ความผิดฐานปล้นทรัพย์ เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
ดร. เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์
ข้อเท็จจริง นายหนึ่ง
นายสอง นายสาม
สมคบกันไปปล้นทรัพย์ที่ร้านสะดวกซื้อแห่งหนึ่ง นายหนึ่งและนายสองเป็นผู้ดูต้นทางอยู่หน้าร้าน
ส่วนนายสามถือปืนเข้าไปในร้านใช้ปืนขู่พนักงานให้ส่งเงินมาให้
ปรากฏว่ากระสุนปืนเกิดลั่นขึ้นและไปถูกพนักงานถึงแก่ความตาย ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายสามมิได้มีเจตนาฆ่าพนักงาน ไม่ว่าจะเป็นเจตนา “ประสงค์ต่อผล” หรือ
“เล็งเห็นผล” ประเด็นก็คือ
นายสามจะมีความผิดฐานปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา ๓๔๐
วรรคท้าย ซึ่งมีโทษสถานเดียว คือ
“ประหารชีวิต” หรือไม่
วิเคราะห์ ได้ดังนี้ ประเด็นแรกก็คือ เมื่อผู้ตาย
คือ พนักงาน ก็ถือว่า
“ผู้อื่นถึงแก่ความตาย”
ตามความหมายของมาตรา ๓๔๐ วรรคท้ายแล้ว
เพราะมิใช่พวกปล้นด้วยกันเอง
(ฎีกาที่ ๑๙๑๗/๒๕๑๑ น. ๒๐๗๙)
ประเด็นต่อไปก็คือ ในกรณีที่ผู้กระทำมิได้มีเจตนาให้ “ผู้อื่น”
ถึงแก่ความตายเลย
ไม่ว่าจะเป็นเจตนา
“ประสงค์ต่อผล” หรือ “เล็งเห็นผล”
ก็ตาม
จะถือว่าการปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายตามมาตรา ๓๔๐
วรรคท้ายได้หรือไม่ หลักกฎหมายที่จะใช้วินิจฉัยในเรื่องนี้เป็นอย่างไร
ในประเด็นนี้อธิบายได้ว่า ความตายของพนักงานเป็น “ผล”
ที่ทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น
กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเป็น
“ผลฉกรรจ์” (คนละความหมายกับ “เหตุฉกรรจ์”)
ทั้งนี้ เพราะมาตรา ๓๔๐
วรรคท้ายโทษหนักขึ้นกว่าโทษตามมาตรา ๓๔๐
วรรคแรก ดังนั้น จึงต้องพิจารณาจากมาตรา ๖๓
ซึ่งบัญญัติว่า “ถ้าผลของการกระทำความผิดใดทำให้ผู้กระทำต้องรับโทษหนักขึ้น
ผลของการกระทำความผิดนั้นต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้” หลักในมาตรา ๖๓
นี้ คือ หลัก
“ผลธรรมดา” นั่นเอง ซึ่ง
“ผลธรรมดา” ไม่จำต้อง เป็นผลที่ผู้กระทำ “ประสงค์ต่อผล” หรือ
“เล็งเห็นผล” (ตามหลักในเรื่อง “เจตนา”
ตามมาตรา ๕๙ แต่อย่างใดเลย)
“ผลธรรมดา” คือ
“ผล” ตาม “ทฤษฎีเหตุที่เหมาะสม” (theory of adequate
causation)
ซึ่งต่างจาก “ผลโดยตรง” อันเป็น
“ผล” ตาม “ทฤษฎีเงื่อนไข” (condition theory)
“ผลธรรมดา” คือ
ผลที่ผู้กระทำ “คาดเห็นความเป็นไปได้ของผลนั้น” ซึ่งไม่จำต้องถึงขั้น “ประสงค์ต่อผล” หรือ
“เล็งเห็นผล” ศาสตราจารย์จิตติ ติงศภัทิย์
ได้กล่าวไว้ท้าย ฎีกาที่ ๒๙๖๙/๒๕๑๗
ว่า ผลตามมาตรา ๓๔๐
วรรคท้าย (ความตายของ “ผู้อื่น”)
นั้น
“ผู้กระทำไม่ต้องมีเจตนา”
ต่อผลนั้น แต่ “ต้องเป็นผลที่ตามธรรมดาย่อมเกิดขึ้นได้”
การที่ปืนลั่นถูกพนักงานตาย น่าจะถือได้ว่า เป็นผลที่ผู้กระทำ “คาดเห็นความเป็นไปได้ของผลนั้น” เพราะผู้กระทำได้ชักปืนซึ่งตนก็รู้ดีอยู่แล้วว่ามีลูกกระสุนขู่พนักงานให้ส่งทรัพย์ให้ ดังนั้น
เมื่อความตายของ “ผู้อื่น” เป็นทั้ง
“ผลโดยตรง” และเป็นทั้ง “ผลธรรมดา”
ผู้กระทำจึงผิดมาตรา ๓๔๐ วรรคท้าย
แม้ว่าเขาจะมิได้มีเจตนาฆ่าผู้ตายเลยก็ตาม
มีข้อสังเกตว่า ผู้กระทำผิดฐานพยายามปล้นทรัพย์เป็นเหตุให้คนตาย ตามมาตรา
๓๔๐ วรรคท้ายประกอบกับมาตรา ๘๐ เพราะการกระทำเป็นเพียงพยายามปล้นทรัพย์เท่านั้น
เนื่องจากทรัพย์ที่ต้องลักยังมิได้มีการเคลื่อนที่ ซึ่งระวางโทษสองในสามของโทษประหารชีวิต อันได้แก่โทษ
“จำคุกตลอดชีวิต” (ดูฎีกาที่ ๙๑/๒๕๑๐
น. ๔๔
ซึ่งอธิบายการลงโทษสองในสามของประหารชีวิต
และดูฎีกาที่ ๓๖๑๑/๒๕๒๘ น.๑๘๑๓ ประกอบ)
ในประเด็นที่ว่าการปล้นทรัพย์อยู่ในขั้นพยายาม แต่ผู้ถูกปล้นถึงแก่ความตายนี้ ศาลฎีกาก็ลงโทษสองในสามของโทษของความผิดสำเร็จ ดูได้จากฎีกาที่ ๙๔๔/๒๔๘๗
น. ๖๒๕ และฎีกาที่เทียบเคียงได้ คือ
ฎีกาที่ ๖๗๓/๒๔๘๘ น. ๕๙๘
(กรณีชิงทรัพย์) และฎีกาที่ ๓๒๒๗/๒๕๔๓
ฎ.ส.ล. ๖, น. ๑๒๒
(กรณีชิงทรัพย์)
ประเด็นที่ควรพิจารณาต่อไปก็คือ ผู้ร่วมกระทำคนอื่นๆ กล่าวคือ
นายหนึ่งและนายสองตามตัวอย่างข้างต้น
จะผิดมาตรา ๓๔๐ วรรคท้าย
ประกอบด้วยมาตรา ๘๐ เช่นเดียวกับนายสามหรือไม่ในประเด็นนี้ มีฎีกาที่
๑๒๖๒/๒๕๑๔ น. ๑๐๕๖
วินิจฉัยว่า
ผู้ร่วมกระทำคนอื่นๆ
ก็ผิดมาตรา ๓๔๐ วรรคท้ายประกอบมาตรา ๘๐
ด้วย
ซึ่งคงอธิบายได้ว่าเพราะการที่นายสามผิดมาตรา ๓๔๐
วรรคท้าย ประกอบมาตรา ๘๐
เป็น “เหตุในลักษณะคดี” ตามมาตรา
๘๙ จึงมีผลถึงผู้ร่วมกระทำอีก ๒
คนด้วย (“เหตุลักษณะคดี” ประเภท
“เพิ่มโทษ”
ตามความหมายของมาตรา ๘๙)
หากนายสามมี “เจตนาฆ่า”
พนักงาน เช่น ไม่พอใจที่พนักงานขัดขืน จึงใช้ปืนยิงพนักงานตาย
และนายสามวิ่งหนีออกจากร้านไปโดยมิทันได้แตะต้องทรัพย์ ประเด็นก็คือ
นายสามมีความผิดตามมาตรา ๒๘๙ อย่างแน่นอน นอกจากนั้น
นายสามยังผิดมาตรา ๓๔๐ วรรคท้ายประกอบมาตรา ๘๐
ด้วย (ฎีกาที่ ๑๓๘๓/๒๕๑๔
น. ๑๑๘๕)
การที่นายสามผิดมาตรา ๓๔๐ วรรคท้ายประกอบมาตรา ๘๐
ก็เพราะความตายของพนักงานเป็น
“ผลธรรมดา” ตาม มาตรา
๖๓ นั่นเอง เพราะถ้าความตายเป็นผลจากการกระทำโดยเจตนาของผู้กระทำแล้ว ก็ต้องถือว่าความตายนั้นเป็น “ผลธรรมดา”
ตามมาตรา ๖๓ อย่างแน่นอน
เพราะเพียงแต่
ผู้กระทำทำปืนลั่น
ก็ยังถือว่าเป็น “ผลธรรมดา” ดังนั้น
การที่ผู้กระทำถึงขนาดใช้ปืนยิงพนักงานโดยมีเจตนาฆ่า ความตายของพนักงานก็ย่อมเป็น “ผลธรรมดา”
เช่นกัน
ในกรณีที่นายสามใช้ปืนยิงพนักงานตายตามตัวอย่างข้างต้น
หากนายหนึ่งและนายสองซึ่งดูต้นทางอยู่หน้าร้านไม่รู้เห็นด้วยในการที่นายสามยิงพนักงานตาย ฎีกาที่
๑๒๖๒/๒๕๑๔ น. ๑๐๕๖
วินิจฉัยว่า
นายสามแต่เพียงผู้เดียวผิดมาตรา
๒๘๙ และ มาตรา
๓๔๐ วรรคท้ายประกอบ มาตรา
๘๐
แต่นายหนึ่งและนายสองไม่ผิดมาตรา
๒๘๙ ด้วย แต่ยังต้องผิดมาตรา ๓๔๐
วรรคท้ายประกอบมาตรา ๘๐ ตรงกันข้าม
หากนายหนึ่งและนายสองรู้เห็นด้วยในการที่นายสามยิงพนักงาน เช่น
ตกลงกันมาล่วงหน้าแล้วว่า
หากพนักงานขัดขืนให้ฆ่าปิดปาก
เช่นนี้ ฎีกาที่ ๑๓๘๓/๒๕๑๔
น. ๑๑๘๕ ก็ลงโทษทั้งสามคน ตามมาตรา
๒๘๙ และมาตรา ๓๔๐
วรรคท้าย ประกอบมาตรา ๘๐
ข้อเท็จจริงต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น นายสาม
“ใช้อาวุธปืน”
ในการกระทำความผิดด้วย
ไม่ว่าจะเป็นกรณีทำปืนลั่น
หรือกรณีเจตนาฆ่าก็ตาม
ประเด็นก็คือ จะลงโทษนายสามตามมาตรา ๓๔๐
ตรี
โดยระวางโทษหนักกว่าโทษตามมาตรา
๓๔๐ วรรคท้ายประกอบมาตรา ๘๐
อีกกึ่งหนึ่งได้หรือไม่
ในประเด็นนี้เทียบได้กับฎีกาที่
๖๓๑๗/๒๕๔๙ น. ๑๘๖๙
วินิจฉัยว่า มาตรา ๓๔๐
ตรี เป็นเพียงบทกำหนดโทษไม่ใช่บทเพิ่มโทษ ดังนั้น
เมื่อจำเลยต้องระวางโทษ
“ประหารชีวิต
หรือจำคุกตลอดชีวิต”
กรณีก็ไม่มีทางที่จะวางโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา ๓๔๐
ตรี บัญญัติไว้ จึงนำมาตรา
๓๔๐ ตรีมาปรับด้วยไม่ได้ จำเลยคงมีความผิดตามมาตรา ๓๔๐
วรรคท้ายเท่านั้น โดยฎีกาที่ ๑๘๕๗/๒๕๔๐
(ฎ.ส.ล. ๕, น. ๑๒๙)
วินิจฉัยว่า
“จำเลยคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๔๐
วรรคท้ายเท่านั้น” ทั้งนี้ “โดยไม่ปรับบทลงโทษตามมาตรา ๓๔๐ ตรีด้วย”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น