คำถาม ใช้เหล้าสาดใส่หน้าผู้อื่น
แต่เหล้าไปถูกบุคคลอีกคนหนึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาฐานใด
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 9244/2553 จำเลยใช้เหล้าสาดใส่หน้าของผู้เสียหาย
อันเป็นการใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายจิตใจ
เป็นการกระทำโดยเจตนาต่อผู้เสียหาย แต่เมื่อเหล้าไปถูก พ.
เท่ากับผลของการกระทำเกิดแก่ พ.โดยพลาดไป จึงเป็นความผิดฐานพยายามใช้กำลังทำร้ายผู้เสียหายและใช้กำลังทำร้าย
พ. โดยพลาดไปด้วยซึ่งเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
โจทก์ย่อมฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยได้ทุกบทหรือจะขอให้ลงโทษเพียงบทใดบทหนึ่งก็ได้
คำถาม การกระทำโดยเจตนาป้องกันทรัพย์สินของผู้อื่น
จะอ้างว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 5817/2545 การที่ชาวบ้านไปขว้างปาบ้านบิดจำเลยเป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย จำเลยย่อมมีสิทธิกระทำการเพื่อป้องกันทรัพย์สินของบิดาจำเลยได้
แต่ภยันตรายที่เกิดจากการขว้างปาบ้านยังไม่ร้ายแรงถึงขนาดที่ต้องใช้อาวุธปืนทำร้ายร่างกายผู้ที่ขว้างปาบ้าน
การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยเจตนาป้องกันทรัพย์สินที่เกินสมควรแก่เหตุตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 69 จำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายโจทก์ร่วมจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสโดยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
มิใช่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส
คำถาม ภยันตรายอันเกิดจากการทำร้ายยังไม่สิ้นสุด
สิทธิที่จะป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายยังคงมีอยู่หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 8345/2544 ก่อนเกิดเหตุขณะอยู่ในงานเลี้ยงที่บ้าน ป.
ผู้ตายกับจำเลยมีเหตุทะเลาะวิวาทจะทำร้ายกันเรื่องเล่นการพนันไฮโลว์
แต่มีคนห้ามไว้และให้จำเลยกลับบ้านจำเลยจึงขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้าน ป.
เพื่อกลับบ้านต่อมาผู้ตายได้ออกตามไป
ซึ่งแสดงว่าผู้ตายตามไปหาเรื่องจำเลยจนเกิดเหตุเป็นคดีนี้
การที่ผู้ตายตามไปทันจำเลยระหว่างทางพร้อมกับพูดทำนองว่าตายไปข้างหนึ่งและเข้าไปชกต่อยแล้วชักมีดออกมาจากข้างหลงจะแทงทำร้ายจำเลยก่อนเช่นนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตนเองได้
ถึงแม้จำเลยจะแย่งมีดจากมือผู้ตายได้แล้วก็มิใช่ว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่จำเลย จากผู้ตายได้ผ่านพ้นหรือสิ้นสุดไปแล้ว เพราะผู้ตายมีรูปร่างสูงใหญ่และกำยำกว่าจำเลยซึ่งขาข้างซ้ายพิการใส่ขาเทียม
โอกาสที่ผู้ตายจะแย่งมีดคืนจากจำเลยก็ยังมีอยู่
ซึ่งหากผู้ตายแย่งมีดคืนจากจำเลยมาได้ก็น่าเชื่อได้ว่าผู้ตายจะต้องแทงทำร้ายจำเลยได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ มิฉะนั้นผู้ตายคงไม่หาเรื่องจำเลยอีก
ส่วนเหตุการณ์ในขณะที่แทงนั้นนับได้ว่าเป็นช่วงฉุกละหุก
ประกอบกับขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนจำเลยไม่น่าจะมีโอกาสเลือกแทงผู้ตายตรงบริเวณอวัยวะที่สำคัญได้ถนัดชัดเจน
ดังนี้
แม้จำเลยจะแทงผู้ตายถูกที่บริเวณราวนมด้านซ้ายทะลุถึงหัวใจอันเป็นอวัยวะที่สำคัญเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา
ก็เป็นพฤติการณ์ที่ฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุที่จำต้องกระทำเพื่อป้องกันในสถานการณ์เช่นนั้น
การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 68
คำพิพากษาฎีกาที่ 1826/2530
ผู้ตายลากจำเลยเข้าไปในป่าข้างทางเพื่อจะข่มขืนและขู่ว่าจะฆ่าจำเลยจึงใช้มีดแทงผู้ตายทีหนึ่ง แล้วทั้งจำเลยและผู้ตายต่างวิ่งออกมาจากที่เกิดเหตุห่างประมาณ
100 เมตร แล้วจึงเกิดปลุกปล้ำกัน
โดยผู้ตายพยายามแย่งมีดจากจำเลยเพื่อทำร้ายจำเลย
จำเลยจึงแทงผู้ตายอีกหลายที
เช่นนี้ถือว่าภยันตรายยังไม่หมดไป
การที่จำเลยซึ่งเป็นหญิงและอยู่ในภาวะเช่นนั้นใช้มีดแทงผู้ตายจึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ
คำถาม เจ้าพนักงานตำรวจพบเห็นการกระทำความผิด
แต่กลับไม่ทำการจับกุม และเรียกรับเงิน จะเป็นความผิดฐานใด
ในทางกลับกันหากเป็นการแกล้งกล่าวหาแล้วเรียกเงินจะเป็นความผิดฐานใด
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1524/2551
จำเลยเป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดอาญา
ได้พบเห็น ส. กับพวกเล่นการพนันชนไก่อันเป็นความผิดอาญา
จำเลยมีหน้าที่ต้องทำการจับกุมผู้กระทำความผิด แต่กลับไม่ทำการจับกุมและเรียกรับเงินจำนวน
1,500 บาทจาก ส. เพื่อจะไม่จับกุมตามหน้าที่
การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149
คำพิพากษาฎีกาที่ 3309/2541
คืนเกิดเหตุจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันใช้จำเลยที่ 1
ซึ่งมิใช่เจ้าพนักงานตำรวจให้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ
เพื่อเป็นเครื่องมือให้ไปเรียกเก็บเงินจากบรรดาคนขับรถยนต์บรรทุกที่แล่นผ่านไปมาไม่เลือกว่าคนขับรถนั้นจะได้กระทำความผิดต่อกฎหมายหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 เข้าไปพูดกับคนขับรถว่า “ตามธรรมเนียม” คนขับรถนั้นแม้มิได้กระทำความผิดก็ต้องจำใจจ่ายเงินให้จำเลยที่
1
ด้วยความเกรงกลัวต่ออำนาจในการเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ การกระทำของจำเลยที่ 2
ถึงที่ 4
ดังกล่าวเป็นการร่วมกันใช้อำนาจในตำแหน่งโดยมิชอบข่มขืนใจเพื่อให้คนขับรถยนต์บรรทุกมอบเงินให้แก่จำเลยที่
1 ซึ่งเป็นพวกของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 148 แล้ว
และหากรถยนต์บรรทุกคันใดมีการกระทำที่เป็นความผิดต่อกฎหมาย ถ้าจำเลยที่ 1
เรียกเอาเงินจากคนขับรถได้แล้ว จำเลยที่ 2
ถึงที่ 4 ก็จะไม่ทำการจับกุม การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ดังกล่าวย่อมเป็นการร่วมกันเรียกและรับเงินจากคนขับรถยนต์บรรทุกสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อไม่กระทำการในตำแหน่ง
คือไม่จับกุมตามหน้าที่อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149
แต่คืนเกิดเหตุมีการเรียกเก็บเงินหลายครั้งหลายหน จากบรรดาคนขับรถหลาย ๆ
คนดังนี้
เมื่อโจทก์รวมการกระทำเหล่านี้ไว้ในฟ้องข้อเดียวกันโดยถือเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
คือผิดทั้ง ป.อ. มาตรา 148 และมาตรา 149 จึงต้องบังคับให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์
ซึ่งแต่ละบทมาตรามีโทษเท่านั้น
และเมื่อผิดตามบทเฉพาะเช่นนี้แล้วก็ไม่จำต้องปรับบทความผิดตาม ป.อ. มาตรา 157
อันเป็นทั่วไปอีก
คำพิพากษาฎีกาที่ 5973/2537
จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานตำรวจมีอำนาจหน้าที่สืบสวนสอบสวนความผิดอาญา
เมื่อได้พบและกล่าวหาว่าโจทก์ร่วมและนายสุเธียรมีไม้แปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตอันมิใช่การแกล้งกล่าวหา
การที่จำเลยที่ 1 ไม่จับกุมแต่กลับขู่เข็ญเรียกเงินแล้วละเว้นไม่จับกุมโจทก์ร่วมและนายสุเธียร
จึงไม่ใช่ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 148
แต่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149
เนื่องจากโจทก์มิได้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 149 อันเป็นบทเฉพาะมาด้วยก็ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา
157 อันเป็นบททั่วไปและเป็นบทที่โจทก์ฟ้องมาได้ สำหรับจำเลยที่ 2
มิใช่เจ้าพนักงานแต่ร่วมกระทำผิดฐานนี้ด้วย จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา
157 ประกอบมาตรา 86
คำถาม
กรณีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดยอนยอมให้ใช้ชื่อตนระคนเป็นชื่อห้าง คำว่าชื่อมีความหมายอย่างไร
และหากผู้ที่ยินยอมให้ใช้ชื่อตนระคนเป็นชื่อห้างเป็นบุคคลภายนอก
มิใช่หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด บุคคลนั้นจะมีความผิดในหนี้ของห้างหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีการวินิจฉัยไว้ดังนี้
กรณีผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด
ยินยอมให้ชื่อตนระคนเป็นชื่อห้าง
คำว่า “ ชื่อ ” ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1081
และมาตรา 1082 ย่อมหมายถึงชื่อสกุลด้วย เมื่อจำเลยที่ 4 ที่ 5 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดให้ใช้ชื่อสกุลของตนระคนเป็นชื่อห้าง จำเลยที่ 4 ที่ 5 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกเสมือนเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด (คำพิพากษาฎีกาที่1286/2532)
คำว่า "ชื่อ" ในบทบัญญัติ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1021, 1082 หมายถึง ชื่อตัว ชื่อรอง หรือชื่อสกุล
อันเป็นที่รู้จักของบุคคลภายนอกว่าเป็นของหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด และหมายถึงชื่อเต็มของผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดมิใช่ส่วนหนึ่งส่วนใดของชื่อหรือพยางค์หนึ่งของชื่อเว้นแต่เป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่าชื่อบางส่วนหรือพยางค์หนึ่งของชื่อนั้นเป็นคำที่เรียกขานเป็นชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนดังกล่าว
จำเลยที่ 4 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดของห้างจำเลยที่
1 มีชื่อเรียกว่า “ วิริยะ” เพียงแต่ยอมให้ห้างจำเลยที่ใช้คำว่า “ วิ
” มาระคนเป็นชื่อห้าง
(ห้างหุ้นส่วนจำกัด วิฑูรย์ทัศน์ ซัพพลาย) โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงชัดแจ้งว่า คำว่า
“ วิ ” นั้นเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าหมายถึงชื่อของจำเลยที่
4 จึงยังไม่ต้องด้วยบทบัญญัติจองกฎหมายดังกล่าว จำเลยที่ 4
จึงไม่ต้องร่วมกับจำเลยอื่นรับผิดต่อโจทก์ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1322/2536)
จำเลยที่ 2 และที่ 3 (นางประไพ) เป็นสามีภริยากันและเป็นห้างหุ้นส่วนเพียง 2
คนในห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1
ได้ร่วมกันกู้เงินจากธนาคารมาก่อสร้างสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและเป็นทุนดำเนินกิจการของจำเลยที่
1 มาแต่ต้น พฤติการณ์บ่งชี้ว่า จำเลยที่ 3 ยอมให้จำเลยที่ 2
นำชื่อของตนไประคนเป็นชื่อห้างจำเลยที่ 1 แต่แรกเริ่มจัดตั้งห้างจำเลยที่ 1 แล้ว
จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2
รับผิดต่อโจทก์เสมือนหนึ่งเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 1082 (คำพิพากษาฎีกาที่ 2626/2548)
กรณีที่บุคคลที่ยินยอมให้ใช้ชื่อตนระคนเป็นชื่อห้างมิได้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด
ผลทางกฎหมายจะเป็นเช่นใด
มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1025
ห้างหุ้นส่วนสามัญคือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด ดังนั้น บุคคลใดแสดงตนว่าเป็นหุ้นส่วน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1054
จึงบัญญัติให้รับผิดต่อบุคคลภายนอกในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนสามัญเสมือนเป็นหุ้นส่วนคือต้องรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวนหนี้
ส่วนห้างหุ้นส่วนจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1077 คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนสองประเภท
คือผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดและจำพวกไม่จำกัดความรับผิด
ซึ่งมีความรับผิดไม่เท่ากัน จึงไม่อาจนำเอามาตรา 1054
มาใช้บังคับกับห้างหุ้นส่วนจำกัดได้ เพราะไม่อาจกำหนดได้ว่าจะต้องรับผิดเสมือนเป็นหุ้นส่วนประเภทใด
จึงได้บัญญัติแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพื่อบังคับใช้กับผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดไว้โดยเฉพาะในมาตรา 1082
โดยให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดที่ยินยอม
โดยแสดงออกชัดเจนหรือโดยปริยายให้ได้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างรับผิดต่อบุคคลภายนอกเสมือนเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด
เมื่อจำเลยที่ 4 (นางประหยัด) ไม่ใช่หุ้นส่วนของจำเลยที่ 1
แม้จะยินยอมโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายให้ใช้ชื่อของตนระคนเป็นชื่อห้างจำเลยที่ 1
ก็หาต้องรับผิดต่อโจทก์ เสมือนเป็นหุ้นส่วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา
1054 ประกอบมาตรา 1080 ไม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ 2626/2548 และดูคำพิพากษาฎีกาที่
4537/2551)
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
รบกวนลงบทบรรณาธิการ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 11 ให้ด้วยครับ ขอบคุณครับ
ตอบลบลงเล่ม11ให้แล้วนะครับ เดี๋ยววันนี้จะลงเล่ม13กับ14ให้ครับ ขอให้โชคดีในการสอบครับ
ตอบลบ