สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคสอง
สมัยที่ 64 ปีการศึกษา
2554
วิชากฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม
กฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน วิชาว่าความและการถามพยาน การจัดทำเอกสารทางกฎหมาย
วันอาทิตย์ที่ 1
เมษายน 2555
คำถาม 10
ข้อ ให้เวลาตอบ 4
ชั่วโมง (14.00น. ถึง
18.00น.)
ให้ยกเหตุผลประกอบคำตอบด้วย
ข้อ
1. นายชัยกับพวกรวม 7
คน ซึ่งเป็นคนไทย ขึ้นไปบนเรือสินค้าของชาวจีน
ซึ่งจอดรอเทียบท่าอยู่ในแม่น้ำโขงริมฝั่งประเทศลาว แล้วร่วมกันใช้อาวุธปืนขู่ให้ลูกเรือชาวจีนส่งมอบทรัพย์สินให้
แล้วนายชัยกับพวกร่วมกันใช้อาวุธปืนยิงลูกเรือชาวจีนทั้ง 13 คน
นายชัยกับพวกเข้าใจว่าลูกเรือชาวจีนตายแล้วทั้งหมด
จึงนำเรือสินค้าลำดังกล่าวมาจอดเทียบท่าที่ท่าเรืออำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย แล้วร่วมกันนำทรัพย์สินที่ปล้นมาได้หลบหนีไป
ภายหลังนายชัยกลับขึ้นไปบนเรือลำดังกล่าวเพื่อค้นหาอาวุธปืนที่ลืมทิ้งไว้ แต่พบว่ามีลูกเรือชาวจีนอีก 2
คนยังไม่ตาย
จึงใช้อาวุธปืนยิงลูกเรือทั้งสองจนตาย
ขณะที่นายชัยกำลังจะหลบหนี
ได้ถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรแม่สายจับกุมตัวได้ แล้วนำส่งให้พันตำรวจตรียอด
พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแม่สายดำเนินคดี พันตำรวจตรียอด
ได้แจ้งข้อหานายชัยว่าร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัส และฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา อันเป็นความผิดต่างกรรมต่างวาระกัน
ซึ่งเป็นความผิดทั้งที่เกิดในประเทศลาวและประเทศไทย เมื่อพันตำรวจตรียอดทำการสอบสวนเสร็จ จึงได้สรุปสำนวนการสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายชัยตามข้อกล่าวหาเสนอพนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย
พนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายมีคำสั่งฟ้องตามความเห็นของพนักงานสอบสวนและได้ยื่นฟ้องนายชัยเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดเชียงรายในความผิดตามข้อกล่าวหา
จำเลยให้การปฏิเสธและต่อสู้ว่าพนักงานสอบสวนในคดีนี้ไม่มีอำนาจสอบสวน พนักงานอัยการจังหวัดเชียงรายไม่มีอำนาจสั่งคดีและไม่มีอำนาจฟ้อง
ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของจำเลยดังกล่าวฟังขึ้นหรือไม่
ธงคำตอบ
ความผิดฐานปล้นทรัพย์โดยมีและใช้อาวุธปืนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและได้รับอันตรายสาหัสนั้น เหตุเกิดที่ริมฝั่งประเทศลาว เป็นความผิดที่เกิดนอกราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา
20 แม้จะมีลูกเรือชาวจีนจำนวนสองคนถูกยิงตายที่ท่าเรืออำเภอแม่สาย ซึ่งอยู่ในอาณาเขตประเทศไทย
แต่ก็เป็นความผิดคนละกรรมกันกับความที่เกิดนอกราชอาณาจักร หาใช่เป็นกรณีความผิดหลายกรรมเกิดขึ้นในหลายท้องที่เกี่ยวพันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา
19 (4) ไม่
เพราะกรณีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา
19
เป็นเรื่องที่ความผิดทั้งหมดเกิดภายในราชอาณาจักรและเป็นความผิดหลายกรรมเกิดในหลายท้องที่ ดังนั้น
แม้จะจับกุมผู้ต้องหาได้ในท้องที่สถานีตำรวจภูธรแม่สายก็ตาม
ก็ไม่ทำให้พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแม่สายเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบในความผิดฐานปล้นทรัพย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
340,
340 ตรี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา
19 (4) วรรคสอง
(ก)
เมื่อความผิดฐานดังกล่าวเหตุเกิดนอกราชอาณาจักร
อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนจึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ
แต่อัยการสูงสุดอาจมอบหมายให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการคนใดเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทน
แต่ในกรณีที่อัยการสูงสุดมอบให้พนักงานสอบสวนเป็นผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนแทนอาจมอบให้พนักงานอัยการคนใดทำการสอบสวนร่วมกับพนักงานสอบสวนก็ได้ เมื่อพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบทำการสอบสวนเสร็จแล้วให้ทำความเห็นและส่งสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการสูงสุดพิจารณาสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา
20 วรรคหก
แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าอัยการสูงสุดได้มอบหมายพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแม่สายเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ดังนั้น
พันตำรวจตรียอดพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแม่สายจึงไม่ใช่พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบซึ่งมีผลเท่ากับไม่มีการสอบสวน เมื่อความผิดฐานปล้นทรัพย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
340,
340 ตรี เหตุเกิดนอกราชอาณาจักร จึงเป็นอำนาจของอัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณาสั่งคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา
20 วรรคหก พนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย
ย่อมไม่มีอำนาจสั่งคดีและไม่มีอำนาจฟ้องในความผิดฐานนี้ ข้อต่อสู้ของจำเลยในข้อนี้จึงฟังขึ้น
ส่วนความผิดฐานฆ่าผู้อื่นนั้น เหตุเกิดในเขตท้องที่สถานีตำรวจภูธรแม่สาย ซึ่งเป็นความผิดในราชอาณาจักร
อยู่ในเขตท้องที่ของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแม่สาย เป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา
18
พนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย
จึงมีอำนาจสั่งคดีและมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้
ข้อ
2. พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานกระทำอนาจารนางสาวเดือนผู้เสียหายอายุ 19
ปี โดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
278 จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณานางสาวเดือนยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง จำคุก
3 ปี จำเลยอุทธรณ์ในปัญหาข้อกฎหมายว่า
การที่นางสาวเดือนผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ร้องทุกข์ในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
278
โดยบิดามารดามิได้ลงลายมือชื่อให้ความยืนยอมในการร้องทุกข์ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการจึงไม่มีอำนาจฟ้อง
และขณะที่นางสาวเดือนยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตนั้น นางสาวเดือนยังเป็นผู้เยาว์ แม้ในระหว่างพิจารณาของศาล นางสาวเดือนจะบรรลุนิติภาวะแล้วก็ตาม
คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นางสาวเดือนเข้าเป็นโจทก์ร่วมจึงไม่ชอบเช่นกัน
ให้วินิจฉัยว่า อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นหรือไม่
ธงคำตอบ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา
2 (7) และมาตรา
123 มิได้บัญญัติว่า
การร้องทุกข์ของผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้เยาว์ต้องได้รับความยินยอมจากบิดา มารดาหรือผู้แทนโดยชอบธรรม
หรือบุคคลดังกล่าวต้องลงลายมือชื่อในการร้องทุกข์ของผู้เยาว์ด้วย ดังนั้น
นางสาวเดือนซึ่งมีอายุ 19 ปี
และมีความรู้สึกผิดชอบดีแล้ว แม้เป็นผู้เยาว์ก็มีอำนาจร้องทุกข์ด้วยตนเองได้
การที่นางสาวเดือนผู้เสียหายร้องทุกข์ในความผิดฐานกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปีโดยใช้กำลังประทุษร้ายจึงชอบด้วยกฎหมาย พนักงานอัยการมีอำนาจฟ้อง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น (คำพิพาษาฎีกาที่ 3915/2551)
ขณะที่นางสาวเดือนผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการและศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตนั้น นางสาวเดือนยังเป็นผู้เยาว์
ซึ่งการขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการจะต้องกระทำโดยผู้มีอำนาจจัดการแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา
5 (1) เมื่อนางสาวเดือนขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ด้วยตนเอง
จึงมิได้เป็นไปตามบทบังคับว่าด้วยความสามารถของบุคคลตามกฎหมาย และเป็นเรื่องข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถ
ซึ่งศาลมีอำนาจสั่งให้แก้ไขได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา
56 วรรคสอง ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา
15
อย่างไรก็ตามในระหว่างพิจารณาในศาลชั้นต้นนางสาวเดือนพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะแล้ว
จึงไม่มีความจำเป็นและไม่มีเหตุที่จะต้องมีคำสั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องความสามารถของนางสาวเดือนอีก (คำพิพากษาฎีกาที่ 7238/2549)
อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ข้อ
3.
พนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้องนายเอกราชเป็นจำเลยต่อศาลอาญาซึ่งเป็นศาลที่มีเขตอำนาจ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
339 โดยอ้างมาในคำฟ้องว่า จำเลยต้องขังตามหมายของศาลอาญากรุงเทพใต้ ขอให้ศาลอาญาเบิกตัวจำเลยมาพิจารณาคดีต่อไป ข้อเท็จจริงปรากฏว่า
ก่อนที่พนักงานอัยการโจทก์จะยื่นฟ้องนายเอกราชเป็นจำเลยต่อศาลอาญานั้น พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังนายเอกราชในระหว่างสอบสวนต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ในคดีอาญาอีกคดีหนึ่งและนายเอกราชได้รับอนุญาตจากศาลอาญากรุงเทพใต้ให้ปล่อยชั่วคราวไป
ศาลอาญาพิจารณาแล้วเห็นว่าขณะพนักงานอัยการโจทก์ยื่นฟ้อง จำเลยมิได้ถูกควบคุมตัวตามอำนาจของศาลอาญา จึงมีคำสั่งไม่ประทับฟ้องและให้จำหน่ายคดี
ให้วินิจฉัยว่า คำสั่งศาลอาญาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบ
ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์นั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา
120 จะต้องมีการสอบสวนก่อน และมาตรา
142 วรรคสาม
บัญญัติวางหลักการในกรณีที่เสนอความเห็นควรสั่งฟ้อง ให้พนักงานสอบสวนส่งสำนวนพร้อมกับผู้ต้องหาไปยังพนักงานอัยการ
เพื่อที่พนักงานอัยการจะได้นำตัวผู้ต้องหาไปยื่นฟ้องต่อศาลตามมาตรา 165
ต่อไป
เว้นแต่ผู้ต้องหานั้นถูกขังอยู่แล้ว
แสดงว่าถ้ามีการฝากขังต่อศาลไว้ก่อนแล้ว
ในตอนเสนอความเห็นสั่งฟ้องพนักงานสอบสวนไม่จำต้องส่งตัวผู้ต้องหามายังพนักงานอัยการ
แม้ว่าก่อนที่พนักงานอัยการโจทก์จะได้ยื่นฟ้องนายเอกราชเป็นจำเลยต่อศาลอาญา
พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังนายเอกราชในระหว่างสอบสวนต่อศาลอาญากรุงเทพใต้อีกคดีหนึ่งก็ตาม
แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้หลบหนีไปในระหว่างปล่อยชั่วคราวในคดีก่อน
ศาลอาญาชอบที่จะขอให้ศาลอาญากรุงเทพใต้ใช้อำนาจที่จะบังคับให้ผู้ประกันส่งตัวจำเลยมารับสำเนาคำฟ้องคดีนี้ได้
กรณีจึงถือได้ว่าจำเลยเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลอาญาที่จะประทับฟ้องคดีไว้พิจารณาได้ ดังนั้น
คำสั่งศาลอาญาที่ไม่ประทับฟ้องและให้จำหน่ายคดีดังกล่าวจึงไม่ชอบ (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 6562/2543, 2747/2551)
ข้อ
4. พนักงานอัยการโจทก์บรรยายฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 10
มีนาคม 2555 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ถึงวันที่
12 มีนาคม 2555
เวลากลางคืนหลังเที่ยง
วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด
จำเลยลักเอากระเป๋าสตางค์ 1 ใบ
ราคา 200 บาท
และเงินสด 2,000
บาท ของหญิงไม่ทราบชื่อ อายุประมาณ
30 ปี ผู้เสียหายไปโดยทุจริต
ระหว่างสอบสวนจำเลยถูกควบคุมตามหมายขังของศาลชั้นต้นในคดีอาญาหมายเลขดำที่
ฝ.100/2555
ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335
โดยโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องว่าเหตุเกิดที่ใด
คมีแต่เพียงคำร้องขอฝากขังในสำนวนคดีอาญาดังกล่าวที่อยู่ในสำนวนฟ้องซึ่งระบุว่าเหตุเกิดที่แขวงจอมพล เขตจตุจักร
กรุงเทพมหานคร
และจำเลยลงลายมือชื่อรับสำเนาคำร้องขอฝากขังที่ด้านหลังคำร้องดังกล่าวไว้แล้ว
ชั้นพิจารณาของศาลจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง โจทก์แถลงไม่สืบพยาน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
335 (1) วรรคแรก
ให้วินิจฉัยว่า
ฟ้องของโจทก์ในส่วที่เกี่ยวกับผู้เสียหายและสถานที่กระทำความผิด กับคำพิพากษาศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบ
การบรรยายฟ้องเกี่ยวกับผู้เสียหายที่โจทก์ไม่ได้ระบุชื่อเจ้าของทรัพย์นั้น
เมื่อองค์ประกอบของความผิดฐานลักทรัพย์ความผิดต้องเป็นทรัพย์ของผู้อื่นหรือที่ผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์ของหญิงไม่ทราบชื่อ ย่อมเป็นการบรรยายที่มีข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับบคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีแล้ว
เพราะเมื่ออ่านคำฟ้องเป็นที่เข้าใจว่าทรัพย์ที่จำเลยลักไปนั้น เป็นของผู้อื่นฟ้องโจทก์ส่วนนี้จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา
158 (5)
กรณีที่ฟ้องโจทก์มิได้ระบุสถานที่กระทำความผิดนั้น โจทก์ได้กล่าวในคำฟ้องไว้ด้วยว่า
ระหว่างสอบสวนจำเลยถูกควบคุมตามหมายขังของศาลชั้นต้นในสำนวนคดีอาญาหลายเลขดำที่ ฝ.100/2555
ซึ่งเป็นส่วนประกอบของคำฟ้องเมื่อคำร้องขอฝากขังในสำนวนคดีดังกล่าวระบุรายละเอียดเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุซึ่งจำเลยลงลายมือชื่อรับสำเนาคำร้องไว้ด้วย
จำเลยย่อมจะเข้าใจได้ดีว่าเหตุคดีนี้เกิดขึ้นที่ใดและสามารถนำสืบต่อสู้คดีได้อย่างถูกต้อง ฟ้องโจทก์ส่วนนี้จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา
158 (5) (คำพิพากษาฎีกาที่ 1778/2551)
ส่วนคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาว่า
จำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
335 (1) วรรคแรก
นั้น
ฟ้องโจทก์บรรยายเวลาเกิดเหตุลักทรัพย์อาจเป็นเวลากลางคืนหรือกลางวันก็ได้ การที่จำเลยให้การรับสารภาพฐานลักทรัพย์ตามฟ้องโดยมิได้ระบุว่าลักทรัพย์ในเวลากลางคืนหรือกลางวัน
โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตามฟ้องโดยมิได้ระบุว่าลักทรัพย์ในเวลากลางคืนหรือกลางวัน โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้เห็นว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนซึ่งมีโทษสูงกว่าลักทรัพย์ในเวลากลางวัน เมื่อโจทก์ไม่สืบพยาน
ข้อเท็จจริงจึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน คงฟังได้เพียงว่าจำเลยลักทรัพย์ในเวลากลางวันซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
334 เท่านั้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าจำเลยมีความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืนตามมาตรา 335
(1) วรรคแรก จึงไม่ชอบ
(คำพิพากษาฎีกาที่ 4790/2550)
ข้อ
5.
พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
288 ประกอบมาตรา 80
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย
แต่บาดแผลของผู้เสียหายถึงอันตรายสาหัสตรงตามที่โจทก์บรรยายในฟ้อง
พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
297 จำคุก 2
ปี
โจทก์ฝ่ายเดียวอุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง ศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดร้ายแรง ที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุกจำเลย 2
ปี นั้นเบาเกินไป จึงพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตามฟ้อง
ให้วินิจฉัยว่า
(ก) คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
(ข)
ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งรับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณาได้หรือไม่
ธงคำตอบ
(ก) ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
297 โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายตามฟ้อง
ถือว่าเป็นการอุทธรณ์ในทำนองขอให้เพิ่มโทษจำเลยให้หนักขึ้นอยู่ในตัว ดังนั้น
แม้ศาลอุทธรณ์จะฟังว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย แต่การกระทำของจำเลยเป็นความผิดร้ายแรง ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาแก้ให้ลงโทษจำเลยหนักขึ้นเป็นจำคุก 3
ปี
ได้ไม่เป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษอันจักต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา
212
คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ชอบด้วยกฎหมายแล้ว
(เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 436/2511)
(ข) ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายตามฟ้องนั้น
เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ฟังว่าจำเลยไม่มีเจตนาฆ่าผู้เสียหาย
พิพากษาลงโทษจำเลยเพียงฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนเป็นเหตุได้รับอันตรายสาหัสตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
297
ย่อมมีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องโจทก์ในข้อหาความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
288 ประกอบมาตรา 80
ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวจึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา
220 ศาลชั้นต้นจะต้องมีคำสั่งไม่รับฎีกาของโจทก์ไว้พิจารณา (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 2582/2553)
ข้อ
6. วันที่ 31
มีนาคม 2555
นายแดงไปแจ้งความว่านายดำขับรถยนต์โดยประมาทชนรถจักรยานยนต์ของนายแดงเป็นเหตุให้นายแดงได้รับอันตรายแก่กาย เหตุเกิดที่บริเวณหน้าโรงค้าไม้เจริญไพศาล วันอาทิตย์ที่
1 เมษายน 2555
เวลา 11 นาฬิกา
นายแดงพาร้อยตำรวจเอกเขียวกับพลตำรวจขาวไปจับกุมนายดำที่บริเวณโรงค้าไม้เจริญไพศาล ซึ่งเป็นของนายหมึกบิดาของนายดำ
โดยโรงค้าไม้ดังกล่าวนอกจากขายไม้แล้วยังใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วยและหยุดทำการค้าในวันอาทิตย์ เมื่อร้อยตำรวจเอกเขียวไปถึง นายแดงชี้ให้ร้อยตำรวจเอกเขียวจับนายดำซึ่งนั่งอยู่ที่ม้านั่งภายในบริเวณโรงค้าไม้นั้น
ร้อยตำรวจเอกเขียวจึงแสดงบัตรประจำตัวเจ้าพนักงานและขอจับกุมนายดำโดยแจ้งว่าขับรถยนต์โดยประมาทชนรถจักรยานยนต์ของนายแดงเป็นเหตุให้นายแดงได้รับอันตรายแก่กายโดยไม่มีหมายจับและหมายค้น นายดำขัดขืนจึงเกิดการต่อสู้กัน
ระหว่างการต่อสู้ปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนหล่นมาจากกระเป๋าเสื้อที่นายดำสวมใส่ จำนวน
51 เม็ด
นายดำยอมรับว่านายเหลืองนำมามอบให้นายดำไว้ขายแก่บุคคลทั่วไป ร้อยตำรวจเอกเขียว
จึงแจ้งข้อหาและจับกุมนายดำส่งพนักงานสอบสวนยังที่ทำการของพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ นายดำต่อสู้ว่า การจับกุมของเจ้าพนักงานทั้งสองข้อหา ความผิดดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ให้วินิจฉัยว่า ข้อต่อสู้ของนายดำฟังขึ้นหรือไม่
ธงคำตอบ
วันเกิดเหตุโรงค้าไม้เจริญไพศาลหยุดทำการค้า
และโรงค้าไม้ดังกล่าวใช้เป็นที่อยู่อาศัยด้วย จึงเป็นที่รโหฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา
2 (13)
การที่ร้อยตำรวจเอกเขียวเข้าไปในโรงค้าไม้ดังกล่าวโดยไม่มีหมายจับและหมายค้น
แม้นายแดงจะได้แจ้งความร้องทุกข์ไว้แล้วก็ตาม
ร้อยตำรวจเอกเขียวก็ไม่มีอำนาจเข้าไปจับนายดำในที่รโหฐานได้ตามมาตรา 81
และไม่เข้าข้อยกเว้นตามมาตรา 78
อย่างไรก็ตามเมื่อร้อยตำรวจเอกเขียวเข้าไปแล้วพบนายดำ นายดำไม่ยอมให้จับเกิดการดิ้นรนต่อสู้กัน
และปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนหล่นมาจากกระเป๋าเสื้อที่นายดำสวมใส่
เช่นนี้ย่อมถือเป็นความผิดซึ่งหน้าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา
80 วรรคหนึ่ง
ซึ่งร้อยตำรวจเอกเขียวมีอำนาจจับนายดำในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายได้โดยไม่ต้องมีหมายจับตามมาตรา 78 (1) ประกอบมาตรา
81 และมาตรา 92 (2) การจับของเจ้าพนักงานจึงชอบด้วยกฎหมาย ข้อต่อสู้ของนายดำฟังไม่ขึ้น
ข้อ
7. โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 100,000 บาท
เป็นเวลา 1 ปี
ตามสำเนาสัญญากู้ซึ่งแนบมาท้ายฟ้อง
และได้มอบโฉนดที่ดินให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน
โจทก์จำเลยตกลงกันให้โจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ 15
ต่อปี
ครั้นครบกำหนดจำเลยไม่ยอมชำระหนี้
จึงขอบังคับให้จำเลยชำระต้นเงินและดอกเบี้ยร้อยละ 15
ต่อปี
แต่ปรากฏว่าตามสำเนาสัญญากู้มีข้อความว่า
จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์ 100,000
บาท คิดดอกเบี้ยตามกฎหมาย และจำเลยได้รับเงินไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่ได้กู้เงินโจทก์ ความจริงน้องสาวของจำเลยทำสัญญากู้เงินโจทก์
และต้องการนำโฉนดที่ดินซึ่งมีชื่อจำเลยและน้องสาวเป็นเจ้าของร่วมไปวางประกัน
โจทก์บังคับให้จำเลยทำสัญญากู้ฉบับที่นำมาฟ้อง มิฉะนั้นจะไม่ให้น้องสาวจำเลยกู้เงิน
จำเลยจึงยอมลงชื่อในสัญญากู้เพื่อประกันหนี้ของน้องสาว โดยจำเลยไม่ได้รับเงินไปจากโจทก์
ให้วินิจฉัยว่า
(ก)
โจทก์จะอ้างตนเองเป็นพยานนำสืบว่า
ที่ตามสัญญาระบุว่าคิดดอกเบี้ยตามกฎหมายนั้น
โจทก์กับจำเลยตกลงกันว่าหมายถึงอัตราร้อยละ 15
ต่อปี ได้หรือไม่
(ข)
จำเลยจะอ้างตนเองนำสืบข้อเท็จจริงตามคำให้การได้หรือไม่
ธงคำตอบ
กรณีเป็นคดีพิพาทตามสัญญากู้ยืมเงินเกิน
2,000บาท ซึ่งต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ มิฉะนั้น
จะฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้
จึงเป็นกรณีที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีพยานเอกสารมาแสดง และเมื่อนำพยานเอกสารมาแสดงแล้ว
คู่ความจะนำสืบพยานบุคคลว่ายังมีข้อความเพิ่มเติม ตัดทอน
หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารนั้นไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา
94 (ข)
(ก) เมื่อข้อความในสัญญากู้ยืมระบุว่า คิดดอกเบี้ยตามกฎหมาย ย่อมหมายความว่า คิดดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
การที่โจทก์จะอ้างตนเองเป็นพยานนำสืบว่า
ความจริงตกลงกันคิดดอกเบี้ยร้อยละสิบห้าต่อปี
ย่อมเป็นการสืบพยานบุคคลแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อความในพยานเอกสาร
ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา
94 (ข) โจทก์จะอ้างตนเองเป็นพยานนำสืบว่า ที่ตามสัญญาระบุว่าคิดดอกเบี้ยตามกฎหมายนั้น
โจทก์กับจำเลยตกลงกันว่าหมายถึงอัตราร้อยละ 15
ต่อปี ไม่ได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 2712/2549)
(ข) จำเลยนำสืบพยานบุคคลถึงข้อตกลงอันเป็นมูลเหตุและความประสงค์ที่ทำสัญญากู้ฉบับที่โจทก์ฟ้องเพื่อแสดงว่าไม่มีมูลหนี้ตามสัญญากู้ที่จะทำให้จำเลยต้องรับผิดชดใช้แก่โจทก์
เป็นการนำสืบถึงที่มาแห่งหนี้ตามสัญญาในเอกสาร
มิใช่เป็นการนำสืบเพิ่มเติม
ตัดทอน
หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร
ส่วนการนำสืบว่าโจทก์ไม่ได้ส่งมอบเงินที่กู้ให้จำเลย
ย่อมทำให้หนี้เงินกู้ที่ระบุในสัญญาไม่สมบูรณ์จำเลยจึงสามารถนำสืบได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา
94 วรรคท้าย จำเลยจึงอ้างตนเองนำสืบข้อเท็จจริงตามคำให้การได้ (คำพิพากษาฎีกาที่ 1976/2518)
ข้อ
8. พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่า
จำเลยกระทำผิดฐานลักทรัพย์ชุดชั้นในสตรีของนางสาวใจดีผู้เสียหายในเคหสถานและในเวลากลางคืน จำเลยให้การปฏิเสธ ชั้นพิจารณาโจทก์นำสืบพยานหลักฐานดังนี้
(ก) นางสาวใจดีเบิกความว่า
ขณะเกิดเหตุเป็นเวลาเที่ยงคืนได้ยินเสียงเหมือนคนเข้ามาใต้ถุนบ้าน
จึงส่องไฟฉายเห็นชายคนหนึ่งกำลังถือชุดชั้นในสตรีของตนออกไปจากบ้าน ต่อมาตำรวจจับจำเลยได้และให้พยานไปชี้ตัวว่าจำเลยคือคนร้าย นางสาวใจดีตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ตอนเกิดเหตุพยานจำหน้าคนร้ายไม่ได้ แต่ตอบพนักงานอัยการโจทก์ถามติงว่า
ได้ไปแจ้งเรื่องกับผู้ใหญ่บ้านทันทีหลังเกิดเหตุว่าพยานจำหน้าคนร้ายได้ว่าคือจำเลยเนื่องจากรู้จักมาก่อนและเห็นใบหน้าชัดเจนโดยอาศัยแสงจันทร์
(ข) โจทก์นำสืบทะเบียนประวัติอาชญากรปรากฏว่าจำเลยเคยถูกลงโทษฐานลักทรัพย์ชุดชั้นในสตรีในเคหสถานของผู้อื่นในเวลากลางคืนมาแล้ว 3
ครั้ง แต่ไม่มีประวัติการกระทำความผิดอื่น
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ถ้อยคำของนางสาวใจดีที่ตอบคำถามติงของพนักงานอัยการโจทก์ว่าผู้เสียหายแจ้งต่อผู้ใหญ่บ้านระบุว่าจำเลยคือคนร้ายในทันทีหลังเกิดเหตุมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าคำเบิกความในชั้นศาลที่ตอบทนายจำเลยว่าจำคนร้ายไม่ได้
ประกอบกับจำเลยเคยทำผิดฐานลักทรัพย์ชุดชั้นในสตรีในเคหสถานของผู้อื่นในเวลากลางคืนมาแล้ว 3
ครั้ง จึงพิพากษาลงโทษจำเลย
จำเลยอุทธรณ์ว่า
ศาลชั้นต้นไม่ได้ฟังคำเบิกความของพยานในชั้นศาล
แต่ไปฟังคำกล่าวนอกศาลซึ่งเป็นพยานนอกเล่าและฟังประวัติการกระทำผิดของจำเลยมาลงโทษจำเลยซึ่งขัดต่อหลักกฎหมาย
ให้วินิจฉัยว่า ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้นหรือไม่
ธงคำตอบ
(ก) นางสาวใจดีผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาลในเรื่องที่นางสาวใจดีประสบพบเห็นเหตุการณ์โดยตรงจึงเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยินหรือทราบข้อความมาด้วยตนเองโดยตรง การที่นางสาวใจดีตอบคำถามของทุกฝ่ายในศาลในเรื่องที่เป็นถ้อยคำของตนที่เคยให้ไว้หาใช่พยานบอกเล่าตามที่จำเลยอ้างในอุทธรณ์ไม่เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา
226/3
พยานบอกเล่าหมายถึงการที่พยานนำคำบอกเล่าของบุคคลอื่นมาเสนอต่อศาลเพื่อพิสูจน์ความจริงแห่งข้อความนั้น
ส่วนการที่นางสาวใจดีเบิกความแตกต่างกันเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในเรื่องการจำคนร้ายได้หรือไม่
โดยในตอนแรกนางสาวใจดีตอบคำถามโจทก์ไม่ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายและตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่าพยานจำคนร้ายไม่ได้ แต่เมื่อพนักงานอัยการโจทก์ถามติง
พยานรับว่าหลังเกิดเหตุได้ไปแจ้งเรื่องกับผู้ใหญ่บ้านทันทีว่าคนร้ายคือจำเลยเนื่องจากรู้จักมาก่อนและเห็นใบหน้าชัดเจนโดยอาศัยแสงจันทร์
และจำเลยได้แจ้งเรื่องที่เกิดขึ้นต่อผู้ใหญ่บ้านในทันที ไม่มีข้อให้ระแวงว่าจะแต่งเรื่องขึ้น จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าคำเบิกความที่ให้ต่อศาลในภายหลังที่อาจมีการบ่ายเบี่ยงเพื่อช่วยเหลือจำเลยซึ่งเป็นคนที่รู้จักกันมาก่อนได้ การใช้ดุลพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของศาลโดยศาลเชื่อว่าถ้อยคำของพยานปากนี้ที่ให้ไว้กับผู้ใหญ่บ้านเป็นความจริงยิ่งกว่าคำเบิกความต่อศาลในภายหลังจึงไม่ขัดต่อหลักกฎหมาย
(ข) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 226/2
บัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดครั้งอื่นๆ ของจำเลย
เพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดในคดีที่ถูกฟ้อง
แต่กรณีตามปัญหาเป็นเรื่องฟ้องว่าจำเลยลักชุดชั้นในสตรีในเคหสถานของผู้เสียหายในเวลากลางคืน
ซึ่งจำเลยเคยกระทำความผิดในข้อหาและลักษณะเดียวกันนี้มา 3
ครั้ง จึงเป็นพยานหลักฐานที่แสดงถึงลักษณะ วิธี
หรือรูปแบบเฉพาะในการกระทำความผิดของจำเลย
ศาลจึงรับฟังพยานหลักฐานเช่นนี้ได้ตามข้อยกเว้นที่บัญญัติไว้ใน (2)
ของมาตรา 226/2
ข้ออ้างตามอุทธรณ์ของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
ข้อ
9. เมื่อวันที่ 20
มกราคม 2554 นายสมานขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน สช
5454
ของนางสมรพี่สาวจากถนนรัชดาภิเษกไปสี่แยกรัชโยธินได้ชนกับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน ตธก
90
มีนายสมัยเป็นผู้ขับขี่ไปในเส้นทางเดียวกันขณะลอดอุโมงค์ลาดพร้าว นายสมัยตกจากรถ ศีรษะกระแทกผนังอุโมงค์ถึงแก่ความตาย
ต่อมาพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องนายสมานต่อศาลอาญาตามคดีหมายเลขดำที่ 2900/2554
ขณะนี้อยู่ระหว่างสืบพยานโจทก์
ก่อนครบ 1 ปี
นายสมิทธิ์บิดานายสมัยเป็นโจทก์ฟ้องนายสมานและนางสมรเป็นจำเลยที่ 1
และที่ 2 ต่อศาลแพ่งตามคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 610/2555
เรียกค่าเสียหาย รวม 5,000,000
บาท
จำเลยทั้งสองให้การต่อสู้คดีศาลแพ่งกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ 3
ประเด็น คือ จำเลยที่
1 ขับรถประมาทหรือไม่ จำเลยที่
1
กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่
2 ที่จำเลยที่ 2
จะต้องร่วมรับผิดหรือไม่
และค่าเสียหายมีเพียงใด
โดยศาลแพ่งนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่
19 เมษายน 2555
เวลา 9.30 นาฬิกา
และประเด็นข้อ 1 ที่ว่า
จำเลยที่ 1 ขับรถประมาทหรือไม่ เป็นประเด็นข้อสำคัญในคดีนี้
ให้ท่านในฐานะทนายจำเลย
ร่างคำร้องยื่นต่อศาลแพ่งเพื่อให้รอคดีแพ่งไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา
39
จนกว่าคดีอาญาดังกล่าวจะถึงที่สุด
(ให้ร่างแต่ใจความของคำร้อง)
ธงคำตอบ
คดีนี้ ศาลนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 19
เมษายน 2555 เวลา
9.30 นาฬิกา
ดังรายละเอียดปรากฏในรายงานกระบวนพิจารณาของศาลแล้วนั้น
จำเลยขอกราบเรียนต่อศาลว่า โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1
และที่ 2 ให้รับผิดร่วมกันในทางละเมิด
ซึ่งศาลได้กำหนดหน้าที่นำสืบให้โจทก์สืบก่อนทั้งสามประเด็น คือ
1.
จำเลยที่ 1 ได้กระทำการโดยประมาทหรือไม่
2.
จำเลยที่ 1 ได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2
จำเลยที่ 2 จะต้องรับผิดร่วมด้วยหรือไม่
3.
ค่าเสียหายมีเพียงใด
ปรากฏว่าขณะนี้พนักงานอัยการฟ้องจำเลยที่ 1
ในคดีนี้
เป็นจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่
2900/2554
ของศาลอาญาในข้อหาขับรถยนต์ประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายซึ่งคดีอยู่ในระหว่างสืบพยานโจทก์
จำเลยเห็นว่าหากศาลอาญาวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1
ประมาทหรือไม่ประมาทซึ่งเป็นข้อหนึ่งที่สำคัญในคดีนี้
คำวินิจฉัยของศาลในคดีอาญาย่อมผูกพันการวินิจฉัยของศาลแพ่งในคดีนี้
ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม
จำเลยจึงเห็นสมควรที่ศาลแพ่งได้โปรดสั่งให้รอการพิจารณาคดีนี้ไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 39
จนกว่าการพิจารณาคดีอาญาดังกล่าวจะถึงที่สุด ขอศาลได้โปรดอนุญาต
ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด
ข้อ
10.
เนื่องจากบ้านของนายเขียวเลขที่
1 ถนนบ้านสวน ตำบลบางกรวย
อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี ถูกน้ำท่วมเสียหาย จึงตกลงว่าจ้างนายขาวให้ทำการซ่อมบ้าน โดยทำพื้นบ้านเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง
10 เมตร ยาว 20 เมตร
หนา 20 เซนติเมตร
และทำถนนคอนกรีตเสริมเหล็กจากบ้านถึงรั้วประตูบ้าน กว้าง
4 เมตร ยาว 10 เมตร
หนา 30 เซนติเมตร
ตามรายละเอียดการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้าง
กำหนดให้แล้วเสร็จภายในเวลา 3 เดือน
ด้วยค่าจ้างรวมวัสดุก่อสร้างและค่าแรงงานเป็นเงินทั้งสิ้น 300,000บาท กำหนดชำระในวันทำสัญญา 100,000 บาท
เมื่อนายขาวนำวัสดุก่อสร้างเข้ามาพร้อมที่จะทำการซ่อมบ้านจะชำระอีก 100,000 บาท
และงวดสุดท้ายชำระ 100,000บาท เมื่อการก่อสร้างและส่งมอบงานเสร็จเรียบร้อย
โดยนายขาวรับประกันความชำรุดบกพร่องงานนี้ภายในกำหนด 1
ปี นับแต่วันส่งมอบงานเสร็จ
ให้ร่างสัญญาซ่อมบ้านดังกล่าว
ธงคำตอบ
ทำที่ 1 ถนนบ้านสวน ตำบลบางกรวย
อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี
วันที่ 1
เมษายน 2555
ระหว่าง นายเขียว ........................... เลขประจำตัวประชาชนเลขที่ .................................. ออก
ณ ................... วันที่
...............................
อยู่บ้านเลขที่
................................
ตรอก/ซอย...................................... ถนน................................... แขวง/ตำบล
......................................
อำเภอ/เขต
........................................
จังหวัด
............................. ต่อไปในสัญญานี้จะเรียกว่า “ผู้ว่าจ้าง”
ฝ่ายหนึ่ง
กับนายขาว ................................. เลขประจำตัวประชาชนเลขที่ ............................ อยู่บ้านเลขที่ .......................... ตรอก/ซอย
.......................................
ถนน
.....................................
แขวง/ตำบล ................................. อำเภอ/เขต
.............................................. จังหวัด
......................................
ต่อไปในสัญญานี้ เรียกว่า “ผู้รับจ้าง”
อีกฝ่ายหนึ่ง
ทั้งสองฝ่ายตกลงทำสัญญาซ่อมบ้านดังต่อไปนี้
ข้อ 1. ผู้ว่าจ้างเป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 1
ถนนบ้านสวน ตำบลบางกรวย อำเภอบางกรวย
จังหวัดนนทบุรี
เนื่องจากบ้านถูกน้ำท่วมเสียหาย
จึงตกลงจ้างผู้รับจ้างให้ทำการซ่อมบ้าน
ประกอบด้วยพื้นบ้านคอนกรีตเสริมเหล็ก
กว้าง 10 เมตร
ยาว 20 เมตร
หนา 20 เซนติเมตร
และทำถนนคอนกรีตเสริมเหล็กจากบ้านถึงรั้วประตูบ้าน กว้าง
4 เมตร ยาว
10 เมตร หนา
30 เซนติเมตร ตามรายละเอียดการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างท้ายสัญญาซึ่งให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของสัญญา
ข้อ 2.
ทั้งสองฝ่าย
ตกลงค่าซ่อมตามข้อ 1. ด้วยค่าวัสดุและแรงงานของผู้รับจ้าง คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 300,000 บาท
(สามแสนบาทถ้วน)
โดยผู้รับจ้างจะซ่อมให้แล้วเสร็จภายใน
3 เดือน นับแต่วันทำสัญญานี้
ข้อ 3.
การชำระเงินค่าจ้างชำระดังนี้
(1)
ในวันทำสัญญา ชำระเงิน 100,000 บาท
(หนึ่งแสนบาทถ้วน)
(2)
เมื่อผู้รับจ้างนำวัสดุก่อสร้างตามสัญญาเข้ามาในที่ก่อสร้างชำระเงิน 100,000
บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)
(3)
เมื่อก่อสร้างเสร็จและส่งมอบงานเรียบร้อยชำระเงิน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)
ข้อ 4.
หากผู้รับจ้างผิดนัดหรือผิดสัญญา
ยอมให้ผู้ว่าจ้างฟ้องร้องบังคับพร้อมด้วยค่าเสียหาย หรือยอมให้ผู้ว่าจ้างบอกเลิกสัญญาข้างต้นพร้อมเรียกค่าเสียหายแล้วแต่ผู้ว่าจ้างเลือกบังคับเอากรณีใดกรณีหนึ่ง
ข้อ 5.
หากผู้ว่าจ้างไม่ชำระค่าจ้างตามกำหนด
ยอมให้ผู้รับจ้างฟ้องร้องบังคับพร้อมคิดค่าเสียหายในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 7.5
ต่อปี
ข้อ 6. หลังจากส่งมอบงานแล้ว มีกำหนด
1 ปี หากเกิดความชำรุดบกพร่อง เสียหายจากการซ่อม
ไม่ว่าเกิดจากวัสดุก่อสร้างหรือฝีมือแรงงานของผู้รับจ้าง
ผู้รับจ้างจะทำการซ่อมให้ดีดังเดิมด้วยค่าใช้จ่ายของผู้รับจ้างทั้งสิ้น
สัญญานี้ทำขึ้นเป็น 2 ฉบับ
มีข้อความตรงกัน
ยึดถือไว้ฝ่ายละฉบับ
ทั้งสองฝ่ายได้อ่านและเข้าใจสัญญานี้ดีแล้ว จึงได้ลงชื่อไว้เป็นสำคัญต่อหน้าพยาน
ลงชื่อ.........................................................ผู้ว่าจ้าง
(.............................................)
ลงชื่อ.........................................................ผู้รับจ้าง
(.............................................)
ลงชื่อ.........................................................พยาน
(.............................................)
ลงชื่อ.........................................................พยาน
(.............................................)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น