คำถาม
สมัครใจเข้าวิวาทจะอ้างป้องกันหรือบันดาลโทสะได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 8347/2554
ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายมีเรื่องทะเลาะโต้เถียงกับจำเลยซึ่งนั่งดื่มสุราอยู่ที่ร้านใกล้ที่เกิดเหตุ
จึงเชื่อว่าเป็นสาเหตุให้จำเลยไม่พอใจผู้เสียหายเป็นอย่างมาก
ในวันเกิดเหตุเมื่อผู้เสียหายออกจากร้านไปแล้ว ผู้เสียหายร้องตะโกนท้าทายจำเลยให้ออกไป
จะฟันให้คอขาด จำเลยจึงรีบวิ่งไปหาผู้เสียหาย
ถือได้ว่าจำเลยสมัครใจเข้าวิวาทและต่อสู้กับผู้เสียหาย
และเป็นการกระทำที่จำเลยเข้าสู้ภัยทั้งที่ยังไม่มีภยันตรายมาถึงตน
จึงเป็นการกระทำโดยที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ แม้ผู้เสียหายจะทำร้ายจำเลยก่อน
ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะที่จำเลยกับผู้เสียหายสมัครใจวิวาทกัน ดังนั้น
จำเลยจึงไม่อาจที่จะอ้างสิทธิป้องกันได้ตามกฎหมาย
และแม้จำเลยมีความไม่พอใจผู้เสียหายเป็นอย่างมาก
แต่เมื่อจำเลยสมัครใจที่จะไปต่อสู้กับผู้เสียหายเอง
ก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้เช่นเดียวกัน
การกระทำของจำเลยไม่เป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
และไม่เป็นการกระทำโดยเหตุบันดาลโทสะ
คำพิพากษาฎีกาที่ 6964/2555
อาวุธปืนที่จำเลยที่ 2 ใช้ยิงเป็นอาวุธปืนลูกซองสันขนาด 12
ซึ่งเครื่องกระสุนปืนที่ใช้กับอาวุธปืนดังกล่าวเป็นกระสุนปราย
เมื่อยิงแล้วจะกระจายออก
หากเล็งไปที่จุดอื่นเช่นพื้นถนนซึ่งตามภาพถ่ายสถานที่เกิดเหตุหมาย จ. 20 ภาพที่ 3
แสดงว่าเป็นถนนที่ไม่ได้ลาดยาง
กระสุนปืนย่อมฝังที่พื้นถนนหรือมิฉะนั้นก็ปะทะกับพื้นถนนทำให้ไม่มีอนุภาพเพียงพอที่จะแฉลบไปถูกผู้เสียหายที่
1 จนกระดูกแตกได้ การที่กระสุนปรายถูกผู้เสียหายทั้งสองมีบาดแผลคนละแห่ง
แสดงว่าจำเลยที่ 2 เล็งอาวุธปืนและยิงไปที่ผู้เสียหายทั้งสอง แต่จำเลยที่ 2
ยิงเพียง 1 นัดแล้วไม่ได้ยิงซ้ำอีก
ทั้งบาดแผลของผู้เสียหายทั้งสองก็ไม่ใช่อวัยวะสำคัญ เชื่อว่าจำเลยที่ 2
มีเจตนายิงทำร้ายผู้เสียหายทั้งสอง มิใช่เจตนาฆ่าผู้เสียหายทั้งสอง
จำเลยที่ 2
กับพวกสมัครใจทะเลาะวิวาทชกต่อยกับผู้เสียหายทั้งสองกับพวกถึง 2 ครั้ง
โดยครั้งหลังสุดผู้เสียหายทั้งสองกับพวกมีจำนวนมากกว่า จำเลยที่ 2 กับพวกจึงขับรถจักรยานยนต์หลบหนีและผู้เสียหายทั้งสองกับพวกขับรถจักรยานยนต์ตามไป
และเมื่ออยู่ห่างประมาณ 7 ถึง 8 เมตร ก็ถูกจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนยิง
ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องจากการทะเลาะวิวาท
หาใช่เป็นการกระทำที่ขาดตอนจากกันไม่ และเมื่อเป็นการสมัครใจทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายซึ่งกันและกัน
จึงไม่ใช่เป็นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่จำเลยที่ 2
จะอ้างว่าการกระทำเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งไม่ใช่เป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมที่จำเลยที่ 2
จะอ้างว่ากระทำไปเพราะเหตุบันดาลโทสะได้
คำถาม
ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้านอันละเมิดต่อกฎหมายผ่านพ้นไปแล้วจะอ้างป้องกันได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 10584/2555
ผู้ตายจะใช้อาวุธปืนยิงจำเลย จำเลยเข้าไปแย่งอาวุธปืน
กระสุนปืนถูกผู้ตายที่มือขวาและหน้าผาก
แพทย์ผู้ตรวจศพผู้ตายให้การว่าไม่พบเขม่าดินปืนที่หน้าผากของผู้ตาย
รายงานการตรวจพิสูจน์ก็ระบุตรงกันว่าไปพบเขม่าดินปืนที่มือขวา
เมื่อผู้ตายใช้มือขวาข้างถนัดของตนกำด้ามปืนไว้ในขณะที่จำเลยเข้ามาแย่งอาวุธปืน
หากกระสุนปืนจากอาวุธปืนดังกล่าวเกิดลั่นขึ้นดังที่จำเลยนำสืบจากการเข้ากอดปล้ำแย่งอาวุธในระยะประชิดตัวระหว่างจำเลยกับผู้ตาย
ย่อมต้องมีเขม่าดินปืนติดอยู่ที่บริเวณมือขวาและหน้าผากของผู้ตาย
เมื่อพิจารณารายงานการชันสูตรบาดแผลหรือสภาพศพระบุว่ากระสุนปืนเข้าฝ่ามือขวาระหว่างนิ้วกลางกับนิ้วนางแล้วทะลุด้านหลังมือของผู้ตาย
หากมือขวาของผู้ตายยังกำด้ามปืนอยู่ขณะจำเลยเข้าแย่งอาวุธปืนกระสุนปืนที่ลั่นออกจะถูกมือขวาของผู้ตายได้อย่างไร
แสดงว่าขณะผู้ตายถูกกระสุนปืนที่มือขวานั้น ผู้ตายไม่ได้ถืออาวุธปืนดังกล่าว
ฉะนั้นกระสุนปืนจึงไม่ได้ลั่นออกไปขณะจำเลยเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากมือของผู้ตาย
หากแต่เมื่อจำเลยเข้าแย่งอาวุธปืนจากมือของผู้ตายไปได้แล้ว
จึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถูกที่มือขวาและหน้าผาก
แม้จะได้ความว่าผู้ตายเป็นฝ่ายเอาอาวุธปืนของตนซึ่งพกพาติดตัวขึ้นมายังไม่ได้ลั่นกระสุนปืนใส่จำเลย
แต่จำเลยเข้าแย่งอาวุธปืนดังกล่าวไปได้เสียก่อน
ทั้งไม่ปรากฎว่าผู้ตายมีอาวุธอื่นใดติดตัวมาอีก
และได้ทำร้ายร่างกายจำเลยอีกเช่นนี้
ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายจากการกระทำของผู้ตายผ่านพ้นไปแล้วและไม่มีภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัว
พฤติการณ์ที่จำเลยใช้อาวุธปืนที่แย่งจากมือผู้ตายมาได้แล้วจึงยิงผู้ตายเช่นนี้
ถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย
คำถาม
ความพิการทางร่างกายจะนำมาเป็นข้อพิจารณาเรื่องการกระทำเพื่อป้องกันได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 7516/2555
แม้จำเลยมีร่างกายพิการที่ขาขวาด้วน
จำเลยก็มีสิทธิโดยชอบธรรมที่จะเข้าไปเที่ยวเพื่อหาความสุขสำราญในร้านอาหารที่เกิดเหตุได้เช่นคนที่มีร่างกายปกติธรรมดาทั่วไป
และโจทก์ร่วมไม่มีสิทธิใด ๆ
ที่จะนำเอาเหตุความพิการทางร่างกายของจำเลยมาพูดจาวิพากษ์วิจารณ์เยาะเย้ยถากถางหรือดูหมื่นเหยียดหยามเพื่อให้จำเลยเจ็บช้ำน้ำใจได้
การที่โจทก์ร่วมพูดกับ ม. ว่า “ ดูนั่นซิด้วนแล้วยังมาเที่ยวอีก" และ ม.
ยังพูดเป็นเชิงสนับสนุนเห็นด้วยว่า “ ถึงพิการแต่ใจรัก" เป็นการเย้ยหยันสบประมาทตัวจำเลย
ทำให้จำเลยต้องรู้สึกอับอายและแค้นเคืองเป็นอย่างมาก
การที่จำเลยชักอาวุธปืนออกมาแล้วยิงขึ้นฟ้า 2 นัด
ก็เพื่อเตือนให้หยุดยั้งการกระทำโดยมิชอบของโจทก์ร่วมและ ม.
แต่แทนที่โจทก์ร่วมจะหยุดการกระทำดังกล่าวโจทก์ร่วมกับวิ่งเข้าไปหาจำเลยในลักษณะเข้าทำร้ายจำเลย
แม้โจทก์ร่วมจะไม่มีอาวุธติดตัว
แต่ด้วยการที่จำเลยขาพิการย่อมอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบหากจะป้องกันตัวโดยการต่อสู้กับโจทก์ร่วมด้วยมือเปล่า
การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงใส่โจทก์ร่วมจึงเป็นการป้องกันสิทธิของตน ให้พ้นอันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง แต่การที่จำเลยยิงปืนใส่บริเวณลำตัวตนถูกแขนของโจทก์ร่วมอาจพลาดไปโดนอวัยวะสำคัญทำให้ถึงตายได้
จึงเป็นการกระทำโดยเจตนาฆ่า ซึ่งเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน
ซึ่งศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้ตาม
ป.อ. มาตรา 68 และ 69
คำพิพากษาฎีกาที่ 501/2555
มีดของกลางมีขนาดใหญ่พอที่จะทำอันตรายแก่ชีวิตได้
การที่จำเลยใช้มีดของกลางแทงผู้ตายมีบาดแผลถึง 3 แห่ง แสดงว่าจำเลยแทงไปหลายครั้ง
และลักษณะบาดแผลที่ทะลุแขนไปอีกด้านหนึ่งแสดงให้เห็นว่าเป็นการแทงโดยแรงโดยมุ่งประสงค์ต่อชีวิต ฟังได้ว่าจำเลยมีเจตนาฆ่ามิใช่เพียงเจตนาทำร้ายร่างกายเท่านั้น
เมื่อการกระทำของจำเลยเกิดจากการที่ถูกผู้ตายใช้ไม้เท้าตีทำร้ายก่อน
ซึ่งเป็นภยันตรายที่ละเมิดต่อกฎหมายและใกล้จะถึงโดยจำเลยมิได้เป็นผู้ก่อให้เกิดขึ้น
จำเลยจึงมีเหตุจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย
แต่การที่จำเลยใช้มีดของกลางแทงผู้ตายไปโดยแรงหลายครั้ง ทั้ง ๆ
ที่ผู้ตายมีสภาพร่างการพิการเดินไม่สะดวกและมีเพียงไม้เท้าที่ใช้ค้ำยันร่างกายเป็นอาวุธเท่านั้น
จึงเป็นการกระทำเกินกว่ากรณีแห่งการที่จำต้องกระทำเพื่อป้องกัน
คำถาม
ส่งจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับตามภูมิลำเนาที่ระบุในสัญญาจำนอง
แต่ไม่พบผู้จำนองและไม่มีผู้ใดรับไว้จะถือว่ามีการบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้วหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 10186/2555
การบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นการแสดงเจตนาอย่างหนึ่งซึ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 169
วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “
การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา.......” ถ้อยคำว่า “ ไปถึง" นั้นมิได้หมายความว่า
ผู้นำจดหมายไปส่งจะต้องได้พบผู้รับการแสดงเจตนาโดยตรง แต่หมายความว่า
ผู้นำจดหมายไปส่ง ต้องไปส่ง ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของผู้รับการแสดงเจตนา
แม้ขณะไปถึงภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของผู้รับการแสดงเจตนา
จะไม่พบผู้รับการแสดงเจตนาโดยตรง ก็ถือว่าเป็นการส่งยังสถานที่ที่ถูกต้องแล้ว
โจทก์ส่งจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงจำเลยตามภูมิลำเนาที่จำเลยระบุในสัญญาจำนองและตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรอันเป็นฐานข้อมูลของทางราชการ
แต่ส่งไม่ได้โดยเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์รายงานเหตุขัดข้องว่า “ ย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่" โดยจำเลยไม่เคยแจ้งย้ายที่อยู่แก่ทางราชการและโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้
แสดงว่าจำเลยมีเจตนาหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับเอกสารหรือจดหมายใดๆ ที่ส่งมายังภูมิลำเนาของตน เมื่อเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์นำจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปส่งให้จำเลยที่ภูมิลำเนาของจำเลยอันเป็นการส่งอย่างเป็นทางการแล้ว
แม้จะไม่พบจำเลยและไม่มีผู้ใดรับไว้
ก็ถือได้ว่าจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองของโจทก์ได้ไปถึงจำเลยและมีผลเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบด้วย
ป.พ.พ. มาตรา 728 และ 169 วรรคหนึ่งแล้ว
คำถาม
หลักฐานแห่งการกู้ยืมจำต้องระบุชื่อผู้ให้กู้ยืมไว้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 11865/2555
รายการในสมุดของโจทก์ที่ระบุไว้ตอนบนเป็นชื่อเล่นของภริยาจำเลยและมีข้อความว่าวันที่กู้เงินกับรายการที่ระบุวันที่และจำนวนเงินโดยจำเลยลงลายมือชื่อเป็นผู้รับเงินกำกับไว้ในเครื่องหมายปีกกา
รวม 6 รายการ เป็นเงิน 49,000 บาท นั้น จำเลยเป็นผู้รับเงินดังกล่าวไปจากโจทก์
การที่โจทก์ระบุชื่อเล่นของภริยาจำเลยไม่ทำให้ความรับผิดของจำเลยเปลี่ยนแปลงไป
ที่จำเลยอ้างว่าจำเลยลงลายมือชื่อรับดอกเบี้ย 15,000 บาท
จากโจทก์ไว้แทนภริยาจำเลยนั้น
จำเลยและภริยาจำเลยอธิบายไม่ได้ว่าดอกเบี้ยดังกล่าวคิดมาจากต้นเงินจำนวนใด และเหตุใดจำเลยจึงลงลายมือชื่อรับเงินไว้หลายรายการ
เป็นจำนวนเงินมากกว่าที่อ้างว่ารับจากโจทก์ไว้เป็นดอกเบี้ยซึ่งขัดต่อเหตุผล
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์และรับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากโจทก์แล้ว
โดยจำเลยและภริยาจำเลยตกลงให้ค่าตอบแทนแก่โจทก์เป็นอัตราร้อยละของเงินที่รับไปจากโจทก์ซึ่งก็คือดอกเบี้ย
แล้วจำเลยและภริยาจำเลยนำเงินที่กู้จากโจทก์ไปปล่อยกู้ต่อโดยคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงกว่าที่ต้องจ่ายให้โจทก์
โจทก์จึงเป็นผู้ให้กู้ยืมเงิน
และรายการตามเอกสารดังกล่าวเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมซึ่งทำเป็นหนังสือลงลายมือชื่อจำเลยผู้กู้ยืมเป็นสำคัญ
จึงฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง
โดยหาจำต้องระบุชื่อโจทก์เป็นผู้ให้กู้ยืมไว้ไม่
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น