บทบาทและฐานะของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในคดีล้มละลาย
อาจารย์เอื้อน ขุนแก้ว
ในการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีล้มละลายนั้น
มีทั้งการดำเนินกระบวนการพิจารณาที่ได้กระทำในศาลและการดำเนินกระบวนการพิจารณาในชั้นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ (มาตรา ๖)
แม้ว่ากระบวนพิจารณาคดีล้มละลายจะเริ่มต่อเมื่อมีการยื่นคำฟ้องหรือคำร้องขอต่อศาลล้มละลาย
แต่เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาด หรือมีคำสั่งให้จัดการทรัพย์มรดกของลูกหนี้ที่ตายตามกฎหมายแล้ว
กระบวนการในการจัดการทรัพย์สินก็จะไปดำเนินการต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ซึ่งกระบวนพิจารณาส่วนใหญ่ของคดีล้มละลายนั้นจะดำเนินการในชั้นของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เราจะเห็นได้ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นกลไกที่สำคัญและมีบทบาทสำคัญยิ่งในการที่จะทำให้กระบวนพิจารณาในคดีล้มละลายนั้นได้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการใช้บังคับกฎหมาย
ฐานะของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นข้าราชการพลเรือนสังกัดอยู่กรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะได้รับการแต่งตั้งโดยเฉพาะตัวหรือโดยตำแหน่งหน้าที่ให้เป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม (มาตรา ๑๓๙)
บทบาทของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีบทบาทในหลาย ๆ
ส่วนด้วยกันทั้งในส่วนที่อยู่ในฐานะตัวแทนของลูกหนี้และในฐานะเจ้าพนักงานของกระบวนการยุติธรรม ซึ่งพอจะสามารถแยกพิจารณาแง่มุมดังกล่าว ได้ดังนี้
ฐานะตัวแทนของเจ้าหนี้
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะมีอำนาจหน้าที่ในการรวบรวมทรัพย์สินของลูกหนี้มาเพื่อจะดำเนินการจำหน่ายแล้วนำเงินมาแบ่งแก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย
มาตรา ๒๒ เมื่อศาลสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้แล้ว
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจดังต่อไปนี้
(๑) จัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้
หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไป
(๒) เก็บรวบรวมและรับเงิน หรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้ หรือซึ่งลูกหนี้สิทธิที่จะได้รับจากผู้อื่น
(๓)ประนีประนอมยอมความหรือฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้
ในการเก็บรวมรวมทรัพย์สินของลูกหนี้นั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีอำนาจในการรวบรวมทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย (bankruptcy estate) ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา
๑๐๙ กล่าวคือ เป็นทรัพย์สินทั้งหลายที่ลูกหนี้มีอยู่แล้วในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลาย รวมทั้งสิทธิเรียกร้องเหนือทรัพย์สินของบุคคลอื่น
หรือทรัพย์สินที่ลูกหนี้ได้มาภายหลังเวลาการเริ่มต้นแห่งการล้มละลายจนถึงเวลาแห่งปลดจากล้มละลาย รวมทั้งสิ่งของซึ่งอยู่ในครอบครอง หรืออำนาจสั่งการหรือสั่งจำหน่ายของธุรกิจของลูกหนี้ด้วยความยินยอมของเจ้าของอันแท้จริง
โดยพฤติการณ์ซึ่งทำให้เห็นว่าลูกหนี้เป็นเจ้าของขณะที่มีการขอให้ล้มละลาย
อำนาจในการรวบรวมทรัพย์สินดังกล่าวเป็นขของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แม้ว่าต่อมาลูกหนี้ได้รับการปลดจากการล้มละลาย (discharge) ตามมาตรา
๗๑ หรือพ้นจากการล้มละลายโดยผลของกฎหมาย (automatic discharge) ตามมาตรา
๘๑/๑ แล้ว
แต่การรวบรวมทรัพย์สินอันอาจพึงได้ในคดีล้มละลายนั้นยังไม่เสร็จ
หรือยังมิได้รวบรวมทรัพย์สินบางรายการและเจ้าหนี้ก็ยังมิได้รับชำระหนี้ครบถ้วน เช่นนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจในการรวบรวมทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย เพื่อนำมาจำหน่ายแล้วนำมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ต่อไปจนกว่าการรวบรวมนั้นจะเสร็จสิ้น หรือเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้ครบถ้วนแล้ว
คำพิพากษาฎีกาที่ ๔๔๗๒/๒๕๕๒
เมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดแล้วเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แต่ผู้เดียวมีอำนาจเก็บรวบรวมและรับเงินหรือทรัพย์สินซึ่งจะตกได้แก่ลูกหนี้หรือซึ่งลูกหนี้มีสิทธิจะได้รับจากผู้อื่นตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา
๒๒(๒)
โดยทรัพย์สินดังกล่าวต้องเป็นทรัพย์สินในคดีล้มละลายอันอาจแบ่งแก่เจ้าหนี้ได้ซึ่งได้แก่
ทรัพย์สินทั้งหลายที่ลูกหนี้มีอยู่ในเวลาเริ่มต้นแห่งการล้มละลายรวมทั้งสิทธิเรียกร้องเหนือยกทรัพย์สินของบุคคลอื่นตามมาตรา ๑๐๙(๑)การที่ศาลมีคำสั่งปลดลูกหนี้จากล้มละลายก็เป็นเพียงทำให้ลูกหนี้หลุดพ้นจากการเป็นบุคคลล้มละลายแล้วไปเริ่มต้นในการดำเนินชีวิตหรือธุรกิจใหม่ต่อไป
โดยในส่วนของทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย
ที่ยังมิได้นำมาจัดการจำหน่ายเพื่อแบ่งชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย ย่อมตกอยู่ในบังคับที่พนักงานพิทักษ์ทรัพย์สินอันอาจแบ่งได้ในคดีล้มละลาย
ที่ยังมิได้นำมาจัดการจำหน่ายเพื่อแบ่งชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ทั้งหลาย
ย่อมตกอยู่ในบังคับที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จำต้องดำเนินการต่อไปจนกว่าจะแล้วเสร็จ โดยที่บุคคลล้มละลายซึ่งได้รับการปลดจากการล้มละลายนั้น ยังมีหน้าที่ช่วยในการจำหน่ายและแบ่งทรัพย์สินของตนซึ่งตกอยู่กับเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องการตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา
๗๙ วรรคหนึ่ง
ฐานะตัวแทนของลูกหนี้
ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น เรายังถือว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นตัวแทนของลูกหนี้ในการดำเนินกระบวนพิจารณาต่างๆ ในมาตรา
๒๕ บัญญัติว่า ให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีแพ่งทั้งปวงอันเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้
ซึ่งค้างพิจารณาอยู่ในศาลขณะที่มีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์และเมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจงดการพิจารณาเรื่องนั้นไว้ หรือจะสั่งประการใดตามที่เห็นสมควรก็ได้
การที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะเข้าว่าคดีหรือไม่นั้น
ถือว่าเป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
โดยเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องพิจารณาถึงส่วนได้เสียของกองทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นสำคับ
กล่าวคือหากว่าหนี้ดังกล่าวนั้นเป็นหนี้ที่อาจขอรับชำระหนี้ได้
แต่เจ้าหนี้ไม่ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ภายในกำหนดเวลา ตามมาตรา
๒๗ และมาตรา ๙๑
เช่นนี้ หากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีดังกล่าวก็ย่อมมีผลให้เจ้าหนี้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ได้ภายในกำหนดระยะเวลาตามมาตรา ๙๓
คือสองเดือน
นับแต่คดีถึงที่สุดอย่างไรก็ตาม
ในกรณีที่เจ้าพนักงานบังคับคดีแถลงไม่ขอเข้าว่าคดีแทนลูกหนี้นั้น
ศาลจะมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีหรือไม่นั้นได้ถือเป็นดุลพินิจของศาลเช่นกัน กล่าวคือ
แม้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะแถลงไม่ขอเข้าว่าคดีแต่หากว่ามีเหตุผลพิเศษ
เพื่อให้กระบวนพิจารณาดำเนินไปโดยเที่ยงธรรม ศาลย่อมมีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้าว่าคดีดังกล่าวนั้นได้
ในการปฏิบัติหน้าที่ เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินการต่างๆ ตามมาตรา
๑๔๕
ได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบของกรรมการเจ้าหนี้แล้ว คือ
(๑)
ถอนการยึดทรัพย์ในคดีล้มละลาย
(๒) โอนทรัพย์สินใดๆ นอกจากโดยวิธีการขายทอดตลาด
(๓)
สละสิทธิ
(๔)
ฟ้องหรือถอนฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สินในคดีล้มละลาย หรือฟ้อง
หรือถอนฟ้องคดีล้มละลาย
(๕)
ประนีประนอมยอมความ หรือมอบคดีให้อนุญาตตุลาการวินิจฉัย
นอกจากนี้ ในการจัดการกิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้ เมื่อได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมเจ้าหนี้แล้ว เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะดำเนินธุรกิจของลูกหนี้ที่ค้างอยู่ เพื่อชำระสะสางกิจการนั้นให้เสร็จไปก็ได้ (มาตรา ๑๒๐)
ฐานะเจ้าพนักงานในกระบวนการยุติธรรม
ในส่วนนี้อำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถแยกออกได้เป็น ๒
ส่วน คืออำนาจในส่วนของการควบคุมความประพฤติของลูกหนี้
และอำนาจในการทำคำวินิจฉัยหรือคำสั่งในสำนวนต่างๆ
ก.
อำนาจในส่วนของการควบคุมความประพฤติของลูกหนี้ ได้แก่
-ดำเนินการสอบสวนเกี่ยวกับความประพฤติ
กิจการและทรัพย์สินของลูกหนี้เมื่อลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด ตามมาตรา
๓๐
-รายงานเกี่ยวกับการประนอมหนี้กิจการ
ทรัพย์สินและความประพฤติของบุคคลล้มละลายก่อนหรือในระหว่างล้มละลายต่อศาลในการพิจารณาคำขอปลดจากล้มละลาย ตามมาตรา
๖๙
-ยื่นคำขอต่อศาลเพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งหยุดนับระยะเวลาในการปลดลูกหนี้จากการล้มละลาย ในกรณีที่บุคคลล้มละลายไม่ให้ความร่วมมือในการรวบรวมทรัพย์สินโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามมาตรา
๘๑/๒ และมาตรา ๘๑/๓
-ตรวจสอบว่าลูกหนี้กระทำความผิดอาญาเกียวกับการล้มละลายหรือไม่ และดำเนินการสอบสวน ตามมาตรา
๑๖๐
ข.
อำนาจในการทำคำวินิจฉัยหรือคำสั่ง
ได้แก่
-การทำความเห็นในสำนวนการขอรับชำระหนี้เสนอศาล ตามมาตรา
๑๐๕
-การทำคำสั่งในการอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้บุริมสิทธิ ตามมาตรา
๙๕
-การทำคำสั่งในสำนวนร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึด ตามมาตรา
๑๕๘
คำใช้จ่ายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นั้น
ย่อมถือว่าเป็นการกระทำแทนกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ย่อมมีอำนาจเบิกจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวได้จากกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หาต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวแต่อย่างใด นอกจากนี้เพื่อประโยชน์ในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เห็นเป็นการจำเป็นที่จะต้องกู้ยืมเงิน
เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลแล้วก็ให้กู้ยืมได้ (มาตรา ๑๔๔)
หนี้ที่เกิดจากค่าใช้จ่ายของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ในระหว่างการดำเนินการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ หากว่ามีหนี้เกิดขึ้น
ไม่ว่าเป็นหนี้เกิดจากการจัดการกิจการทรัพย์สิน เช่น
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ไปดำเนินการว่าจ้างให้มีการขนย้ายทรัพย์สินของลูกหนี้
หรือในระหว่างการจัดการของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนี้ภาษีอากรเกิดขึ้นหรือในระหว่างการดำเนินการจัดการทรัพย์สินนั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ดำเนินการจ้างลูกจ้างมีหนี้เกิดขึ้นตามกฎหมายแรงงาน
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหน้าที่นำเงินจากกองทรัพย์สินของลูกหนี้มาจ่ายให้แก่ผู้มีสิทธิเรียกร้องดังกล่าว ในการปฏิบัติหน้าที่นั้นเจ้าพนักงานพิทักษ์ย่อมมีความผูกพันตามบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
หนี้ภาษีอากร
คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๔๕๙/๒๕๓๓บริษัทลูกหนี้ถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด แต่ยังเป็นเจ้าของที่ดินอยู่ในระหว่างนั้น ย่อมต้องมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ พระราชบัญญัติล้มละลายพุทธศักราช ๒๔๘๓
มิได้กำหนดมิให้ฟ้องเกี่ยวกับหนี้ที่เกิดขึ้นโดยผลของกฎหมายหลังถูกพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาดซึ่งเป็นหนี้ที่ไม่สามารถขอรับชำระหนี้ได้ภายในเวลาตามที่พระราชบัญญัติล้มละลายฯ
กำหนดไว้การเกิดหนี้ขึ้นโดยผลของกฎหมายเช่นนี้เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องดำเนินการแทนลูกหนี้ เมื่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ดำเนินการโต้แย้งสิทธิของโจทก์เกี่ยวกับภาษีรายนี้ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องให้รับผิดได้
หนี้ตามกฎหมายแรงงาน
คำพิพากษาฎีกาที่
๘๙๒๓-๘๙๒๔/๒๕๕๑
เมื่อศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของบริษัท ก. ลูกหนี้แล้ว
อำนาจในการจัดการทรัพย์สินของลูกหนี้หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้หรือกระทำการที่จำเป็นเพื่อให้กิจการของลูกหนี้ที่ค้างอยู่เสร็จสิ้นไปเป็นอำนาจของจำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา
๒๒ จำเลยจึงเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัท ก.
ลูกหนี้ผู้เป็นนิติบุคคล การที่จำเลยจ้างโจทก์ทั้งห้า
หลังจากศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ดังกล่าวโดยจ่ายค่าจ้างจากกองทรัพย์สินของบริษัท ก.
ลูกหนี้
โจทก์ทั้งห้าจึงเป็นลูกจ้างของบริษัท
ก.
ลูกหนี้โดยมีจำเลยเป็นผู้กระทำแทน
จำเลยมีฐานะเป็นนายจ้างโจทก์ทั้งห้า
ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน
พ.ศ. ๒๕๔๑ มาตรา
๕ เมื่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒
มาตรา ๘
บัญญัติให้ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีหรือมีคำสั่งในคคีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมาย ว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และโจทก์ทั้งห้าฟ้องขอให้บังคับจำเลยปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. ๒๕๔๑
โจทก์ทั้งห้าจึงมีอำนาจ
ฟ้องจำเลยต่อศาลแรงงานกลางได้
คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๕๒๓/๒๕๔๒
การที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด
มีผลเพียงทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถกระทำการใดๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือกิจการของตน ต้องให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เป็นผู้จัดการหรือกระทำการแทน
ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ
มาตรา ๒๒ และ
๒๔หามีผลทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างลูกหนี้ผู้เป็นนายจ้างกับเจ้าหนี้ซึ่งเป็นลูกจ้างสิ้นสุดไปด้วยหรือไม่ทั้งไม่มีกฎหมายใดบัญญัติว่าเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดแล้วลูกจ้างของลูกหนี้หมดสิทธิที่จะทำงานให้ลูกหนี้ต่อไป
แม้ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาด เจ้าหนี้ก็ยังมีฐานะเป็นลูกจ้างของลูกหนี้อยู่นั่นเอง
กรณียังไม่ถือว่ามีการเลิกจ้างตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา
๑๑๘
สิทธิในการรับเงินค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจึงไม่เกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้เด็ดขาดและต้องห้ามมิให้เจ้าหนี้ขอรับชำระหนี้ ตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา ๙๔
มีข้อสังเกตว่า หนี้ต่างๆ
ที่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้ก่อขึ้น
เป็นหนี้ที่ถือว่ามีบุริมสิทธิเหนือหนี้อื่นๆ อันถือได้ว่าเป็นค่าใช้จ่ายตามมาตรา ๑๓๐ (๒)
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ก่อนหนี้อื่นๆ
ความรับผิดของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์
ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ในการรวบรวมทรัพย์สิน หรือในการว่าความต่อสู้คดีต่างๆ นั้น
หากเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตเพื่อประโยชน์แก่กองทรัพย์สินแล้วแม้จะมีความเสียหายเกิดขึ้น เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ก็หาต้องรับผิดเป็นการส่วนตัวไม่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์จะต้องรับผิดต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนาร้ายหรือประมาทเลินเล่อโดยร้ายแรง ตามมาตรา
๑๔๗ และในการฟ้องเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ว่าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ได้กระทำหรือละเว้นการกระทำตามที่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติล้มละลายฯ นั้น
ถ้าไม่ได้ฟ้องภายในหกเดือนนับแต่วันเกิดอำนาจฟ้องให้ถือว่าขาดอายุความ (มาตรา ๑๔๘)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น