณาได้ความว่าเป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำความผิด
ศาลมีอำนาจลงโทษหรือไม่
ยักยอกสลากกินแบ่งที่ถูกรางวัลและไปรับเงินรางวัลแล้ว
พนักงานอัยการจะขอให้คืนหรือใช้เงินเท่ากับจำนวนเงินรางวัลแก่ผู้เสียหายได้หรือไม่ เพียงใด
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่
11224/2555 สลากกินแบ่งรัฐบาลที่โจทก์ร่วมซื้อและฝากจำเลยที่
1 ไว้ถูกรางวัลที่หนึ่ง จำเลยที่ 1 คิดจะเบียดบังเอาสลากไว้เสียเอง
จึงได้อ้างต่อโจทก์ร่วมว่าสลากไม่ถูกรางวัลและทิ้งไปแล้ว จากนั้นให้จำเลยที่ 2
บุตรชายรับสมอ้างว่าเป็นผู้ซื้อสลากไป
แล้วร่วมมือกันนำสลากไปขอรับรางวัลมาเป็นของจำเลยทั้งสองโดยทุจริต จำเลยที่ 1
จึงมีความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก จำเลยที่ 2
มิได้ร่วมครอบครองสลากมาแต่แรก แต่การที่จำเลยที่ 2
รับสมอ้างว่าเป็นเจ้าของสลากและร่วมไปขอรับเงินรางวัลมา
ถือได้ว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่จำเลยที่ 1 ในการยักยอกสลาก จำเลยที่ 2
จึงมีความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352
ประกอบมาตรา 86 แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วม
แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาจำเลยที่ 2 เป็นเพียงผู้สนับสนุนการกระทำผิด
แตกต่างกับข้อเท็จจริงดังที่กล่าวในฟ้อง แต่มิใช่ข้อสาระสำคัญและจำเลยที่ 2
มิได้หลงต่อสู้ ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2
ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดซึ่งมีโทษเบากว่าได้ตามประมวลกฎหมาวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225
สลากกินแบ่งรัฐบาลถูกรางวัลที่หนึ่งและจำเลยทั้งสองร่วมกันไปรับเงินรางวัลมาแล้ว
ย่อมทำให้โจทก์ร่วมหมดโอกาสที่จะได้รับเงินรางวัล
เท่ากับว่าโจทก์ร่วมต้องสูญเสียเงินจำนวนนั้นไปเนื่องจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสองโดยตรง
โจทก์จึงมีสิทธิขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้เงินเท่ากับจำนวนเงินรางวัลที่หนึ่งให้แก่โจทก์ร่วมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 43 แต่ในการไปขอรับเงินรางวัลจำเลยทั้งสองได้รับเงินมาเพียง 33,980,000 บาท เพราะต้องเสียอากรแสตมป์
20,000 บาท จึงชอบที่จำเลยทั้งสองต้องคืนหรือใช้เงินจำนวนเท่าที่ได้รับมา
และโจทก์ร่วมซึ่งได้รับความเสียหายในทางทรัพย์สินอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสอง
ย่อมมีสิทธิที่จะขอให้บังคับจำเลยทั้งสองใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม
โดยเรียกดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องใช้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 440
ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 44/1 ได้
คำถาม
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว
พิพากษายกฟ้องโจทก์ในปัญหาข้อเท็จจริง หากศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมาย
โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายได้หรือไม่
และหากโจทก์ประสงจะฎีกาต้องดำเนินการอย่างไร
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 4172/2555 คดีนี้ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์ในปัญหาข้อกฎหมาย
จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์
ซึ่งต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมาย
และแม้คดีนี้จะเป็นการพิจารณาชั้นไต่สวนมูลฟ้องก็ตาม คดีก็ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.อ.
มาตรา 220 หากโจทก์จะฎีกาก็ต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.อ. มาตรา 221
การที่โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค
6 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง โดยไม่ได้ขอให้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค
6 อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อกฎหมาย แม้ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษา
ศาลชั้นต้นจะอนุญาตให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
โจทก์ก็ยังต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายตามบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาฎีกาที่ 2536/2555 โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนตาม
ป.อ. มาตรา 288, 289 ประกอบมาตรา 83 ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตาม ป.อ.
มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 จำคุก 6 ปี ข้อหาอื่นให้ยก ศาลอุทธรณ์ ภาค 4
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์ในข้อหาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตาม
ป.อ.มาตรา 290 วรรคแรกด้วย มีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ยกฟ้อง
โจทก์ในข้อหาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 288, 289 (4) ประกอบมาตรา 83
จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตาม ป.วิ.อ. มาตรา 220
โจทก์ร่วมฎีกาว่า พยานหลักฐานของโจทก์และโจทก์ร่วมฟังได้ว่าจำเลยกับพวกมาดักรอเพื่อจะทำร้ายผู้ตายเป็นการไตร่ตรองไว้ก่อน
อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ซึ่งต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
คำพิพากษาฎีกาที่ 3334/2555 การที่ศาลทั้งสองต่างเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่
1ไปรับการฝึกและอบรม
เป็นเรื่องที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษทางอาญา
ซึ่งไม่ใช่โทษตาม ป.อ. มาตรา 18
เมื่อศาลอุทธรณ์แก้ไขเฉพาะบทลงโทษและแก้ไขระยะเวลาการฝึกและอบรมซึ่งไม่ใช่โทษตามกฎหมาย
จึงเป็นการแก้ไขเล็กน้อยและศาลล่างทั้งสองมิได้พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1
เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218
วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3
ในความผิดฐานร่วมกันกระทำความผิดฐานฆ่าผู้ตายโดยเจตนา ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จึงเป็นกรณีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาไม่ว่าจะเป็นปัญหาข้อเท็จจริงหรือปัญหาข้อกฎหมายตาม
ป.วิ.อ.มาตรา 220
คำถาม โจทก์ฟ้องว่า
จำเลยร่วมกับพวกฆ่าผู้อื่น ข้อเท็จจริงในการพิจารณาฟังได้เพียงว่า
จำเลยร่วมกันใช้กำลังทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ศาลจะลงโทษได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 5612/2555 ทางนำสืบของโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ปรากฏข้อเท็จจริงใด
ๆ ที่จะชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 เข้าไปเกี่ยวข้องกับการใช้มีดแทงผู้ตายของจำเลยที่
3 อย่างไร จึงยังไม่อาจฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 2 ร่วมกับหรือแม้แต่รู้เห็นเป็นใจกับจำเลยที่
3 ในการที่จำเลยที่ 3 ใช้มีดฆ่าผู้ตาย คงฟังได้แต่เพียงว่าจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่
3 กับพวกร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้ตายในขณะเกิดเหตุด้วยการชกต่อยผู้ตายเท่านั้น
แม้โจทก์จะฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับพวกฆ่าผู้ตาย
แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 1 หรือที่ 2 ร่วมกันใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ
ศาลก็ลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ตาม ป.วิ.อง มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา
215, 225
คำถาม
ผู้ที่มิใช่เจ้าของทรัพย์แต่เป็นผู้ครอบครองทรัพย์ในขณะมีการกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
จะเป็นผู้เสียหายที่จะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในข้อหาความผิดดังกล่าวหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 4801/2555 โจทก์บรรยายฟ้องว่า
รถจักรยานยนต์คันหมายเลขทะเบียน กมธ ระยอง 533 เป็นของ ส.
ขณะอยู่ในความครอบครองของ ช.
ถูกจำเลยทั้งสี่กับพวกร่วมกันทุบตีทำลายรถจักรยานยนต์ดังกล่าวได้รับความเสียหาย
ดังนี้ ผู้เสียหายย่อมหมายถึง ช. ซึ่งเป็นผู้ร้องทุกข์ภายในอายุความชอบด้วยกฎหมาย
และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ขณะ ช.
เป็นผู้ครอบครองใช้รถจักรยานยนต์ดังกล่าวได้มีการกระทำความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์
ช. ผู้ครองครองทรัพย์ของ ส. ในขณะนั้นจะต้องมีความรับผิดในความเสียหายต่อ ส. ช.
จึงเป็นผู้เสียหายเนื่องจากการกระทำความผิดนั้นตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (4)
ที่จะร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีนี้ได้
คำถาม ฟ้องว่าเป็นใช้ให้กระทำความผิด
ฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดฐานชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ มิได้ฟ้องว่าเป็นผู้ลงมือกระทำความผิด
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานรับของโจร ศาลจะลงโทษได้หรือไม่
และเป็นเหตุส่วนลักษณะคดีหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 12970/2555
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่
3 และจำเลยที่ 4 เป็นผู้ก่อให้จำเลยที่ 1 และที่ 2
กับพวกกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ด้วยการใช้ จ้าง วาน
มิได้ฟ้องว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นผู้ลงมือกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์
ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาฟังได้ว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4
กระทำผิดฐานรับของโจร จึงแตกต่างกับข้อเท็จจริงในฟ้องในข้อสาระสำคัญ
ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในความผิดฐานรับของโจรได้
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ต้องพิพากษายกฟ้อง
แม้จำเลยที่ 4 มิได้ฎีกาแต่เป็นเหตุส่วนลักษณะคดี
ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 4 ด้วยตามมาตรา 213 ปรำกอบมาตรา 225
ขอให้นักศึกษาทุกคนประสบความสำเร็จในการสอบ
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น