วิชา พระธรรมนูญศาลยุติธรรม , พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ.2499 ,พ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2534 สามารถค้นหาคำพิพากษาฎีกาภายใน 1o ปี หลังสุดได้แล้วครับ จะเร่งเพิ่มวิชาต่อไปให้เสร็จตามมาเรื่อยๆครับ

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา

จำหน่ายเอกสารรวมคำพิพากษาฎีกา 10 ปี ล่าสุด แยกเป็นรายวิชา
www.lawbooks-by-mrt.blogspot.com

วันอังคารที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

บทบรรณาธิการ ภาค2 สมัยที่65 เล่ม4

               คำถาม   ผู้พิพากษาคนเดียวของศาลชั้นต้น (ศาลจังหวัด)  ตรวจคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ถูกอายัดแล้วพิพากษายกคำร้องขอของผู้ร้อง เป็นการชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 หรือไม่
               
               คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
               คำพิพากษาฎีกาที่  11417/2553  ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่อายัด  ศาลชั้นต้นตรวจคำร้องของผู้ร้องแล้วมีคำสั่งว่า " กรณีการร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดมีได้เฉพาะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 288 ซึ่งเป็นการยึดทรัพย์ของลูกหนี้ที่ต้องมีการนำออกขายทอดตลาด ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่อาจร้องขอเพิกถอนให้ปล่อยทรัพย์ที่อายัด ไม่รับคำร้อง คืนค่าขึ้นศาลทั้งหมด"  คำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยอำนาจในการยื่นคำร้องของผู้ร้อง;ว่าไม่มีอำนาจตามกฎหมาย อันเป็นการวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีตามความหมายแห่ง ป.วิ.พ. มาตรา 131(2) แล้ว ซึ่งมีผลเป็นการพิพากษายกคำร้องของผู้ร้องทันที โดยมิได้มีคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้องไว้ก่อน กรณีมิใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นสั่งไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18  ดังนั้น เมื่อปรากฏว่าในการสั่งคำร้องของศาลชั้นต้นมีผู้พิพากษาคนเดียวตรวจคำร้องขอแล้วมีคำสั่งยกคำร้อง จึงเป็นการไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 24 (2) เพราะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีซึ่งต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคน  จึงเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์ ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
                  
                 คำถาม   จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์มิได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัดตาม ป.วิ.พ. มาตรา 198 วรรคสอง ศาลชั้นต้นจะต้องจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความเสมอไปหรือไม่
                  
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่   10330 – 10331/2553   ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา  198 วรรคสอง บัญญัติให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ อย่างไรก็ดีแม้บทบัญญัติดังกล่าวจะใช้คำว่า “ ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีนั้นเสียจากสารบบความ “  เพื่อเป็นมาตรการมิให้บุคคลผู้ยื่นคำฟ้องปล่อยปละละเลยไม่ดำเนินคดีภายในเวลาที่กฎหมายกำหนดก็ตาม แต่ก็มิใช่บทบังคับศาลที่จะต้องจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความเสมอไป ศาลมีอำนาจที่จะใช้ดุลพินิจที่จะสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ก็ได้โดยพิจารณาตามพฤติการณ์แห่งคดีเป็นราย ๆ ไป   ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2  ฟ้องแย้งผู้ร้อง มาในคำร้องคัดค้านในเรื่องเกี่ยวกับคำร้องขอเดิมของผู้ร้องแสดงให้เห็นเจตนารมณ์ของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ว่ายังมีความประสงค์ที่จะดำเนินคดี นอกจากนี้ยังปรากฏข้อเท็จจริงต่อไปว่า ผู้ร้องได้โต้แย้งคำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับการรับฟ้องแย้งของผู้คัดค้านที่  1  และที่ 2 ว่าไม่ถูกต้อง อันอาจเป็นเหตุทำให้ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2  เห็นว่าต้องรอคำสั่งศาลชั้นต้นในเรื่องดังกล่าวก่อน พฤติการณ์ของผู้คัดค้านที่  1 และที่ 2  ถือได้ว่ามีเหตุสมควรที่ศาลชั้นต้นไม่จำหน่ายคดีในส่วนฟ้องแย้งของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ออกเสียจากสารบบความ ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำสั่งจำหน่ายคดีจึงไม่ใช่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ
                         
                คำถาม  คดีฟ้องให้ชำระหนี้ตามสัญญากู้ จำเลยยอมรับว่ากู้จริง  แต่ต่อสู้ว่าได้ชำระหนี้โจทก์ครบถ้วนแล้ว  ฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์
                         
                คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  5717/2552  ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2542 จำเลยทำสัญญากู้ยืมเงินจากโจทก์  300,000 บาท โดยตกลงผ่อนชำระคืนให้แก่โจทก์เดือนละ 13,000 บาท ภายในวันที่ 5 ของทุกเดือน ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อจำเลยรับว่าได้กู้ยืมเงินไปจากโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินจริง แต่ต่อสู้ว่าได้ชำระหนี้ให้โจทก์ครบถ้วนแล้ว  ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยตาม ป.วิ.พ.มาตรา 84/1
                         
                คำถาม   กรณีทิ้งฟ้องกฎหมายบังคับว่า ศาลต้องจำหน่ายคดีทุนทรัพย์หรือไม่
                         
                คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้ 
                คำพิพากษาฎีกาที่  414/2553  ในกรณีที่โจทก์ทิ้งฟ้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 174 (2)  ศาลมีอำนาจสั่งจำหน่ายคดีเสียจากสารบบความได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 132 (1) แต่บทบัญญัติมาตรา 132 (1) นี้มิได้บังคับเด็ดขาดว่า ศาลต้องจำหน่ายคดีทุกกรณี แต่ให้ศาลใช้ดุลพินิจว่าจะมีคำสั่งจำหน่ายคดีหรือไม่ก็ได้ ที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจไม่จำหน่ายคดีแล้ว กำหนดเวลาให้โจทก์นำเงินมาเสียค่าขึ้นศาลใหม่ จึงชอบแล้ว
                         
                คำถาม   คดีฟ้องขอแบ่งที่ดินกรรมสิทธิ์รวม หากจำเลยยอมรับว่าโจทก์เป็นเจ้าของรวม แต่อ้างว่าโจทก์มีส่วนในที่ดินไม่ถึงกึ่งหนึ่ง ฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์
                         
                คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                คำพิพากษาฎีกาที่  9324/2553  จำเลยให้การรับว่าโจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่  241 ด้วย โจทก์จึงย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ. มาตรา 1357  ที่ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า  ผู้เป็นเจ้าของรวมกันมีส่วนเท่ากัน จำเลยซึ่งอ้างว่าโจทก์มีส่วนในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) เลขที่ 241 เพียง 3 งาน จึงมีภาระการพิสูจน์ ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้โจทก์มีภาระการพิสูจน์ในประเด็นนี้จึงไม่ถูกต้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้
                        
                 คำถาม   บุคคลผู้มีชื่อในโฉนดที่ดินกับบุคคลที่อ้างว่าได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินโดยการครอบครองปรปักษ์ ฝ่ายใดมีภาระการพิสูจน์
                         
                 คำตอบ   มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  3558/2553 ป.พ.พ. มาตรา 1373 บัญญัติว่า  ถ้าทรัพย์สินเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน  ท่านให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบุคคลผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่โจทก์มีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดิน โจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวว่าเป็นโจทก์ เมื่อจำเลยทั้งสองอ้างว่าจำเลยทั้งสองได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโดยการครอบครองปรปักษ์ จึงเป็นหน้าที่ของจำเลยทั้งสองที่จะต้องนำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ภาระการพิสูจน์จึงตกแก่จำเลยทั้งสอง ที่จำเลยทั้งสองอ้าง ป.พ.พ. มาตรา 1367 ที่บัญญัติว่าบุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครองนั้น  มาตรา 1367  เป็นบทบัญญัติทั่วไป เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดที่ดินซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน  ซึ่งกฎหมายต้องการให้แสดงออกซึ่งกรรมสิทธิ์ในทางทะเบียนยิ่งกว่าการครอบครองจึงต้องบังคับตามมาตรา 1373  ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยทั้งสองมีภาระการพิสูจน์ในประเด็นดังกล่าวจึงชอบแล้ว
                          
                 คำถาม   ค่าทนายความซึ่งคู่ความที่เป็นฝ่ายแพ้คดีจะต้องรับผิดตามคำพิพากษาจะขอทุเลาการบังคับคดีได้หรือไม่  และหากผู้อุทธรณ์ไม่วางเงินค่าทนายความดังกล่าว ศาลจะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ทันทีได้หรือไม่
                
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  12104/2553  ค่าทนายความที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ชำระแก่จำเลยที่ 1 เป็นความรับผิดในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ผู้ฎีกาจะต้องปฏิบัติตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 หาใช่หนี้ตามคำพิพากษาในเนื่อหาคดี  อันโจทก์จะพึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอทุเลาการบังคับคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 231 วรรคหนึ่ง ได้ไม่  ดังนั้น การที่โจทก์ยื่นฎีกาโดยจงใจนำเพียงค่าธรรมเนียม (ค่าขึ้นศาล) ตามที่จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาในชั้นอุทธรณ์มาวางศาลตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์พร้อมกับฎีกา โดยมิได้วางค่าทนายความที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ชำระแก่จำเลยที่ 1 จึงเป็นการยื่นฎีกาโดยมิชอบตาม ป.วิ.พ. มาตรา 229 ชอบที่ศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งไม่รับฎีกาได้ทันที เพราะมิใช่กรณีที่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาไม่ครบถ้วนที่ศาลชั้นต้นซึ่งมีหน้าที่ตรวจคำคู่ความจะต้องมีคำสั่งให้โจทก์ชำระให้ครบถ้วนภายในกำหนดระยะเวลาตามที่เห็นสมควรเสียก่อนตาม ป.วิ.พ.มาตรา 18 วรรคสอง

                 คำถาม  คำให้การที่ขัดแย้งกันเองหรือคำให้การไม่ชัดแจ้งผลจะเป็นอย่างไร
                        
                 คำตอบ  มีคำพิพากษาฎีกาวินิจฉัยไว้ดังนี้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  6262/2554  โจทก์ฟ้องว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินของโจทก์ จำเลยบุกรุกเข้ามาทำประตูและรั้วยาวประมาณ 6 เมตร สูงประมาณ 2  เมตร ปิดกั้นในที่ดิน ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนประตูและรั้วและชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยให้การในตอนแรกว่า จำเลยซื้อที่ดินจัดสรรจากโจทก์  9  แปลง รวมทั้งที่ดินพิพาทในราคา 3,900,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2539 โจทก์เองก็ยอมรับกรรมสิทธิ์ของจำเลยเหนือที่ดินพิพาท เท่ากับจำเลยอ้างว่าที่ดินพิพาทดังกล่าวเป็นของจำเลย แต่จำเลยกลับให้การในตอนหลังว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหาย  คำให้การในตอนหลังจึงขัดแย้งกับคำให้การในตอนแรกซึ่งอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย  คำให้การของจำเลยจึงไม่ชัดแจ้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยหรือเป็นทางสาธารณะ ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง คดีไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะหรือไม่  จำเลยอุทธรณ์ว่า ที่ดินพิพาทเป็นทางสาธารณะประโยชน์ โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น  ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 225 วรรคหนึ่ง
                 คำพิพากษาฎีกาที่  6271/2554  คำให้การของจำเลยที่ 3 ต่อสู้เรื่องอายุความไว้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น โจทก์ได้ฟ้องร้องเกินกว่ากำหนดอายุความฝากทรัพย์และอายุความละเมิด โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้อง เป็นคำให้การที่มิได้แสดงเหตุแห่งการขาดอายุความว่า คดีโจทก์ขาดอายุความเพราะอะไร ทำไมถึงขาดอายุความ ถือเป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งปัญหาเรื่องคดีขาดอายุความเป็นทั้งปัญหาข้อเท็จจริงที่คู่ความต้องนำสืบ และหากเป็นปัญหาข้อกฎหมายก็ไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลไม่อาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้
                 คำพิพากษาฎีกาที่  1385/2554  จำเลยที่ 1  ให้การแต่เพียงว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความแล้วกล่าวคือ เช็คแต่ละฉบับลงวันที่เท่าใด โจทก์ใช้อุบายหลอกลวงให้จำเลยที่ 1 แก้ไขวันเดือนปี ในเช็คเป็นวันที่เท่าใด จำเลยที่ 1 มิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่าอายุความนับตั้งแต่วันที่เท่าใด เช็คขาดอายุความแล้วตั้งแต่เมื่อใด และจะครบกำหนด 1 ปี วันใด เป็นคำให้การที่ไม่ชัดแจ้งไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง  จึงไม่มีประเด็นเรื่องอายุความ
                               จำเลยที่ 1 เพียงแต่ให้การว่า โจทก์และจำเลยที่ 2  โดยทุจริตร่วมกันได้นำเช็คพิพาทมาฟ้องจำเลยที่ 1 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตมิได้ให้การโดยชัดแจ้งว่า โจทก์รับโอนเช็คพิพาทจากจำเลยที่ 2 โดยคบคิดกันฉ้อฉลและคบคิดกันฉ้อฉลอย่างไร รวมทั้งไม่สุจริตหรือทุจริตร่วมกันนำเช็คมาฟ้องอย่างไร  จึงไม่มีประเด็นว่าคบคิดกันฉ้อฉลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 916 รวมทั้งใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่


                                                                                    นายประเสริฐ  เสียงสุทธิวงศ์
                                                                                                  บรรณาธิการ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น