วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันอาทิตย์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

บทบรรณาธิการ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 7

              คำถาม   การกระทำด้วยความจำเป็นตาม ป.อ.มาตรา 67  เป็นการกระทำที่ไม่ใช่การกระทำโดยผู้กระทำมีจิตใจเป็นอิสระจริงหรือไม่  และขอดูตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาในเรื่องนี้
              คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
              คำพิพากษาฎีกาที  9738/2544  การกระทำความผิดด้วยความจำเป็นตาม ป.อ.มาตรา 67  แบ่งออกเป็น  2  ประการ  ประการแรกเป็นความจำเป็นเพราะอยู่ในที่บังคับซึ่งการบังคับหรือบงการให้กระทำที่เป็นความผิดนั้นมาจากภายนอก  ผู้ถูกบังคับมิได้คิดริเริ่มกระทำการนั้นขึ้นด้วยใจตนเองแต่เป็นเพราะไม่มีทางที่จะทำอย่างอื่นใด  อีกประการหนึ่งก็คือเป็นความจำเป็นซึ่งไม่มีการบังคับหรือบงการให้กระทำแต่มีภยันตรายที่จะต้องหลีกเลี่ยงและผู้กระทำเลือกหลีกเลี่ยงภยันตรายโดยวิธีกระทำการอันเป็นความผิดด้วยความคิดริเริ่มของตน  แม้อาจทำอย่างอื่นได้  แต่การกระทำอย่างอื่นนั้นก็ยังทำความเสียหายแก่ผู้อื่นอยู่นั่นเอง ดังนั้น  การกระทำด้วยความจำเป็นตาม ป.อ. มาตรา  67  อันเป็นมูลแห่งการยกเว้นโทษจึงไม่ใช่สิทธิ  แต่เป็นการกระทำที่ไม่ใช่การกระทำโดยผู้กระทำมีจิตใจเป็นอิสระ  แต่กระทำโดยถูกผู้อื่นหรือเหตุการณ์อื่นบังคับอีกชั้นหนึ่ง
              ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาล  และการลงโทษฐานละเมิดอำนาจศาลก็เป็นอำนาจของศาลโดยเฉพาะ  เมื่อปรากฏว่าเอกสารที่โจทก์อ้างถึงในคดีสูญหายไปจากสำนวนความของศาล ต่อมาผู้ถูกกล่าวหาได้นำเอกสารเหล่านั้นมามอบคืนศาลชั้นต้น  โดยผู้ถูกกล่าวหาเมื่อได้รับเอกสารคืนมาแล้วยังคงเก็บเอกสารดังกล่าวไว้อีก 2  ถึง 3 วัน  โดยไม่นำมาส่งคืนศาล  และการเก็บเอกสารเช่นว่านั้นก็มิได้รับอนุญาตจากศาล  การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาหาใช่เป็นเพราะอยู่ในที่บังคับหรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้  การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงมิใช่กระทำความผิดด้วยความจำเป็นอันจะทำให้ไม่ต้องรับโทษ
               คำพิพากษาฎีกาที่   8649/2549  แม้การที่จำเลยที่  2  ขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายซึ่งอายุไม่เกิน 15 ปี  และจำเลยที่ 1 ไปยังพิพิธภัณฑ์เมืองโบราณบ้านโนนเมืองเพื่อให้จำเลยที่ 1  ข่มขืนกระทำชำเราแล้วขับรถจักรยานยนต์พาผู้เสียหายไปส่งบ้าน จะถือได้ว่าเป็นการกระทำอันเป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกในการที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายโดยมีอาวุธก่อนหรือขณะที่จำเลยที่ 1 กระทำความผิด  และจำเลยที่ 2  กระทำโดยมีเจตนาครบถ้วนตามหลักเกณฑ์องค์ประกอบความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86 แล้วก็ตาม   แต่เมื่อได้ความว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดดังกล่าวด้วยความจำเป็นเพราะถูกจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธมีดลักษณะคล้ายมีดสปาต้าร์ยาวประมาณ 1 ฟุตจี้ที่คอของผู้เสียหายเลยมาถึงคอของจำเลยที่ 2  จนผู้เสียหายเกิดความกลัวว่าจะถูกทำร้ายจึงร้องบอกจำเลยที่ 2 ให้ขับรถจักรยานยนต์ต่อไปจนถึงที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและจำเลยที่ 2 ไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนให้พ้นโดยวิธีอื่นใดได้  อีกทั้งไม่ใช่ภยันตรายที่จำเลยที่ 2  เป็นผู้ก่อขึ้นเพราะความผิดของตน  การกระทำของจำเลยที่ 2  จึงเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่ 1 ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายด้วยความจำเป็นพอสมควรแก่เหตุตาม ป.อ. มาตรา 277 วรรคสาม ประกอบมาตรา 86  และมาตรา 67 (2)  จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับโทษ  ปัญหาที่ว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดด้วยความจำเป็นนั้น  แม้จำเลยที่  2 มิได้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ แต่เมื่อคดีมีเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่ควรต้องรับโทษ  ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.อ. มาตรา 185 ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 
               คำพิพากษาฎีกาที่   1750/2514  จำเลยถูกคนร้ายที่มีสมัครพรรคพวกหลายคนแต่ละคนมีอาวุธปืนครบมือ  ใช้ปืนจี้ขู่บังคับให้เอาเรือรับส่งข้ามฟากเพื่อช่วยคนร้ายให้พ้นจากการจับกุม  ดังนี้ เป็นการที่จำเลยกระทำไปเพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงขัดขืนได้  จึงเป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็น  จำเลยไม่ต้องรับโทษ
               คำพิพากษาฎีกาที่  1660/2521  มีผู้นำช้างไปล่ามไว้ใกล้กับสวนของจำเลย โดยจำเลยไม่รู้ กลางคืนช้างหลุดจากโซ่พังรั้วลวดหนามเข้าไปในสวนของจำเลย  ซึ่งมีบ้านพักของจำเลยกับคนงานปลูกอยู่  คนงานได้ยินเสียงหักข้าวโพดจึงบอกจำเลย  จำเลยถือปืนเดินไปดูกับคนงาน  จำเลยโผล่จากไร่ข้าวโพดพบช้างอยู่กลางไร่ข้าวโพดห่างประมาณ 4 วา โดยไม่ทันรู้ตัวและกำลังเดินเข้ามาหาจำเลย จำเลยเข้าใจว่าเป็นช้างป่าซึ่งมีอยู่ในป่าบริเวณไร่ของจำเลย  จึงผลักคนงานให้หลบแล้วเอาปืนยิงช้างไป  2  นัดแล้ววิ่งหนี  ดังนี้  ถือว่าการที่จำเลยยิงช้างของผู้เสียหาย เป็นการตัดสินใจโดยกระทันหันด้วยความจำเป็นเพื่อให้พ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัวจำเลยกับคนงาน   โดยจำเลยไม่สามารถหลีกเลี่ยงให้พ้นโดยวิธีอื่นได้  การกระทำของจำเลยไม่เกินสมควรแก่เหตุ  จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษฐานทำให้เสียทรัพย์
 
               คำถาม   ฟ้องขอให้เพิกถอนการซื้อขายที่ดินอ้างว่าสมคบกันจดทะเบียนโอนซื้อขายที่ดินโดยไม่สุจริต  ไม่มีการชำระราคากันจริง  เป็นเรื่องการฟ้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลตาม ป.พ.พ. มาตรา 237  หรือไม่
               คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               คำพิพากษาฎีกาที่  2041/2547  จำเลยทั้งสองสมคบกันจดทะเบียนโอนซื้อขายที่ดินพิพาทโดยไม่สุจริตและไม่มีการชำระเงินกันจริง จำเลยที่  2  ไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทที่แท้จริง  การแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองในทางทะเบียนเกี่ยวกับที่ดินพิพาท  จึงเป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กันเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา  155 วรรคหนึ่ง  และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างตาม ป.พ.พ. มาตรา 172  ก็ได้  โจทก์ทั้งสองชอบที่จะฟ้องขอให้เพิกถอนเมื่อใดก็ได้  ฟ้องโจทก์ทั้งสองมิใช่การฟ้องขอเพิกถอนการฉ้อฉลตาม  ป.พ.พ. มาตรา 237  ไม่อยู่ในบังคับที่จะต้องฟ้องภายในหนึ่งปีตาม ป.พ.พ. มาตรา 240 
 
               คำถาม   หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนนั้น  ความรับผิดระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันเองจะเป็นอย่างไร
               คำตอบ   ระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันเองต้องบังคับตามสัญญาหุ้นส่วน  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               คำพิพากษาฎีกาที่  5844/2537   โจทก์ฟ้องว่าโจทก์จำเลยได้ร่วมกันประกอบกิจการค้าโดยจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด  มีโจทก์เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์จำเลยลงหุ้นเป็นเงินสดคนละ 245,000  บาท  ในการดำเนินกิจการของห้างหุ้นส่วนดังกล่าว จำเลยสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน  ต่อมา โจทก์จำเลยตกลงหยุดกิจการแต่มิได้จดทะเบียนเลิกห้างหุ้นส่วน โจทก์จำเลยตกลงแบ่งทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนกันไปแล้ว  ต่อมากรมสรรพากรแจ้งให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลพร้อมเบี้ยปรับเป็นจำนวนรวมทั้งสิ้น  1,729,008 บาท โจทก์ได้ผ่อนชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่กรมสรรพากรไปแล้ว  จำเลยจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าภาษีเงินได้นิติบุคคลดังกล่าวครึ่งหนึ่ง  เป็นเงินจำนวน 864,504  บาท
              จำเลยให้การว่า   จำเลยเป็นหุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัดโดยรับผิดไม่เกินจำนวนเงินที่จำเลยลงหุ้นคือ 245,000 บาท  หากจะฟังว่าจำเลยสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนก็เป็นเรื่องที่จำเลยต้องร่วมรับผิดชำระหนี้ต่อบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดจำนวน แต่ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกัน  จำเลยต้องรับผิดไม่เกินจำนวนที่ลงหุ้น
              ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า  เห็นว่าการที่กฎหมายบัญญัติไว้ดังกล่าวก็เพื่อป้องกันมิให้ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วน เพราะหน้าที่ดังกล่าวเป็นของหุ้นส่วนผู้จัดการซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด  ซึ่งการกระทำดังกล่าวอาจก่อให้เกิดหนี้ระหว่างห้างหุ้นส่วนกับบุคคลภายนอกได้ ฉะนั้นหากหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดสอดเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างหุ้นส่วนก็ต้องรับผิดชอบต่อบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดจำนวน  บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองบุคคลภายนอก เนื่องจากบุคคลภายนอกอาจไม่ทราบว่าผู้ใดเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการหรือผู้ใดเป็นหุ้นส่วนจำพวกใด  ส่วนระหว่างหุ้นส่วนด้วยกันเอง ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนทราบดีอยู่แล้วว่าผู้ใดเป็นหุ้นส่วนจำพวกใดและมีหน้าที่อย่างใด หากยินยอมให้มีการกระทำผิดหน้าที่  ผู้ที่ให้ความยินยอมไม่มีสิทธิจะอ้างกฎหมายมาตราดังกล่าวขึ้นบังคับผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันอย่างบุคคลภายนอกได้  กรณีของผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันต้องบังคับตามสัญญาห้างหุ้นส่วน
 
                คำถาม   ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ แต่มิได้จดทะเบียนการได้มา ซึ่งไม่อาจยกขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกที่ซื้อที่ดินนั้นมาโดยสุจริต  เสียค่าตอบแทนและได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตได้นั้น  จะมีการครอบครองปรปักษ์โดยผู้ครอบครองคนเดิมได้หรือไม่
                คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่   2595/2541   จำเลยเข้าครอบครองและปลูกบ้านอยู่ในที่ดินพิพาทมากว่า  10  ปี  จนจำเลยได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์มาก่อนที่โจทก์ได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาจาก ว. เจ้าของกรรมสิทธิ์เดิม  แม้จำเลยจะมิได้จดทะเบียนสิทธินั้น  จึงไม่อาจยกขึ้นต่อสู้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ซื้อที่ดินนั้นมาโดยสุจริตเสียค่าตอบแทน  และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตตาม ป.พ.พ. มาตรา  1299 วรรคสอง ได้ก็ตาม  แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์เองก็มีได้ดำเนินการเพื่อแสดงสิทธิดังกล่าวแก่จำเลย  กับปล่อยปละละเลยให้จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทจนกลายเป็นการครอบครอบปรปักษ์ต่อโจทก์ต่อมาอีก  ฉะนั้น เมื่อจำเลยได้ครอบครองที่ดินพิพาทต่อมานับตั้งแต่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเป็นเวลาเกินกว่า  10  ปี  จำเลยย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์  และยกขึ้นใช้ยันโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1382

                                                                                นายประเสริฐ  เสียงสุทธิวงศ์
                                                                                           บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น