สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา
การสอบข้อเขียนความรู้ชั้นเนติบัณฑิต ภาคสอง
สมัยที่ 65 ปีการศึกษา
2556
กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง กฎหมายล้มละลาย
ระบบศาลและพระธรรมนูญศาลยุติธรรม
วันอาทิตย์ที่
31 มีนาคม 2556
ข้อ 1. (ก) นายเอกว่าจ้างนายโทให้สร้างถนนและรางระบายน้ำ เป็นเงิน
800,000 บาท
สัญญาว่าจ้างทำที่ภูมิลำเนาของนายเอกที่จังหวัดลำปาง ต่อมานายโทได้ทำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าก่อสร้างตามสัญญาว่าจ้างดังกล่าวให้แก่นายตรี
โดยมีหนังสือแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องให้นายเอกทราบแล้ว
สัญญาโอนสิทธิเรียกร้องทำที่บ้านของนายตรีที่จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อนายโทสร้างถนนและรางระบายน้ำแล้วเสร็จ นายตรีได้มีหนังสือถึงนายเอกขอรับเงินค่าก่อสร้าง
นายเอกปฏิเสธอ้างว่าได้จ่ายเงินค่าก่อสร้างให้แก่นายโทไปแล้ว นายตรีจึงยื่นคำฟ้องนายเอกต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ให้ชำระหนี้จำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งให้รับคำฟ้อง
(ข)
นายตรียื่นฟ้องนายจัตวาซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ให้ชำระเงินตามเช็คที่นายจัตวาสั่งจ่าย จำนวนเงิน
500,000 บาท
ในชั้นตรวจคำฟ้อง
ศาลจังหวัดเชียงใหม่เห็นว่า
คำฟ้องไม่มีลายมือชื่อโจทก์
ลายมือชื่อทนายโจทก์ผู้เรียง
และลายมือชื่อผู้เขียนหรือพิมพ์
จึงไม่รับคำฟ้อง
ให้วินิจฉัยว่า
ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งให้รับคำฟ้องตาม (ก)
และไม่รับคำฟ้องตาม (ข) ชอบหรือไม่
ธงคำตอบ
(ก)สัญญาว่าจ้างสร้างถนนและรางระบายน้ำระหว่างนายเอกกับนายโททำ ณ
ภูมิลำเนาของนายเอกที่จังหวัดลำปาง
แม้นายโททำสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องค่าก่อสร้างตามสัญญาว่าจ้างให้แก่นายตรี แต่นายตรีก็เป็นเพียงผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องของนายโทในอันที่จะบังคับชำระหนี้ตามมูลหนี้เดิมจากนายเอกแทนนายโท เมื่อสัญญาที่เป็นมูลหนี้ให้เกิดการโอนสิทธิเรียกร้องเกิดขึ้น ณ
ภูมิลำเนาของนายเอก
และนายเอกปฏิเสธไม่จ่ายเงินค่าก่อสร้างให้แก่นายตรี
จึงถือว่ามูลเหตุซึ่งเป็นที่มาแห่งการโต้แย้งสิทธิอันจะทำให้นายตรีมีอำนาจฟ้องนายเอกเกิดขึ้น ณ ภูมิลำเนาของนายเอกซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลจังหวัดลำปาง
นายตรีจึงไม่มีอำนาจฟ้องนายเอกต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 4 (1)(คำพิพากษาฎีกาที่ 9430/2554)
ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งให้รับคำฟ้องจึงไม่ชอบ
(ข) คำฟ้องคดีแพ่งไม่มีลายมือชื่อโจทก์ ไม่มีลายมือชื่อทนายโจทก์ผู้เรียง และไม่มีลายมือชื่อผู้เขียนหรือพิมพ์ เป็นเพียงคำฟ้องที่ไม่บริบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 67 (5) ศาลจังหวัดเชียงใหม่ชอบที่จะสั่งให้นายตรีแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวเสียก่อนโดยให้คืนหรือให้แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องให้บริบูรณ์ภายในเวลาที่กำหนด
หากไม่ปฏิบัติตามจึงจะมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องนั้นได้ ตามมาตรา
18
วรรคสอง
การที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ไม่รับคำฟ้องของนายตรีโดยไม่สั่งให้แก้ไขข้อบกพร่องในเรื่องดังกล่าวเสียก่อนจึงไม่ชอบ (คำพิพากษาฎีกาที่ 5556/2543)
ข้อ 2. โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ตามเช็คที่จำเลยเป็นผู้สั่งจ่าย จำนวนเงิน
3,000,000 บาท
พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ จำเลยให้การว่า เช็คพิพาทออกให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้พนัน มูลหนี้ตามเช็คเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณาโจทก์และจำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน โดยจำเลยยอมชำระหนี้แก่โจทก์จำนวน 2,400,000 บาท
โดยผ่อนชำระเป็น 24 งวด งวดละเดือน
เดือนละ 100,000 บาท
หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด
ยอมให้โจทก์บังคับคดีชำระหนี้ที่ค้างชำระทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบต่อปีนับแต่วันผิดนัดได้ทันที
ศาลชั้นต้นได้พิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ กรณีใดกรณีหนึ่งดังต่อไปนี้
(ก) จำเลยอุทธรณ์ว่า ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นการพิพากษาที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
เพราะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องและขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
(ข) จำเลยยื่นคำร้องว่า
โจทก์เคยฟ้องจำเลยเกี่ยวกับเช็คพิพาทมาแล้ว ศาลพิพากษายกฟ้อง ฟ้องโจทก์จึงเป็นฟ้องซ้ำ
ขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำพิพากษาตามยอมและพิพากษายกฟ้องโจทก์
ให้วินิจฉัยว่า
อุทธรณ์ของจำเลยตาม (ก) ฟังขึ้นหรือไม่ และศาลชั้นต้นจะมีคำสั่งตามคำร้องของจำเลยตาม (ข)
ได้หรือไม่
ธงคำตอบ
(ก) โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความต่อหน้าศาลและศาลพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น
มิใช่เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทอย่างคดีธรรมดาที่ต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์จำเลยแล้วจึงชี้ขาดข้อพิพาท
ข้อตกลงในสัญญาประนีประนอมความยอมดังกล่าวจึงอาจมีผลไม่ตรงหรือเกินกว่าที่ปรากฏในคำฟ้องก็ได้
ถ้าข้อตกลงนั้นเกี่ยวพันกับประเด็นแห่งคดีและไม่เป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
เพราะเป็นไปตามข้อตกลงที่คู่ความต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
จึงไม่ตกอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ซึ่งต้องห้ามมิให้พิพากษาเกินคำขอหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง
การที่ศาลพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความ
แม้ดอกเบี้ยระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละสิบต่อปี เกินกว่าอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามคำขอของโจทก์
ก็หาเป็นการต้องห้ามตามบทกฎหมายดังกล่าวหรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนไม่ (คำพิพากษาฎีกาที่ 3191/2547 และ 1222/2549) อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
(ข) จำเลยยื่นคำร้องว่า
ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ
ขอให้ศาลชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำพิพากษาตามยอมนั้น เป็นกรณีที่จำเลยกล่าวอ้างว่าคำพิพากษาตามยอมละเมิดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน
ซึ่งต้องด้วยข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 138 วรรคสอง
ที่ให้อุทธรณ์คำพิพากษาตามยอมได้
จำเลยจึงชอบที่จะอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลนั้น ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเพิกถอนคำพิพากษาตามยอมของศาลนั้นเองได้
(คำพิพากษาฎีกาที่ 5581/2549 และ 6915/2554)
ศาลชั้นต้นชอบที่จะมีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย
ข้อ 3. นายขาวฟ้องนายเขียวว่า
นายเขียวผิดสัญญาก่อสร้างบ้านพักที่ทำไว้กับนายเหลือง ขอให้นายเขียวชดใช้ค่าเสียหายแก่นายเหลือง 1,000,000 บาท
โดยนายขาวบรรยายฟ้องว่าได้รับมอบอำนาจจากนายเหลืองให้มาฟ้องคดีแทน ตามหนังสือมอบอำนาจท้ายคำฟ้อง นายเขียวให้การว่า นายเหลืองเป็นฝ่ายที่ผิดสัญญา ทำให้นายเขียวได้รับความเสียหาย 2,000,000 บาท
ขอให้ยกฟ้อง
และฟ้องแย้งขอให้นายเหลืองชดใช้ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าว ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้นายขาวนำสืบก่อน ก่อนวันสืบพยาน 10 วัน
นายขาวยื่นคำร้องว่า
ขณะยื่นคำฟ้องต่อศาลนั้น
นายเหลืองยังไม่ตัดสินใจว่าจะฟ้องนายเขียวหรือไม่
แต่นางแดงภริยานายเหลืองเกรงว่าคดีจะขาดอายุความจึงปลอมลายมือชื่อนายเหลืองในหนังสือมอบอำนาจที่ให้นายขาวฟ้องคดีนี้ไว้ก่อน
บัดนี้นายเหลืองได้ทราบเรื่องและเห็นด้วยกับการกระทำของนางแดง
และได้ทำหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่ให้ฟ้องนายเขียวแล้ว จึงขอแก้ไขคำฟ้องเป็นว่า
นายเหลืองได้มอบอำนาจให้นายขาวฟ้องคดีนี้ตามหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่ นายเขียวรับสำเนาคำร้องแล้วไม่ค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องได้เป็นกรณีที่ 1 แต่หากนายขาวไม่ขอแก้ไขคำฟ้องดังกล่าว และต่อมาศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
เพราะเหตุลายมือชื่อนายเหลืองในหนังสือมอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอม พร้อมกันนั้นก็พิพากษาให้นายเหลืองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการผิดสัญญาให้แก่นายเขียว
ตามฟ้องแย้งตามที่ได้ความจากการนำสืบของนายเขียว เป็นกรณีที่
2
ให้วินิจฉัยว่า
คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้แก้ไขคำฟ้องในกรณีที่ 1
และคำพิพากษาที่ให้นายเหลืองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งในกรณีที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบ
กรณีที่ 1
ลายมือชื่อของนายเหลืองในหนังสือมอบอำนาจให้นายขาวฟ้องนายเขียวเป็นลายมือชื่อปลอม
การฟ้องคดีของนายขาวจึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจและไม่ชอบด้วยกฎหมายมาแต่แรก การที่นายขาวขอแก้ไขคำฟ้องเป็นว่า
ต่อมานายเหลืองได้มอบอำนาจให้นายขาวฟ้องคดีตามหนังสือมอบอำนาจฉบับใหม่แล้ว
หาทำให้คำฟ้องที่เสียไปใช้ไม่ได้แล้วนั้นกลับคืนมาเป็นคำฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมายได้ไม่
คำร้องขอแก้ไขคำฟ้องของนายขาวไม่ใช่เป็นการขอเพิ่มเติมคำฟ้องเดิมให้บริบูรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 วรรคสอง (2)คำสั่งศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้นายขาวแก้ไขคำฟ้องจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาฎีกาที่ 4181/2533)
กรณีที่ 2
ลายมือชื่อของนายเหลืองในหนังสือมอบอำนาจให้นายขาวฟ้องคดีเป็นลายมือชื่อปลอม
ย่อมถือได้ว่านายเหลืองไม่ได้มอบอำนาจให้นายขาวฟ้องคดี นายขาวจึงไม่มีอำนาจฟ้องนายเขียวแทนนายเหลือง ผลจึงเท่ากับว่าไม่มีตัวโจทก์เข้ามาเป็นคู่ความที่ฟ้องคดี กรณีเช่นนี้ฟ้องแย้งของนายเขียวย่อมตกไป
เพราะการดำเนินกระบวนพิจารณาตามฟ้องแย้งนั้นจะต้องมีตัวโจทก์เดิมเป็นจำเลยตามฟ้องแย้งด้วย คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิพากษาให้นายเหลืองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายตามฟ้องแย้งของนายเขียวจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาฎีกาที่ 8387-8391/2553)
ข้อ 4. คดีสามัญเรื่องหนึ่ง
จำเลยที่ 1 และที่
2
ขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีฝ่ายเดียวแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่
2
ชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินแก่โจทก์
ศาลส่งคำบังคับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยวิธีปิดประกาศไว้ที่หน้าศาลเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน
2550
ต่อมาวันที่ 5 มกราคม 2551
โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยที่ 1 เพื่อขายทอดตลาด วันที่
6 กันยายน 2551
จำเลยที่ 2
ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่โดยอ้างเหตุว่า
ขณะโจทก์ฟ้องและส่งหมายเรียกและสำเนาคำฟ้องให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่
2
ไปทำงานอยู่ที่ต่างประเทศ
เพิ่งเดินทางกลับมาประเทศไทยเมื่อวันที่
20
สิงหาคม 2551 จึงทราบว่าถูกโจทก์ฟ้อง จำเลยที่
2 ไม่ได้จงใจขาดนัดยื่นคำให้การและจำเลยที่ 2 ไม่เคยกู้ยืมเงินโจทก์ ลายมือชื่อจำเลยที่ 2
ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเป็นลายมือชื่อปลอม ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนคำขอ
ในวันนัดไต่สวนศาลชั้นต้นสั่งงดไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับแต่วันยึดทรัพย์
ต้องห้ามไม่ให้ยื่นคำขอตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 จัตวา ให้ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่
ให้วินิจฉัยว่า
คำสั่งของศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 2
ดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบ
ธงคำตอบ
การยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 199 จัตวา
กำหนดให้จำเลยที่ขาดนัดยื่นคำให้การยื่นต่อศาลชั้นต้นภายในสิบห้าวันนับจากวันที่ได้ส่งคำบังคับตามคำพิพากษาให้แก่จำเลย หรือนับจากกรณีมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลง
หรือหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หรือมีการบังคับตามคำพิพากษาโดยวิธีอื่น
ซึ่งกำหนดหกเดือนนับแต่วันที่ได้ยึดทรัพย์หมายถึงการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ได้ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ คดีนี้มีการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 เพื่อบังคับตามคำพิพากษามิได้ยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ดังนั้น
กำหนดเวลาหกเดือนจึงไม่อาจนำมาใช้บังคับแก่จำเลยที่ 2 ได้
การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่
2
ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อพ้นกำหนดหกเดือนนับวันที่ได้ยึดทรัพย์ต้องห้ามตามมาตรา 199 จัตวา
จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยที่ 2 อ้างในคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ว่า
ขณะโจทก์ฟ้องและส่งหมายเรียกให้แก่จำเลยที่ 2 นั้น
จำเลยที่ 2 ไปทำงานอยู่ที่ต่างประเทศ เพิ่งเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม
2551
จึงทราบว่าถูกโจทก์ฟ้อง
อันเป็นการแสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่สามารถยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ส่งคำบังคับให้จำเลยที่ 2 เพราะมีพฤติการณ์นอกเหนือไม่อาจบังคับได้ จำเลยที่
2
จึงชอบที่จะยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ภายในกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่พฤติการณ์นอกเหนือที่ไม่อาจบังคับได้สิ้นสุดลง คือ
นับแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2551 แต่จำเลยที่
2
ยื่นคำขอให้พิจารณาคดีใหม่เมื่อวันที่
6
กันยายน 2551
จึงมิได้ยื่นคำขอภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว
ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำขอให้พิจารณาคดีใหม่ของจำเลยที่ 2 จึงชอบแล้ว
(คำพิพากษาฎีกาที่ 3153/2533 และ 2152/2536)
ข้อ 5.
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ค่าวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างแก่โจทก์จำนวน 350,000 บาท จำเลยให้การโดยชัดแจ้งว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยไม่เคยซื้อสินค้าจากโจทก์ตามฟ้อง และฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า
ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
และข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยซื้อสินค้าและเป็นหนี้โจทก์ตามฟ้อง แต่คดีโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ว่า
ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
จำเลยยื่นคำแก้อุทธรณ์ว่า
คดีโจทก์ขาดอายุความแล้ว
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
พิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยฎีกาว่า
(ก)ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและพยานหลักฐานโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์ตามฟ้องโดยกล่าวเหตุผลไว้โดยชัดแจ้งในฎีกาปัญหาดังกล่าว
(ข)ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ
โดยจำเลยขอถือเอาคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาในข้อนี้
ให้วินิจฉัยว่า
จำเลยจะฎีกาในปัญหาตาม (ก) และ
(ข) ได้หรือไม่
ธงคำตอบ
(ก) คำพิพากษาศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยในประเด็นที่จำเลยฎีกาว่า
ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมและพยานหลักฐานของโจทก์รับฟังไม่ได้ว่าจำเลยซื้อสินค้าจากโจทก์ซึ่งเป็นประเด็นที่จำเลยให้การต่อสู้ไว้แล้ว แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้องโจทก์ เนื่องจากเห็นว่าคดีขาดอายุความ
โดยจำเลยไม่จำต้องอุทธรณ์ในประเด็นข้ออื่นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเป็นคุณแก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์อุทธรณ์ว่า คดีไม่ขาดอายุความ หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้ในประเด็นข้อใด อย่างไร
จำเลยก็ชอบที่จะโต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์ด้วย
แต่ปรากฏว่าคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยคงกล่าวแก้แต่เฉพาะประเด็นเรื่องอายุความที่โจทก์อุทธรณ์เท่านั้น
เมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาของศาลชั้นต้นที่ว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและจำเลยต้องรับผิดชำระหนี้แก่โจทก์ตามฟ้อง
ปัญหาดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจะยกขึ้นฎีกาอีกไม่ได้ เพราะเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์
ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
(คำพิพากษาฎีกาที่ 7693/2550)
จำเลยจึงฎีกาในปัญหาตาม (ก) ไม่ได้
(ข) ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่จะยกขึ้นอ้างในการยื่นฎีกานั้น
จะต้องกล่าวไว้โดยชัดแจ้งในฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง
ที่จำเลยฎีกาว่า
คดีโจทก์ขาดอายุความ
โดยขอถือเอาคำแก้อุทธรณ์ของจำเลยเป็นส่วนหนึ่งของฎีกาในข้อนี้นั้น
ฎีกาของจำเลยข้อนี้มิได้กล่าวถึงข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่ยกขึ้นอ้างไว้โดยชัดแจ้งในฎีกา จึงเป็นฎีกาไม่ชัดแจ้ง ต้องห้ามฎีกาตามบทกฎหมายดังกล่าว (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 6446/2552) จำเลยจึงฎีกาปัญหาตาม (ข)
ไม่ได้เช่นกัน
ข้อ 6.
โจทก์ฟ้องจำเลยให้ส่งคืนสร้อยเพชร 1 เส้น ราคา 10,000,000 บาท โดยอ้างว่าจำเลยขอยืมไปแล้วไม่คืน
จำเลยให้การต่อสู้คดีปฏิเสธความรับผิดและฟ้องแย้งว่า โจทก์ขายสร้อยเพชรเส้นดังกล่าวให้แก่จำเลยในราคา 10,000,000 บาท
โดยมีข้อตกลงว่าโจทก์จะคืนส่วนลดร้อยละ
3
เป็นจำนวน 300,000 บาท ให้แก่จำเลยภายใน 3 เดือน
นับแต่วันซื้อขาย จำเลยชำระราคาทั้งหมดให้แก่โจทก์แล้ว แต่เมื่อครบกำหนดโจทก์ไม่คืนเงินส่วนลด ขอให้ยกฟ้องและบังคับให้โจทก์ชำระเงิน 300,000 บาท
ตามฟ้องแย้งให้แก่จำเลย
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งปฏิเสธความรับผิด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า
โจทก์ขายสร้อยเพชรให้แก่จำเลยโดยไม่มีส่วนลด พิพากษายกฟ้องโจทก์และยกฟ้องแย้งจำเลย โจทก์และจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์ทั้งสองฉบับ ขณะคดีอยู่ระหว่างส่งสำเนาอุทธรณ์ให้แก่โจทก์และจำเลยเพื่อแก้ สำนวนความยังอยู่ที่ศาลชั้นต้น ปรากฏว่า
(ก)โจทก์ยื่นคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาว่า
จำเลยไม่ระมัดระวังในการเก็บรักษาสร้อยเพชร
ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยนำสร้อยเพชรมาวางศาลเพื่อป้องกันความเสียหาย
(ข)จำเลยยื่นคำร้องขอให้คุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาในส่วนฟ้องแย้งว่า
โจทก์มีหนี้สินมากเพราะธุรกิจของโจทก์ล้มเหลว โจทก์เหลือทรัพย์สินเพียงรถยนต์ 1 คัน ราคาประมาณ
300,000
บาท และกำลังจะขาย
ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ยึดรถยนต์คันดังกล่าวไว้ก่อนพิพากษา
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว
มีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องขอคุ้มครองชั่วคราวก่อนพิพากษาของโจทก์และจำเลย
ให้วินิจฉัยว่า
คำสั่งของศาลชั้นต้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ธงคำตอบ
(ก) คำขอของโจทก์ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยนำสร้อยเพชรมาวางศาลเพื่อป้องกันความเสียหาย เป็นคำขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264
และเป็นคำขอหลังจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับอุทธรณ์แล้ว คดีจึงอยู่ในชั้นอุทธรณ์ อำนาจสั่งอยู่ที่ศาลอุทธรณ์
ศาลชั้นต้นต้องส่งไปให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาสั่ง คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
(ข) คำขอของจำเลยที่ขอให้ยึดรถยนต์ของโจทก์ไว้ก่อนพิพากษา
เป็นคำขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (1)แม้จะเป็นคำขอในขณะที่คดีอยู่ในชั้นอุทธรณ์ซึ่งต้องด้วยข้อยกเว้นตามมาตรา 254 วรรคสุดท้าย
ประกอบมาตรา 144 (3) ที่ให้ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งได้ก็ตาม แต่เมื่อฟ้องแย้งของจำเลยมีทุนทรัพย์ 300,000 บาท
ซึ่งเป็นคดีมโนสาเร่
กรณีจึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่จำเลยซึ่งเป็นโจทก์ในคดีฟ้องแย้งจะขอให้ใช้วิธีการชั่วคราวก่อนพิพากษาตามมาตรา 254 ได้
คำสั่งของศาลชั้นต้นจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน
ข้อ 7.นายเช้าเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจำนวน 1,000,000 บาท ของนายบ่าย
และนายเช้ายังเป็นลูกหนี้เงินกู้ยืมจำนวน
1,000,000
บาท ของนายเที่ยง
โดยนายเช้าและนายสายซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงหนึ่ง ได้ร่วมกันจดทะเบียนจำนองที่ดินเป็นประกันหนี้ให้ไว้ต่อนายเที่ยง และหนี้นั้นถึงกำหนดชำระแล้ว ส่วนนายสายเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาจำนวน 1,000,000 บาท
ของนายเย็น
นายเย็นนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินแปลงดังกล่าวออกขายทอดตลาดได้เงินจำนวน 1,500,000 บาท
ปรากฏว่า
(ก) นายเที่ยงยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้จำนองจำนวน 1,000,000 บาท ก่อนเจ้าหนี้อื่น นายเย็นยื่นคำคัดค้านว่า นายเที่ยงยังมิได้ฟ้องนายเช้า
และนายเช้าก็มิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีของนายเย็น ขอให้ยกคำร้อง
(ข) นายบ่ายยื่นคำร้องขอเฉลี่ยเงินที่ได้จากการขายทอดตลาด เพราะนายเช้าไม่มีทรัพย์สินใดอีก นายเย็นยื่นคำคัดค้านว่า
นายเช้ามิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีของนายเย็น ขอให้ยกคำร้อง
ศาลไต่สวนแล้ว
ข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องและคำคัดค้าน
ให้วินิจฉัยว่า
ศาลจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องของนายเที่ยงและนายบ่ายได้หรือไม่
ธงคำตอบ
(ก) นายเที่ยงเป็นเจ้าหนี้จำนองที่ดินกรรมสิทธิ์รวมแปลงดังกล่าว
แม้นายเช้ามิได้ถูกนายเที่ยงฟ้องและมิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีของนายเย็น นายเที่ยงก็มีสิทธิได้รับชำระหนี้จำนองในฐานะเจ้าหนี้จำนองในฐานะเจ้าหนี้จำนองจากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดิน ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 289 วรรคหนึ่ง
(เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 5753/2537 และ 1975/2551)
(ข) แม้นายเช้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงดังกล่าว
แต่เมื่อนายเช้ามิได้เป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาในคดีของนายเย็น
นายบ่ายจึงไม่มีสิทธิร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ในคดีที่นายเย็นนำยึดที่ดินของนายสายซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาของนายเย็นได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 290 วรรคหนึ่ง
(เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 487/2552)
ข้อ 8. คดีล้มละลายเรื่องหนึ่ง
ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยทั้งสองชั่วคราว
และโจทก์นำเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ไว้ เมื่อคดีเสร็จการพิจารณา ศาลพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์พร้อมยื่นคำร้อง 2 ฉบับ
ฉบับแรกอ้างว่า หากจำเลยที่ 1 ได้รับทรัพย์ที่ยึดคืนไป จำเลยที่
1
อาจยักย้ายทรัพย์ที่ยึดไปให้พ้นอำนาจศาล
ขอศาลฎีกามีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการถอนการยึดไว้ก่อน ฉบับที่สองอ้างว่า จำเลยที่
2
มีพฤติการณ์จะโอนสิทธิทรัพย์สินโดยการฉ้อฉล
เพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างพิจารณา ขอศาลฎีกามีคำสั่งให้ยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ไว้ก่อน
ให้วินิจฉัยว่า
ศาลฎีกาจะมีคำสั่งอนุญาตตามคำร้องทั้งสองฉบับของโจทก์ได้หรือไม่
ธงคำตอบ
คำร้องของโจทก์ที่ขอศาลฎีกามีคำสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ไว้ก่อนนั้น
เป็นกรณีที่โจทก์มุ่งหมายขอให้ศาลฎีกามีคำสั่งกำหนดวิธีการเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างการพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 264 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลล้มละลายยและวิธีพิจารณาคดีล้มละลาย พ.ศ.2542 มาตรา 14
ศาลฎีกาจึงมีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์งดการถอนการยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1
ไว้ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาตามคำร้องฉบับแรกได้ (เทียบคำสั่งคำร้องศาลฎีกาที่ 1766/2531)
พระราชบัญญัติล้มละลาย
พ.ศ.2483 มีบทบัญญัติเรื่องการขอให้ยึดทรัพย์ของจำเลยชั่วคราวก่อนพิพากษาไว้โดยเฉพาะตามมาตรา 17 แล้ว
โดยโจทก์อาจขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยชั่วคราวได้ก่อนศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดเท่านั้น และเมื่อศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์แล้ว มาตรา 19 วรรคหนึ่ง
บัญญัติให้เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ยึดบรรดาทรัพย์สินของจำเลยได้ ดังนั้น
แม้โจทก์จะอ้างว่าเป็นการขอคุ้มครองประโยชน์ของโจทก์ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา
แท้จริงแล้วเป็นการขอศาลให้มีคำสั่งยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ไว้ก่อนพิพากษานั่นเอง
จึงนำบทบัญญัติว่าด้วยการยึดทรัพย์ของจำเลยก่อนพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 254 (1)มาใช้บังคับไม่ได้
ศาลฎีกาต้องมีคำสั่งยกคำร้องของโจทก์ที่ขอให้ยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ตามคำร้องฉบับที่สอง (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 3721/2535)
ข้อ 9.บริษัทเอ
จำกัด
ลูกหนี้เป็นหนี้นายรวยในมูลหนี้ตามคำพิพากษาของศาลจังหวัดตลิ่งชันจำนวน 20,000,000
บาทซึ่งศาลจังหวัดตลิ่งชันได้ออกหมายบังคับคดีแล้ว นอกจากนี้บริษัทเอ จำกัด
ยังเป็นหนี้บุคคลอื่นอีกหลายราย
ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของบริษัทเอ จำกัด
และตั้งผู้ทำแผน
นายรวยยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการในมูลหนี้ตามคำพิพากษาเป็นเงิน 20,000,000 บาท
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำสั่งอนุญาตให้ได้รับชำระหนี้เต็มตามขอ ส่วนแผนฟื้นฟูกิจการกำหนดให้นายรวย เป็นเจ้าหนี้กลุ่มที่ 16 และได้รับชำระหนี้ร้อยละ 70 โดยให้ได้รับชำระหนี้งวดแรกหลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว 1 ปี
เป็นจำนวนร้อยละ 10 และต่อไปทุกๆ ปี
ปีละร้อยละ 5 จนกว่าจะครบ
ที่ประชุมเจ้าหนี้พิจารณาแล้วลงมติพิเศษยอมรับแผน โดยในวันดังกล่าวนายรวยมิได้เข้าประชุม ต่อมาศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผน
หลังจากนั้นนายรวยเห็นว่าการที่ตนจะได้รับชำระหนี้ตามแผนจะต้องใช้เวลานานและแผนกำหนดให้มีสิทธิได้รับชำระหนี้เพียงบางส่วนของหนี้ตามคำพิพากษาเท่านั้น จึงต้องการให้ดำเนินการบังคับคดีในคดีแพ่งต่อไป
ให้วินิจฉัยว่า นายรวยจะดำเนินการขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีของศาลจังหวัดตลิ่งชันเพื่อนำมาชำระหนี้แก่ตนเป็นเงิน 20,000,000 บาท ได้หรือไม่
ธงคำตอบ
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย
พ.ศ.2483 มาตรา 90/60
วรรคหนึ่ง
กำหนดให้แผนซึ่งศาลมีคำสั่งเห็นชอบแล้ว
ผูกมัดเจ้าหนี้ซึ่งอาจขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการได้และเจ้าหนี้ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการ
ส่วนการที่เจ้าหนี้จะได้รับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการจริงย่อมเป็นไปตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ
เมื่อมูลหนี้ตามคำพิพากษาที่นายรวยนำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการนั้นเกิดขึ้นก่อนวันที่ศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้
นายรวยได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้ในการฟื้นฟูกิจการแล้ว
ทั้งแผนฟื้นฟูกิจการของลูกหนี้ได้กำหนดเงื่อนไขและกำหนดเวลาในการชำระหนี้ให้แก่นายรวยไว้ซึ่งต่อมาศาลล้มละลายกลางได้มีคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนแล้ว แม้นายรวยจะไม่ได้เข้าร่วมประชุมเจ้าหนี้ นายรวยก็ต้องผูกพันในการที่จะได้รับชำระหนี้ตามแผน
นายรวยไม่อาจได้รับชำระหนี้โดยวิธีอื่นนอกจากตามเงื่อนไขและกำหนดเวลาตามที่กำหนดไว้ในแผน (เทียบคำพิพากษาฎีกาที่ 2125/2548)
อนึ่ง
นายรวยเจ้าหนี้ต้องห้ามมิให้บังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483
มาตรา 90/12 (5)
นายรวยจึงไม่อาจดำเนินการขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์ตามหมายบังคับคดีของศาลจังหวัดตลิ่งชันเพื่อนำมาชำระหนี้แก่ตนได้
ข้อ 10. ในการบังคับคดีของศาลแพ่งคดีหนึ่ง
โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดีไปยึดทรัพย์สินของจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษา 2 รายการ คือ
ที่ดินราคา 400,000 บาท กับรถยนต์ราคา
200,000
บาท และอายัดเงิน 300,000 บาท
จากบุคคลภายนอกที่ถึงกำหนดชำระให้แก่จำเลย
ซึ่งต่อมาบุคคลภายนอกได้ส่งเงินจำนวนดังกล่าวมาไว้ที่ศาลแล้ว ปรากฏว่านายแดงยื่นคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์
นายขาวยื่นคำร้องขอให้ปล่อยรถยนต์ที่ยึดและนายเขียวยื่นคำร้องขอให้ปล่อยเงิน 300,000 บาท
ที่บุคคลภายนอกส่งมายังศาลตามหมายอายัด
นายสุเทพ
หนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาพิพากษาคดีนี้ พิจารณาคำร้องทั้งสามฉบับแล้ว มีคำสั่งอนุญาตให้นายแดงเข้าเฉลี่ยทรัพย์ได้
และมีคำสั่งให้ปล่อยรถยนต์ที่ยึดตามคำร้องของนายขาว แต่ยกคำร้องของนายเขียวโดยวินิจฉัยว่า การขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดจะมีได้ก็แต่เฉพาะการยึดทรัพย์เพื่อขายทอดตลาดเท่านั้น
ให้วินิจฉัยว่า
คำสั่งของนายสุเทพชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรมหรือไม่
ธงคำตอบ
ศาลแพ่งเป็นศาลที่ต้องมีผู้พิพากษาอย่างน้อยสองคนเป็นองค์คณะที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26
การที่นายสุเทพผู้พิพากษาคนเดียวสั่งคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดีว่า
นายแดงมีสิทธิขอเฉลี่ยเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยได้หรือไม่
จึงไม่อยู่ในอำนาจของนายสุเทพผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณามีคำสั่งได้ ตามมาตรา
24 (2) และมาตรา 25 (คำพิพากษาฎีกาที่ 3977/2553)
คำร้องขอของนายขาวที่ขอให้ปล่อยรถยนต์ที่ยึด
ถือเป็นคดีมีทุนทรัพย์ตามราคาทรัพย์สินที่ขอให้ปล่อยนั้น ซึ่งก็คือราคารถยนต์ 200,000 บาท
จึงอยู่ในอำนาจของนายสุเทพผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณาพิพากษาได้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 25 (4)
คำสั่งยกคำร้องขอของนายสุเทพที่ให้ปล่อยเงินที่ส่งมาตามหมายอายัด
เป็นการวินิจฉัยถึงอำนาจในการยื่นคำร้องว่านายเขียวมีอำนาจยื่นคำร้องดังกล่าวหรือไม่ อันเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทแห่งคดี จึงไม่อยู่ในอำนาจของนายสุเทพผู้พิพากษาคนเดียวที่จะพิจารณามีคำสั่งได้ คำสั่งของนายสุเทพจึงไม่ชอบ (คำพิพากษาฎีกาที่ 11417/2553)
ดังนั้น
คำสั่งเรื่องขอเฉลี่ยและคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยเงินที่อายัดของนายสุเทพจึงไม่ชอบด้วยพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 26 ส่วนคำสั่งเรื่องขอให้ปล่อยรถยนต์แก่นายขาวของนายสุเทพชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น