คำถาม หนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินยังไม่ถึงกำหนดชำระ
ผู้กู้ถึงแก่ความตายเสียก่อน ผู้ให้กู้จะฟ้องผู้กู้และผู้ค้ำประกันได้ทันทีหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 3994/2540 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา
1754 วรรคสาม เป็นบทบัญญัติมิให้เจ้าหนี้ฟ้องร้องเมื่อพ้นกำหนด
1 ปี นับแต่เจ้าหนี้ได้รู้หรือควรได้รู้ถึงแก่ความตายของลูกหนี้
ในกรณีดังกล่าว
เจ้าหนี้ของผู้ตายจะต้องเรียกร้องให้ชำระหนี้จากทรัพย์มรดกของผู้ตายซึ่งเป็นลูกหนี้ในกำหนด
1 ปี นับแต่ลูกหนี้ถึงแก่ความตาย ดังนั้น
แม้หนังสือสัญญากู้ยืมเงินที่ลูกหนี้ทำไว้กับโจทก์ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
แต่ลูกหนี้ได้ถึงแก่ความตายเสียก่อน
โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องคดีเพื่อบังคับตามสิทธิเรียกร้องได้ภายใน 1 ปี
นับแต่เมื่อโจทก์รู้ถึงความตายของลูกหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 วรรคสาม
เพราะสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อลูกหนี้ถึงแก่ความตาย หากรอจนหนี้ถึงกำหนดชำระ อายุความ 1
ปีตามมาตรา 1754 วรรคสาม ดังกล่าวข้างต้นอาจจะล่วงพ้นไปแล้ว
โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้ชำระหนี้ได้แม้หนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระ
คำถาม ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็ค
หากผู้ทรงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับผู้สลักหลังเช็ค
ผู้ทรงจะมีสิทธิฟ้องผู้สั่งจ่ายให้ชำระเงินตามเช็คหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 2569/2551
ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดโต้แย้งว่า บริษัท
รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ลูกค้าของโจทก์ได้นำเช็ครวม 6 ฉบับ ซึ่งมีจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายมาทำสัญญาขายลดกับโจทก์
เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระ โจทก์นำเช็คดังกล่าวไปเรียกเก็บเงิน
แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์จึงนำเช็คทั้งหกฉบับดังกล่าวมาฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้
คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น วันที่ 7 กันยายน 2544 โจทก์ได้ฟ้องบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง
จำกัด กับพวกให้ชำระหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คจำนวน 33 ฉบับ สัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนอง ซึ่งมีเช็คพิพาททั้งหกฉบับ
ในคดีนี้รวมอยู่ด้วย คดีดังกล่าวโจทก์และบริษัทรุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง
จำกัด กับพวกได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันโดยบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง
จำกัด กับพวกยอมชำระเงินให้แก่โจทก์ตามฟ้อง ศาลพิพากษาตามยอม เมื่อวันที่ 28
พฤศจิกายน 2544 คดีถึงที่สุดแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า เมื่อบริษัท
รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
ทำสัญญาประนีประนอมยอมความชำระเงินตามเช็คพิพาทให้แก่โจทก์ตามฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว
โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายชำระเงินตามเช็คพิพาทจำนวน 6 ฉบับ
ได้อีกหรือไม่
เห็นว่า การที่บริษัท
รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด นำเช็คพิพาทไปขายลดแก่โจทก์โดยลงลายมือชื่อสลักหลังเช็คมอบให้แก่โจทก์ โจทก์จึงเป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย
เมื่อธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน
จำเลยซึ่งเป็นผู้สั่งจ่ายและบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
ผู้สลักหลังจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 914 และมาตรา 967 วรรคหนึ่ง
ประกอบมาตรา 989
ความรับผิดของผู้สั่งจ่ายและผู้สลักหลังต่อโจทก์ย่อมถือได้ว่าเป็นความผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ดังนั้น เมื่อโจทก์ทำสัญญาประนีปรนอมยอมความนั้นอันถือได้ว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่อีกประการหนึ่ง โจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องให้บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง
จำกัด ชำระหนี้แก่ตนตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น
ไม่มีสิทธิที่จะเรียกให้บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ชำระหนี้ในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทได้อีก
สิทธิของโจทก์ที่จะเรียกร้องต่อจำเลยในฐานะผู้สั่งจ่ายให้รับผิดต่อโจทก์ในมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้งหกฉบับย่อมหมดสิ้นไปด้วย
ทั้งนี้เพราะสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทของโจทก์ได้ระงับสิ้นไปแล้ว
ที่โจทก์ฎีกาว่า บริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
และจำเลยจะต้องผูกพันในหนี้ดังกล่าวต่อโจทก์อยู่จนกว่าโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้
โดยสิ้นเชิงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
391 ฉะนั้น เมื่อโจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้จากบริษัท รุ่งเพชรเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด
จำเลยจึงยังคงต้องผูกพันตามภาระหนี้ที่จำเลยก่อขึ้นในฐานผู้สั่งจ่ายจนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้จากลูกหนี้คนใดคนหนึ่ง
เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 291 แม้จะบัญญัติให้เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้แต่คนใดคนหนึ่งสิ้นเชิง
หรือแต่โดยส่วนก็ได้ตามแต่จะเลือก แต่ลูกหนี้ทั้งปวงก็ยังคงต้องผูกพันอยู่ทั่วทุกคนจนกว่าหนี้นั้นจะได้ชำระเสร็จสิ้นเชิงก็ตาม
เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ใช้สิทธิที่มีอยู่ตามมูลหนี้เดิมที่ลูกหนี้ทุกคนต้องร่วมรับผิด
หมายเหตุ เคยมีคำพิพากษาฎีกาที่ 644/2500
วินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 644/2500 การที่โจทก์กับจำเลยที่ 1 - 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันว่า จำเลยที่ 1 - 2 ยอมใช้ต้นเงิน 100,000 บาท
กับดอกเบี้ยซึ่งจำเลยที่ 3 เป็นผู้เซ็นชื่อกู้เงินนี้จากโจทก์ร่วมกับจำเลยที่
1 - 2 นั้น ไม่ทำให้จำเลยที่ 3
ซึ่งต่อสู้คดีไปคนละประเด็นกับจำเลยที่ 1 - 2 พ้นผิด เพราะการทำสัญญาประนีประนอมดังกล่าวเป็นแต่สัญญาระงับข้อพิพาท
ไม่ใช่เป็นการแปลงหนี้ใหม่
ไม่ใช่เป็นการที่ลูกหนี้ร่วมชำระหนี้ และไม่ใช่เป็นการปลดหนี้เพราะในสัญญาประนีประนอมนั้นมิได้ระบุให้จำเลยที่
3 พ้นความผิด ศาลชั้นต้นต้องพิจารณาคดีระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 3 ต่อไป
คำถาม การที่ผู้ค้ำประกันได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันนั้น
จะมีผลทำให้อายุความที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากลูกหนี้สะดุดหยุดลงด้วยหรือไม่
คำตอบ
มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1438/2540
การที่ ว. ผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมกับลูกหนี้ที่ 1
ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้นั้นย่อมทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ผู้ค้ำประกันไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้ว่าให้มีผลไปถึงลูกหนี้ด้วยแม้ลูกหนี้ทั้งสองจะต้องรับผิดร่วมกับผู้ค้ำประกัน
กำหนดอายุความของลูกหนี้แต่ละคนก็ต้องเป็นไปเพื่อคุณและโทษเฉพาะแต่ลูกหนี้คนนั้นเท่านั้น
การที่ ว. ชำระหนี้ให้เจ้าหนี้
ลูกหนี้ทั้งสองย่อมไม่ถูกผูกพันในเรื่องอายุความสะดุดหยุดลง ฉะนั้น
จึงไม่ทำให้อายุความที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากลูกหนี้ทั้งสองสะดุดหยุดลงด้วยเจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระได้ในอายุความเพียง
5 ปีเท่านั้น ลูกหนี้ที่ 1 เป็นหนี้เจ้าหนี้ตามสัญญาทรัสต์รีซีทจำนวน 11 ฉบับ
คิดถึงวันเรียกเก็บค้างชำระเป็นเงินทั้งสิ้น 891,808.23 บาท นับตั้งแต่วันผิดนัดชำระหนี้รายนี้ลูกหนี้ทั้งสองไม่ได้ชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้เลย
จึงถือว่าดอกเบี้ยที่เจ้าหนี้มีสิทธิคิดจากเงินที่ค้างชำระดังกล่าวเป็นดอกเบี้ยค้างชำระหนี้ได้ภายในอายุความ
5 ปี ดอกเบี้ยที่ค้างเกินกว่า 5 ปี ซึ่งขาดอายุความ
แม้ยังถือเป็นภาระหนี้ที่ลูกหนี้ทั้งสองค้างชำระแก่เจ้าหนี้และผู้ค้ำประกันซึ่งเป็นลูกหนี้ร่วมได้ชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ก่อนที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องและก่อนศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดแต่หนี้ของส่วนดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่า 5 ปี
ก็เป็นหนี้ที่ขาดอายุความต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้นำมาขอรับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
ดังนั้น เจ้าหนี้จึงไม่มีสิทธินำเงินที่ผู้ค้ำประกันชำระหนี้ดังกล่าวมาหักชำระดอกเบี้ยที่ค้างส่งเกินกว่า
5 ปี อันเป็นหนี้ที่ขาดอายุความแล้วได้
คำถาม พยานในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรม แต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง
โดยสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมประสงค์จะทำพินัยกรรมจริง
พินัยกรรมสมบูรณ์หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
บทบัญญัติของ ป.พ.พ. มาตรา 1656 วรรคแรก หมายความว่า
ผู้ทำพินัยกรรมแบบที่เป็นหนังสือนั้นต้องมีพยานอย่างน้อยสองคน
และพยานจะต้องลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้นเป็นสำคัญ
ทั้งบทบัญญัติกฎหมายที่ว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อต่อหน้าพยานทั้งสองคน
และพยานทั้งสองจะต้องลงลายมือชื่อรับรองในขณะนั้น เป็นบทบัญญัติที่มีความหมายชัดเจนจนกระทั่งไม่อาจจะตีความหรือแปลความหมายไปเป็นอย่างอื่นได้
ดังนั้น การที่พยานไม่ว่าคนใดคนหนึ่งหรือทั้งสองคนในพินัยกรรมลงลายมือชื่อในพินัยกรรมโดยไม่เห็นเหตุการณ์ขณะทำพินัยกรรมแต่มาลงลายมือชื่อในภายหลัง
ก็ย่อมไม่ชอบด้วยบทบัญญัติกฎหมายมาตราดังกล่าวและทำให้พินัยกรรมเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ.
มาตรา 1705 ไปในทันที แม้ต่อมาภายหลังพยานในพินัยกรรมจะมาสอบถามผู้ทำพินัยกรรมและได้ความว่าผู้ทำพินัยกรรมมีความประสงค์จะทำพินัยกรรมจริงก็ตาม
ก็ไม่มีผลทำให้การลงลายมือชื่อในพินัยกรรมที่ไม่ชอบหรือพินัยกรรมที่เป็นโมฆะไปแล้วกลับกลาย
เป็นการลงลายมือชื่อที่ชอบทำให้พินัยกรรมมีผลสมบูรณ์ชอบด้วยกฎหมายไปได้
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น