คำถาม คดีก่อนศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่า
ท. มิใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจร้องทุกข์
พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวน การสอบสวนจึงเป็นไปโดยมิชอบ พนักงานอัยการโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
จะถือว่าคดีก่อนศาลได้วินิจฉัยในความผิดซึ่งได้ฟ้องอันจะเป็นเหตุให้สิทธิของ
ท. ที่จะนำคดีมาฟ้องระงับสิ้นไปหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 13838/2555 คดีก่อนพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่า
เมื่อวันที่ 1
กันยายน 2543 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสามทำให้เสียทรัพย์บ้านพิพาทในคดีนี้
ส่วนคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2543 เวลาประมาณ 13 นาฬิกา
จำเลยทั้งสามกระทำความผิดฐานบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์ซึ่งบ้านพิพาทหลังเดียวกันและการบุกรุกก็เป็นการบุกรุกเข้าไปเพื่อรื้อถอนบ้านพิพาทในวันเดียวกัน
ดังนี้
การกระทำของจำเลยทั้งสามในความผิดทั้งสองคดีจึงเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องไม่ขาดตอน
อันเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท การกระทำของจำเลยทั้งสามที่โจทก์บรรยายฟ้องคดีนี้และคดีก่อนเป็นการกรทำอันเดียวกัน
แต่เมื่อคดีก่อนศาลชั้นต้นยกฟ้องโดยวินิจฉัยเพียงว่า ท.
โจทก์มิใช่เป็นผู้ได้รับความเสียหายจึงมิใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจร้องทุกข์
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2
(4) พนักงานสอบสวนย่อมไม่มีอำนาจสอบสวน การสอบสวนของพนักงานสอบสวนจึงเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 121 วรรคสอง ทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา
120 โดยยังมิได้วินิจฉัยถึงการกระทำของจำเลยทั้งสามตามข้อกล่าวหาของโจทก์
จึงถือไม่ได้ว่าเป็นคำพิพากษาที่ได้วินิจฉัยในความผิดซึ่งได้ฟ้องอันจะเป็นเหตุให้สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องใหม่ระงับสิ้นไป
ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา
39 (4) ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำกับคดีก่อน ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงเรียบร้อย
แม้โจทก์มิได้ยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา
195 วรรคสองประกอบมาตรา 225
คำพิพากษาฎีกาที่ 1012/2527 โจทก์เคยฟ้องจำเลยมาแล้วครั้งหนึ่ง
ศาลชั้นต้นตรวจคำฟ้องแล้วพิพากษายกฟ้องโดยวินิจฉัยว่าโจทก์มิใช่ผู้เสียหาย
เพราะโจทก์มิได้บรรยายฟ้องโดยแจ้งชัดถึงอำนาจฟ้องของโจทก์
โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีใหม่ด้วยข้อหาเดียวกันนั้นต่อศาลชั้นต้นเดียวกัน โดยบรรยายอำนาจฟ้องของโจทก์ให้ชัดเจนขึ้น
ดังนี้สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์ยังหาได้ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา
39(4) ไม่ เพราะศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาดการกระทำความผิดของจำเลย แต่การที่โจทก์ฟ้องคดีใหม่ในระหว่างที่คดีเดิมอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกานั้น
ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา
173(1) ประกอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15
คำถาม พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยข้อหาปล้นทรัพย์รถยนต์ราคา
840,000 บาท ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้เสียหายซื้อรถยนต์มาด้วยเงินดาวน์ 160,000 บาท
และผ่อนชำระบริษัทไฟแนนซ์เดือนละ 12,000 บาท ได้เพียง 3 เดือน ดังนี้
ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะเรียกร้องราคารถยนต์ที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำความผิดจำนวนเท่าใด
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 15831/2555 โจทก์ร่วมซื้อรถยนต์มาด้วยเงินดาวน์ประมาณ 160,000 บาท และผ่อนกับบริษัท ไฟแนนซ์เดือนละ 12,000 บาท
ได้เพียง 3 เดือน เท่ากับโจทก์ร่วมชำระเงินค่ารถยนต์ไป 196,000 บาท
โจทก์ร่วมมีสิทธิที่จะเรียกร้องราคารถยนต์ที่สูญเสียไปเนื่องจากการกระทำผิดคืนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 43 จำนวน 196,000 บาท ไม่ใช่ 840,000 บาท
เพราะมิฉะนั้นโจทก์ร่วมย่อมได้กำไรเกินกว่าราคาที่สูญเสียไปซึ่งไม่ถูกต้อง
และจำเลยทั้งสามอาจต้องชำระราคารถยนต์ซ้ำซ้อนในกรณีบริษัทประกันภัยใช้สิทธิไล่เบี้ยฟ้องคดีแพ่ง ซึ่งเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา
142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
คำถาม บันทึกคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวน
หากศาลออกหมายจับ แต่ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความ
ศาลจะรับฟังบันทึกคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนดังกล่าวได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยได้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 9364/2555 ผู้เสียหายได้รับหมายเรียกให้มาเป็นพยานที่ศาลแต่ถึงวันนัดกลับไม่มาศาลและไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้อง
ศาลชั้นต้นจึงออกหมายจับผู้เสียหายเพื่อเอาตัวมาเป็นพยาน แต่ก็ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความต่อศาล
ถือได้ว่ามีเหตุจำเป็นเนื่องจากไม่สามารถนำผู้เสียหายซึ่งเป็นผู้ที่ได้เห็นและได้ยินในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นด้วยตนเองโดยตรงมาเป็นพยานได้
และมีเหตุผลสมควรเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมที่จะรับฟังพยานบอกเล่านั้น
ศาลสามารถนำพยานบอกเล่านี้ (คำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวน)ไปฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ได้
ไม่ได้ต้องห้ามมิให้รับฟังเสียเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา
226/3 วรรคสอง (2)
คำถาม ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ประทับรับฟ้อง
ให้คืนฟ้องโจทก์เพื่อให้นำไปดำเนินคดีในศาลที่มีอำนาจ จำเลยฎีกาได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 11985/2555 ศาลชั้นต้นเห็นว่า
การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ
พิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คดีไม่อยู่ในเขตอำนาจของศาลชั้นต้นพิพากษายกคำพิพากษาและคำสั่งศาลชั้นต้นที่ประทับรับฟ้อง
ให้คืนฟ้องโจทก์เพื่อให้นำไปดำเนินคดีในศาลที่มีอำนาจ
มีผลเท่ากับศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง จำเลยฎีกาไม่ได้ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและปัญหาข้อกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
มาตรา 220 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499
มาตรา 4
คำถาม ผู้เสียหายไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุและไม่เห็นเหตุการณ์
จะมีอำนาจที่จะจับกุมผู้กระทำความผิดหรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 4282/2555 ขณะเกิดเหตุที่จำเลยแทงผู้ตาย ผู้เสียหายไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุและไม่เห็นเหตุการณ์
โดยผู้เสียหายยืนอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 50 เมตร มองไม่เห็นที่เกิดเหตุเพราะมีร้านค้าบังอยู่
ผู้เสียหายซึ่งเป็นราษฎรจึงไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะจับกุมจำเลยได้ เพราะมิใช่เป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้าตาม ป.วิ.อ.มาตรา 79
การที่ผู้เสียหายจะจับจำเลยและใช้ไม้กระบองฟาดไปที่หลังจำเลย
จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตนเองได้
แต่การที่จำเลยจับไม้กระบองผู้เสียหายไว้แล้วใช้มีดแทงผู้เสียหายไปถึง 3 ครั้งที่ชายโครงซึ่งเป็นอวัยวะสำคัญ
และอาจทำให้ผู้เสียหายถึงแก่ความตายได้ กาารกระทำขอองงจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ
คำถาม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันสามสำนวน
หากผู้เสียหายทั้งสามสำนวนยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการเพียงบางสำนวน
ผู้เสียหายจะมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ในสำนวนที่ตนไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 4562/2555 การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันกับอีก
2 คดี โดยโจทก์ร่วมที่ 3
ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในสำนวนคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 4249/2546 ของศาลชั้นต้น ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5
แต่โจทก์ร่วมที่ 1 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ในสำนวนคดีนี้ซึ่งโจทก์ฟ้องจำเลยที่
7 ดังนั้น แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้พิจารณาพิพากษารวมกันสามสำนวน และโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายทั้งสามสำนวนก็ตาม
เมื่อโจทก์ร่วมที่ 3 ไม่ได้ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีอาญาสำนวนนี้ซึ่งพนักงานอัยการยื่นฟ้องจำเลยที่
7 ต่อศาลตาม ป.วิ.อ.มาตรา 30 โจทก์ร่วมที่ 3 จึงไม่ใช่โจทก์ร่วมในสำนวนคดีนี้
โจทก์ร่วมที่ 3 อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 7 ไม่ได้ ส่วนการที่ศาลชั้นต้นสั่งให้รวมการพิจารณาพิพากษาคดีนี้กับอีก
2 คดี เป็นอำนาจของศาลตาม ป.วิ.อ.มาตรา 25 ซึ่งเป็นคนละเรื่องแยกต่างหากจากกัน
ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมที่ 3
ในสำนวนคดีนี้ซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 7 ชอบแล้ว
คำถาม ศาลพิพากษายกฟ้องเพราะโจทก์ไม่ได้ลงลายมือชื่อในฟ้องและคดีถึงที่สุด
โจทก์จะนำคดีมาฟ้องใหม่ได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 3510/2555 ความผิดตามฟ้องคดีนี้โจทก์เคยฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นมาแล้วและศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสอง
แต่ต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำพิพากษายกฟ้องคดีดังกล่าวเพราะโจทก์มิได้ลงลายมือชื่อในฟ้องและคดีถึงที่สุด
ดังนี้ จึงถือไม่ได้ว่า ความผิดตามฟ้องคดีนี้
ศาลในคดีก่อนได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องแล้วตามความใน ป.วิ.อ.
มาตรา 39 (4) สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์คดีนี้ยังไม่ระงับไปตามบทบัญญัติดังกล่าว
คำถาม สิทธิในการนำคดีมาฟ้องในคดีนี้ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกันกับคดีก่อนระงับไปตาม
ป.วิ.อ.มาตรา 39 เป็นเหตุในลักษณะคดีตามมาตรา 213 หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 5410/2555 จำเลยที่ 3 ร่วมกันรับรถจักรยานยนต์ของกลางคดีนี้และรถจักรยานยนต์ในคดีหมายเลขแดงที่
1111/2548 ของศาลจังหวัดราชบุรี ไว้ในคราวเดียวกัน จึงเป็นการกระทำความผิดฐานร่วมกันรับของโจรเพียงกรรมเดียว
เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 7 มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3
ในคดีดังกล่าวแล้ว สิทธิในการนำคดีมาฟ้องในคดีนี้ซึ่งเป็นความผิดกรรมเดียวกันจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา
39 (4) และเป็นเหตุลักษณะคดี ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาตลอดไปจนถึงจำเลยที่ 2
ซึ่งมิได้ฎีกาด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213 ประกอบมาตรา 225
คำถาม การพิพากษาคดีอาญา
ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีอาญาอื่นหรือไม่
หากไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยจะมีสิทธิยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทน แก่ตนตาม ป.วิ.อ.มาตรา 44/1 ได้หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 4928/2555 ในการพิพากษาคดีอาญาหาได้มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้ศาลจำต้องถือตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีอาญาคดีอื่น
เพราะคดีอาญาโจทก์ต้องมีหน้าที่นำสืบข้อเท็จจริงที่กล่าวหานั้นจึงจะฟังลงโทษจำเลยได้
ข้อเท็จจริงในคดีอาญาจะมีผลผูกพันคดีอื่นได้ก็เฉพาะที่บัญญัติไว้ใน
ป.วิ.อ.มาตรา 46 เท่านั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาของศาลแขวงสงขลาไม่ผูกพันในคดีนี้ ศาลก็ย่อมวินิจฉัยข้อเท็จจริงในคดีนี้ตามที่ปรากฏในสำนวน
ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 9 ฟังข้อเท็จจริงในคดีอาญาของศาลแขวงสงขลาแล้ววินิจฉัยว่า
โจทก์ร่วมกับจำเลยที่ 1 สมัครใจทะเลาะวิวาทกัน
โจทก์ร่วมทำร้ายร่างกายจำเลยที่ 1 โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายจึงเป็นการไม่ชอบ
เมื่อจำเลยที่
1 กับโจทก์ร่วมมีสาเหตุกันมาก่อนแล้ว จำเลยที่ 1 เป็นฝ่ายลงมือชกต่อยโจทก์ร่วมโดยผ่านช่องกระจกรถก่อน
โจทก์ร่วมย่อมต้องตอบโต้การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเชื่อว่าโจทก์ร่วมใช้ประตูรถกระแทกจำเลยที่ 1
และออกจากรถไปชกต่อยกับจำเลยที่ 1 พฤติการณ์ของโจทก์ร่วมจึงฟังได้ว่าโจทก์ร่วมสมัครใจทะเลาะวิวาทกับจำเลยที่
1 โจทก์ร่วมจึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัยและไม่มีสิทธิยื่นคำร้องตาม ป.วิ.อ.มาตรา
44/1
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น