วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันพฤหัสบดีที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บทบรรณาธิการ ภาค 1 สมัย 65 เล่ม 8

                  คำถาม   การรวมกลุ่มกันเพื่อจัดให้มีการเล่นการพนันในอาคารโดยการนำชื่อของบริษัทที่เป็นสำนักงานทนายความไปติดตั้งที่อาคารด้านหน้าเป็นการบังหน้า  เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจเกรงกลัวและไม่กล้าเข้าไปค้น  เป็นความผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือไม่
                  คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  3279/2554  จำเลยกับพวกมิได้มีเจตนาที่จะประกอบกิจการบริษัท อ. ในอาคารที่เกิดเหตุอย่างแท้จริง การนำชื่อของบริษัทที่เป็นสำนักงานทนายความไปติดตั้งไว้ที่อาคารด้านหน้าโดยต่อมามีการเช่าอาคารส่วนกลางและด้านหลังเพื่อการเล่นพนันไพ่บาการา  จึงมีเหตุผลที่เชื่อได้ว่าเป็นเพียงการบังหน้าเพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจเกรงกลัวและไม่กล้าเข้าไปค้น  พฤติการณ์ในการกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นการรวมกลุ่มกันเพื่อจัดให้มีการเล่นการพนันไพ่บาการาในอาคารที่เกิดเหตุ  โดยนำชื่อบริษัทซึ่งเป็นสำนักงานทนายความและชมรมมาบังหน้าเพื่อจัดให้มีการเล่นการพนันมาแต่ต้น  ย่อมเรียกได้ว่าจำเลยกับพวกเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย  อันเป็นการกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209)
                  
                 คำถาม   ปลอมใบรับรองเงินฝากของธนาคาร  โดยที่ธนาคารไม่เคยออกใบรับรองเงินฝากจึงไม่มีเอกสารที่แท้จริง จะมีความผิดฐานปลอมเอกสารตาม ป.อ.มาตรา 265 หรือไม่
                 คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
คำพิพากษาฎีกาที่  1422/2554  จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า  โจทก์ร่วมไม่เคยออกใบรับรองเงินฝากตามเอกสารหมาย จ. 4  จึงไม่มีเอกสารที่แท้จริง  เอกสารหมาย จ. 4 ไม่ใช่เอกสารสิทธิปลอมนั้น  เห็นว่า ความผิดฐานปลอมเอกสารไม่จำต้องมีเอกสารที่แท้จริงก่อน  เมื่อจำเลยที่  2 ทำปลอมใบรับรองเงินฝากเอกสารหมาย จ. 4 ขึ้นทั้งฉบับเพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงโดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์ร่วม ผู้อื่นหรือประชาชนแล้ว ใบรับรองเงินฝากเอกสารหมาย จ. 4  จึงเป็นเอกสารสิทธิปลอม

                 คำถาม   ผู้ครอบครองที่ดินแทนบุคคลอื่น  หากที่ดินดังกล่าวเป็นที่ดินกรรมสิทธิ์รวม  การบอกกล่าวเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือแก่ผู้เป็นเจ้าของรวมในที่ดิน  จะต้องบอกกล่าวแก่ผู้เป็นเจ้าของรวมทุกคนหรือไม่
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่ 3869/2554   ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีตามที่โจทก์ฎีกาเพียงประเด็นเดียวว่า  จำเลยบอกกล่าวเปลี่ยนการยึดถือแก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าของรวม โดยไม่ได้บอกกล่าวแก่นาย บ. ด้วยถือเป็นการบอกกล่าวที่ชอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 1381 แล้วหรือไม่ เห็นว่า โจทก์กับนาย บ.  เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาท  โจทก์และนาย บ. คนใดคนหนึ่งย่อมมีสิทธิ์จัดการดูแลที่ดินพิพาททั้งหมด ดังนี้  การที่จำเลยบอกกล่าวแสดงเจตนาเปลี่ยนการยึดถือที่ดินพิพาทไปยังโจทก์ ก็ย่อมมีผลเป็นการบอกกล่าวที่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  1381  แล้ว  โดยไม่จำต้องบอกกล่าวไปยังเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมให้ครบทุกคน ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

                 คำถาม   ผู้ร่วมกระทำความผิดขับรถยนต์พาพวกมายังบ้านผู้เสียหาย แต่ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุและไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการพูดคุยในการติดต่อเจรจาในการนำสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีการปลอมหมายเลขว่าถูกรางวัลมาขาย  จะถือว่าเป็นตัวการหรือไม่
                 คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  225/2555   จำเลยที่  1 และที่  2 ร่วมกันกระทำความผิดโดยพูดจาหลอกลวงนำสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีการปลอมแปลงหมายเลขออกขายให้แก่ผู้เสียหาย  จำเลยที่  3 ไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพูดคุยติดต่อเจรจากับผู้เสียหาย  จึงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่  3 เป็นตัวการที่ร่วมกระทำความผิดฐานใช้สลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งเป็นเอกสารสิทธิ์ปลอม จากการที่จำเลยที่  3  เป็นผู้ขับรถยนต์พาจำเลยที่ 1  และที่  2  มายังบ้านผู้เสียหายเพื่อให้จำเลยที่  1  และที่  2  ร่วมกันหลอกลวงนำสลากกินแบ่งรัฐบาลที่มีการปลอมหมายเลขว่าถูกรางวัลมาขายเพื่อประสงค์จะเอาทรัพย์สินของผู้เสียหาย เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกแก่จำเลยที่  1  ก่อนการกระทำความผิด จำเลยที่  3 จึงเป็นผู้สนับสนุนจำเลยที่  1 ในการกระทำความผิดต้องรับโทษฐานเป็นผู้สนับสนุนตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 

                คำถาม   ในสัญญาจะซื้อขาย คู่สัญญาจะโอนสิทธิ์ของตนให้แก่บุคคลอื่นตามบทบัญญัติเรื่องการโอนสิทธิเรียกร้องได้หรือไม่
                คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  2618/2549  ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อขายดินกับโจทก์ จำเลยที่  1  ได้โอนสิทธิตามสัญญาดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 2 และได้มีการขุดดินไปจนครบถ้วนแล้วแต่โจทก์ยังไม่ได้รับเงินค่าดินอีก  1,232,650 บาท
                ปัญหาตามฎีกาของจำเลยทั้งสองมีว่า  จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายแก่โจทก์หรือไม่  ข้อตกลงตามหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายดินระหว่างจำเลยที่  1 กับจำเลยที่ 2  เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1  โอนสิทธิและหน้าที่ในการปฏิบัติตามหนังสือสัญญาจะซื้อขายที่มีอยู่แก่โจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2  มิใช่เป็นแต่เพียงโอนสิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ที่มีอยู่แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 เท่านั้น  กรณีมิใช่เรื่องการโอนสิทธิเรียกร้อง จึงไม่อาจนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 306  มาใช้บังคับได้ แต่เมื่อปรากฏว่าภายหลังจากจำเลยที่ 1  โอนสิทธิตามสัญญาดังกล่าวให้จำเลยที่ 2 แล้ว  โจทก์กับจำเลยที่ 2  ได้ทำข้อตกลงกันตามรายงานประจำวันรับแจ้งเป็นหลักฐาน  ระบุว่า โจทก์กับจำเลยที่  2  ได้ทำสัญญาซื้อขายดินกันซึ่งเป็นดินแปลงเดียวกับที่จำเลยที่ 1  ทำสัญญาจะซื้อขายกับโจทก์และจำเลยที่ 2  ได้ขุดดินของโจทก์ไปครบตามสัญญาแล้ว  จำเลยที่ 2  ยังชำระค่าดินให้แก่โจทก์ไม่ครบตามสัญญา  จำเลยที่ 2  ตกลงจะชำระค่าดินดังกล่าวแก่โจทก์ และโจทก์กับจำเลยที่ 2  ก็ได้ลงลายมือชื่อไว้ในรายงานดังกล่าวด้วย จึงถือได้ว่าข้อตกลงตามรายงานประจำวัน  เป็นสัญญาที่ทำกันขึ้นระหว่างโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้กับจำเลยที่ 2  ซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ เมื่อหนังสือโอนสิทธิตามสัญญาซื้อขายดินระหว่างจำเลยที่ 1  กับจำเลยที่ 2  ระบุให้จำเลยที่  2  จะได้แจ้งเรื่องการโอนสิทธิดังกล่าวไปยังโจทก์ให้ทราบเรื่องและปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายกันต่อไป  สัญญาที่ทำกันระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2  ที่ว่านี้จึงหาได้ทำโดยขืนใจจำเลยที่  1 ซึ่งเป็นลูกหนี้เดิมไม่  ย่อมมีผลให้เป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้โดยทำเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่  2  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  350 ซึ่งทำให้หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่  1  ตามสัญญาจะซื้อขายดิน  เป็นอันระงับสิ้นไปตามมาตรา  349 แล้ว  โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยที่ 1  รับผิดตามสัญญาดังกล่าวได้
                คำพิพากษาฎีกาที่  6494/2541  สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่าง พ. กับจำเลยเป็นสัญญาต่างตอบแทน ทั้งสองฝ่ายต่างมีฐานะเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้  กล่าวคือ  พ. มีฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ในการที่จะต้องโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ พ. ในขณะเดียวกัน พ. ก็มีฐานะเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้ค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างจาก พ.  แม้ว่า พ.  จะสามารถโอนสิทธิเรียกร้องในฐานะเจ้าหนี้ให้แก่บุคคลอื่นหรือโจทก์ตาม ป.พ.พ. มาตรา  306 วรรคแรก ได้ก็ตาม  แต่ พ. ก็ไม่อาจโอนหนี้ให้บุคคลอื่นหรือโจทก์มาเป็นลูกหนี้แทนโดยเพียงแต่ทำเป็นหนังสือสัญญาระหว่าง พ. กับบุคคลอื่นหรือโจทก์ เนื่องจากการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ถือเป็นการแปลงหนี้ใหม่ ซึ่งจะต้องมีการทำสัญญากันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้คนใหม่  ตาม ป.พ.พ. มาตรา 350 เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ซึ่งเป็นลูกหนี้คนใหม่ได้ทำสัญญาใหม่กับจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ หนี้ใหม่ยังไม่เกิดขึ้น โจทก์จึงไม่มีนิติสัมพันธ์กับจำเลย ไม่อาจฟ้องบังคับให้จำเลยส่งมอบที่ดินให้แก่โจทก์ได้
                 อย่างไรก็ดี หากผู้ขายได้ชำระหนี้ส่วนของตนให้แก่ผู้ซื้อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ขายย่อมอยู่ในฐานะเป็นเจ้าหนี้อย่างเดียวจึงย่อมโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่ผู้รับโอนได้
                 คำพิพากษาฎีกาที่   5574/2551   แม้สัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างระหว่าง ส.  กับจำเลยจะเป็นสัญญาต่างตอบแทน ซึ่งทั้งสองฝ่ายต่างมีฐานะเป็นเจ้าหนี้และลูกหนี้ กล่าวคือ จำเลยมีฐานะเป็นเจ้าหนี้ที่จะได้รับโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจาก ส. ซึ่งเป็นลูกหนี้ในการที่จะต้องโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่จำเลย  ในขณะเดียวกันจำเลยก็มีฐานะเป็นลูกหนี้ที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระค่าที่ดินที่จะต้องชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ ส. ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ในการที่จะได้รับชำระหนี้ค่าที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจากจำเลย  แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า  ส. ได้ชำระหนี้ในส่วนของตนให้แก่จำเลยเป็นที่เรียบร้อยแล้วก่อนที่ ส. จะโอนสิทธิเรียกร้องให้แก่โจทก์  การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่าง ส. กับโจทก์ จึงเป็นการโอนเฉพาะสิทธิเรียกร้องในฐานะเป็นเจ้าหนี้เพียงอย่างเดียว การโอนในลักษณะดังกล่าวนี้เมื่อได้ทำเป็นหนังสือและได้บอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยแล้วก็ย่อมสมบูรณ์ตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคแรก  จำเลยจึงต้องรับผิดชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

                 คำถาม   ก่อสร้างถนนและเสาไฟฟ้าอันเป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกันรุกล้ำที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต  เป็นกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา  1312  หรือไม่
                 คำตอบ    มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่   2743/2541   จำเลยที่ 1 ทำการปรับปรุงถนนบนที่ดินที่ ส. อุทิศเป็นสาธารณะประโยชน์โดยก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก และการก่อสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ตลอดแนวเขตเป็นเนื้อที่ประมาณ 15  ตารางวา และจำเลยที่ 3 ได้ปักเสาพาดสายไฟฟ้ารุกล้ำที่ดินของโจทก์ตามแนวขอบถนนจำนวน  4  ต้น โดยมี ส. เจ้าของที่ดินชี้แนวเขตในการสร้างถนนและโจทก์รู้เห็นการก่อสร้าง  ทั้งโจทก์ และ ส. ก็ยังเข้าใจว่าไม่ได้รุกล้ำที่ดินของโจทก์  การกระทำของจำเลยที่ 1  และที่  3 จึงมิได้กระทำโดยเจตนาหรือประมาทเลิ่นเล่อไม่เป็นการละเมิด แต่เป็นการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริต  โจทก์ย่อมไม่อาจขอให้รื้อถอนถนนและเสาไฟฟ้ากับเรียกค่าเสียหายจากจำเลยที่ 1  และที่  3  ได้
                  สิ่งที่จำเลยที่ 1  และที่  3  ปลูกสร้างในที่ดินของโจทก์มิใช่โรงเรือน  แต่เป็นถนนและเสาไฟฟ้าอันเป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน แม้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ปลูกสร้างรุกล้ำที่ดินของโจทก์โดยสุจริต  กรณีก็ไม่อาจนำมาตรา 1312  ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาใช้บังคับได้  เมื่อเป็นกรณีไม่มีกฎหมายใดบัญญัติไว้โดยตรง  จึงต้องอาศัยเทียบบทกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งคือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1314 ซึ่งกำหนดให้ใช้บทบัญญัติมาตรา 1310  บังคับตลอดถึงการก่อสร้างใด ๆ ซึ่งติดที่ดินด้วย  และเมื่อสิ่งปลูกสร้างคดีนี้เป็นสาธารณูปโภคสำหรับประชาชนใช้ร่วมกัน  ซึ่งโจทก์ไม่อาจเป็นเจ้าของได้ โจทก์จึงคงมีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 และที่  3 ซื้อที่ดินนั้นตามราคาตลาดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา  1310 วรรคสอง

                                                                             นายประเสริฐ   เสียงสุทธิวงศ์
                                                                                         บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น