วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันศุกร์ที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2555

ธงคำตอบข้อสอบชั้นเนติบัณฑิต สมัย 64 ภาค2 วิชาวิธีพิจารณาความแพ่ง

สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  กฎหมายล้มละลาย  ระบบศาลและพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
ในการสอบภาคสอง  สมัยที่  64  ปีการศึกษา  2554
วันอาทิตย์ที่  25  มีนาคม  2555
                คำถาม  10  ข้อ  ให้เวลาตอบ  4  ชั่วโมง  (14.00  น.  ถึง  18.00  น.)  ให้ยกเหตุผลประกอบคำตอบด้วย

ข้อ  1.  โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่ง  ขอให้ขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาท  ศาลแพ่งมีคำสั่งรับคำฟ้องหมายเรียก  ให้ส่งสำเนาคำฟ้องให้จำเลยภายใน  7  วัน  ถ้าส่งไม่ได้ให้โจทก์แถลงภายใน  7  วัน  นับแต่วันส่งไม่ได้  หากไม่แถลงถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง  วันรุ่งขึ้นซึ่งตรงกับวันเสาร์ที่  24  ธันวาคม  2554  เจ้าพนักงานศาลนำส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้จำเลยโดยภริยาของจำเลยอายุ  21  ปี  และอยู่บ้านเดียวกันเป็นผู้รับ  ต่อมาวันที่  26  มกราคม  2555  จำเลยยื่นคำให้การต่อสู้กรรมสิทธิ์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย  ขอให้ยกฟ้อง  ศาลแพ่งสั่งรับคำให้การของจำเลย  นัดชี้สองสถาน  วันรุ่งขึ้นโจทก์ยื่นคำร้องว่า  ศาลสั่งรับคำให้การของจำเลยไม่ชอบ  ทำให้เพิกถอนคำสั่ง  ถัดมาอีก  2  วัน  จำเลยจึงยื่นคำร้องว่าการส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้จำเลยในวันหยุดราชการไม่ชอบ  ขอให้ส่งใหม่

                ให้วินิจฉัยว่า  ศาลแพ่งจะมีคำสั่งวินิจฉัยตามคำร้องของโจทก์และจำเลยอย่างไร

ธงคำตอบ
                การส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่นใด  โดยเจ้าพนักงานศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  74  นั้น  มิได้กำหนดห้ามส่งในวันหยุดราชการ  ดังนั้น  การส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้จำเลยในวันเสาร์  ซึ่งเป็นวันหยุดราชการจึงชอบ  (คำพิพากษาฎีกาที่  3501/2545)  และตามมาตรา  76  วรรคหนึ่ง  การส่งคำคู่ความหรือเอกสารให้คู่ความ  เมื่อเจ้าพนักงานศาลไม่พบคู่ความ  หากได้ส่งให้แก่บุคคลใดๆ  ที่มีอายุเกินยี่สิบปี  ซึ่งอยู่หรือทำงานในบ้านเรือน  หรือสำนักทำการงานที่ปรากฏว่าเป็นของคู่ความ  ถือว่าเป็นการเพียงพอที่จะฟังว่าได้มีการส่งคำคู่ความหรือเอกสารถูกต้องตามกฎหมายแล้ว  ตามข้อเท็จจริงการส่งสำเนาคำฟ้องและหมายเรียกให้จำเลยโดยภริยาของจำเลยซึ่งอายุเกินยี่สิบปี  และอยู่ในบ้านเดียวกันเป็นผู้รับจึงชอบ  (คำพิพากษาฎีกาที่  4293/2547)
                ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  177  วรรคหนึ่ง  จำเลยอาจยื่นคำให้การได้ภายใน  15  วัน  นับแต่วันได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง  ปรากฏว่าจำเลยได้รับหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องเมื่อวันที่  24  ธันวาคม  2554  แต่ยื่นคำให้การเมื่อวันที่  26  มกราคม  2555  พ้นกำหนดระยะเวลา  15  วันแล้ว  ศาลแพ่งสั่งรับคำให้การของจำเลยไว้จึงไม่ชอบเป็นกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบตาม  มาตรา  27
                ศาลแพ่งต้องสั่งตามคำร้องของโจทก์ให้เพิกถอนคำสั่งรับคำให้การของจำเลยและสั่งยกคำร้องของจำเลยที่ขอให้ส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องใหม่

ข้อ  2.  นายศุกร์เป็นโจทก์ฟ้องนายเสาร์เป็นจำเลยที่  1  นายอาทิตย์เป็นจำเลยที่  2  อ้างว่า  จำเลยที่  1  ซึ่งเป็นลูกจ้างจำเลยที่  2  ได้ขับรถยนต์ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่  2  โดยประมาทเลินเล่อ  ชนรถยนต์โจทก์เสียหาย  ขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน  400,000  บาท  จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีขอให้ยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า  เหตุละเมิดเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่  1  พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์  คดีถึงที่สุด  นายอาทิตย์ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าวแล้ว  ต่อมานายอาทิตย์ได้เป็นโจทก์ฟ้องนายเสาร์เป็นจำเลยขอให้ชดใช้เงินที่นายอาทิตย์ได้ชำระตามคำพิพากษาให้แก่นายศุกร์  นายเสาร์ให้การว่า  ไม่ได้ขับรถยนต์โดยประมาทเลินเล่อ  คำพิพากษาคดีก่อนไม่มีผลผูกพันโจทก์และจำเลยคดีนี้  และฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ  ขอให้ยกฟ้อง

                ให้วินิจฉัยว่า  ข้อต่อสู้ของนายเสาร์ทั้งสองข้อฟังขึ้นหรือไม่
               
ธงคำตอบ
                กรณีฟ้องซ้ำตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  148  นั้น  เป็นเรื่องที่ห้ามมิให้คู่ความซึ่งฟ้องร้องกัน  และศาลได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดไปแล้วกลับมารื้อร้องฟ้องกันอีกในประเด็นที่ได้วินิจฉัยโดยอาศัยเหตุอย่างเดียวกัน  เมื่อนายเสาร์และนายอาทิตย์ไม่เคยฟ้องร้องกันมาก่อน  เป็นแต่เคยถูกนายศุกร์ฟ้องเป็นจำเลยด้วยกันในคดีก่อนเท่านั้น  ดังนั้น  การที่นายอาทิตย์เป็นโจทก์ฟ้องนายเสาร์ในคดีหลังกรณีจึงไม่เป็นฟ้องซ้ำอันจักต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าว  ข้อต่อสู้ของนายเสาร์ฟังไม่ขึ้น
                ข้อต่อสู้ของนายเสาร์ที่ว่า  ไม่ได้กระทำโดยประมาทเลินเล่อนั้น  คดีก่อนที่นายศุกร์เป็นโจทก์ฟ้องนายเสาร์และนายอาทิตย์เป็นจำเลย  แม้นายเสาร์และนายอาทิตย์จะเป็นจำเลยด้วยกันก็ตาม  ก็ต้องถือว่านายเสาร์และนายอาทิตย์เป็นคู่ความในกระบวนพิจารณาของศาลในคดีก่อนด้วย  คำพิพากษาคดีก่อนจึงมีผลผูกพันนายเสาร์และนายอาทิตย์ในคดีนี้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  145  วรรคหนึ่ง  เมื่อศาลในคดีก่อนวินิจฉัยว่า  เหตุละเมิดเกิดเพราะความประมาทเลินเล่อของนายเสาร์  ข้อเท็จจริงจึงต้องฟังว่านายเสาร์กระทำละเมิดโดยเป็นฝ่ายประมาทเลินเล่อ  (คำพิพากษาฎีกาที่  3954/2536, 9035/2538)  ข้อต่อสู้ของนายเสาร์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน

ข้อ  3.  โจทก์ฟ้องว่า  โจทก์เป็นบุตรและผู้จัดการมรดกของนางแดงมารดาตามคำสั่งศาล  นางแดงมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  305  จำเลยที่  1  บุตรอีกคนหนึ่งของนางแดงได้แจ้งความเท็จว่า  น.ส.3  เลขที่  305  สูญหายไปและจำเลยที่  1  ได้รับมอบอำนาจจากนางแดงให้ไปดำเนินการขอออกใบแทน  เจ้าพนักงานหลงเชื่อจึงได้ออกใบแทนให้  แล้วจำเลยที่  1  จดทะเบียนโอนขายที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  305  ดังกล่าวแก่จำเลยที่  2  โดยอ้างว่า  ได้รับมอบอำนาจให้ขายจากนางแดงซึ่งเป็นความเท็จ  ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนการจดทะเบียนซื้อขายดังกล่าวออกจากรายการจดทะเบียนใน  น.ส.3  และให้พิพากษาว่าที่ดินดังกล่าวยังเป็นทรัพย์มรดกของนางแดงเพื่อโจทก์จะได้นำไปแบ่งปันกันในระหว่างทายาท  จำเลยทั้งสองให้การว่า  นางแดงได้มอบอำนาจให้จำเลยที่  1  ไปดำเนินการขอออกใบแทนและให้ขายที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่  2  จำเลยที่  2  จึงรับโอนมาโดยชอบที่ดินพิพาทย่อมมิใช่ทรัพย์มรดกของนางแดงอีกต่อไป  ก่อนตายนางแดงมีที่ดินอีกแปลงหนึ่งคือที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  413  อันเป็นทรัพย์มรดก  แต่โจทก์ไม่ยอมแบ่งให้จำเลยที่  1  ข้อให้ยกฟ้อง  และฟ้องแย้งขอให้โจทก์แบ่งปันที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  413  ให้แก่จำเลยที่  1  จำนวนหนึ่งในสองส่วน  ศาลชั้นต้นสั่งรับคำให้การและฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองไว้พิจารณา

                ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งของศาลชั้นต้นที่รับฟ้องแย้งของจำเลยทั้งสองไว้พิจารณาชอบหรือไม่
               
ธงคำตอบ
                จำเลยทั้งสองฟ้องแย้งในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  413  ว่าที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกของนางแดงซึ่งตกทอดแก่ทายาทอันได้แก่โจทก์และจำเลยที่  1  แต่โจทก์ไม่ยอมแบ่งให้จำเลยที่  1  ขอให้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของนางแดงแบ่งปันที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่  1  จำนวนหนึ่งในสองส่วน  ดังนี้  เป็นกรณีจำเลยที่  1  โต้แย้งสิทธิกับโจทก์  จำเลยที่  2  มิได้มีสิทธิทางแพ่งโต้แย้งกับโจทก์แต่อย่างใด  จำเลยที่  2  จึงไม่มีสิทธิฟ้องแย้ง  ฟ้องแย้งในส่วนของจำเลยที่  2  จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม  ไม่อาจพิจารณารวมไปกับฟ้องเดิมได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  177  วรรคสาม  และมาตรา  179  วรรคสาม  (คำพิพากษาฎีกาที่  1644/2549)  ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฟ้องแย้งในส่วนของจำเลยที่  2  ไว้พิจารณาจึงไม่ชอบ
                สำหรับฟ้องแย้งในส่วนของจำเลยที่  1  นั้น  แม้โจทก์ซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของนางแดงผู้ตายจะฟ้องเรียกที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  305  ที่โจทก์อ้างว่าเป็นมรดกของนางแดงคืนจากจำเลยทั้งสองเพื่อนำมาแบ่งปันกันในระหว่างทายาท  โดยมิได้ฟ้องเรียกที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  413  มาด้วยก็ตาม  แต่ฟ้องแย้งในส่วนของจำเลยที่  1  ที่เรียกที่ดิน  น.ส.3  เลขที่  413  จากโจทก์จำนวนหนึ่งในสองส่วนก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวเนื่องกับการแบ่งปันทรัพย์มรดกของนางแดงเช่นเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องนั่นเอง  ฟ้องแย้งของจำเลยที่  1  ในส่วนนี้จึงเกี่ยวกับฟ้องเดิมและเกี่ยวข้องกันพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  177  วรรคสาม  และ  มาตรา  179  วรรคสาม  (คำพิพากษาฎีกาที่  1644/2549)  ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฟ้องแย้งในส่วนของจำเลยที่  1  ไว้พิจารณาจึงชอบแล้ว

ข้อ  4.  คดีแพ่งสามัญเรื่องหนึ่ง  โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้เงินกู้  จำเลยที่  1  และที่  2  ให้การต่อสู้คดี  ส่วนจำเลยที่  3  ต้องยื่นคำให้การภายในวันที่  8  กุมภาพันธ์  2555  แต่ไม่ยื่น  ต่อมาวันที่  20  กุมภาพันธ์  2555  อันเป็นวันสืบพยาน  โจทก์และจำเลยทั้งสามมาศาล  จำเลยทั้งสามแถลงรับว่าเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง  คู่ความแถลงขอเลื่อนคดีเพื่อเจรจากัน  ศาลชั้นต้นงดสืบพยานและนัดฟังคำพิพากษาวันที่  20  มีนาคม  2555  ถึงวันนัด  โจทก์แถลงว่าไม่สามารถตกลงกันได้  ขอให้ศาลพิพากษาคดี  จำเลยที่  3  แถลงประสงค์จะต่อสู้คดี  ขออนุญาตยื่นคำให้การ  ศาลชั้นต้นไม่อนุญาตให้จำเลยที่  3  ยื่นคำให้การ  และมีคำสั่งว่าโจทก์ไม่ได้มีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดภายในเวลา  15  วัน  นับแต่ระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่  3  ได้สิ้นสุดลง  จึงให้จำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่  3  ออกจากสารบบความ  และมีคำพิพากษาให้จำเลยที่  1  และที่  2  ร่วมกันชำระเงินตามฟ้อง

                โจทก์อุทธรณ์ว่า  ในวันที่  20  กุมภาพันธ์  2555  จำเลยที่  3  มาศาลและแถลงยอมรับว่าเป็นหนี้ตามฟ้องจริง  ศาลชั้นต้นจดคำแถลงของจำเลยที่  3  ในรายงานกระบวนพิจารณาและจำเลยที่  3  ได้ลงชื่อไว้ด้วย  ถือว่าจำเลยที่  3  ยื่นคำให้การแล้ว  ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาคดีได้  โดยโจทก์ไม่ต้องมีคำขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด  การที่ศาลชั้นต้นเลื่อนไปนัดฟังคำพิพากษาวันอื่นย่อมไม่ทำให้โจทก์ต้องมีหน้าที่ยื่นคำขออีก  หรือมิฉะนั้น  ศาลชั้นต้นต้องไต่สวนคำขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยที่  3  ก่อนว่าจงใจขาดนัดยื่นคำให้การหรือไม่  การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้จำเลยที่  3  ยื่นคำให้การโดยมิได้ไต่สวน  และมีคำสั่งจำหน่ายคดีสำหรับจำเลยที่  3  จึงไม่ชอบ
                ให้วินิจฉัยว่า  อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้นหรือไม่

ธงคำตอบ
                คำให้การเป็นคำคู่ความซึ่งกฎหมายบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  67  ว่าให้ทำเป็นหนังสือโดยใช้แบบพิมพ์ของศาลและมีรายการต่างๆ  ตามที่ระบุไว้  แม้ศาลชั้นต้นจะบันทึกคำแถลงของจำเลยไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาและจำเลยที่  3  ได้ลงชื่อไว้ก็ไม่ถือว่ารายงานดังกล่าวเป็นคำให้การของจำเลยที่  3  เมื่อจำเลยที่  3  ไม่ยื่นคำให้การภายในกำหนด  ถือว่าจำเลยที่  3  ขาดนัดยื่นคำให้การและโจทก์ต้องมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดภายในเวลา  15  วันนับแต่ระยะเวลายื่นคำให้การของจำเลยที่  3  ได้สิ้นสุดลง  แม้จำเลยที่  3  มาศาลก่อนระยะเวลาดังกล่าวสิ้นสุดลง  แต่เมื่อศาลมิได้พิพากษาคดีในวันนั้น  ย่อมไม่ทำให้โจทก์หมดหน้าที่ที่จะต้องยื่นคำขอดังกล่าว  เมื่อโจทก์มิได้ยื่นคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือตามมาตรา  198  วรรคสอง  (คำพิพากษาฎีกาที่  911/2548)
                กรณีที่จำเลยที่  3  ขาดนัดยื่นคำให้การมาศาลก่อนศาลวินิจฉัยชี้ขาดคดี  หากประสงค์จะต่อสู้คดีต้องแจ้งต่อศาลในโอกาสแรกที่มาศาล  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  199  วรรคหนึ่ง  แต่จำเลยที่  3  มาศาลครั้งแรกเมื่อวันที่  20  กุมภาพันธ์  2555  จำเลยที่  3  แถลงต่อศาลยอมรับว่าเป็นหนี้ตามฟ้อง  และมาศาลครั้งที่สองวันที่  20  มีนาคม  2555  จึงแถลงต่อศาลว่าประสงค์จะต่อสู้คดี  เห็นได้ว่าจำเลยที่  3  มิได้แจ้งต่อศาลในโอกาสแรกที่มาศาลจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามมาตรา  199  วรรคหนึ่ง  ศาลชั้นต้นชอบที่จะยกคำขออนุญาตยื่นคำให้การของจำเลยที่  3  ได้โดยไม่ต้องทำการไต่สวนก่อนว่าจงใจขาดยื่นคำให้การหรือไม่  อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ข้อ  5.  โจทก์ฟ้องว่า  จำเลยออกเช็คจำนวนเงิน  190,000  บาท  ชำระหนี้ค่าอุปกรณ์ก่อสร้างให้แก่โจทก์  แต่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน  ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินตามเช็คพร้อมดอกเบี้ย  จำเลยให้การว่า  โจทก์หลอกลวงทำบิลรับของมาให้จำเลยสั่งจ่ายเช็คชำระหนี้  โดยที่จำเลยไม่เคยได้รับสินค้าดังกล่าวจากโจทก์  เช็คพิพาทจึงไม่มีมูลหนี้  และโจทก์เคยฟ้องจำเลยมาครั้งหนึ่งแล้วแต่ศาลพิพากษายกฟ้อง  ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ  ขอให้ยกฟ้อง  ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า  คดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เพราะคดีไม่อยู่ในเขตอำนาจ  ฟ้องโจทก์จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ  แล้วพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง  จำเลยอุทธรณ์ว่า  จำเลยไม่เคยได้รับสินค้าจากโจทก์  เช็คพิพาทไม่มีมูลหนี้  ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน  จำเลยฎีกาว่า  โจทก์จัดส่งอุปกรณ์ก่อสร้างไม่ครบถ้วนและมีความชำรุดบกพร่อง  โดยผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นรับรองให้จำเลยฎีกาในข้อเท็จจริง  กับฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายว่า  ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำโดยบรรยายรายละเอียดแห่งการเป็นฟ้องซ้ำมาด้วย

                ให้วินิจฉัยว่า  จำเลยจะฎีกาปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่

ธงคำตอบ
                จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า  จำเลยมิได้เป็นหนี้โจทก์  โจทก์หลอกลวงทำบิลรับของมาให้จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยที่จำเลยไม่เคยได้รับสินค้าตามฟ้องจากโจทก์  มิได้ให้การต่อสู้ว่า  โจทก์ส่งสินค้าให้จำเลยไม่ครบถ้วนและสินค้ามีความชำรุดบกพร่อง  ฎีกาของจำเลยจึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์  ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  249  วรรคหนึ่ง  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  2628/2545)  แม้ผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นจะรับรองให้ฎีกาในข้อเท็จจริงก็ตาม  ศาลฎีกาก็ไม่อาจพิจารณาให้ได้  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  755/2545)  จำเลยจึงฎีกาในปัญหาดังกล่าวไม่ได้
                ฎีกาของจำเลยที่ว่า  ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำนั้น  จำเลยได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในคำให้การแล้ว  แม้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน  แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำวินิจฉัยว่าไม่เป็นฟ้องซ้ำ  จำเลยกลับมิได้อุทธรณ์ปัญหาข้อนี้  เท่ากับจำเลยไม่ติดใจที่จะอุทธรณ์โต้แย้งปัญหาดังกล่าวอีกต่อไป  ศาลอุทธรณ์จึงมิได้วินิจฉัย  การที่จำเลยหยิบยกปัญหาดังกล่าวขึ้นฎีกาต่อมา  จึงเป็นฎีกาในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบให้ศาลอุทธรณ์  ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  249  วรรคหนึ่ง  (คำพิพากษาฎีกาที่  8491/2553,  8414/2552)  จำเลยจึงฎีกาในปัญหาข้อนี้ไม่ได้เช่นกัน

ข้อ  6.  โจทก์ฟ้องว่าโจทก์อยู่กินฉันสามีภรรยากับจำเลยโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส  ขอให้แบ่งกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ทำมาหาได้ร่วมกันให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง  จำเลยให้การต่อสู้และฟ้องแย้งให้โจทก์แบ่งเงินตามตั๋วเงินสัญญาใช้เงินที่โจทก์แอบถอนไปจำนวน  1,000,000  บาท  ให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งจำนวน  500,000  บาท  เพราะเป็นเงินที่โจทก์กับจำเลยทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา  ต่อมาในระหว่างพิจารณา  จำเลยยื่นคำร้องขอคุ้มครองประโยชน์โดยขอให้ศาลสั่งโจทก์นำเงินจำนวน  500,000  บาท  มาวางศาล  โจทก์ยื่นคำคัดค้านว่า  เงินจำนวน  1,000,000  บาท  เป็นเงินของบุคคลภายนอกที่ฝากโจทก์ไว้  และโจทก์เบิกถอนคืนให้แก่บุคคลภายนอกไปแล้ว  ขอให้ยกคำร้อง  ศาลทำการไต่สวน  ข้อเท็จจริงปรากฏว่า  โจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  เงินจำนวน  1,000,000 บาท  ที่จำเลยฟ้องแย้งนั้น  มีการนำไปฝากที่สถาบันการเงินซึ่งสถาบันการเงินได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินในนามของจำเลย  ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นชื่อโจทก์และโจทก์ได้ถอนเงินจำนวน  1,000,000  บาท  ตามตั๋วสัญญาใช้เงินนั้นไป

                ให้วินิจฉัยว่า  ศาลจะมีคำสั่งอย่างไร

ธงคำตอบ
                การขอคุ้มครองประโยชน์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  264  ต้องเป็นการขอคุ้มครองประโยชน์ของผู้ขอเพื่อให้ทรัพย์สิน  สิทธิหรือประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่พิพาทกันในคดีนั้นได้รับการคุ้มครองในระหว่างพิจารณาหรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษา  กรณีตามปัญหา  จำเลยฟ้องแย้งขอให้โจทก์แบ่งเงินตามตั๋วสัญญาใช้เงินจำนวน 1,000,000  บาท  ให้แก่จำเลยกึ่งหนึ่งจำนวน  500,000  บาท  โดยอ้างว่าเป็นเงินที่ทำมาหาได้ร่วมกันในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยา  จึงถือได้ว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่พิพาทกันตามฟ้องแย้งของจำเลยที่จำเลยมีสิทธิขอคุ้มครองประโยชน์ในระหว่างพิจารณาได้  และเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงในชั้นไต่สวนว่าโจทก์กับจำเลยเป็นสามีภริยาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และเงินจำนวน  1,000,000  บาท  นั้น  ได้มีการนำไปฝากที่สถาบันการเงินซึ่งสถาบันการเงินได้ออกตั๋วสัญญาใช้เงินให้ในนามของจำเลย  ต่อมามีการเปลี่ยนชื่อในตั๋วสัญญาใช้เงินเป็นชื่อโจทก์  และโจทก์ได้เบิกถอนเงินจำนวน  1,000,000 บาท  ตามตั๋วสัญญาใช้เงินไป  ซึ่งจากข้อเท็จจริงดังกล่าว  และหากที่สุดศาลพิพากษาให้โจทก์แบ่งเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยกึ่งหนึ่งจำนวน  500,000  บาท  ตามฟ้องแย้ง  จำเลยก็จะได้รับประโยชน์จากการที่ศาลมีคำสั่งให้คุ้มครองประโยชน์ตามคำร้องของจำเลย  กรณีจึงมีเหตุสมควรที่จะคุ้มครองประโยชน์ของจำเลยในระหว่างพิจารณาตามมาตรา  264  ดังนั้น  ศาลจะมีคำสั่งให้โจทก์นำเงินจำนวน  500,000  บาท  มาวางศาลตามคำร้องของจำเลย  (คำพิพากษาฎีกาที่  5982/2549)

ข้อ  7.  ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่  1  และที่  2  ร่วมกันใช้เงิน  500,000  บาทแก่โจทก์  จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้  โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน  1  แปลงของจำเลยที่  1  เพื่อขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้  ต่อมาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ขายทอดตลาด  เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศขายทอดตลาดแก่จำเลยที่  1  โดยชอบ  แต่ไม่ส่งประกาศการขายทอดตลาดแก่จำเลยที่  2  โดยประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ครั้งที่  1  ในวันที่  1  กุมภาพันธ์  2554  เวลา  9  นาฬิกา  และครั้งที่  2  วันที่  28  กุมภาพันธ์  2554  เวลา  9  นาฬิกา  ในการขายทอดตลาดครั้งที่  1  ไม่มีผู้เสนอราคา  เจ้าพนักงานบังคับคดีเลื่อนการขายทอดตลาดไป  ต่อมาในการขายทอดตลาดครั้งที่  2  จำเลยที่  2  ทราบประกาศขายทอดตลาดจากจำเลยที่  1  จึงไปร่วมการขายทอดตลาดครั้งนี้  มีผู้เสนอราคาสูงสุด  400,000บาท  ก่อนเจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้  จำเลยที่  2  คัดค้านต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี  โดยอ้างเหตุ  2  กรณี  คือ

                กรณีที่หนึ่ง  การขายทอดตลาดไม่ได้แจ้งประกาศขายทอดตลาดให้ตนทราบ  และกรณีที่สอง  ราคาที่ผู้เสนอราคาดังกล่าวต่ำเกินสมควร  ขอให้เลื่อนการขายทอดตลาดไป  เจ้าพนักงานบังคับคดีอ้างว่า  จำเลยที่  2  ไม่มีสิทธิคัดค้านทั้งสองกรณีดังกล่าวและเคาะไม้ขายทอดตลาดแก่ผู้เสนอราคาสูงสุด  จำเลยที่  2  ยื่นคำคัดค้านต่อศาลชั้นต้น  ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดครั้งนี้  อ้างว่า  เจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
                ให้วินิจฉัยว่า  คำคัดค้านของจำเลยที่  2  ฟังขึ้นหรือไม่

ธงคำตอบ
                ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  306  บัญญัติให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ทราบซึ่งคำสั่งของศาลและวันขายทอดตลาดแก่บรรดาบุคคลผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดซึ่งทราบได้ตามทะเบียนหรือโดยประการอื่นนั้น  เมื่อที่ดินที่ขายทอดตลาดเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่  1  ไม่มีชื่อจำเลยที่  2  ในทะเบียน  จำเลยที่  2  จึงไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินที่จะขายทอดตลาดตามบทบัญญัติดังกล่าว  เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่จำต้องแจ้งการขายทอดตลาดในจำเลยที่  2  ทราบ  ข้อคัดค้านข้อนี้ของจำเลยที่  2  ฟังไม่ขึ้น  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  3798/2551)
                ส่วนการขายทอดตลาดครั้งที่  2  ที่เลื่อนมา  ผู้ซื้อทรัพย์เสนอราคา  400,000  บาท  ได้เสนอราคาสูงสุด  ก่อนที่เจ้าพนักงานบังคับคดีจะเคาะไม้ขายแก่ผู้ซื้อทรัพย์  จำเลยที่  2  คัดค้านว่าราคาดังกล่าวมีจำนวนต่ำเกินสมควร  แม้ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นของจำเลยที่  1  แต่จำเลยที่  2  เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาซึ่งต้องร่วมรับผิดในการชำระหนี้ตามคำพิพากษาจึงมีสิทธิคัดค้านได้  ในกรณีเช่นนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องเลื่อนการขายทอดตลาดไปตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  309  ทวิ  วรรคหนึ่ง  การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เลื่อนการขายไปโดยอนุมัติให้ขายทอดตลาดแก่ผู้ซื้อทรัพย์เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย  จำเลยที่  2  จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะโต้แย้งว่าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติมาตรา  296  วรรคสอง  ข้อคัดค้านข้อนี้ของจำเลยที่  2  ฟังขึ้น  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  5321/2552)

ข้อ  8.  ในคดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง  โจทก์บรรยายฟ้องว่า  จำเลยที่  1  ทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์  3,000,000  บาท  ตกลงให้ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ  12  ต่อปี  และจำเลยที่  2  จดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ของจำเลยที่  1  ต่อโจทก์  โดยมีข้อตกลงว่า  หากบังคับจำนองแล้วยังไม่พอชำระหนี้  จำเลยที่  2  ยอมให้โจทก์บังคับจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่  2  ได้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน  จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้คืนตามสัญญา  จำเลยทั้งสองมีหนี้สินพ้นตัว  และเป็นหนี้เงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน  3,500,000  บาท  ขอศาลมีคำสังพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยทั้งสองล้มละลาย  ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ยื่นคำให้การ  ศาลล้มละลายกลางจึงมีคำสั่งว่า  จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การเมื่อสืบพยานโจทก์ไปจนเสร็จและจำเลยทั้งสองไม่มีพยานมาสืบ  ศาลล้มละลายกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้อง  จึงมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาด

                ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่สั่งว่า  จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การก็ดีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองเด็ดขาดก็ดี  ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ธงคำตอบ
                พระราชบัญญัติล้มละลาย  พ.ศ.  2483  มาตรา  13  บัญญัติให้ศาลออกหมายเรียกและส่งสำเนาคำฟ้องไปยังลูกหนี้หรือจำเลยเพื่อทราบวันนั่งพิจารณาเท่านั้น  ไม่ได้บัญญัติว่าจำเลยจะต้องยื่นคำให้การด้วย  ดังนั้น  ในคดีล้มละลายจำเลยจะยื่นคำให้การหรือไม่ก็ได้  หากจำเลยไม่ได้ยื่นคำให้การก็ไม่ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ  คำสั่งของศาลล้มละลายกลางที่สั่งว่า  จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  3026/2551)
                คดีสำหรับจำเลยที่  1  นั้น  เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่า  จำเลยที่  1  ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดามีหนี้สินล้นพ้นตัวเป็นหนี้โจทก์ไม่น้อยกว่า  1,000,000  บาท  และหนี้ตามสัญญากู้เงินเป็นหนี้ที่อาจกำหนดจำนวนได้โดยแน่นอน  ครบหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย  พ.ศ.  2483  มาตรา  9  ที่โจทก์อาจฟ้องล้มละลายได้  ดังนั้น  การที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่  1  เด็ดขาด  จึงชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  14  แล้ว
                ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่  2  เนื่องจากโจทก์เป็นผู้รับจำนองจึงเป็นเจ้าหนี้มีประกันตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.  2483  มาตรา  6  แต่ตามคำฟ้องมิได้กล่าวในฟ้องว่า  ถ้าลูกหนี้ล้มละลายแล้วจะยอมสละหลักประกันเพื่อประโยชน์แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย  หรือตีราคาหลักประกันมาในฟ้องซึ่งเมื่อหักกับจำนวนหนี้ของตนแล้วเงินยังขาดอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยกว่า  1,000,000  บาท  ฟ้องของโจทก์สำหรับจำเลยที่  2  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา  10  (2)  ศาลชอบที่จะไม่รับฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่  2  ไว้พิจารณาตั้งแต่แรก  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  2193/2550)  และเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน  แม้จำเลยที่  2  ไม่ได้ให้การต่อสู้คดีไว้  ศาลก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง  มาตรา  142  (5)  ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย  พ.ศ.  2542  มาตรา  14  ศาลต้องพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่  2  ดังนั้น  การที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยที่  2  เด็ดขาด  จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข้อ  9.  คดีฟื้นฟูกิจการเรื่องหนึ่ง  บริษัท  อังคาร  จำกัด  ลูกหนี้ยื่นคำร้องขอต่อศาลล้มละลายกลางให้มีการฟื้นฟูกิจการ  และให้ตั้งบริษัทลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน  ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้  และตั้งบริษัทลูกหนี้เป็นผู้ทำแผน  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์โฆษณาคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการและคำสั่งตั้งผู้ทำแผนแล้ว  ปรากฏว่านายพุธเจ้าหนี้รายหนึ่งยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดเวลา  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีคำสั่งไม่รับคำขอรับชำระหนี้ของนายพุธ  นายพุธโต้แย้งต่อศาลล้มละลายกลางโดยอ้างว่า  การที่ตนยื่นคำขอรับชำระหนี้เกินกำหนดเวลา  สืบเนื่องจากลูกหนี้มิได้ระบุชื่อและที่อยู่ของตนไว้ในบัญชีเจ้าหนี้  จึงเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไม่แจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลาให้นายพุธเสนอคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลาตามกฎหมาย  ดังนั้น  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงควรรับคำขอรับชำระหนี้ของตนไว้พิจารณาต่อไป

                ให้วินิจฉัยว่า  หากกรณีเป็นดังที่นายพุธกล่าวอ้าง  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีเหตุตามกฎหมายที่จะรับคำขอรับชำระหนี้ของนายพุธไว้พิจารณา  หรือไม่
               
ธงคำตอบ
                นายพุธต้องยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามแผนต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งตั้งผู้ทำแผนตามพระราชบัญญัติล้มละลาย  พ.ศ.  2483  มาตรา  90/26  หากยื่นเกินกำหนดย่อมหมดสิทธิได้รับชำระหนี้  อย่างไรก็คดีนี้ลูกหนี้เป็นผู้ยื่นคำขอฟื้นฟูกิจการ  จึงต้องดำเนินการตามมาตรา  90/6  กล่าวคือต้องแนบบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินทั้งหมดที่มีอยู่  และที่อยู่โดยชัดแจ้งของเจ้าหนี้ทั้งหลายพร้อมกับคำร้องขอ  เพราะหากศาลมีคำสั่งตั้งผู้ทำแผน  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องโฆษณาคำสั่ง  ตามมาตรา  90/20  วรรสี่และแจ้งคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลาให้เจ้าหนี้ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ตามมาตรา  90/24  วรรคสองและวรรคสาม  กับมาตรา  90/26  วรรคหนึ่ง  หากกรณีเป็นดังที่นายพุธกล่าวอ้างย่อมเป็นเหตุให้นายพุธไม่อาจทราบคำสั่งตั้งผู้ทำแผนและกำหนดเวลายื่นคำขอรับชำระหนี้ดังที่กฎหมายกำหนดไว้ได้  เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จึงมีเหตุตามกฎหมายที่จะรับคำขอรับชำระหนี้ของนายพุธไว้พิจารณาได้  (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่  4636/2546,  1683/2552)

ข้อ  10.  พนักงานอัยการฟ้องนายดำเกิงต่อศาลแขวงดุสิต  ขอให้ลงโทษฐานลักทรัพย์  ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  (ระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี  และปรับเกินหกพันบาท)  กับให้นายดำเกิงคืนเงิน  900,000  บาท  ที่ลักไปแก่ผู้เสียหาย  และกำหนดโทษความผิดฐานยักยอกในคดีก่อนที่ศาลรอการกำหนดโทษนายดำเกิงไว้  นายแมนผู้พิพากษาศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งประทับฟ้อง  ต่อมานายแมนได้รับการจ่ายสำนวนจากนายมิตรผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงดุสิตให้เป็นองค์คณะรับผิดชอบคดีนี้  นายแมนพิจารณาคดีเสร็จแล้วแต่เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุก่อนทำคำพิพากษา  ถ้าปรากฏว่า

(ก)         นายมิตรตรวจสำนวนแล้วทำคำพิพากษาลงโทษนายดำเกิง  โดยกำหนดโทษในคดีหลังฐานลักทรัพย์  จำคุก  6  เดือน  กำหนดโทษคดีก่อนฐานยักยอก  จำคุก  5  เดือน  รวมเป็นจำคุก  11  เดือน  และให้นายดำเกิงคืนเงิน  900,000บาท  แก่ผู้เสียหาย  หรือ
(ข)        นายมิตรมีภารกิจสำคัญจนไม่อาจปฏิบัตราชการได้  จึงมอบหมายให้นายสมชายผู้พิพากษาอาวุโสในศาลแขวงดุสิตทำคำพิพากษาแทน  นายสมชายจึงทำคำพิพากษาเหมือนข้อ  (ก)
ให้วินิจฉัยว่า  คำสั่งและการพิจารณาคดีของนายแมน  กับกรณีตามข้อ  (ก)  และข้อ  (ข)  ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  หรือไม่

ธงคำตอบ
ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา  มาตรา  334  มีระวางโทษไม่เกินกำหนดตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  17  ประกอบมาตรา  25  (5)  พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายดำเกิงต่อศาลแขวงดุสิตได้  และตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา  มาตรา  43  พนักงานอัยการมีอำนาจขอให้บังคับจำเลยคืนทรัพย์หรือใช้ราคาทรัพย์ที่ผู้เสียหายสูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดแทนผู้เสียหายได้  พนักงานอัยการจึงมีคำขอให้นายดำเกิงคืนเงิน  900,000  บาท  ที่ถูกลักแก่ผู้เสียหายได้  แม้ทุนทรัพย์พิพาทเกิน  300,000  บาท  ก็ไม่เป็นการฝ่าฝืนพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  17  ประกอบมาตรา  25  (4)  ดังนั้น  คำสั่งของนายแมนที่ให้ประทับฟ้องของพนักงานอัยการโจทก์  ซึ่งไม่ใช่คำสั่งวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี  ตามมาตรา  17  ประกอบมาตรา  24  (2)  ย่อมชอบด้วยกฎหมาย  และเมื่อนายมิตรผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงดุสิตจ่ายสำนวนให้นายแมนเป็นองค์คณะรับผิดชอบคดี  นายแมนย่อมมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ตามมาตรา  17  การพิจารณาคดีของนายแมนจึงชอบด้วยกฎหมายเช่นเดียวกัน
ส่วนกรณีตามข้อ  (ก)  เมื่อนายแมนซึ่งเป็นองค์คณะนั่งพิจารณาคดีพ้นจากตำแหน่งที่ดำรงอยู่  เนื่องจากเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุหลังเสร็จการพิจารณาคดี  แต่ก่อนทำคำพิพากษา  ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นอื่นอันมิอาจก้าวล่วงได้ในระหว่างการทำคำพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  มาตรา  30  จำต้องแก้ปัญหาตามวิถีทางใน  มาตรา  29  (3)  กล่าวคือ  นายมิตรผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงดุสิต  หรือ  อธิบดีผู้พิพากษาภาค  1  หรือผู้ทำการแทนต้องตรวจสำนวนแล้วทำคำพิพากษาด้วยตนเอง  จะมอบหมายให้ผู้พิพากษาอื่นในศาลเดียวกันทำคำพิพากษาแทนไม่ได้เพราะมาตรา  29  (3)  ไม่ได้ให้อำนาจไว้  ซึ่งนายมิตรได้ปฏิบัติตามแนวทางนี้แล้ว  โดยนายมิตรตรวจสำนวนแล้วทำคำพิพากษาลงโทษความผิดฐานลักทรัพย์ในคดีหลังให้จำคุก  6  เดือน  และกำหนดโทษความผิดฐานยักยอกในคดีก่อนให้จำคุก  5  เดือน  รวมเป็นจำคุก  11  เดือน  เท่ากับศาลแขวงดุสิตลงโทษจำคุกคดีละไม่เกิน  6  เดือน  กับให้นายดำเกิงคืนเงิน  900,000  บาท  แก่ผู้เสียหายอันเป็นการพิพากษาคดีที่ชอบด้วยมาตรา  17  ประกอบมาตรา  25  (4)  และ  (5)  แล้ว
กรณีตามข้อ  (ข)  การที่นายมิตรมีภารกิจสำคัญจนไม่อาจปฏิบัติราชการได้เป็นเหตุให้ทำคำพิพากษาด้วยตนเองไม่ได้  นายมิตรก็จะมอบหมายให้ผู้พิพากษาอื่นในศาลเดียวกันทำคำพิพากษาแทนไม่ได้  ตามเหตุผลดังกล่าวแล้วข้างต้น  ดังนั้น  การที่นายมิตรมอบหมายให้นายสมชายผู้พิพากษาอาวุโสของศาลแขวงดุสิตทำคำพิพากษาแทน  จึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม  แม้นายสมชายจะทำคำพิพากษาเหมือนนายมิตรตามข้อ  (ก)  ทุกประการก็ตาม




2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ1 พฤษภาคม 2555 เวลา 20:16

    ข้อ6 และข้อ 10 ผมตอบแบบนี้แต่ทำไมมันได้ แค่ 2 กับ 3 คะแนน งง ตาแตกเลย โดยเฉพาะข้อหก ให้คะแนนตัวเอง 7 ผลออกมาได้2 พระเจ้า ตกเลย อยากรู้จังว่าข้อหกอาจารย์อ่านของผมดีป่าว

    ตอบลบ
  2. เหตุผลที่ได้คะแนนน้อยอาจเกิดจากท่านอาจตอบถูกธงแต่เหตุผลทางหลักกฎหมายอาจยังวางหลักไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน หรือยังไม่โดนใจอาจารย์ผู้ตรวจ และท่านอาจได้ประเด็นใหญ่ แต่ประเด็นปลีกย่อยท่านอาจไม่ตอบ ตอบไม่ครบถ้วนก็โดนหักคะแนนได้อีก

    ตอบลบ