บทบรรณาธิการ
สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา ได้เปิดการบรรยายภาคสอง สมัยที่ 65 เมื่อวันที่
26 พฤศจิกายน 2555 สำนักอบรมศึกษากฎหมายฯ ขอต้อนรับนักศึกษาทุกคนที่ได้มาเป็นสมาชิกของสถาบันการศึกษาแห่งนี้
หนังสือรวมคำบรรยายเล่มนี้เป็นเล่มที่ 1 ของภาคการศึกษานี้ ซึ่งบทบรรณาธิการจะเป็นสื่อแจ้งข่าว
ความเคลื่อนไหวต่าง ๆ ตลอดจนแนวคำพิพากษาฎีกาที่น่าสนใจให้นักศึกษาทราบเป็นความรู้เพิ่มเติม
แต่สิ่งที่นักศึกษาต้องปฏิบัติก็คือการฟังการบรรยาย
และอ่านคำอธิบายจากอาจารย์ผู้บรรยายจะเป็นประโยชน์และเป็นการศึกษากฎหมายที่ถูกต้องยิ่งกว่าการเก็งข้อสอบมิใช่การศึกษากฎหมายที่ถูกต้องและไม่เหมาะสมสำหรับผู้ที่จะเป็นเนติบัณฑิต
นักศึกษาที่มาฟังการบรรยายต้องแต่งกายให้สุภาพเรียบร้อยเป็นการเคารพแก่สถาบันการศึกษา ให้ความเคารพครูบาอาจารย์
และไม่ใช้เครื่องมือสื่อสารระหว่างการฟังการบรรยาย
สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
ได้ทำการสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิตภาคหนึ่ง สมัยที่ 65 ปีการศึกษา 2555
ผลการสอบปรากฏดังนี้
1.กลุ่มกฎหมายอาญา สมัครสอบจำนวน 18,264 คน
มีผู้เข้าสอบจำนวน 12,388 คน มีผู้สอบได้จำนวน 1,770 คน (คิดเป็นร้อยละ 14.28)
ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด ชื่อ นางสาวเมธินี สารสุวรรณ สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอบได้ 80 คะแนน
2. กลุ่มกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
สมัครสอบจำนวน 15,446 คน มีผู้เข้าสอบจำนวน 10,680 คน
มีผู้สอบได้จำนวน 1,521 คน (คิดเป็นร้อยละ 14.24)
ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด ชื่อ
นางสาวพัชรภรณ์ มีแพง สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง และนาย ภูชิต เสริมศักดิ์ สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น
สอบได้ 77 คะแนน (ได้คะแนนเท่ากัน 2 คน)
3. ผู้ที่ได้สอบได้ทั้งสองกลุ่มวิชา คือ กลุ่มกฎหมายอาญาและกลุ่มกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
จำนวน 341 คน ผู้ที่ได้คะแนนสูงสุด ชื่อ นางสาวนาฎนภัส เหล็กเพ็ชร กลุ่มกฎหมายอาญาสอบได้ 75 คะแนน กลุ่มกฎหมายแพ่งและพาณิชย์สอบได้ 70 คะแนน
รวมได้ 145 คะแนน สำเร็จการศึกษานิติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
คำถาม บุคคลที่มีสิทธิบังคับคดีได้แก่บุคคลใด
คำตอบ มาตรา 271
บัญญัติถึงผู้มีสิทธิขอให้บังคับคดีได้
คือ คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี ซึ่งเรียกว่า “เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา” ส่วนผู้ที่จะถูกบังคับคดี คือ
คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดี ซึ่งเรียกว่า
“ ลูกหนี้ตามคำพิพากษา” มาตรา
271 ไม่ได้บัญญัติว่า ผู้ชนะคดีจะต้องเป็น “
โจทก์ ” แสดงว่าผู้ชนะคดีอาจเป็นฝ่ายใดก็ได้ ฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะคดีต้องพิจารณาจากคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
(1)
ไม่ใช่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีไม่มีสิทธิร้องขอให้บังคับคดี
คำพิพากษาฎีกาที่ 3090/2549 โจทก์ฟ้องคดีขอให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินพิพาท ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งแยกที่ดินพิพาทตามคำขอของโจทก์แล้ว
จำเลยยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
แต่เจ้าพนักงานที่ดินไม่อาจดำเนินกาให้ได้เพราะโจทก์และจำเลยต้องร่วมกันยื่นคำขอแบ่งแยกกรรมสิทธิ์รวม
จำเลยแจ้งให้โจทก์ดำเนินการยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกร่วมกับจำเลย
แต่โจทก์เพิกเฉยจำเลยจึงยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับให้โจทก์ดำเนินการยื่นคำขอรังวัดแบ่งแยกที่ดินพิพาทนั้น ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติให้บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ
(เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) เท่านั้น ที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง จำเลยไม่ใช่เป็นบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะจึงไม่มีสิทธิตามบทกฎหมายดังกล่าว
ที่ศาลชั้นต้นยกคำร้องของจำเลยและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนมานั้นชอบแล้ว
(2)
ผลของคำพิพากษาทำให้โจทก์และจำเลยต่างมีสภาพเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและลูกหนี้ตามคำพิพากษาด้วยกัน
จำเลยก็มีสิทธิร้องขอให้บังคับคดีได้
คำพิพากษาฎีกาที่
781/2544
ตามคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลชั้นต้นเป็นผลให้โจทก์และจำเลยต่างมีสภาพเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาและเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาที่มีหนี้ต้องชำระต่างตอบแทนกัน
ในส่วนจำเลยจะต้องโอนสิทธิครอบครองในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่โจทก์
และโจทก์จะต้องชำระค่าที่ดินให้แก่จำเลยเช่นกัน อาศัยอำนาจตาม ป.วิ.พ. มาตรา 272 จำเลยย่อมมีสิทธิร้องขอให้ศาลชั้นต้นออกคำบังคับ
เพื่อดำเนินการบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษาได้ภายใน ๑๐ ปีตาม ป.วิ.พ. มาตรา
271
คำพิพากษาฎีกาที่ 2649/2543 โจทก์และจำเลยต่างเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาด้วยกันทั้งสองฝ่าย
โจทก์และจำเลยจึงต่างมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์และจำเลยต่างฝ่ายจึงมีสิทธิบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษา
ซึ่งการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองที่ดินตามคำพิพากษา โจทก์สามารถใช้คำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินได้เพียงฝ่ายเดียวอยู่แล้ว
รวมทั้งการปลดภาระจำนองของที่ดินด้วย แต่โจทก์มีภาระต้องชำระค่าที่ดินที่ค้างก่อนจึงจะมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยโอนกรรมสิทธิ์และสิทธิครอบครองที่ดินตามสัญญาเดิม ฉะนั้น
จำเลยจึงมีสิทธิขอให้ศาลออกคำบังคับให้โจทก์ปฏิบัติตามคำพิพากษา เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล
จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาย่อมมีสิทธิขอให้ศาลมีหมายบังคับคดีตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการให้เป็นไปตามคำบังคับได้โดยชอบ
ศาลชั้นต้นออกคำบังคับและหมายบังคับคดีชอบแล้ว
ไม่มีเหตุจะต้องเพิกถอนหมายบังคับคดี
คำพิพากษาฎีกาที่ 5310/2544
แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 271 บัญญัติให้คู่ความฝ่ายชนะคดีเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิที่จะร้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาเอาแก่คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีคือลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ภายใน
10 ปี นับแต่วันมีคำพิพากษาก็ตาม แต่ด้วยผลของคำพิพากษา นอกจากโจทก์ได้เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษามีสิทธิที่จะร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามสัญญาจะซื้อขายให้แก่โจทก์พร้อมค่าเสียหายแล้ว
โจทก์ยังอยู่ในฐานะเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินที่เหลือให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นการตอบแทน จำเลยทั้งสองจึงมีสิทธิที่จะร้องขอให้บังคับโจทก์ชำระหนี้ค่าที่ดินที่เหลือให้แก่จำเลยทั้งสองเช่นกัน ดังนี้
เมื่อจำเลยทั้งสองได้เสนอชำระหนี้ตามคำพิพากษาให้โจทก์แล้ว
และได้นำโฉนดที่ดินที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์พร้อมค่าเสียหายกับดอกเบี้ยมาวางศาลเพื่อให้โจทก์มารับไปดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษา ทั้งศาลได้มีคำบังคับให้โจทก์ชำระหนี้ค่าที่ดินที่เหลือให้แก่จำเลยทั้งสองด้วย เมื่อจำเลยทั้งสองได้ยอมชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามคำพิพากษาแล้วก็ไม่มีหนี้ที่โจทก์จะขอบังคับเอาจากจำเลยทั้งสองอีกต่อไป
แต่โจทก์ยังคงมีหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่จำเลยทั้งสองตามคำพิพากษาคือ
เงินค่าที่ดินที่เหลือเป็นการตอบแทนเพื่อให้การซื้อขายที่ดินระหว่างโจทก์และจำเลยทั้งสองเป็นอันเสร็จสิ้นไป เมื่อโจทก์ได้รับคำบังคับโดยชอบแล้ว
โจทก์จึงมีหน้าที่ต้องชำระหนี้ให้แก่จำเลยทั้งสองภายในกำหนดตามคำบังคับ แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตาม
จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิที่จะขอหมายบังคับได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 275
(3)
บุคคลที่มิใช่คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี (เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา)
ไม่มีสิทธิบังคับคดีได้
3.1
ผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอม
คำพิพากษาฎีกาที่ 3137/2549
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 271 ผู้มีอำนาจขอให้บังคับคดีได้คือ คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะ
(เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา) เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดังกล่าวอาจเป็นโจทก์หรือจำเลยในคดีนั้น
หรือเป็นบุคคลภายนอกซึ่งร้องสอดเข้ามาในคดีนั้นก็ได้
แต่ผู้ร้องมิได้เป็นโจทก์ เป็นจำเลยหรือเป็นผู้ร้องสอด ผู้ร้องมีฐานะเป็นแต่เพียงผู้รับประโยชน์ตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่ศาลพิพากษาตามยอมเท่านั้น
จึงมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ไม่มีสิทธิบังคับคดีได้
3.2
ผู้รับโอนสิทธิและหน้าที่ในหนี้ตามคำพิพากษาจากโจทก์
คำพิพากษาฎีกาที่
7567/2547 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 บัญญัติให้เป็นสิทธิและหน้าที่ของคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีหรือเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายแพ้คดีหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น ผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกที่อ้างว่าได้รับโอนสิทธิและหน้าที่ในหนี้ตามคำพิพากษาจากโจทก์
(โจทก์ได้โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยตามคำพิพากษาและการบังคับคดีให้ผู้ร้อง
จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าสวมสิทธิเป็นโจทก์แทนโจทก์เดิม) มิใช่คู่ความในคดีหรือเป็นบุคคลผู้อยู่ในฐานะเป็นฝ่ายชนะคดีจึงไม่อาจที่จะเข้ามาสวมสิทธิโจทก์เพื่อดำเนินการอย่างใดเกี่ยวกับการบังคับคดีแก่จำเลยในคดีนี้ได้ ไม่ว่าผู้ร้องจะได้รับโอนสิทธิและหน้าที่ของโจทก์ในหนี้ตามคำพิพากษาคดีนี้ที่มีอยู่แก่จำเลยมาโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของโจทก์เด็ดขาดหรือไม่ก็ตาม
คำพิพากษาฎีกาที่ 6862/2553
บุคคลที่มีสิทธิบังคับคดีตามคำพิพากษาจะต้องเป็นคู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271
ผู้ร้องเป็นบุคคลภายนอกที่อ้างว่าให้ได้รับโอนสิทธิและหน้าที่ในหนี้ตามคำพิพากษาจากโจทก์ที่มีอยู่แก่จำเลยไม่ใช่คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีตามคำพิพากษา จึงไม่อาจร้องขอให้บังคับคดีได้ นอกจากนี้ การที่จะเข้าสวมสิทธิแทนคู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดีนั้น ต้องมีบทบัญญัติของกฎหมายให้เข้าสวมสิทธิแทนได้ เช่น พระราชกำหนดปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
พ.ศ. 2540 พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์
พ.ศ. 2541 พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.2544 เป็นต้น
ผู้ร้องไม่ใช่บุคคลตามบทบัญญัติของกฎหมายที่ให้เข้าสวมสิทธิแทนโจทก์
ผู้ร้องจึงไม่อาจเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 2814/2555
ผู้ร้องเพียงบุคคลภายนอกที่อ้างว่าได้รับโอนสิทธิและหน้าที่ในหนี้ตามคำพิพากษาจากโจทก์ที่มีอยู่แก่จำเลยทั้งสามไม่ใช่คู่ความหรือบุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะคดีตามคำพิพากษา จึงไม่อาจร้องขอให้บังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 271 การเข้าสวมสิทธิแทนคู่ความหรือบุคคลที่เป็นฝ่ายชนะคดี
ต้องมีบทบัญญัติของกฎหมายให้เข้าสวมสิทธิแทนได้ดังเช่นพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน
พ.ศ.2540 พระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ. 2541 พระราชกำหนดบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย พ.ศ.
2544 หรือการซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการตามพระราชบัญญัติล้มละลาย
พ.ศ. 2483 เป็นต้น
ผู้ร้องจึงไม่อาจเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เพื่อดำเนินการบังคับคดีแก่จำเลยทั้งสาม
3.3 เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์
คำพิพากษาฎีกาที่ 2562/2550 การบังคับคดีนั้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 271
บัญญัติให้บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะเท่านั้นที่จะต้องขอให้บังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ผู้ร้อง
(เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของโจทก์) ขออนุญาตเข้าสวมสิทธิแทนโจทก์เพื่อบังคับคดีแก่จำเลย ไม่ใช่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะจึงไม่มีสิทธิตามกฎหมายดังกล่าว
ทั้งไม่ใช่กรณีที่เจ้าหนี้จะใช้สิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 233
ซึ่งหมายถึงการใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลโดยให้เจ้าหนี้เป็นโจทก์ฟ้องในนามของเจ้าหนี้แทนลูกหนี้ได้
รวมทั้งเรียกลูกหนี้ให้เข้ามาในคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 234 มิใช่เข้าสวมสิทธิในการบังคับคดีของลูกหนี้ซึ่งเป็นสิทธิที่กฎหมายกำหนดให้เป็นสิทธิแก่บุคคลซึ่งเป็นฝ่ายชนะดังกล่าวมาแล้ว
4.
ผู้สวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยผลของกฎหมาย มีสิทธิบังคับคดีได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 2067/2549 โจทก์โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยซึ่งศาลได้มีคำพิพากษาบังคับตามสิทธิเรียกร้องแล้วให้แก่ผู้ร้องซึ่งเป็นบริษัทบริหารสินทรัพย์ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชกำหนดบริษัทบริหารสินทรัพย์
พ.ศ. 2541 มาตรา 7
ผู้ร้องย่อมเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยบทบัญญัติดังกล่าว และการเข้าสวมสิทธิเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาโดยผลของกฎหมายในกรณีนี้
ไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ภาค 4 (และคำพิพากษาฎีกาที่ 6862/2553)
5. ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์จากการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดี ขอให้บังคับลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์ได้
โดยถือว่าผู้ซื้อเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 309 ตรี
มาตรา
309 ตรี เมื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีโอนอสังหาริมทรัพย์ที่ขายให้แก่ผู้ซื้อ
หากทรัพย์สินที่โอนนั้นมีลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารอยู่อาศัย และลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ยอมออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้น ผู้ซื้อชอบที่จะยื่นคำขอฝ่ายเดียวต่อศาลที่อสังหาริมทรัพย์นั้นตั้งอยู่ในเขตศาลให้ออกคำบังคับให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์นั้นภายในระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควรกำหนด แต่ไม่น้อยกว่าสามสิบวัน ถ้าลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารไม่ปฏิบัติตามคำบังคับให้บังคับตามมาตรา
296 ทวิ มาตรา 296 ตรี มาตรา 296
จัตวา มาตรา 296 ฉ มาตรา 296 สัตต
มาตรา 299 มาตรา
300 มาตรา 301 และมาตรา 302 โดยอนุโลม ทั้งนี้ ให้เจ้าพนักงานศาลเป็นผู้ส่งคำบังคับโดยผู้ซื้อมีหน้าที่จัดการนำส่ง และให้ถือว่าผู้ซื้อเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือบริวารที่อยู่อาศัยในอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาตามบทบัญญัติดังกล่าว
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ติดตามอ่านทุกเล่ม ทุกปี บ้างก็น่าสนใจ เรื่องบางเรื่องออกซ้ำ อาจมีพิมพ์ซ่ำกันบ้าง
ตอบลบ