คำถาม โจทก์ฟ้องให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้และตามหนังสือรับสภาพหนี้โดยอ้างว่า หากผิดนัดจำเลยยอมโอนที่ดินพร้อมบ้านให้โจทก์ ขอให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย นับแต่วันฟ้อง หากไม่ชำระให้ขับไล่ออกจากที่ดิน ดังนี้ จะถือว่าเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดออกจากอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ และดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้องจะนำมารวมคำนวณเป็นทุนทรัพย์หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๒๘๙/๒๕๕๒ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองเป็นหนี้เงินกู้โจทก์ทั้งได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมชำระหนี้แก่โจทก์ภายในเวลาที่กำหนด หากจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ จำเลยที่ ๒ ยอมโอนที่ดินพร้อมบ้านให้แก่โจทก์เป็นการชำระหนี้ ต่อมาจำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระหนี้แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองบิดพลิ้วก็ขอให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินแปลงดังกล่าว จำเลยทั้งสองต่างให้การต่อสู้ทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ทำสัญญากู้และไม่เคยรับเงินกู้จากโจทก์ ดังนี้ สภาพแห่งข้อหาที่โจทก์อ้างในคำฟ้องเป็นเรื่องที่จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้แก่โจทก์ แม้จะมีคำขอบังคับให้ขับไล่จำเลยทั้งสองออกจากที่ดินก็มิใช่คดีฟ้องขับไล่บุคคลใดออกจากอสังหาริมทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๘ วรรคสอง แต่เป็นเรื่องที่คู่ความมีข้อพิพาทโต้เถียงกันเกี่ยวกับมูลหนี้ตามสัญญากู้และตามหนังสือรับสภาพหนี้ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ แต่จำเลยทั้งสองฎีกาโต้เถียงว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่โจทก์ ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาจึงมีจำนวนเพียง ๒๐๐,๐๐๐ บาท ส่วนดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะเลยจะชำระเสร็จเป็นค่าเสียหายในอนาคต ซึ่งไม่อาจนำมารวมคำนวณเป็นทุนทรัพย์ได้ จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๘ วรรคหนึ่ง ที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า แม้สัญญากู้ยืมระหว่างโจทก์จำเลยที่ ๑ มีข้อความระบุว่า จำเลยที่ ๑ กู้ยืมเงินจากโจทก์และรับเงินไปแล้ว แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ ๑ รับเงินกู้จากโจทก์ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ลงลายมือชื่อในสัญญากู้และหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยที่ ๒ จึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อโจทก์ ล้วนเป็นการโต้เถียงการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ซึ่งเป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๘ วรรคหนึ่ง แม้ศาลชั้นต้นจะสั่งรับฎีกาของจำเลยทั้งสองมาก็เป็นการมิชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
คำถาม คดีต้องห้ามฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๘ วรรคหนึ่ง หากอธิบดีผู้พิพากษาภาค อนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริง ผู้ฎีกาจะฎีกาในข้อเท็จจริงได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๙๑๘๘/๒๕๕๒ โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน ๓๙,๑๓๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๑๕ ต่อปี ของต้นเงินจำนวน ๓๔,๐๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จะเลยชำระเงินจำนวน ๓๔,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้องละ ๑๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยถึงวันฟ้องให้ไม่เกิน ๕,๑๓๐ บาท จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกาขอให้จำเลยรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินจำนวน ๓๙,๑๓๐ บาท คดีของโจทก์จึงมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๘ วรรคหนึ่ง เมื่อผู้พิพากษาที่ได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ไม่รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาได้ คงมีเพียงอธิบดีผู้พิพากษาภาค ๑ อนุญาตให้ฎีกาข้อเท็จจริงได้ซึ่งในชั้นฎีกา ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๘ วรรคหนึ่ง มิได้บัญญัติให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคมีอำนาจอนุญาตให้ฎีกาในข้อเท็จจริงได้ และบุคคลผู้มีอำนาจให้ฎีกาได้ตามมาตราดังกล่าวก็บัญญัติไว้ชัดแจ้งแล้วว่าคือ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ดังนี้ จึงไม่อาจนำบทบัญญัติว่าด้วยผู้มีอำนาจอนุญาตให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง มาใช้บังคับโดยอนุโลมได้ ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
คำถาม คดีแพ่ง โจทก์ถอนฟ้องหลังจากชี้สองสถานไปแล้วและจำเลยคัดค้าน ศาลจะอนุญาตให้ถอนฟ้องได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๗๘๗/๒๕๕๓ ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๕ ไม่ได้ห้ามโจทก์ถอนฟ้องหลังจากชี้สองสถาน โดยบังคับศาลเพียงว่า ห้ามไม่ให้อนุญาตโดยมิได้ฟังจำเลยหรือผู้ร้องสอดถ้าหากมีก่อน ดังนั้น แม้โจทก์ขอถอนฟ้องหลังจากชี้สองสถานและจำเลยทั้งสองคัดค้านก็อยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะสั่งอนุญาตได้และ ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๖ ก็ไม่ได้ห้ามโจทก์ที่ถอนฟ้องยื่นฟ้องใหม่ภายใต้บังคับแห่งบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยอายุความ ศาลจึงไม่อาจนำข้อที่โจทก์อ้างไปแก้ไขข้อบกพร่องในคำฟ้องแล้วยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองเข้ามาเป็นคดีใหม่เป็นเงื่อนไขในการสั่งคำร้องขอถอนฟ้องได้ด้วย ทั้งคดีนี้ทั้งสองฝ่ายยังไม่ได้มีการนำพยานหลักฐานเข้าสืบให้อีกฝ่ายเห็นข้อเท็จจริงที่เป็นการสนับสนุนข้ออ้างตามคำฟ้องและข้อเถียงตามคำให้การของฝ่ายตนแต่อย่างไร จึงฟังไม่ได้ว่าการถอนฟ้องของโจทก์เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยไม่สุจริตเพื่อเอาเปรียบจำเลยทั้งสอง
คำถาม ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง โจทก์จะนำคำฟ้องเรื่องเดียวกันมาฟ้องจำเลยอีกในระหว่างนั้นได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๗๑๘๘/๒๕๕๓ ก่อนฟ้องคดีนี้โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองให้รับผิดในมูลละเมิดและประกันภัยในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ๒๐๒๖/๒๕๔๘ ของศาลจังหวัดนครปฐม แต่โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องคดีก่อนเสียเพื่อไปฟ้องเป็นคดีใหม่ต่อศาลที่อยู่ในเขตอำนาจ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นจำเลยในคดีก่อนอุทธรณ์ คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้อง ขณะที่คดีก่อนอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองให้ชำระหนี้ในมูลหนี้เดิมและรายเดียวกันเป็นคดีนี้ ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาในคดีก่อนอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องได้ ดังนั้น เมื่อคดีที่โจทก์ขอถอนฟ้องในคดีก่อนยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ต้องถือว่าคดีก่อนยังไม่ถึงที่สุด การที่โจทก์นำมูลหนี้รายเดียวกันมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีอีก จึงเป็นการฟ้องซ้อนกับคดีก่อน ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๓ วรรคสอง (๑) แม้ต่อมาศาลฎีกาจะอนุญาติให้โจทก์ถอนฟ้อง คดีก่อนถึงที่สุดก็ตาม ก็หาทำให้ฟ้องคดีนี้ซึ่งเป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่ต้นกลายเป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายขึ้นมาไม่
คำถาม สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างระบุว่า ผู้ว่าจ้างมีสิทธิที่ทำการแก้ไขหรือเพิ่มเติมหรือลดงานจากแบบรูปและรายละเอียดตามสัญญาได้ โดยกระทำเป็นลายลักษณ์อักษรผู้รับจ้างจะนำพยานบุคคลมาสืบว่า ผู้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างทำการก่อสร้างเพิ่มเติมจากแบบแปลนเดิมตามที่ตกลงกันไว้ได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๘๖๖/๒๕๕๒ ปัญหาวินิจฉัยประการต่อไปที่จำเลยฎีกาว่าตามหนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างข้อ ๑๑ ระบุว่า “ผู้ว่าจ้างมีสิทธิที่ทำการแก้ไขหรือเพิ่มเติมหรือลดงานจากแบบรูปและรายการละเอียดตามสัญญาได้… โดยกระทำเป็นลายลักษณ์อักษร” ดังนั้น การที่โจทก์นำพยานบุคคลมาสืบว่าจำเลยให้โจทก์ทำการก่อสร้างเพิ่มเติมจากแบบแปลนเดิมตามที่ตกลงกันไว้นั้น จึงเป็นการนำพยานบุคคลมาสืบเพิ่มเติม ตัดทอน หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ (ข) ข้อเท็จจริงจึงรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างเพิ่มเติมดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ วินิจฉัยนั้น
เห็นว่า หนังสือสัญญาจ้างเหมาก่อสร้างที่จะเลยว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคารนั้นเป็นสัญญาจ้างทำของ ซึ่งกฎหมายมิได้บังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง ฉะนั้นโจทก์จึงสามารถนำสืบพยานบุคคลว่าจะเลยตกลงยินยอมให้โจทก์ก่อสร้างเพิ่มเติมผิดไปจากแบบแปลนที่ตกลงกันไว้เดิมได้ ไม่ต้องห้ามนำพยานบุคคลมาสืบเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔ (ข) ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๓๑๐๗/๒๕๓๘
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น