วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค2 สมัยที่65 เล่ม2

                                          บทบรรณาธิการ
                      คำถาม   ศาลในคดีอาญาพิพากษาว่า  พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่า  จำเลยกระทำความผิดหรือไม่  จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย  ดังนี้  ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ได้กระทำความผิดหรือไม่
                      คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
           คำพิพากษาฎีกาที่ 349/2555  คดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา  การพิพากษาคดีส่วนแพ่งจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 793/2549 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาว่า  พยานหลักฐานของโจทก์เท่าที่นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลย  เป็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงอันเป็นประเด็นแห่งคดีไว้แน่นอนแล้วว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมาสืบให้ศาลเห็นโดยชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำความผิด  ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง  ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฎในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 47 จะบัญญัติว่า คำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรับฟังข้อเท็จจริงขัดแย้งกับข้อเท็จจริงในคำพิพากษาส่วนอาญาได้ ในคดีแพ่งจึงต้องฟังข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาคดีส่วนอาญาว่าจำเลยไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ 
         คำถาม  คำฟ้องมิได้ระบุถึงวันที่หรือเวลาที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิด แต่ตอนท้ายของคำฟ้องบรรยายว่า จำเลยถูกควบคุมตั้งแต่วันถูกจับตลอดมา ขณะนี้ต้องขังอยู่ตามหมายขังของศาลนี้โดยแนบบันทึกการจับกุมซึ่งระบุวันเวลากระทำความผิดไว้ จะถือว่าคำฟ้องของโจทก์สมบูรณ์หรือไม่
                    คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                    คำพิพากษาฎีกาที่  1568/2554  ตาม ป.วิ.อ.มาตรา  158 (5)  บัญญัติให้ฟ้องต้องมีการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดเกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ พอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี  แม้คำฟ้องของโจทก์คดีนี้มิได้ระบุถึงวันที่หรือเวลาที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิด  แต่ในตอนท้ายของคำฟ้องโจทก์ได้บรรยายว่าระหว่างสอบสวนจำเลยถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันถูกจับตลอดมา  ขณะนี้จำเลยต้องขังอยู่ตามหมายขังของศาลนี้  ในคดีหมายเลขดำที่ ฝ.149/2551  โดยได้แนบบันทึกการจับกุมจำเลยระบุถึงวันเวลาที่จับกุมและพฤติการณ์ในการกระทำความผิดว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551  เวลา 6.30 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจพบต้นกัญชา 1 ต้น สูงประมาณ 1.65 เมตร ปลูกอยู่ใกล้รั้วข้างบ้าน จำเลยยอมรับว่าเป็นของตนจริงจึงจับกุมจำเลย ซึ่งพออนุโลมได้ว่าเป็นส่วนประกอบของคำฟ้อง  เมื่อปรากฏว่าในสำนวนคดีหมายเลขดำที่  ฝ.149/2551 ซึ่งติดอยู่ตอนหน้าของสำนวนคดีนี้นั้น  ตามคำร้องของพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจ ภูธรศรีวิชัยที่ขอฝากขังจำเลยในขณะเป็นผู้ต้องหาได้ระบุว่า เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2551 เวลาประมาณ 6 นาฬิกาเศษ เจ้าพนักงานตำรวจตรวจพบต้นกัญชาสด อายุประมาณ 3 เดือน สูงประมาณ 165 เซนติเมตร จำนวน 1 ต้น ปลูกอยู่บริเวณหลังบ้าน จำเลยรับว่าเป็นผู้ปลูกและเป็นเจ้าของต้นกัญชาดังกล่าว จึงแจ้งข้อหาและจับกุมจำเลย ซึ่งจำเลยไม่ค้านจำเลยย่อมจะเข้าใจได้ดีว่าวันที่หรือเวลาที่อ้างว่าจำเลยกระทำความผิดคือเมื่อใด จึงให้การรับสารภาพ  ดังนี้  คำฟ้องของโจทก์สมบูรณ์ ชอบด้วย ป.วิ.อ.มาตรา 158 (5) แล้ว
                    คำถาม   คดีความผิดต่อส่วนตัวซึ่งอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล   ผู้เสียหายจะถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้หรือไม่
                    คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               คำพิพากษาฎีกาที่  1852/2555  การถอนคำร้องทุกข์เป็นสิทธิของผู้เสียหาย  เมื่อได้ถอนคำร้องทุกข์แล้ว สิทธิที่ผู้เสียหายเองก็ดี  หรือพนักงานอัยการก็ดี  ที่จะนำความผิดอันยอมความได้มาฟ้องผู้กระทำผิดย่อมเป็นอันระงับไป  ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (2) ซึ่งการขอถอนคำร้องทุกข์  ผู้เสียหายที่ 1 และโจทก์ร่วมย่อมถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนหรือต่อพนักงานอัยการหรือต่อศาลก็ได้  แม้ขณะคดีจะอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล ก็ไม่มีบทบัญญัติกฎหมายใดกำหนดให้ผู้เสียหายต้องถอนคำร้องทุกข์ต่อศาลเท่านั้น เมื่อผู้เสียหายที่ 1 และโจทก์ร่วมขอถอนคำร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนโดยชอบแล้วขณะคดีอยู่ในระหว่างพิจารณาของศาล สิทธินำคดีในความผิดอันยอมความได้มาฟ้องจำเลยย่อมเป็นอันระงับไป
                   คำถาม   ถ้อยคำอื่น ๆ ที่ประกอบในรายละเอียดของบันทึกการจับกุม  ศาลรับฟังเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่
                   คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                   คำพิพากษาฎีกาที่  312/2555  ศาลไม่ได้รับฟังคำให้การรับสารภาพของจำเลยทั้งสามว่าได้กระทำความผิดในชั้นจับกุมมารับฟังให้เป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสาม  เพียงแต่รับฟังถ้อยคำอื่น ๆ ที่ประกอบในรายละเอียดของบันทึกการจับกุมเกี่ยวกับการติดต่อนำเงินมาใช้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนของเจ้าพนักงานตำรวจเท่านั้น  ซึ่งไม่มีกฎหมายห้ามมิให้รับฟัง
                  คำถาม   โทษจำคุกไม่เกินหกเดือนที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจลงแก่จำเลยตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 หมายถึงโทษจำคุกแต่ละกระทง หรือทุกกระทงรวมกัน
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  5868/2554  พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 บัญญัติว่า ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้นดังต่อไปนี้ (5) พิจารณาพิพากษาคดีอาญา ซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างสูงไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แต่จะลงโทษจำคุกเกินหกเดือน หรือทั้งสองอย่างเกินอัตราที่กล่าวแล้วไม่ได้ ตามบทบัญญัติดังกล่าวโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ที่ผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจลงแก่จำเลยตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรมมาตรา 25 (5) นั้น หมายถึงโทษจำคุกแต่ละกระทงที่จะลงแก่จำเลยโดยไม่คำนึงถึงว่าเมื่อรวมโทษจำคุกทุกกระทงแล้ว โทษจำคุกเกินกว่า 6 เดือนหรือไม่  คดีนี้ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงโดยผู้พิพากษาคนเดียวพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 4 เดือนจึงเป็นการลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (5)
        คำถาม   ฟ้องแย้งที่อาศัยเหตุแห่งการฟ้องของโจทก์มาเป็นข้อกล่าวอ้างถือว่าเกี่ยวกับคำฟ้องเดิมหรือไม่
                  คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้  ดังนี้
                  คำพิพากษาฎีกาที่  5224/2554  แม้ ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม รับรองให้จำเลยฟ้องแย้งมาในคำให้การได้ แต่มีเงื่อนไขว่าหากฟ้องแย้งเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมก็ให้ศาลสั่งให้จำเลยฟ้องเป็นคดีต่างหาก จำเลยอาศัยเหตุที่โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกหนี้เงินกู้และบังคับจำนองเป็นข้ออ้างว่าทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย  มูลกรณีที่จำเลยกล่าวอ้างเป็นเรื่องที่โจทก์หาเหตุแกล้งฟ้องร้องจำเลยโดยไม่มีมูลอันเป็นเรื่องละเมิด ไม่เกี่ยวข้องกับคำฟ้องเดิมที่โจทก์ขอให้บังคับให้จำเลยรับผิดตามเนื้อความในสัญญา จำเลยชอบที่จะฟ้องร้องเป็นคดีใหม่ต่างหาก ไม่อาจขอรวมมาในคำให้การได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสาม
                 คำพิพากษาฎีกาที่  8143/2549  โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาจ้างทำของ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยชำระค่าจ้างแก่โจทก์ครบถ้วนแล้ว โจทก์นำความอันเป็นเท็จมาฟ้องทำให้จำเลยเสียหาย  ขอให้บังคับโจทก์ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยอันเป็นเรื่องละเมิด สภาพแห่งข้อหาและข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องและฟ้องแย้งเป็นคนละเรื่อง คนละเหตุ ไม่เกี่ยวข้องกัน ฟ้องแย้งของจำเลยจึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม
                 คำพิพากษาฎีกาที่  465/2551  ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 4  ที่กล่าวอ้างใช้สิทธิทางศาลอันเนื่องมาจากการที่โจทก์กระทำละเมิดต่อจำเลยที่ 4  เพราะโจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตเอาความเท็จมาฟ้องต่อศาล เป็นฟ้องแย้งที่อาศัยเหตุแห่งการฟ้องของโจทก์มาเป็นข้อกล่าวอ้าง ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับฟ้องเดิม จึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม
                 คำพิพากษาฎีกาที่  11317/2553   ฟ้องแย้งของจำเลยที่ขอให้บังคับโจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย 50,000 บาท แก่จำเลย โดยอ้างว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้โดยไม่สุจริต ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เพราะสูญเสียรายได้เนื่องจากต้องเก็บสินค้าที่วางจำหน่ายในท้องตลาดตามคำสั่งของกรมทรัพย์สินทางปัญญาในระหว่างรอฟังผลของคดี  เป็นการฟ้องแย้งโดยอาศัยเหตุที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้เป็นข้ออ้างในการฟ้องแย้ง  จึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาและชี้ขาดตัดสินเข้าด้วยกันได้ เป็นฟ้องแย้งที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม และมาตรา 179 วรรคท้าย
                 คำพิพากษาฎีกาที่  2504/2554  โจทก์ฟ้องหย่าจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 เป็นชู้กับจำเลยที่ 2 พร้อมเรียกค่าทดแทนจากจำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1523 ซึ่งเป็นเรื่องการสิ้นสุดแห่งการสมรส ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 ที่ว่า โจทก์เอาความเท็จมาฟ้องร้องดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริตและการที่โจทก์ไปร้องเรียนต่อผู้บังคับบัญชาของจำเลยที่ 2 ทำให้จำเลยที่ 2 ถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยและหากคณะกรรมการหลงเชื่อจะทำให้จำเลยที่ 2 ถูกออกจากงานและเสื่อมเสียชื่อเสียงจึงให้โจทก์ชดใช้ค่าเสียหาย เป็นคดีอันเกิดแต่มูลละเมิดซึ่งไม่ได้อาศัยเหตุแห่งการหย่าและการเรียกค่าทดแทนตามฟ้องเดิมเป็นมูลหนี้ แต่เป็นการอ้างการกระทำอีกตอนหนึ่งของโจทก์อันเป็นคนละเรื่องคนละประเด็นแตกต่างกันกับคำฟ้องเดิม  ฟ้องแย้งของจำเลยที่ 2 จึงไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิมไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสาม ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 6
                 คำถาม   การรับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงในคำร้องขอให้รับรองอุทธรณ์ไม่มีข้อความยืนยันว่ารับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้  หากผู้พิพากษาคนเดียวกันได้มีคำสั่งในอุทธรณ์มีข้อความยืนยันรับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ จะถือเป็นการรับรองโดยชอบแล้วหรือไม่
                 คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  6912/2554   คดีนี้มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์ 44,524 บาท จำเลยอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลชั้นต้น อันเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224  วรรคหนึ่ง  หลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว ภายในกำหนดระยะเวลาอุทธรณ์จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นรับรองอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ผู้พิพากษาที่นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นมีคำสั่งคำร้องดังกล่าวว่า  พิเคราะห์แล้ว  มีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้  และมีคำสั่งในอุทธรณ์ในวันเดียวกันว่า ศาลรับรองให้จำเลยอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้ รับอุทธรณ์ของจำเลย....  ซึ่งการรับรองอุทธรณ์ของผู้อุทธรณ์ว่ามีเหตุอันควรอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้นั้นต้องเป็นการรับรองโดยชัดแจ้ง แม้คำสั่งของศาลชั้นต้นที่สั่งในคำร้องขอให้รับรองอุทธรณ์จะไม่มีข้อความยืนยันว่าตนรับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้  แต่ในขณะเดียวกันศาลชั้นต้นโดยผู้พิพากษานายเดียวกันได้มีคำสั่งในอุทธรณ์ของจำเลยมีข้อความยืนยันรับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริงได้  เมื่อนำคำสั่งศาลชั้นต้นทั้งในคำร้องและอุทธรณ์มาพิจารณาประกอบกันแล้ว รับฟังได้ว่าคำรับรองอุทธรณ์ของศาลชั้นต้นมีข้อความที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการรับรองให้อุทธรณ์ในข้อเท็จจริง จึงถือว่าเป็นการรับรองอุทธรณ์โดยชัดแจ้งแล้ว

                                                     
                                                                                  นายประเสริฐ   เสียงสุทธิวงศ์
                                                                           บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น