“บทที่มีโทษหนักที่สุด” ตามความหมายของ ป.อ. มาตรา
๙๐
เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์
ป.อ. มาตรา
๙๐ บัญญัติว่า “เมื่อการกระทำใดอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท
ให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่ผู้กระทำความผิด”
ป.อ.
มาตรา ๙๐ บัญญัติอย่างเดียวกับกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา
๗๐ ความว่า
“ผู้ใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง
และการที่กระทำนั้นเป็นการละเมิดกฎหมายหลายบทด้วยกัน ท่านให้ใช้บทกฎหมายที่อาญาหนักลงโทษแก่มัน”
เหตุผลที่
ป.อ. มาตรา
๙๐ และกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗ มาตรา
๗๐
บัญญัติให้ลงโทษบทหนักที่สุดเพียงบทเดียวในกรณีที่เป็นการกระทำ “กรรมเดียว”
นั้น ศาสตราจารย์เอกูต์ นักกฎหมายชาวฝรั่งเศส ได้กล่าวไว้ในหนังสือ คำสอนชั้นปริญญาตรี มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง พ.ศ. ๒๔๗๗ วิชา
“กฎหมายอาชญา” ในหน้า ๖๗
ว่า
เพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับหลักในภาษีลาตินว่า “Non bis
in idem” (แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า Not
twice for the
same)
ซึ่งหมายความว่า จะลงโทษซ้ำกันหลายครั้งสำหรับการกระทำอันเดียวกันไม่ได้ (หลักนี้ยังใช้กับกรณีห้ามลงโทษซ้ำซ้อนอีก
หากศาลในต่างประเทศพิพากษาลงโทษสำหรับการกระทำอันเดียวกันนั้นมาแล้ว ตามที่บัญญัติไว้ใน ป.อ. มาตรา ๑๐
และมาตรา ๑๑ รวมถึงหลัก
“ฟ้องซ้ำ” ตาม ป.วิ.อ.
มาตรา ๓๙ อนุมาตรา
๔)
เมื่อมาตรา ๙๐
บัญญัติให้ลงโทษ
“บทที่มีโทษหนักที่สุด”
สำหรับการกระทำ “กรรมเดียว” จึงควรทำความเข้าใจว่า “บทหนักที่สุด” นั้นมีความหมายอย่างใด
ความหมายของ “บทหนักที่สุด” มีตัวอย่าง
ดังนี้
(๑) โทษลำดับที่อยู่สูงกว่าในมาตรา ๑๘
ย่อมหนักกว่าโทษในลำดับต่ำ
ตัวอย่าง
กฎหมายบทที่ ๑
มีโทษจำคุก หรือ ปรับ แต่กฎหมายบทที่ ๒ มีโทษปรับแต่เพียงอย่างเดียว ในกรณีเช่นนี้
ต้องถือว่า บทที่ ๑ หนักกว่า บทที่
๒ ต้องลงโทษตามอัตราโทษของ บทที่
๑ ข้อสังเกต หากโทษปรับตามกฎหมาย บทที่
๑ คือ ไม่เกินสามหมื่นบาท แต่โทษปรับตามกฎหมาย บทที่
๒ คือ ไม่เกินห้าหมื่นบาท เช่นนี้
หากจะลงโทษปรับอย่างเดียวตามกฎหมาย
บทที่ ๑ (ซึ่งเป็น
“บทหนักที่สุด”)
โดยไม่ลงโทษจำคุก
จะต้องลงโทษได้ไม่เกินสามหมื่นบาทเท่านั้น
จะลงโทษสี่หมื่นบาท
(ตามอัตราโทษของกฎหมาย บทที่ ๒)
ไม่ได้ เพราะบทหนักที่สุด (กฎหมายบทที่
๑) มีอัตราโทษปรับไม่เกินสามหมื่นบาทเท่านั้น
กรณีตามตัวอย่างข้างต้นนี้ ไม่ต้องคำนึงว่าโทษจำคุกตาม กฎหมายบทที่ ๑ จะมีอัตราโทษน้อยหรือมากเพียงใด เช่น กฎหมายบทที่ ๑ มีอัตราโทษจำคุกหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท แต่กฎหมายบทที่ ๒ มีอัตราโทษปรับ (สถานเดียว)
ไม่เกินห้าแสนบาท กรณีเช่นนี้ ก็ต้องถือว่า
กฎหมายบทที่ ๑ มีอัตราโทษ “ทั้งหมด”
หนักกว่าอัตราโทษของ กฎหมายบทที่ ๒ จะมีอัตราโทษปรับถึง “ห้าแสนบาท”
ก็ตาม เพราะโทษ “จำคุก”
นั้น
ต้องถือว่าหนักกว่าโทษปรับโดยมาตรา
๑๘ เรียงลำดับไว้สูงกว่ากัน
(๒)
ถ้าความผิดแต่ละบทนั้น
มีโทษลำดับเดียวกัน
ต้องถือบทที่มีอัตราโทษขั้นสูงมากกว่าเป็นเกณฑ์
(๓)
ถ้าอัตราโทษชั้นสูงเท่ากัน
ต้องดูอัตราโทษขั้นสูงลำดับถัดไปในมาตรานั้น เช่น
โทษจำคุกชั้นสูงเท่ากัน แต่โทษปรับสูงกว่า บทหนักที่สุดคือ บทที่มีโทษปรับสูงกว่า
ตัวอย่าง
กฎหมายบทที่ ๑ มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี
หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท
แต่กฎหมายบทที่ ๒ มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท ต้องถือว่า
กฎหมายบทที่ ๒ หนักกว่า
ตัวอย่าง ฎีกาที่
๔๘๕๗/๒๕๕๐ ความผิดฐานร่วมกันมีเลื่อยโซ่ยนต์โดยไม่ได้รับใบอนุญาตกับความผิดฐานร่วมกันรับไว้ซึ่งเลื่อยโซ่ยนต์โดยรู้ว่าเป็นของที่นำเข้ามาในราชอาญาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร
มีลักษณะที่เกี่ยวเนื่องเป็นการกระทำเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ตาม ป.อ. มาตรา
๙๐ เมื่อความผิดตาม พ.ร.บ.
เลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา ๔
วรรคหนึ่ง,
๑๗ วรรคหนึ่ง ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.
ศุลกากรฯ มาตรา ๒๗
ทวิ ระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว
หรือทั้งจำทั้งปรับและการพิจารณาว่ากฎหมายบทใดมีโทษหนักกว่ากันให้ถือตามบทที่มีอัตราโทษชั้นสูงกว่าเป็นเกณฑ์ เมื่อความผิดทั้งสองฐานดังกล่าว มีระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีเท่ากัน แต่คดีนี้ราคาของซึ่งได้รวมค่าอากรเข้าด้วยแล้วเป็นเงิน ๓,๐๓๐ บาท
หากมีการลงโทษปรับสูงสุดตาม พ.ร.บ. ศุลกากรฯ
มาตรา ๒๗ ทวิ
จะลงโทษปรับได้เป็นเงิน ๑๒,๑๒๐ บาท แต่ตาม
พ.ร.บ. เลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา
๑๗ วรรคหนึ่ง ลงโทษปรับได้สูงสุดหนึ่งแสนบาท จึงถือว่าโทษปรับตาม พ.ร.บ.
เลื่อยโซ่ยนต์ฯ มาตรา ๑๗
วรรคหนึ่ง เป็นบทที่มีโทษหนักกว่า
(๔) ถ้าอัตราโทษขั้นสูงเท่ากันหมด บทที่มีอัตราโทษขั้นต่ำ คือบทหนัก
ตัวอย่าง
นายแดงขโมยพินับกรรมของนายดำไปในเวลากลางคืน นายแดงกระทำ
“กรรมเดียว” (ซึ่งหมายความว่า “เจตนาเดียว”)
แต่ผิดกฎหมายสองบท คือ ป.อ.
มาตรา ๑๘๘ บทหนึ่ง
และมาตรา ๓๓๕ (๑)
อีกบทหนึ่ง เช่นนี้ ต้องถือว่ามาตรา ๓๓๕
(๑) มีโทษหนักกว่าโทษของมาตรา ๑๘๘
เพราะโทษตามมาตรา ๓๓๕ (๑)
มีอัตราโทษขั้นต่ำ
(๕) ถ้าอัตราโทษจำคุกและอัตราโทษปรับเท่ากัน บทหนักคือบทที่บัญญัติว่าต้องลงโทษ จำคุก
และ ปรับ ส่วนบทเบาคือ
บทที่บัญญัติว่า จำคุก หรือ
ปรับ
ตัวอย่าง
อัตราโทษตาม ป.อ. มาตรา ๑๘๘
คือ “จำคุกไม่เกินห้าปี และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท” แต่อัตราโทษตาม ป.อ. มาตรา ๓๔๓
วรรคแรก คือ “จำคุกไม่เกินห้าปี หรือ
ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ”
เช่นนี้ต้องถือว่าโทษตามมาตรา
๑๘๘ หนักกว่ามาตรา ๓๔๓
ข้อสังเกต
มีฎีกาที่ ๑๘๙๔/๒๕๕๐
วินิจฉัยว่า ความผิดตามมาตรา ๓๔๓
วรรคแรก และความผิดตามมาตรา ๑๘๘ (ในกรณีเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท)
“มีอัตราโทษเท่ากันจึงให้ลงโทษฐานฉ้อโกงหประชาชนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
๓๔๓ วรรคหนึ่ง”
ข้อสังเกต
ในกรณีเช่นนี้ ต้องถือว่า โทษจำคุก
และ ปรับ หนักกว่า
โทษจำคุก หรือ ปรับ
หรือ ทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น
จึงควรต้องลงโทษตามมาตรา ๑๘๘ อันเป็น
“บทหนัก”
ข้อสังเกต
ฎีกาที่ ๙๗๕/๒๕๓๔ ก็วินิจฉัยว่า
โทษตามมาตรา ๑๘๘ เป็นบทหนักของโทษตามมาตรา ๓๕๗
วรรคแรก ซึ่งโทษตาม มาตรา
๓๕๗ วรรคแรก มีอัตราโทษเหมือนกับอัตราโทษตามมาตรา ๓๔๓
วรรคแรกทุกประการ
(๖) หากบทหนึ่งมีโทษจำคุกสูงกว่า แต่เลือกให้ลงโทษ ปรับ
ก็ได้
หรือทั้งจำทั้งปรับก็ได้
แต่อีกบทหนึ่งมีโทษจำคุกต่ำกว่าแต่บังคับให้ต้องลงโทษปรับด้วย ต้องถือว่าบทแรกหนักกว่า
ตัวอย่าง
ฎีกาที่ ๑๐๑๑/๒๕๓๔ วินิจฉัยว่า ความผิดบทที่ ๑ มีอัตราโทษ “จำคุกไม่เกินสิบปี หรือ
ปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ” “แต่ ความผิดบทที่ ๒ มีอัตราโทษ จำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และ
ปรับ
ตั้งแต่หนึ่งพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท”
เช่นนี้ ถือว่า ความผิดบทที่
๑ มีอัตราโทษ “หนักกว่า”
บทที่ ๒
ข้อสังเกต
ในกรณีเช่นนี้
ต้องดูจำนวนอัตราโทษจำคุกเป็นเกณฑ์
แม้อัตราโทษสองบทเท่ากันทุกอย่างก็ต้องอ้างมาตรา ๙๐
เช่นกัน
ตัวอย่าง
นายแดงยิงนายดำ นายดำหลบทัน
กระสุนไปถูกนายขาวบาดเจ็บ
นายแดงมีความผิดฐานพยายามฆ่านายดำ
ตามมาตรา ๒๘๘, ๘๐
ประกอบมาตรา ๖๐ เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งแต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๘๘, ๘๐
เพียงบทเดียว ตามมาตรา ๙๐”
ข้อสังเกต
แม้สองบทจะมีอัตราโทษเท่ากัน
ไม่มีกรณี
“บทที่มีโทษหนักที่สุด” ตามมาตรา ๙๐
ที่จะลงก็ตาม แต่การอ้างมาตรา ๙๐
ก็เป็น การยืนยันว่า กรณีเช่นนี้จะลงโทษได้เพียง “บทเดียว”
เท่านั้น ซึ่งฎีกาที่ ๘๗๑/๒๕๐๖
กล่าวไว้ว่า
“ศาลจึงลงโทษแก่จำเลยบทหนึ่งบทใดในสองบทนั้น ตามความมุ่งหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา
๙๐”
หากลงโทษตาม
“บทหนัก”
แล้วย่อมใช้มาตรการซึ่งอยู่ในกฎหมาย
“บทเบา”
อันมิใช่โทษในทางอาญาลงแก่จำเลยได้
โดยไม่ขัดต่อหลักในมาตรา ๙๐
ได้กล่าวมาแล้วว่า การกระทำ
“กรรมเดียว” ย่อมลงโทษ “บทหนักที่สุด” ได้เพียงบทเดียวตามที่มาตรา ๙๐
บัญญัติไว้ อันสอดคล้องกับหลัก Non bis in
idem อย่างไรก็ตาม
การใช้มาตราการบังคับซึ่งอยู่ในกฎหมาย
“บทเบา”
อันมิใช่โทษในทางอาญาลงแก่จำเลยย่อมกระทำได้โดยไม่ขัดต่อหลักในมาตรา ๙๐ เพราะมิใช่การลงโทษสองบทสำหรับการกระทำกรรมเดียว
ตัวอย่าง
เมื่อลงโทษ “บทหนัก”
คือ ป.อ. มาตรา
๑๕๗ แต่เพียงบทเดียว ย่อมเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งตาม พ.ร.บ. การเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลฯ ได้
(ความผิดตาม พ.ร.บ. เลือกตั้งฯ
เป็น “บทเบา”)
เพราะการเพิกถอนสิทธิดังกล่าวไม่ใช่โทษตามกฎหมาย (ฎีกาที่
๙๐๘๓/๒๕๔๔)
ตัวอย่าง
เมื่อลงโทษ “บทหนัก” คือ ป.อ. มาตรา
๓๖๕ (๒) แต่เพียงบทเดียวแล้ว ศาลย่อมมีอำนาจสั่งในคำพิพากษาให้ผู้กระทำความผิด ฯลฯ
ออกจากที่ดิน
ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้
(ความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดินเป็น
“บทเบา”)
เพราะมาตรการดังกล่าวไม่ใช่โทษตาม
ป.อ. มาตรา
๑๘ (ฎีกาที่ ๖๘๑/๒๕๕๐
และฎีกาที่ ๑๐๖๘๐/๒๕๕๑)
“บทเบา”
“บทหนัก” จะแยกเป็น “ส่วนๆ”
ดังเช่น ป.อ. มาตรา ๓
ไม่ได้
ตัวอย่าง
กฎหมายบทที่ ๑
มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี
และปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
ส่วนกฎหมายบทที่ ๒ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือ
ปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เช่นนี้
เมื่อถือว่ากฎหมายบทที่ ๑ เป็น “บทหนัก” หากศาลลงโทษปรับตามกฎหมายบทที่ ๑
ก็จะลงโทษปรับสามหมื่นบาท
(ตามอัตราโทษปรับซึ่งหนักกว่าของกฎหมายบทที่ ๒)
ไม่ได้
จะลงโทษปรับได้ไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท
(ตามอัตราโทษของกฎหมายบทที่ ๑ เท่านั้น)
เพราะเมื่อถือว่า บทที่ ๑
เป็น “บทหนัก” แล้ว
ก็ต้องถือว่า “หนักกว่า” ทั้งหมด
(ทั้งโทษจำคุกและปรับ)
จะแยกกันเป็นส่วนๆ ไม่ได้
ข้อสังเกต
ทั้งนี้จะแตกต่างจากกรณี “ใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด” ตาม
ป.อ. มาตรา
๓ ซึ่งถือว่า กฎหมายบทที่
๒
ที่เลือกให้ลงโทษปรับอยางเดียวได้เป็น
“คุณ”
แก่ผู้กระทำความผิดมากกว่ากฎหมายบทที่
๑
แต่ถือว่าอัตราโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ตามกฎหมายบทที่ ๑ เป็น “คุณ”
แก่ผู้กระทำความผิดมากกว่ากฎหมายบทที่
๒ ดังนั้น ในกรณีของ
ป.อ. มาตรา
๓
จึงลงโทษโดยการปรับอบ่างเดียวได้
(ตาม “ส่วน” ของกฎหมายบทที่ ๒)
แต่จะปรับเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้
(ตาม “ส่วน” ของกฎหมายบทที่ ๑)
(เทียบฎีกาที่ ๕๑๗๒/๒๕๔๖)
ตัวอย่าง
กฎหมายบทที่ ๑ มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสามปี และปรับไม่เกินสามหมื่นบาท (โดยไม่มีอัตราโทษขั้นต่ำ) ส่วนกฎหมายบทที่ ๒ มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปีและปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงสองหมื่นบาท
กรณีเช่นนี้
ต้องถือว่า กฎหมายบทที่ ๑
เป็น “บทหนัก” ดังนั้น
ลงโทษจำคุกสามเดือนก็ได้ หรือ ลงโทษจำคุกสามปีก็ได้ (เพราะไม่เกินสามปี และลงโทษปรับสามพันบาทก็ได้ หรือลงโทษสามหมื่นบาทก็ได้ (เพราะไม่เกินสามหมื่นบาท)
อย่างไรก็ตาม
หากเป็นกรณีมาตรา ๓
ต้องใช้กฎหมายในส่วนที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิดทั้งใน “ส่วน”
ของกฎหมายบทที่ ๑ และใน
“ส่วน” ของกฎหมายบทที่ ๒
ซึ่งหมายความว่า
๑.
ลงโทษจำคุกขั้นต่ำไม่เท่าใดก็ได้
(ตามอัตราโทษจำคุกของกฎหมายบทที่
๑)
๒.
แต่ลงโทษจำคุกขั้นสูงไม่เกินสองปี
(ตามอัตราโทษจำคุกของกฎหมายบทที่
๒)
๓.
ลงโทษปรับขั้นต่ำเท่าใดก็ได้
(ตามอัตราโทษปรับของกฎหมายบทที่ ๑)
๔.
ลงโทษปรับขั้นสูงได้ไม่เกินสองหมื่นบาท
(ตามอัตราโทษปรับของกฎหมายบทที่ ๒)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น