คำถาม
การเอาทรัพย์ไปจากความครอบครองของผู้ลักทรัพย์อีกต่อหนึ่งโดยทุจริตจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่
คำตอบ มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1785/2554
การที่จำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสิทธิพรที่ลักทรัพย์มาจากผู้เสียหายอีกต่อหนึ่งโดยทุจริตจะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่
เห็นว่า ความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 334 และ 335 เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา กล่าวคือเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ในทางอาญาและละเมิดในทางแพ่ง
เมื่อพนักงานอัยการยื่นฟ้องคดีอาญา
กฎหมายให้เรียกทรัพย์สินหรือราคาคืนแทนผู้เสียหายด้วย
หากพนักงานอัยการไม่เรียกให้ ผู้เสียหายก็มีสิทธิที่จะฟ้องทางแพ่งจากผู้ที่ลักทรัพย์ไปได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา
43, 44 และ 45
เพื่อให้ผู้ลักทรัพย์คืนทรัพย์สินที่ลักไปพร้อมค่าเสียหาย
หากไม่สามารถคืนได้อาจเป็นเพราะทรัพย์สินสูญหายหรือบุบสลายเสียหายไปจนใช้การไม่ได้
ผู้ที่ลักทรัพย์ไปก็ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือราคาทรัพย์สินและค่าเสียหาย
ดังนั้น ผู้ที่ลักทรัพย์ไปจึงมีสิทธิครอบครองดูแลทรัพย์ที่ลักไปไว้เพื่อคืนแก่ผู้เสียหาย
เพราะถ้าทรัพย์สินสูญหายหรือบุบสลายก็จะต้องผิดต่อผู้เสียหายในทางแพ่งดังกล่าว
การที่จำเลยเอารถจักรยานยนต์ไปจากนายสุทธิพรโดยทุจริต
แม้เป็นการเอาไปจากการครองครองของนายสุทธิพรที่ลักทรัพย์มาจากผู้เสียหายอีกต่อหนึ่ง จึงมีความผิดฐานลักทรัพย์
มีหมายเหตุท้ายคำพิพากษาฎีกานี้โดยอาจารย์ สมชัย ฑีฆาอุตมากรว่า จำเลยลักเอารถจักรยานยนต์ไปจาก ส.
ซึ่งลักมาจากผู้เสียหาย แม้ ส. มิใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ แต่ ส.
ก็เป็นผู้ที่ยึดถือไว้โดยเจตราจะยึดถือเพื่อตน
จึงเป็นผู้ครอบครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1367 เพียงแต่ ส.
ซึ่งไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้อาจถูกผู้เสียหายซึ่งเป็นเจ้าของติดตามเอาคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา
1336 จำเลยย่อมไม่มีสิทธิ์ดีไปกว่า
ส. เมื่อจำเลยลักเอาไปจาก ส. จำเลยจึงมีความผิดฐานลักรถจักรยานยนต์ที่อยู่ในความครอบครองของ
ส. เพราะความผิดฐานลักทรัพย์นอกจากกฎหมายคุ้มครองกรรมสิทธิ์แล้ว
ยังคุ้มครองถึงสิทธิครอบครองด้วย
คำถาม
ใช้มีดดาบไล่ฟันทำร้ายผู้อื่น
ผู้ถูกไล่ฟันวิ่งหลบหนีกระโดยลงน้ำจนถึงแก่ความตายผู้กระทำจะมีความผิดฐานใด
คำตอบ
มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 9413/2552 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 290
วรรคแรกเป็นบทบัญญัติให้รับโทษหนักขึ้นแตกต่างจากความผิดฐานทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจ หรือความผิดฐานทำร้ายร่างกายจนเป็นเหตุให้ผู้ถูกทำร้ายรับอันตรายสาหัส
ตลอดจนผิดฐานใช้กำลังทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตามมาตรา
295, 297 และ 391 ตามลำดับ
อันแสดงให้เห็นถึงกฎหมายเจตนาให้ผู้กระทำต้องรับโทษตามผลของการกระทำนั้นแตกต่างไปตามความหนักเบาของผลที่เกิดขึ้น เมื่อจำเลยที่ 2 ใช้มีดดาบไล่ฟันผู้ตายอันเป็นการทำร้ายผู้ตาย
เป็นเหตุให้ผู้ตายวิ่งหลบหนีกระโดดลงน้ำจนถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการทำร้ายผู้ตายซึ่งเมื่อมิใช่โดยเจตนาฆ่าแต่เป็นเหตุทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นความผิดสำเร็จตามมาตรา 290 แล้ว
มิใช่เป็นการพยายามกระทำความผิด
คำถาม
ผู้เช่าซื้อที่ดินส่วนที่มีห้องแถวที่ตนเช่าปลูกสร้างอยู่ โดยมีข้อตกลงระหว่างกันว่า
ถ้าห้องเช่าหรือสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแนวที่ดินของผู้เช่าอื่นก็จะต้องรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำ
เมื่อผู้เช่าอื่นปลูกสร้างใหม่ กรณีดังกล่าว หากมีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำกัน
เจ้าของสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำจะอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 1312 ได้หรือไม่
คำตอบ
มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 9764/2552 ในการซื้อที่ดินจากธนาคาร โจทก์ จำเลย และผู้เช่าอื่นมีข้อตกลงระหว่างกันว่า
ผู้เช่าจะซื้อที่ดินส่วนที่มีห้องแถวที่ตนเช่าปลูกสร้างอยู่และที่ดินแต่ละแปลงให้แนวตัดตรงตามแนวโฉนดที่ดิน
ถ้าห้องเช่าหรือสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแนวที่ดินของผู้เช่าอื่น ก็จะต้องรื้อถอนส่วนที่รุกล้ำเมื่อผู้เช่าอื่นปลูกสร้างใหม่
ถ้ายังไม่มีการปลูกสร้างอาคารใหม่ก็ให้อยู่กันตามสภาพไปก่อน
ข้อตกลงดังกล่าวใช้บังคับได้และมีผลผูกพันโจทก์และจำเลย
เมื่อโจทก์และจำเลยได้ซื้อที่ดินโจทก์จะปลูกสร้างอาคารใหม่แทนห้องเช่าเดิมบนที่ดินที่ซื้อแต่มีสิ่งปลูกสร้างของจำเลยรุกล้ำเข้าไปที่ดินของโจทก์ โจทก์ได้บอกกล่าวจำเลยแล้ว
จำเลยจึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามข้อตกลงรื้อสิ่งปลูกสร้างส่วนที่รุกล้ำที่ดินของโจทก์
และเมื่อมีข้อตกลงระหว่างโจทก์และจำเลยเช่นนี้
จึงมิใช่กรณีที่ต้องนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312
มาปรับใช้ในฐานะบทกฎหมายที่ใกล้เคียงยิ่งตามมาตรา 4
คำถาม
เจ้าหนี้ที่จะฟ้องคดีเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237
จะต้องเป็นเจ้าหนี้ในขณะใดและจำเป็นต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่
คำตอบ
มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
(ก) ต้องเป็นเจ้าหนี้อยู่ก่อนหรือขณะที่ลูกหนี้ทำนิติกรรม
คำพิพากษาฎีกาที่ 533/2535
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 3
โอนให้แก่ผู้คัดค้านซึ่งเป็นบุตรชาย
โดยไม่มีค่าตอบแทนและเป็นการฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237
แต่ตามคำร้องมิได้บรรยายว่า
ลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้เจ้าหนี้รายใดเสียเปรียบ
จึงต้องถือว่าผู้ร้องขอให้เพิกถอนการโอนซึ่งจะทำให้โจทก์เสียเปรียบรายเดียวเท่านั้น
และการร้องขอตามบทกฎหมายดังกล่าวจะต้องได้ความว่า
ลูกหนี้ต้องเป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ก่อน
หรือขณะที่ลูกหนี้ทำนิติกรรมอันจะเป็นทางให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 3
เพิ่งเป็นหนี้โจทก์หลังจากได้จดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้คัดค้านไปแล้วถึง 3 ปี ขณะที่จำเลยที่ 3 โอนที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้น
โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 3
ผู้ร้องไม่มีสิทธิจะร้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 8999/2550
จำเลยที่ 1 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด น. โอนการครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ให้แก่ ค.
ตั้งแต่วันทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาท ต่อมา ค. ได้โอนการครอบครองให้จำเลยที่ 2
ซึ่งเป็นบุตรตั้งแต่ปี 2523
จำเลยที่ 2
จึงได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด น.
จะได้รับแจ้งการประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกรมสรรพากรโจทก์เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2542 จึงเป็นการทำโดยสุจริต ส่วนการที่จำเลยที่ 1
เพิ่งจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2
ภายหลังก็เพียงเพื่อมีชื่อผู้เป็นเจ้าของถูกต้องตามทะเบียน นิติกรรมที่จำเลยที่ 1 โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2
จึงไม่ได้เกิดจากการฉ้อฉล โจทก์ไม่สิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง
(ข) ไม่จำต้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา
เจ้าหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องยังมิใช่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ก็มีสิทธิฟ้องคดีเพิกถอนการฉ้อฉล
คำพิพากษาฎีกาที่ 3975/2553
การฟ้องขอให้เพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237
เป็นการให้สิทธิแก่เจ้าหนี้ที่จะสงวนไว้ซึ่งกองทรัพย์สินของลูกหนี้
เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ย่อมเป็นหลักประกันในการชำระหนี้แก่เจ้าหนี้ตาม
ป.พ.พ. มาตรา 214 ดังนั้น
เจ้าหนี้ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลเพิกถอนการฉ้อฉลจึงหมายถึงเจ้าหนี้ที่มีสิทธิเรียกให้ลูกหนี้ชำระหนี้ของตนจากทรัพย์สินของลูกหนี้และต้องเสียเปรียบจากการที่ทรัพย์สินของลูกหนี้ลดลง
ไม่พอชำระหนี้อันเนื่องมาจากการทำนิติกรรมฉ้อฉลของลูกหนี้
ไม่ว่าเจ้าหนี้ดังกล่าวจะเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาหรือไม่ก็ตาม แม้เจ้าหนี้ในหนี้ที่ยังไม่ได้มีการฟ้องร้องบังคับให้ชำระหนี้ก็มีสิทธิที่จะร้องขอให้เพิกถอนได้
เมื่อโจทก์แจ้งความดำเนินคดีอาญาและฟ้องเรียกเงินคืนจากจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1
ย่อมทราบว่าตกเป็นลูกหนี้ที่จะต้องหนี้ให้แก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา
และไม่มีทรัพย์สินอื่นที่จะให้โจทก์บังคับคดีได้อีก
นอกจากที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1
ย่อมรู้อยู่ว่าเป็นทางให้โจทก์เจ้าหนี้เสียเปรียบ
โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการฉ้อฉลนั้นเสียได้
คำถาม
ผู้ให้กู้มอบเงินกู้แก่ผู้กู้ภายหลังจากทำสัญญาจำนอง สัญญาจำนองสมบูรณ์หรือไม่
คำตอบ
มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่ 1579/2552
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
707 บัญญัติว่า “ บทบัญญัติมาตรา
681 ว่าด้วยค้ำประกันนั้น ท่านให้ใช้ได้ในการจำนองอนุโลมตามควร “
กล่าวโดยเฉพาะตามนัยมาตรา 681
ที่ว่าหนี้ที่อาจเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ในอนาคตย่อมทำสัญญาค้ำประกันได้ ดังนั้น
เมื่อโจทก์มอบเงินกู้แก่จำเลยที่
1
ภายหลังจากทำสัญญาจำนองหนี้เงินกู้ในส่วนนั้นย่อมสมบูรณ์ การจำนองเป็นประกัน
การชำระหนี้ดังกล่าวล่วงหน้าจึงบังคับแก่กันได้
คำพิพากษาฎีกาที่ 5831/2553
ข้อสัญญาในหนังสือสัญญาจำนองที่ผู้จำนองตกลงจำนองที่ดินแก่ผู้รับจำนองเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่จะมีขึ้นต่อไปในภายหน้าเป็นข้อสัญญาที่ชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 707
ประกอบมาตรา 681 วรรคสอง และใช้บังคับกันได้
นายประเสริฐ เสียงสุทธิวงศ์
บรรณาธิการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น