บทบรรณาธิการในหนังสือรวมคำบรรยายเล่มนี้เป็นเล่มสุดท้ายของภาคการศึกษานี้ บรรณาธิการขอนำคำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาลงพิมพ์ไว้เพื่อประโยชน์ในการศึกษากฎหมาย
และขอให้ได้เป็นเนติบัณฑิตทุกคน
คำถาม การจับในที่รโหฐาน โดยไม่ต้องมีหมายจับ หมายค้น
ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 81 ,92 มีตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้อย่างไร
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 12779/2553
การที่จะวินิจฉัยว่าเจ้าพนักงานตำรวจสามารถตรวจค้นอู่ซ่อมรถยนต์ของจำเลยที่1 และจับจำเลยที่ 1 โดยไม่ต้องมีหมายค้นและหมายจับนั้น จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อเท็จจริงเสียก่อนว่า
มีพยานหลักฐานตามสมควรว่าสิ่งของที่ได้มาโดยการกระทำความผิดได้อยู่ในสถานที่ตรวจค้นและมีเหตุอันควรเชื่อว่าเนื่องจากการเนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้สิ่งของนั้นจะถูกโยกย้ายเสียก่อนและมีเหตุที่เจ้าพนักงานตำรวจจะจับจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่มีหมายจับของศาลตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 78 และมาตรา 92 (4) หรือไม่ จึงเป็นการฎีกาโต้เถียงในปัญหาข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าวอันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
คำพิพากษาฎีกาที่ 7387/2543 ก่อนการค้นบ้านผู้ต้องหาครั้งนี้ เจ้าพนักงานตำรวจได้จับกุม ท.
พร้อมเมทแอมเฟตามีนจำนวน 95 เม็ดในเวลา 16
นาฬิกาเศษ การค้นในที่รโหฐานตามปกติจะต้องกระทำในเวลากลางวันตาม ป.วิ.อ. มาตรา 96
ขณะนั้นเป็นเวลาเย็นใกล้จะมืดแล้ว ประกอบกับยาเสพติดเป็นสิ่งของที่ขนย้ายหลบหนีได้ง่ายโดยเฉพาะในเวลากลางคืน
นอกจากนี้สถานีตำรวจอำเภอห้างฉัตรมิได้อยู่ใกล้กับศาลชั้นต้น
การไปขอให้ศาลชั้นต้นออกหมายค้นย่อมทำให้เนิ่นช้ากว่าจะเอาหมายค้นมาได้
เมทแอมเฟตามีนอาจจะถูกโยกย้ายเสียก่อนแล้ว
ดังนั้น จึงเข้าข้อยกเว้นให้ค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นของศาลตาม ป.วิ.อ. มาตรา 92
(4)
คำพิพากษาฎีกาที่ 4958/2551
แม้เจ้าพนักงานตำรวจจะมิได้ดำเนินการขอหมายค้นจากศาลชั้นต้นก่อนเข้าตรวจค้นบ้านจำเลยก็ตาม
แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนที่หน้าบ้านจำเลย และเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมได้แอบซุ่มดูและเห็นเหตุการณ์การล่อซื้อดังกล่าว
จึงเข้าตรวจค้นและจับกุมจำเลย เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานตำรวจพบเห็นการกระทำความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนและมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอันเป็นความผิดซึ่งหน้า
และการตรวจค้นจับกุมได้กระทำต่อเนื่องกัน เจ้าพนักงานตำรวจจึงเข้าตรวจค้นบ้านจำเลยได้โดยไม่จำต้องมีหมายค้นตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 92 (2) (เดิม) (ตรงกับตัวบทปัจจุบัน
แต่นักกฎหมายบางท่านเห็นว่าน่าจะปรับมาตรา 92 (4))
คำพิพากษาฎีกาที่ 1496/2543 เจ้าพนักงานผู้จับกุมได้พบตัวจำเลยขณะขับรถโดยสารประจำทางจึงติดตามไปทำการจับกุมและตรวจค้นในทันทีทันใดที่จำเลยขับรถเข้าไปจอดในอู่รถโดยสารประจำทาง
มิฉะนั้น จำเลยย่อมหลบหนีหรือเคลื่อนย้ายยาเสพติดให้โทษของกลางไปได้
เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานผู้จับกุมสามารถค้นได้โดยไม่ต้องมีหมายค้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 92 (4)
คำถาม
เจ้าพนักงานตำรวจที่มีอำนาจจับกุมนั้น
จะต้องมีการลงบันทึกประจำวันก่อนว่าออกปฏิบัติหน้าที่หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 13535/2553
ร้อยตำรวจเอก ป.
ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจย่อมมีอำนาจและหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนและทำการจับกุมปราบปรามผู้กระทำผิดกฎหมายได้
นอกจากนี้ยังมีอำนาจทำการสืบสวนคดีอาญาได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 2 (16) (17) และมาตรา17 ซึ่งเป็นไปโดยผลของกฎหมาย ดังนั้น ร้อยตำรวจเอก ป. จึงมีอำนาจจับกุม
ควบคุมตัวจำเลย ตลอดจนการจัดทำเอกสารต่าง ๆ
ที่เกี่ยวข้องในอำนาจหน้าที่ได้
หาใช่จะเป็นเจ้าพนักงานตำรวจหรือไม่ขึ้นอยู่กับการลงบันทึกประจำวันว่าออกปฏิบัติหน้าที่ดังที่จำเลยอ้างในฎีกาแต่อย่างใดไม่
คำถาม
เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นในที่รโหฐานโดยให้บุคคลซึ่งมิใช่บุคคลในครอบครัวของผู้ครอบครองเป็นพยานในการค้นเพราะผู้ครอบครองไม่อยู่
แต่ระหว่างค้นผู้ครอบครองกลับมาและได้นำเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นจนพบของกลาง
ดังนี้ การตรวจค้นชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 102 หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 3912/2553
มาตรา 102
บัญญัติให้เจ้าพนักงานค้นต่อหน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้นหรือถ้าหาบุคคลเช่นกล่าวนั้นไม่ได้ ก็ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอื่น
อย่างน้อยสองคนซึ่งเจ้าพนักงานได้ร้องขอมาเป็นพยาน ดังนี้
แม้ขณะเริ่มลงมือค้นเจ้าพนักงานตำรวจจัดให้ จ. ซึ่งมิใช่บุคคลในครอบครัวจำเลยที่ 2
เป็นพยานในการค้นห้องจำเลยที่ 2 เพียงคนเดียวเพราะจำเลยที่ 2 ไม่อยู่ก็ตาม แต่ระหว่างค้นจำเลยที่
2 ได้กลับมานำเจ้าพนักงานตำรวจค้นห้องจำเลยที่ 2 ด้วยตนเองต่อไปจนกระทั่งค้นพบเมทแอมเฟตามีนของกลาง จึงถือว่าเจ้าพนักงานทำการค้นห้องจำเลยที่
2 ต่อหน้าจำเลยที่ 2 ผู้ครอบครองสถานที่ตามมาตรา 102 แล้ว
แต่ถ้าการค้นมิได้ค้นต่อหน้าผู้ครอบครอง โดยที่ผู้ครอบครองสถานที่อยู่ ณ
ที่ค้นมีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 4793/2549
การค้นพบธนบัตรของกลางในข้องปลาที่แขวนอยู่ข้างบ้านทิศตะวันออก นอกจากมิได้กระทำต่อหน้าจำเลยหรือสามีจำเลย
ทั้ง ๆ ที่จำเลยก็ถูกจับและควบคุมตัวอยู่ที่หน้าบ้านนั้นเองแล้ว
ยังได้ความว่าการพบธนบัตรในข้องปลาก็เป็นเรื่องที่ชั้นแรกสิบตำรวจตรี พ.
ค้นพบเพียงคนเดียวก่อน แล้วจึงเรียกกำนันที่เชิญมาเป็นพยานในการค้นมาดู
หาใช่ว่าเป็นการค้นพบธนบัตรของกลางที่พบต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคนซึ่งเจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยานดังที่
ป.วิ.อ. มาตรา 102 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ไว้ไม่
พยานหลักฐานโจทก์เกี่ยวกับการค้นพบธนบัตรของกลางซึ่งเจ้าพนักงานผู้ตรวจค้นมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด
จึงไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่ศาลจะรับฟัง
คำถาม
ความรับผิดทางแพ่งของผู้กระทำความผิดฐานรับของโจร
จะมีจำกัดเฉพาะทรัพย์ในส่วนที่รับไว้หรือทรัพย์ของผู้เสียหายที่ถูกลักทั้งหมด
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 12778/2553
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้จำเลยที่ 1
คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนโดยคำนวณจากราคารถยนต์ 370,000 บาท หักราคาของกลางที่ได้คืนจำนวน 192,710
บาทคิดเป็นราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 177,290 บาท
นั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำผิดฐานรับของโจร ความรับผิดทางแพ่งของจำเลยที่ 1
จะต้องมีอยู่เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดทางอาญาฐานรับของโจรเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ร่วมได้รับของกลางที่จำเลยที่ 1 รับของโจรได้คืนไปแล้ว โจทก์จึงมีอำนาจขอให้คืนหรือใช้ราคาในส่วนนี้เพราะ
ป.วิ.อ. มาตรา 43 ไม่ได้ให้อำนาจไว้
คำถาม
การอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่ไม่เกี่ยวกับเนื้อหาแห่งคำฟ้องหรือประเด็นแห่งคดี อยู่ในบังคับข้อห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 193 หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1927/2537
โจทก์อุทธรณ์ว่าคำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้งดสืบพยานโจทก์ไม่ชอบนั้น
เป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้เกี่ยวกับประเด็นแห่งคดี จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ
คำพิพากษาฎีกาที่ 14/2537
มูลคดีเกิดในเขตอำนาจของศาลจังหวัดฝาง พยานหลักฐานต่าง ๆ
ก็อยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดฝาง ถ้าโจทก์ฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดฝางก็จะเป็นการสะดวก
แก่การพิจารณาพิพากษาคดียิ่งกว่าการฟ้องต่อศาลอาญา
แม้จำเลยจะต้องขังอยู่ในเขตอำนาจศาลอำนาจศาลอาญา โจทก์ก็ชอบที่จะร้องขอต่อศาลอาญาให้สั่งให้เรือนจำที่คุมขังจำเลยอยู่ส่งตัวจำเลยไปคุมขังยังเรือนจำอำเภอฝางได้
ดังนั้นที่ศาลอาญาใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลอาญา จึงชอบแล้ว
การอุทธรณ์คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลชั้นต้นแม้จะเป็นการอุทธรณ์ดุลพินิจของศาลชั้นต้น ก็เป็นเรื่องที่โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจของศาลชั้นต้นตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา14 (5) มิใช่เป็นการอุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงในเนื้อหาแห่งคำฟ้องที่จะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 193 ทวิ
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น