คำถาม การอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีอาญา
การพิจารณาอัตราโทษว่าเป็นคดีต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ มีหลักเกณฑ์อย่างไร
คำตอบ
มีคำพิพากษาวินิจฉัยไว้ดังนี้
1. การพิจารณาว่าคดีอาญาเรื่องใดต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 193 ทวิ หรือไม่ ย่อมต้องดูที่อัตราโทษตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติที่โจทก์ขอให้ลงโทษเป็นสำคัญ
คำพิพากษาฎีกาที่
3170/2549 โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น
ซึ่งมีระวางโทษสองในสามของโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต
หรือจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบด้วยมาตรา 80
เมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว
พ.ศ. 2534 มาตรา 6 ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับแก่คดีเยาวชนและครอบครัวและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 193 ทวิ บัญญัติว่า ห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริง
ในคดีซึ่งอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 295 ประกอบมาตรา 83ซึ่งมีระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปีหรือรับไม่เกินสี่พันบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ จำเลยยังมีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงได้ เพราะการอุทธรณ์คดีอาญาในปัญหาข้อเท็จจริงนั้น
ศาลจะต้องพิจารณาอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตามฟ้องว่าต้องห้ามอุทธรณ์หรือไม่
ไม่ใช่ตามความผิดที่พิจารณาได้ความ
หมายเหตุ คดีนี้
ศาลชั้นต้นเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยไปฝึกและอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็ก ซึ่งไม่เข้าข้อยกเว้นที่ให้จำเลยอุทธรณ์ข้อเท็จจริงได้ตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ
หากคดีที่โจทก์ฟ้องมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ (มีคำพิพากษาฎีกาที่ 4905/2536, 4457/2539, 2590/2540 และ 2063/2549 วินิจฉัยเช่นกัน)
กรณีที่บทมาตราในคำขอท้ายฟ้องมีอัตราโทษจำคุกเกินสามปี
หรือปรับเกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำและปรับ
แต่คำบรรยายฟ้องของโจทก์ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามบทมาตราดังกล่าว ซึ่งไม่อาจลงโทษตามมาตราดังกล่าวได้
คงลงโทษได้แต่เพียงบทมาตราที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำและปรับ
ต้องถือว่าเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ.มาตรา 193
ทวิ
คำพิพากษาฎีกาที่ 494/2551 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1
มิได้มีเจตนาเอารถยนต์ของโจทก์ไปโดยทุจริต
จำเลยที่ 1 จึงไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ โจทก์อุทธรณ์ว่า
พยานหลักฐานของโจทก์รับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 มีเจตนากระทำความผิดฐานลักทรัพย์เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น
อุทธรณ์ของโจทก์จึงเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่
1 ตาม ป.อ. มาตรา 335 หากโจทก์นำสืบได้ความว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิด
ศาลย่อมลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ. มาตรา 334 ซึ่งมีอัตราโทษเบากว่าได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ตามที่โจทก์ฎีกาก็ตาม
แต่บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่กำหนดเกี่ยวกับการพิพากษาของศาลซึ่งเป็นคนละกรณีกับสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงของโจทก์
ซึ่งการอุทธรณ์ดังกล่าวต้องพิจารณาจากอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายตามที่โจทก์ขอให้ลงโทษหรือที่กล่าวในคำฟ้อง เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13
มิถุนายน 2541 เวลากลางวัน จำเลยที่ 1 ลักรถยนต์ของโจทก์ไป และมีคำขอท้ายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตาม ป.อ.
มาตรา 335 ก็ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว ไม่อาจลงโทษจำเลยที่
1 ตาม ป.อ. มาตรา 335 ได้ คงลงโทษจำเลยที่
1 ตาม ป.อ. มาตรา 334 ซึ่งมีอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี
และปรับไม่เกินหกพันบาทเท่านั้น
จึงต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ
คำพิพากษาฎีกาที่ 10589/2553
โจทก์ทั้งสามบรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันทำร้ายร่างกายโจทก์ที่ 2
และที่ 3 เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย และร่วมกันทำร้ายโจทก์ที่ 1
เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 ศีรษะแตก
หน้าผากแตก หางตาขวาแตก จมูกแตก และฟันหัก
4 ซี่ ได้รับอันตรายแก่กาย
ขอให้ลงโทษตาม ป.อ.มาตรา 295, 297
แม้ฟ้องโจทก์ทั้งสามมีคำขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามมาตรา 297
แต่เมื่อฟ้องโจทก์ทั้งสามมิได้บรรยายฟ้องว่า
โจทก์ที่ 1 ได้รับอันตรายสาหัสอย่างไร จึงลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามมาตรา 297 ไม่ได้
คงลงโทษจำเลยทั้งเจ็ดตามมาตรา 295
เท่านั้น เมื่อความผิดแต่ละกระทงกำหนดโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ และศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง จึงต้องห้ามมิให้โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ ที่โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่า
พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสามฟังได้ว่า จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันทำร้ายโจทก์ทั้งสามนั้น
เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น
อันเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามบทบัญญัติดังกล่าว
ที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามและศาลอุทธรณ์ภาค 3 รับวินิจฉัย
จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา
ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา
225
2.
การอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีอาญาจะต้องพิจารณาอัตราโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมายสำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิด
ก. กรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท
ถ้าบทหนักไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ ก็ถือว่าทุกบทไม่ต้องห้าม
คำพิพากษาฎีกาที่ 3154/2543
คดีอาญาเรื่องใดจะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงหรือไม่ ต้องพิจารณาอัตราโทษที่กฎหมายบัญญัติสำหรับข้อหาแต่ละกระทงความผิดเป็นสำคัญ
เมื่อความผิดในกระทงนั้นมีความผิดหลายบทรวมอยู่ด้วย ถ้าบทหนักไม่ต้องห้าม ก็ถือว่าทุกบทไม่ต้องห้าม
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานร่วมกันบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์
ซึ่งเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวกัน เมื่อความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365 (2)
ประกอบด้วยมาตรา 362
ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน
10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ.มาตรา 193 ทวิ
ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา 358 ซึ่งเป็นบทเบา
แม้จะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ก็ย่อมไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย
คำพิพากษาฎีกาที่ 4766/2533 แม้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 180
ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี ปรับไม่เกินหกพันบาท
อันจะต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 193
ทวิ ก็ตาม แต่ความผิดดังกล่าวเป็นกรรมเดียวกันกับความผิดฐานเบิกความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา
177 ซึ่งมีอัตราโทษอันเป็นบทหนัก
จำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ ดังนั้น
ความผิดฐานนำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานเท็จจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง
คำพิพากษาฎีกาที่ 4911/2537 คดีอาญาจะต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม
ป.วิ.อ. มาตรา 193 ทวิ หรือไม่นั้น
ต้องดูอัตราโทษตามที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติที่โจทก์ขอให้ลงโทษเป็นสำคัญ
ส่วนอัตราโทษตามบทบัญญัติที่พิจารณาได้ความหาใช่ข้อที่จะนำมาพิจารณาในชั้นนี้ไม่
อุทธรณ์ของโจทก์สำหรับความผิดตาม ป.อ. มาตรา 365(2) ซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ส่วนความผิดตามบทมาตราอื่น แม้จะมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี
หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่ก็เป็นการกระทำกรรมเดียวกับความผิดตามมาตรา 365 (2)
ซึ่งไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ความผิดตามบทมาตราอื่นจึงไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงด้วย
มีคำพิพากษาฎีกาที่ 95/2521, 1724/2526, 2641 - 2642/2529,
5382/2536, 4911/2538 วินิจฉัยเช่นกัน
ข. กรณีต่างกรรมกัน มิใช่กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทนั้น
การพิจารณาว่าอุทธรณ์ของโจทก์ต้องห้ามอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ.
มาตรา 193 ทวิ หรือไม่
ต้องพิจารณาความผิดเป็นรายกระทง
มิใช่นำโทษแต่ละกระทงมารวมเข้าด้วยกัน
เพื่อให้มีโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าสามปี (คำพิพากษาฎีกาที่ 3090/2547)
คำพิพากษาฎีกาที่ 741/2527
โจทก์บรรยายฟ้องข้อหาความผิดฐานพาอาวุธมีดไปในเมืองโดยไม่มีเหตุสมควรตาม
ป.อ. มาตรา 371 กับความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้รับอันตรายสาหัสตามมาตรา 297
เป็นกรณีต่างกรรมกัน มิใช่กรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท การที่ศาลอุทธรณ์รับพิจารณาความผิดตามมาตรา 297
จึงไม่มีเหตุที่จะต้องรับพิจารณาความผิดตามมาตรา 371
ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง และต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามมาตรา
193 ทวิ ยุติไปแล้ว เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยตามมาตรา 371 ด้วย จึงไม่ชอบ
(ข้อหาความผิดฐานพกอาวุธมีดปลายแหลมติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรตาม ป.อ. มาตรา 371 มีอัตราโทษปรับไม่เกิน
100 บาท ซึ่งศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วไม่เชื่อว่าจำเลยมีมีด และใช้มีดนั้นแทงทำร้ายผู้เสียหายหรือร่วมกับผู้อื่นทำร้ายผู้เสียหายและพิพากษายกฟ้อง
ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตาม
ป.วิ.อ.มาตรา 193 ทวิ )
คำพิพากษาฎีกาที่ 3852/2553
ความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ป.อ.มาตรา 390 มีระวางโทษจำคุกไมเกินหนึ่งเดือน
หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ต้องห้ามมิให้โจทก์อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นในปัญหาข้อเท็จจริงตาม
ป.วิ.อ.มาตรา 193 ทวิ ทั้งโจทก์บรรยายฟ้องข้อหาความผิดฐานนี้กับความผิดฐานมีและฐานพาอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับใบอนุญาต
เป็นกรณีต่างกรรมกันโดยมิใช่เป็นเรื่องกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค
7
รับพิจารณาความผิดฐานมีและฐานพาอาวุธปืนพร้อมเครื่องกระสุนปืนโดยไม่ได้รับอนุญาต จึงไม่มีเหตุตามกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ภาค
7 จะต้องรับพิจารณาความผิดตาม ป.อ. มาตรา 390 ซึ่งต้องห้ามมิให้อุทธรณ์และยุติไปแล้ว การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 ได้วินิจฉัยความผิดตาม
ป.อ. มาตรา 390 และพิพากษาจำคุกจำเลยโดยไม่รอการลงโทษและไม่ปรับจึงไม่ชอบ และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม
ป.วิ.อ.มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
และเมื่อจำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษในความผิดดังกล่าว
จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงที่มิได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค
7 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ.มาตรา 15
ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
นายประเสริฐ
เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น